สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 10-16 ก.ย. 2565

หอการค้ามาเลเซีย-จีน เสนอต้องการแรงงานไทยหวังแก้ปัญหาคนว่างงาน

นายอำนวย ศรีระแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำคณะฯ เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ร่วมหารือแลกเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาด้านการค้าการลงทุนร่วมกับหอการค้ามาเลเซีย – จีน ณ สำนักงานหอการค้ามาเลเซีย – จีน Malaysia -China Chamber Commerce (MCC) โดยมี Mr. Loo Kok Seong ประธานหอการค้ามาเลเซีย – จีน และคณะผู้บริหารฯ ร่วมให้การต้อนรับ

สำหรับการหารือครั้งนี้ผู้แทนหอการค้ามาเลเซีย – จีน ได้มีข้อเสนอถึงความต้องการแรงงานไทยกว่า 200 คน เพื่อเตรียมพื้นที่ในการรองรับนำมาฝึกทักษะและพัฒนาฝืมือการเป็นเชฟประกอบอาหารไทยในประเทศมาเลเซียโดยเฉพาะเมนูต้มยำกุ้งและผัดไทย ซึ่งเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมมากในประเทศมาเลเซียรวมถึงต่างประเทศทั่วโลก โดยมีค่าแรงขั้นต่ำ 4,000 ริงกิต คิดเป็นเงินไทยกว่า 30,000 บาท/เดือน และจะต้องมีใบรับรอง Certificate ที่ผ่านการเป็นเชฟจากองค์กรหรือหน่วยงานที่สามารถรับรองประสบการณ์ทำงานอย่างถูกต้อง

ในการนี้ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า จากประเด็นการหารือดังกล่าวศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเร่งพิจารณาและเตรียมหารือร่วมกับสำนักงานอาชีวะศึกษา สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณาและร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อให้สามารถผลิตแรงงานตามความต้องการ หวังแก้ไขปัญหาคนว่างงานที่ได้รับกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 รวมถึงคนที่ไม่มีงานทำ ให้มีอาชีพมีรายได้และพัฒนาฝีมือกลุ่มคนเหล่านี้ให้เทียบเท่าในระดับสากลได้ต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์, 16/9/2565

เผยโอนเงินสมทบเกิน คืนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ให้ผู้ประกันตน ม.40 ไปแล้ว 2.9 ล้านราย

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานคืนเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่นำส่งเงินสมทบไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระ โดยวิธีการโอนเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน ในรอบที่ 1 สำนักงานประกันสังคม ได้โอนเงินรอบแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 8 – 11 สิงหาคม 2565 ให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ไปแล้วจำนวน 2,884,909 ราย โอนเงินสำเร็จ เป็นจำนวนเงิน 402,289,546 บาท และรอบที่ 2 ในวันที่ 14 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ได้คืนเงินให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 อีกจำนวน 25,293 ราย โดยโอนเงินสำเร็จ เป็นจำนวนเงิน 4,887,428 บาท รวม 2 รอบ มีผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับเงินคืน จำนวน 2,910,202 ราย รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 407,176,974 บาท

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้กล่าวย้ำไปยังผู้ประกันตนมาตรา 40 ถึงการจ่ายเงินสมทบ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกๆ เดือน จะทำให้ท่านได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมอย่างครบถ้วน ทุกกรณี โดยผ่านหลากหลายช่องทางที่สะดวก เช่นที่ เคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11) และเคาน์เตอร์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)หรือผ่าน Mobile Application Shopee/Shopee Pay หรือผู้ประกันตนได้ผูกบัญชีเงินฝาก/ibanking/Mobile Banking/wallet กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮาส์ และธนาคารออมสิน ก็สามารถชำระเงินสมทบได้ฟรีไม่เสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด ทั้งนี้ เมื่อชำระเงินสมทบแล้ว สามารถตรวจสอบใบเสร็จรับเงินได้ที่ https://www.sso.go.th/erc สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: ไทยโพสต์, 15/9/2565

