Skip to main content
sharethis
  • เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดขอบคุณสมาชิกสภาฯ หลังมีมติถอนร่าง กม. กัญชา กัญชง ไปทบทวนใหม่ ขอรมว.สาธารณสุขยกเลิกประกาศกระทรวงฉบับปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด
  • ประธาน กมธ.ยันร่างกฎหมายมุ่งคุ้มครองเยาวชน และเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ชี้หากมีข้อห่วงใยให้เร่งส่งหนังสือถึง กมธ.เพื่อพิจารณา 
  • ส.ส.สาทิตย์ ปชป. ย้ำเสนอถอนร่าง กม.ให้ กมธ.ปรับปรุง เพื่อประโยชน์ของประชาชน 
  • 'เพื่อไทย' ร่วมโหวตคว่ำชี้ ขาดมาตรการควบคุม หวั่นถูกนำมาใช้ในทางสันทนาการ ส่งผลกระทบต่อเยาวชน
  • 'สุขุม' เชื่อปมขัดแย้ง 'กัญชา' เป็นเพียงการช่วงชิงคะแนนหวังผลเลือกตั้งสมัยหน้า แต่ไม่ทำให้แตกหักถึงขั้นต้องยุบสภา ย้ำไม่มีพรรคไหนอยากเลือกตั้งตอนนี้ มั่นใจสภาอยู่ยาวถึงไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค

 

15 ก.ย.2565 จากวานนี้ (14 ก.ย.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. ....  ไปทบทวนใหม่เพื่อให้เกิดความเข้าใจและชัดเจนต่อประชาชน นั้น

วันนี้ (15 ก.ย.) เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ออก จดหมายเปิดผนึกฉบับที่สาม ขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ ขอเรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด

โดยรายละเอียดจดหมายมีดังนี้ : 

เครือข่ายนักวิชาการ

และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด

15 กันยายน 2565

เรื่อง      จดหมายเปิดผนึกฉบับที่สาม ขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ ขอเรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด

เรียน      สมาชิสภาผู้แทนราษฎรที่ลงมติให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ รองนายกรัฐมนาตรี นายวิษณุ เครืองาม ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

สืบเนื่องจากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ออกจากวาระการประชุมเพื่อให้กรรมาธิการวิสามัญกลับไปทบทวนรายละเอียดใหม่นั้น ทางเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดขอแสดงความเห็นด้วยและขอบพระคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้ ด้วยเหตุผล คือ (1) ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯฉบับนี้มุ่งเน้นกัญชาเพื่อนันทนาการ ไม่ใช่กัญชาทางการแพทย์อย่างที่กล่าวอ้างไว้ จะทำให้เกิดเศรษฐกิจกัญชาเพื่อนันทนาการทั่วประเทศไทย (2) การอนุญาตให้ปลูกกัญชาในครัวเรือนโดยไม่มีมาตรการป้องกันการรั่วไหลที่เพียงพอ จะทำให้เยาวชนนำดอกกัญชาไปสูบ ให้กัน และจำหน่ายอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และจะมีการนำกัญชาไปใส่อาหารขายทั่วไปโดยไม่บอกผู้บริโภค   (3) มาตรการควบคุมการขายและโฆษณากัญชามุ่งควบคุมเฉพาะช่อดอกและยางกัญชา จะเกิดการโฆษณาและส่งเสริมการขายดอกกัญชาโดยใช้กลยุทธ์โฆษณาและส่งเสริมการขายใบกัญชาแทน ในทุกสื่อตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เหมือนกับที่เราได้เห็นการโฆษณาน้ำแร่หรือโซดาแทนการโฆษณาเบียร์อยู่ทั่วไป   (4) ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯฉบับนี้บังคับให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการกัญชา แทนที่จะทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค อันเป็นการบิดเบือนภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างร้ายแรง ประชาชนจะไม่มีหน่วยงานใดช่วยคุ้มครอง และ (5) ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯนี้จะนำประเทศไทยไปกระทำผิดต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยยาเสพติด จะส่งผลให้ประเทศไทยอาจถูกลงโทษห้ามนำยาที่จำเป็นบางชนิดเข้ามาใช้ในประเทศไทย (เช่น มอร์ฟีน) เป็นต้น   การมีมติให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ นี้เพื่อให้มีการทบทวนให้รอบคอบจึงเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะการได้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพจะก่อปัญหามากกว่าแก้ปัญหา