ก.แรงงาน-หอการค้า-สภาหอฯ เซ็น MOU ร่วมขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices: GLP) ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงาน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของนายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดเป้าหมายให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น รองรับการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้มีการส่งเสริมให้นายจ้างหรือสถานประกอบกิจการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี ซึ่งเป็นแนวทางที่สถานประกอบกิจการสามารถใช้ปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานการปฏิบัติต่อแรงงานที่เทียบได้กับมาตรฐานแรงงานสากล มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การเลือกปฏิบัติ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

"แสดงความชื่นชมหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการที่เป็นสมาชิก รวมถึงห่วงโซ่อุปทานของสถานประกอบกิจการที่เป็นสมาชิก นำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีไปใช้บริหารจัดการด้านแรงงานในองค์กร ถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สถานประกอบกิจการอื่น" นายสุชาติ กล่าว

ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า การทำ MOU ของกรมฯ กับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เป็นองค์กรหลักของภาคเอกชน ถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของภาครัฐและภาคเอกชน ที่แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงาน

ทั้งนี้ สอดคล้องกับแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืน ส่งผลให้สินค้าและบริการ ได้รับการยอมรับจากลูกค้าและกลุ่มผู้บริโภคในเวทีการค้าโลก เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และเป็นต้นแบบให้สถานประกอบกิจการอื่นๆ ยึดถือเป็นแนวทางในปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีต่อไป

ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงาน อาทิ ปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และปัญหา IUU Fishing ร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ในการแก้ไขปัญหาแรงงานเชิงรุก จนเป็นที่ประจักษ์ในการจัดอันดับประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่ม Tier 2 ใน TIP Report 2022

ทั้งนี้ หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตระหนักดีว่าการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม จะผลักดันองค์กรและประเทศ ไปสู่ความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน

"หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้าที่เป็นสมาชิกเบื้องต้น ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย มีความมุ่งมั่นและพร้อมที่จะร่วมส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการที่เป็นสมาชิก ซึ่งครอบคลุมทั้งประเทศมากกว่า 110,000 ราย รวมถึงห่วงโซ่อุปทานของสถานประกอบกิจการที่เป็นสมาชิก นำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีมาใช้ อันนำมาซึ่งภาพลักษณ์ที่ดีในการผลิตสินค้าและบริการของไทยที่เคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป" นายพจน์ กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 15/9/2565

สคช. จัดงาน “คุณวุฒิวิชาชีพ คุณวุฒิของคนทำมาหากิน” ชูสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนร่วมยกระดับกำลังแรงงานด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. จัดงาน “คุณวุฒิวิชาชีพ คุณวุฒิของคนทำมาหากิน” และพิธีแสดงเจตนารมณ์ “การเชื่อมโยงข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการผลิตและพัฒนากําลังคนของประเทศ” ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 52 หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังแรงงานกลายเป็นแพลตฟอร์มฐานข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกันเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การพัฒนาทุนมนุษย์และยกระดับศักยภาพกำลังแรงงานของประเทศไทยในทุกมิติ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบุคลากรและกำลังแรงงานของประเทศไทยในสาขาอาชีพต่างๆ ให้เป็นแรงงานคุณภาพ มีทักษะและความเชี่ยวชาญในระดับสูงได้การรับรองตามมาตรฐานอาชีพ และได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นคุณวุฒิใหม่ของประเทศไทยที่ให้การรับรองความรู้ ทักษะ และความสามารถ ของกำลังแรงงาน เพื่อให้พี่น้องกำลังแรงงานของประเทศไทยได้พัฒนาตัวเองในช่องทางต่างๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืนและได้รับคุณวุฒิที่เทียบเท่าคุณวุฒิทางการศึกษาในระดับต่างๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลจะดำเนินการรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า

รัฐบาลมุ่งพัฒนาคนไทยให้มีทักษะสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและมุ่งพัฒนาคนในทุกมิติตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันทางสังคมที่เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม กำลังแรงงานของประเทศไทยมีอยู่มากกว่า 38 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 37.7 ล้านคน ว่างงานอีก 748,268 คน และเป็นแรงงานนอกฤดูอีกราว 2 แสนคน ส่วนผู้ที่ไม่ใช่กำลังแรงงานซึ่งมีทั้งเด็ก คนชรา ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณมีอีกกว่า 18 ล้านคน เหล่านี้เป็นตัวเลขที่รัฐบาลได้หาแนวทางที่ทำให้กำลังคนเหล่านี้ได้มีโอกาสในการเสริมสร้างศักยภาพของตัวเอง ทั้งนี้ภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จะช่วยทำให้กำลังแรงงานเข้มแข็งขึ้น การพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ตอบโจทย์การยกระดับสมรรถนะกำลังคนวัยทำงานในอนาคตทั้ง Upskill – Reskill เพื่อทำให้กำลังแรงงานเหล่านั้นมีโอกาสในการเสริมสร้างทักษะและศักยภาพของตัวเองเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพแลเพื่อทำให้พวกเขาเหล่านั้นเป็นแรงงานทักษะสูงเป็นที่ต้องการของตลาด ผู้ที่ไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษา ก็จะได้รับคุณวุฒิวิชาชีพที่พร้อมให้การรับรองความรู้ ความสามารถ และเมื่อสังคมเกิดการยอมรับคุณวุฒิวิชาชีพ ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน เพิ่มโอกาสในการปรับตำแหน่งหน้าที่ให้สูงขึ้นสามารถเจริญเติบโตก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งในต่างประเทศได้ให้การยอมรับในเรื่องความรู้ ทักษะ ความสามารถ ประสบการณ์ในการทำงานกันมานานแล้ว ประเทศไทยเองก็ต้องสร้างการยอมรับสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในประเทศอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว

สำหรับคนว่างงาน แรงงานนอกฤดูกาล หรือผู้ที่ไม่ใช่กำลังแรงงาน รัฐบาลก็ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การเป็นรัฐบาลดิจิทัล มีธนาคารหน่วยกิตสะสมผลการเรียนรู้ของเหล่านักเรียน นักศึกษาเพื่อการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง เพราะนอกจากการศึกษาในห้องเรียนแล้วต้องมีการเรียนรู้ในด้านต่างๆ เช่น ภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยีดิจิทัล และการฝึกประสบการณ์ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งการเชื่อมโยงข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะส่งผลให้เกิดการพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนาขีดความสามารถในการทำงานที่มีมาตรฐานได้รับการยอมรับจากภาคเอกชนและภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันต้องฝากให้ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการให้การส่งเสริมสนับสนุนให้มีการศึกษาและเรียนรู้ทักษะภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เป็นต้น ให้กับบุคลากรภายในหน่วยงานของตัวเอง เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพให้มีความพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาคน เพื่อให้ทุกคนในชาติมีภูมิต้านทานต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราทุกคนจะพัฒนาไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เมื่อทุกคนมีภูมิต้านทานที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติหรือภัยคุกคามประเภทไหน ก็จะต่อสู้ฝ่าฟันไปได้และเกิดเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ด้านนายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึง การดำเนินงานของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ประจำปี 2565 ว่าสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานของรัฐที่ให้การรับรองคนด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อเปิดโอกาสให้กำลังแรงงาน ได้เข้าถึงการพัฒนาความรู้ ทักษะ ความสามารถในการประกอบอาชีพ ด้วยการวัดระดับจากมาตรฐานอาชีพ ที่ถูกกำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญเจ้าของอาชีพ ครอบคลุมทั้งธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต และการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การรับรองด้วยประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่าคุณวุฒิทางการศึกษาในปี 2565 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพ โดยเจ้าของในอาชีพ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่ทำงานอยู่ในอาชีพ สถานศึกษา สมาคม องค์กรอาชีพต่างๆ มาร่วมกันพัฒนา กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ จัดทำมาตรฐานอาชีพ ซึ่งตรงตามสภาพการทำงาน และตรงตามหลักเกณฑ์การประกอบอาชีพอย่างแท้จริง พร้อมประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 900 อาชีพ โดยเฉพาะปี 2565 มีการจัดทำใหม่ 25 อาชีพ และทบทวนมาตรฐานอาชีพเดิมให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันจำนวน 84 อาชีพ ครอบคลุมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมการผลิต และการเกษตร ซึ่งมาตรฐานอาชีพเหล่านี้เป็นเกณฑ์บ่งชี้สมรรถนะที่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการวัดระดับความรู้ ความสามารถกำลังแรงงานให้ตรงกับสภาพการทำงานในแต่ละอาชีพอย่างแท้จริงผ่านกลไกการทดสอบ หรือประเมินสมรรถนะที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสาขาอาชีพ

​มาตรฐานอาชีพยังถูกใช้เป็นแนวทางในการให้กำลังแรงงานของประเทศ นำไปพัฒนาความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานของตัวเอง รวมถึงหน่วยงาน สถานประกอบการ ซึ่งมีหน้าที่พัฒนากำลังแรงงาน ก็นำไปปรับเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมและการเรียนการสอนให้ตรงตามกรอบสมรรถนะที่กำหนดได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยทั้งพัฒนากำลังแรงงานก่อนเข้าสู่ตลาด ช่วยทั้งให้ตลาดที่มีกำลังแรงงานอยู่แล้ว ได้มีกรอบในการพัฒนาคนที่ชัดเจน ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการที่แท้จริงโดยผู้ที่ผ่านการทดสอบสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพที่กำหนด ซึ่งมีการทดสอบ ประเมินตามรายการสมรรถนะในแต่ละสาขาอาชีพมาทำการทดสอบที่แตกต่างกันไป ทั้งสอบข้อเขียนวัดความรู้ วัดทักษะ สอบปฏิบัติจริง ถ้าผ่านก็จะได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่ากับคุณวุฒิทางการศึกษา ซึ่งคุณวุฒิวิชาชีพเราเรียกว่าคุณวุฒิของคนทำมาหากินจริงๆ

​ทั้งนี้ สคช. จับมือ 52 หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เชื่อมฐานข้อมูลกำลังแรงงานเพื่อการพัฒนากำลังของของประเทศด้วยระบบ EWE โดยเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้รับผิดชอบในกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่ส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) เรื่อง การพัฒนาระบบการบริหารจัดการกำลังคนของประเทศแบบบูรณาการ โดยในกิจกรรมปฏิรูปประเทศฯ ได้มีการพัฒนา E-Workforce Ecosystem Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย ที่เชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละหน่วยงานให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้านตลาดแรงงานอยู่บนโครงสร้างเดียวกัน โดย E-Workforce Ecosystem Platform ประกอบด้วยระบบ ได้แก่

– ระบบ E-portfolio เป็นการจัดเก็บข้อมูลของบุคคลอย่างเป็นระบบ อาทิ ข้อมูลประวัติการศึกษา การอบรม ประสบการณ์ทำงาน ทักษะที่บุคคลมีไว้ในที่เดียว

– ระบบ Education and Career Guidance Check เป็นการประเมินทักษะ ความรู้ของตนเองว่าต้องพัฒนาอะไรบ้าง (3) ระบบ E-Coupon เป็นระบบสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการ Up-skill Re-skill New-skill หรือต้องการพัฒนาเป็นอาชีพที่ 2 อาชีพที่ 3 โดยตรงไปยังผู้ใช้งาน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการชำระเงิน ตรวจสอบ ติดตามผลได้ โดยจะอบรมผ่าน Accredited Training Programs ที่ได้รับการรับรอง

– ระบบ Digital Credit Bank หรือ Competency Credit Bank เป็นระบบการสะสมประสบการณ์เพื่อเชื่อมโยงภาคการศึกษา

– ระบบ Job Matching ระหว่างคนหางานและผู้ประกอบการมีประสิทธิภาพ เกิดการจ้างงานทุกระดับอย่างเป็นธรรม ผู้ประกอบการได้แรงงานมีคุณภาพ มีทักษะฝีมือตรงตามความต้องการ จะเห็นได้ว่า E-Workforce Ecosystem Platform เป็นระบบที่ช่วยในการสร้างโปรไฟล์ เพื่อรองรับการเพิ่มทักษะ การมีงานทำ การศึกษาต่อได้ และยังเป็นกลไกในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) อย่างเป็นรูปธรรม