ปัญหาผลกระทบของกัญชาเสรีไม่ได้อยู่ที่ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ (ที่ไร้ประสิทธิภาพ) ต้องตกไปแล้วทำให้เกิดสภาวะสุญญากาศ แต่ปัญหาสภาวะสุญญากาศอยู่ที่การคงอยู่ของประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด   ดังนั้นในขณะที่กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ นี้ ให้รอบคอบซึ่งต้องใช้เวลา เพราะต้องผ่านกระบวนการทั้งสองสภา หรือ อาจมีการยุบสภาก่อน  ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้อง “ปิดกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศก่อน” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศและอนาคตของเยาวชน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวไว้หลายครั้งต่อสาธารณะว่า พร้อมที่จะชะลอการปลดกัญชาเสรี เพียงรอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเรียกประชุมเท่านั้น (เช่น https://www.youtube.com/watch?v=5VYQx3y-WMQ&t=1272s ประมาณนาทีที่ 20)   เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด เพื่อ “ปิดสภาวะสุญญากาศทันที” ในขณะที่กำลังพัฒนาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับนี้ให้รอบคอบ   ประเทศไทยจะกลับไปเป็น “กัญชาทางการแพทย์” อย่างเดิม ซึ่งจะสามารถพัฒนาให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้นได้ต่อไป   หากทำเช่นนี้จะเรียกได้ว่าเป็นนโยบายกัญชาที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม 

ลงชื่อ เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด

นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตกรรมการแพทยสภา อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, นิยม เติมศรีสุข อดีตเลขาธิการ ป.ป.ส. และ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม, เพิ่มพงษ์ เขาวลิต อดีตเลขาธิการ ป.ป.ส. ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ สหประชาชาติ , ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health, Canada, รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชียวชาญด้านการแพทย์วัยรุ่น และ ผู้จัดการโครงการต้นทุนชีวิต ประเทศไทย, ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ศาสตราจารย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ ศาสตราจารย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พล.ต.นพ.พิชัย แสงชาญชัย ประธานชมรมจิตเวชศาสตร์การเสพติดแห่งประเทศไทย รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย, ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ศาสตราจารย์ สาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ผศ.ดร.อุษณีย์ พึ่งปาน ที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร อาจารย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพงศธร จันทรัศมี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, ไฟซ้อน บุญรอด ประธานเครือข่ายภาคประชาชนป้องกันภัยยาเสพติด, วัชรพงศ์ พุ่มชื่น นักพัฒนางานวิชาการ ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ

วันชัย บุญประชา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว, นพ.ไพศาล ปัณฑุกำพล สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทร์บรมราชชนนี, รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ อดีตประธาน ราชวิทยาลัยศัลยศาสตร์, นพ.วิทยา จารุพูนผล ข้าราชการบำนาญ รพ.ขอนเก่น ศ. คลินิก นพ.อภิชาติ ศิวยาธร อดีตรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.วิโรจน์ เยาวพลกุล แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.วัฒนา สุพรหมจักร แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พล.อ.นพ.ชูศักดิ์ สุวรรณศิริกุล แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พล.อ.ท.นพ.วิศิษฏ์ ดุสิตนานนท์ แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.เจริญ ปฏิภาณเทวา แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พญ.ภาพิส เสงี่ยมพรพาณิชย์ ข้าราชการบำนาญ พญ.อรพินธ์ พจน์พริ้ง อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พล.อ.นพ.อิสสระชัย จุลโมกข์ ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ รพ.บางโพ  และอดีตผู้อำนวยการ รพ.พระมงกุฏเกล้าฯ นพ.พงษ์สันติ์ ลี้สัมพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพ รพ.หัวเฉียว นพ.ณัฐกุล แย้มประเสริฐ กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ รพ.มหาราชนครราชสีมา ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม อายุรแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ และ รองผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี นพสรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์ แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นพ.อธิคม สงวนตระกูล กลุ่มงานอายุรกรรม รพ.มหาราชนครราชสีมา พญ.สริฐา มหาศิริมงคล นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.กลาง นพ.ปฏิเวช งามวิจิตวงศ์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.กลาง พญ.วิภัสรา สวัสดี นายแพทย์ชำนาญการ รพ.บุรีรัมย์

ประธาน กมธ.ยันร่างกฎหมายมุ่งคุ้มครองเยาวชน และเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ชี้หากมีข้อห่วงใยให้เร่งส่งหนังสือถึง กมธ.เพื่อพิจารณา 

ขณะที่ปฏิกิริยาของฝ่ายการเมืองต่างๆ เช่น ศุภชัย ใจสมุทร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎรนั้น สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า ศุภชัยแถลงข่าวโดยระบุว่า ตนขอชี้แจงว่าที่ผ่านมารัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 29 ที่กำหนดให้กัญชาซึ่งเป็นยาเสพติดประเภท 5 ออกจากยาเสพติดให้โทษ ดังนั้นถือว่ากัญชาได้ปลดล็อกจากยาเสพติดให้โทษ ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 64 และต่อมาพรรคภูิมใจไทยได้เสนอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ด้วยเหตุผลที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติด จึงเสนอกฎหมายดังกล่าวเข้ามาเพื่อเป็นการกำกับดูแล และเพื่อให้กัญชาเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมีทั้งหมด 95 มาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการฯคำนึงถึงให้กฎหมายมีความครอบคลุมและเป็นประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ยืนยันว่าร่างกฎหมายดังกล่าว มีการควบคุมการบริโภคการใช้กัญชา และไม่มีข้อกฎหมายข้อใดอนุญาตให้นำกัญชาไปใช้เพื่อสันทนาการ หรือ กำหนดให้เยาวชนนำกัญชามาใช้ และร่างกฎหมายนี้ได้ดำเนินการมาตามขั้นตอนตามลำดับ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ จึงได้ไปเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีจนมีความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ถือว่าขั้นตอนการเสนอกฎหมายเป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง

ศุภชัย กล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ที่ขอให้มีการถอนร่างกฎหมายดังกล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวานนี้ (14 ก.ย. 65) ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่า ร่างกฎหมายที่ประกอบด้วย 95 มาตรานั้น มีความสมบูรณ์ มีการส่งเสริมการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และปกป้องเยาวชน ทั้งนี้ขอให้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำข้อห่วงใยในเรื่องดังกล่าว หรือความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงกฎหมาย ส่งมายังคณะกรรมาธิการเพื่อดำเนินการพิจารณาต่อไป พร้อมกับระบุว่า เมื่อรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวมาแล้ว ถือว่าร่างกฎหมายนั้นเป็นการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน ซึ่งในคณะกรรมาธิการมีตัวแทนจากสมาชิกในทุกพรรคการเมือง จึงขอให้ทุกฝ่ายหยุดเล่นเกมการเมืองและหันมาคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

ส.ส.สาทิตย์ ปชป. ย้ำเสนอถอนร่าง กม.ให้ กมธ.ปรับปรุง เพื่อประโยชน์ของประชาชน 

ส่วน สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เสนอให้สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเพื่อถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แถลงยืนยันเหตุผลการเสนอให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าว ว่า เนื่องจากยังมีบางประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อความกังวลของผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรทางการแพทย์ เช่น เนื้อหาในมาตรา 18 ที่กำหนดให้ประชาชนสามารถขอปลูกกัญชาได้ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ต้น ใช้บริโภคเพื่อสุขภาพ โดยไม่ใช่ผลประโยชน์ทางการแพทย์ และยังไม่มีมาตรการใดที่จะไปควบคุมการเข้าถึงกัญชาของเด็กและเยาวชน จึงเสนอให้ถอนร่างไปทบทวนและปรับปรุง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะได้ทำข้อเสนอส่งต่อคณะกรรมาธิการฯ อีกด้วย

สาทิตย์ ยืนยันด้วยว่า การเสนอถอนร่างกลับมาปรับปรุงนั้น ไม่ใช่เกมการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ร่วมมือกับพรรคใด ก่อนลงมติถอนร่าง โกยการลงมติเสียงส่วนใหญ่นั้นพบว่ามีหลายพรรค ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย ส่วนเสียงที่ให้พิจารณาต่อ คือ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเอาคืนร่างกฎหมาย กยศ. นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะร่างกฎหมาย กยศ. เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งโดยปกติพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องเห็นตรงกัน แต่พรรคภูมิใจไทยก็มีแนวคิดและแนวทางเสนอในสภาฯ เอง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็เคารพความเห็น แต่ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เสนอโดย ส.ส. พรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐ หากมีความเห็นต่างก็เป็นเรื่องปกติ จึงขอตัดประเด็นการเมืองออกไป

สาทิตย์ ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ยังไม่ได้ตกไป ถือว่าอยู่ในกระบวนการที่กรรมาธิการสามารถปรับปรุงแก้ไขให้รอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้นได้ เพื่อไม่ให้เด็ก เยาวชน เข้าถึงโดยง่าย และพรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะให้ความเห็นชอบ สนับสนุนร่างกฎหมายหากมีการปรับแก้ไขแล้ว โดยเห็นว่าการถอนหรือไม่ถอนร่าง ใช้เวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งหากไม่ถอนร่างออกไปก็จะต้องค้างการพิจารณาและกลับมาพิจารณาต่อในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปรับปรุงใด ๆ ได้ และมีความเสี่ยงที่จะทำให้ร่างไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่หากถอนไปก็จะสามารถแก้ไขปรับปรุงและนำกลับมาพิจารณาใหม่ เพื่อความรอบคอบและคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม

สาทิตย์ ยังเห็นว่า มีความเป็นไปได้อย่างที่ศุภชัยในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ระบุว่าในชั้นกรรมาธิการอาจมีข้อเสนอที่มีความรุนแรงเกินกว่าเนื้อหาตามร่าง แต่ทุกประเด็นจะยุติที่มติของกรรมาธิการและสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนเชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดปัญหาบานปลายจนนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตถึงการตัดคะแนนทางการเมือง ระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายเดียวกัน

'เพื่อไทย' ร่วมโหวตคว่ำชี้ ขาดมาตรการควบคุม หวั่นถูกนำมาใช้ในทางสันทนาการ ส่งผลกระทบต่อเยาวชน 

โดยก่อนมีมติวานนี้ (14 ก.ย.) พรรคเพื่อไทย นำโดย ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  แถลงถึงท่าทีของพรรคเพื่อไทย ต่อการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ว่า จากการที่พรรคเพื่อไทย ได้พิจารณารายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว ทางพรรคฯ มีความหวังอย่างยิ่งว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายควบคุมการกัญชาให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์และการสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจ แต่หลังจากที่พบว่าในร่างกฎหมายฉบับนี้มีการปรับแก้อย่างมาก และสิ่งที่ได้มาไม่ได้ตอบโจทย์ และไม่ได้ตอบคำถามว่าจะมีการควบคุมอย่างชัดเจนในเรื่องที่พรรคฯ เป็นห่วง โดยเฉพาะการนำกัญชามาใช้ในการสันทนาการ และไม่มีการควบคุมเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 

ด้วยเหตุข้างต้น พรรคเพื่อไทย จึงมีมติจะไม่ให้ความเห็นชอบในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับนี้ ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ต่อไป ส่วนทางผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ จะถอนร่างฯ ออกไปปรับปรุงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับผู้เสนอ ว่าจะตัดสินอย่างไร แต่หากมีการถอนร่างฯ ออกไปปรับปรุง ก็จะถือเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ร่างฯ ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่มีการควบคุมการใช้กัญชาอย่างชัดเจนครอบคลุมรอบด้าน พร้อมเห็นว่า ควรมีการทบทวนสถานะของกัญชาในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ด้วย

'สุขุม' เชื่อปมขัดแย้ง 'กัญชา' เป็นเพียงการช่วงชิงคะแนนหวังผลเลือกตั้งสมัยหน้า แต่ไม่ทำให้แตกหักถึงขั้นต้องยุบสภา ย้ำไม่มีพรรคไหนอยากเลือกตั้งตอนนี้ มั่นใจสภาอยู่ยาวถึงไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค

สำนักข่าวไทย รายงานความเห็นของ สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรทั้งเรื่องร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง และร่างพระราชบัญญัติการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ว่า เป็นเพียงความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นนำไปสู่การยุบสภา โดยจะเห็นได้ว่า สุดท้ายทั้งสองฝ่ายที่มีความเห็นต่างก็ยังพูดคุยกันด้วยท่าทีถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ถึงขั้นแตกหักต่างคนต่างไป จึงยังเดินหน้าทำงานร่วมกันได้ และเชื่อว่าสถานการณ์ขณะนี้ ยังไม่มีพรรคการเมืองใดอยากให้ยุบสภา รวมทั้งพรรคฝ่ายค้าน 

ทั้งนี้ มองว่าการที่แต่ละพรรคการเมืองต่างออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องต่างๆ ที่ชัดเจนขณะนี้ เป็นเพราะต้องการหาคะแนน เพื่อหวังผลในการเลือกตั้งในสมัยหน้า ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่นานนัก จึงไม่อยากให้พรรคการเมืองคู่แข่งได้คะแนนเต็มที่ และเชื่อว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า หลังการประชุมเอเปค ตามที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เคยพูดเอาไว้  เพราะหากใครทำอะไรที่ทำให้การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคล่ม จะถูกโจมตีว่าทำร้ายบ้านเมืองให้เสียหาย ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครทำเช่นนั้น

“เขาไม่อยากยุบ มีใครพรรคไหนอยากยุบ แม้กระทั่งฝ่ายค้านยังไม่อยากยุบ เขาไม่ได้แตกหักกัน และถ้าม็อบออกมา อย่าลืมนะ ม็อบไม่สามารถเดินได้ โดยไม่มีการสนับสนุน เพราะฉะนั้นถ้าฝ่ายค้านเองอยากให้เลือกตั้งปีหน้า ก็คงยังไม่อยากให้แตกหักในปีนี้ และตอนนี้ยังมีอีกอย่างที่ไม่มีใครพูดถึงนะ ผมว่าถ้าทำอะไรแล้วทำให้การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคล่ม จะโดนโจมตีว่าทำร้ายบ้านเมือง ผมว่าพรรคการเมืองพึงต้องระวัง ผมว่าบรรยากาศที่เกิดขึ้นในสภาฯขณะนี้ เป็นการต่อสู้ เป็นการขัดขา เพื่อการเลือกตั้งคราวหน้าเท่านั้น” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net