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา พนักงาน ลูกจ้าง ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ และกำลังแรงงานในสถานประกอบการทุกท่าน เข้าใช้งานแพลตฟอร์ม E-Workforce Ecosystem เพื่อค้นหาข้อมูลด้านกำลังแรงงานของประเทศ และร่วมกันสร้างค่านิยมใหม่ให้สังคมเห็นคุณค่าของประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และทักษะในการทำงานหรือประกอบอาชีพ ด้วยประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ โดยสามารถเข้าไปฝากประวัติผลงานในระบบ EWE ที่เว็บไซต์ https://ewe.go.th ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 14/9/2565

เผยมติ ครม. อนุมัติขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 ต.ค. 2565

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565 เห็นชอบตามที่คณะกรรมการเสนอการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 328-354 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 ถือเป็นความเห็นชอบของไตรภาคีที่เป็นเอกฉันท์ ทั้งนายจ้างลูกจ้างและปลัดกระทรวงแรงงาน โดยปรับขึ้นอยู่ที่ 5-8% ภาพรวมปรับอยู่ที่กว่า 5% ถือว่าผ่านมา 2 ปี รวบยอดปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ

“หลายคนอาจมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ แต่จากที่ได้คุยกับนายจ้างแล้วก็ถือเป็นการประคับ ประคองลูกจ้างให้อยู่รอด และสัดส่วนที่ขึ้น 5% นายจ้างรับได้ และหากลูกจ้างอยู่รอดนายจ้างก็อยู่รอด และสาเหตุที่ขอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำในวันที่ 1 ต.ค.นี้เลย เพราะราคาสินค้าขึ้นไปรออยู่แล้ว ถ้าไปประกาศในวันที่ 1 ม.ค.2566 สินค้าก็จะขึ้นต่ออีกรอบ จึงต้องขึ้นค่าแรงเลยเพื่อสกัดการขึ้นสินค้าที่รอล่วงหน้า ในฐานะ รมว.แรงงาน คิดจะลดค่าครองชีพพี่น้องแรงงาน และวันนี้ขอให้มีความสุขกับมติ ครม.ที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขณะเดียวกัน กำลังให้กองทุนประกันสังคมช่วยเหลือนายจ้างลดการส่งเงินสมทบประกันสังคม 2-3 เดือน”

ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำปี 2565 ที่ ครม. เห็นชอบ วันละ 354 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง วันละ 353 บาท 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา วันละ 345 บาท พระนครศรีอยุธยา วันละ 343 บาท จังหวัดที่ได้วันละ 340 บาท 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย อุบลราชธานี วันละ 338 บาท 6 จังหวัด กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร สมุทรสงคราม

วันละ 335 บาท 19 จังหวัด กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุตรดิตถ์ วันละ 332 บาท 22 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุทัยธานี และวันละ 328 บาท 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส น่าน ปัตตานี ยะลา อุดรธานี.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 14/9/2565

ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาการออกเอกสาร CI ของทางการเมียนมาให้บริการใน 4 จังหวัดถึง 13 ก.พ. 2566

วันที่ 13 ก.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่องการออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ของทางการเมียนมา ให้แก่แรงงานเมียนมาที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2565 เรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

นายสุชาติกล่าวว่า ทางการเมียนมาจะดำเนินการเปลี่ยนเอกสารรับรองบุคคล (CI) ให้แก่แรงงานเมียนมาที่มีเอกสารรับรองบุคคล (CI) ฉบับเดิม เป็นระยะเวลา 2 เดือนหลังจากนั้นจะเป็นการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานเมียนมาที่ไม่มีเอกสารประจำตัว โดยให้ดำเนินการได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 2566 เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้บริการศูนย์ CI อีกครั้ง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี

“การขยายเวลาให้บริการศูนย์ CI ในครั้งนี้ จะเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนให้นายจ้าง สถานประกอบการที่ยังคงมีความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวสามารถจ้างแรงงานต่อไปได้อย่างถูกต้อง ตอบสนองการฟื้นฟูประเทศภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ตลอดจนบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การกำกับของภาครัฐ”

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ได้เห็นชอบให้เปิดศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร อนุญาตให้ทำงาน และออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 2565 – 27 ก.ค. 2565 ซึ่งมีแรงงานเมียนมาใช้บริการ ณ ศูนย์ CI ทั้ง 5 ศูนย์ (จังหวัดเชียงใหม่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี) รวมกันประมาณ 408,155 คน

สำหรับการพิจารณาครั้งนี้เป็นไปตามที่ทางการเมียนมาได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการถึงทางการไทย ร้องขอให้กรมการจัดหางานพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์ CI ถึง 2 ครั้ง เนื่องจากทางการเมียนมาคาดการณ์ว่ายังคงเหลือแรงงานที่จะต้องเปลี่ยนเอกสารรับรองบุคคล (CI) จำนวนประมาณ 250,000-300,000 คน

“กรมการจัดหางาน ภายใต้การนำของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการจัดทำเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ (CI) ของแรงงานเมียนมาซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดและนายจ้างในประเทศไทยมีความต้องการมากที่สุดในกลุ่มแรงงาน 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)

โดยถือเป็นวาระเร่งด่วนที่จำเป็นต้องวางแนวทาง ให้แรงงานเมียนมามีเอกสารรับรองบุคคล (CI) ฉบับใหม่ เพื่อขอตรวจลงตราอยู่ต่อในราชอาณาจักรกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภายในกำหนดเวลา และสามารถทำงานในประเทศไทยต่อไปได้ถึง 13 ก.พ. 2568 ซึ่งก่อนที่จะเสนอ ครม.ในวันนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2565 แล้ว” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/9/2565

ส.อ.ท.เผยขาดแคลนแรงงานต่างด้าวพุ่ง 4.5 แสนคน หวั่นฉุดรั้งการเติบโต ศก.

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายแรงงาน เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 8-22 บาทต่อวัน มีผลบังคับ 1 ตุลาคม 2565 นั้นถือว่าเป็นอัตราที่สะท้อนจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราค่าแรงดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่แต่มีความเป็นห่วงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่อาจไม่สามารถแบกรับภาระดังกล่าวได้มากท่ามกลางต้นทุนต่างๆ ได้ปรับสูงขึ้นอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตอีกส่วนยังเกิดปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงานต่างด้าวโดยรวมอีกประมาณ 4.5 แสนคนแต่การนำเข้ายังขาดความไม่สะดวกเกรงว่าปัจจัยนี้จะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจได้

“ก่อนโควิดเรามีแรงงานต่างด้าว 2.9 ล้านคน หลังโควิด-19 เหลือแค่ 2.3 ล้านคนเนื่องจากการเกิดโควิดใหม่ๆ ที่แพร่ระบาดแรงงานเหล่านี้กลับไปแล้วกลับมาไม่ได้จากมาตรการควบคุมโควิด ประกอบกับสถานประกอบกิจการบางแห่งปิดตัวแรงงานจึงกลับภูมิลำเนาไปแล้วไม่กลับมา ต่อมามีการลักลอบเข้าประเทศเพิ่มรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานจึงมีการแก้ไขผ่านมติ ครม. 5 ก.ค. โดยนิรโทษกรรมแรงงานต่างด้าวและล่าสุดมีการอนุมัติไปแล้วราว 6.4 แสนคน จึงมีแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายเกือบ 3 ล้านคน” นายสุชาติกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการนิรโทษกรรมแรงงานต่างด้าวแต่แรงงานเหล่านี้ก็เป็นแรงงานที่อยู่ในไทยอยู่ก่อนแล้วเพียงแต่ผิดกฎหมาย ดังนั้นการทำให้ถูกต้องไม่ได้ช่วยในเรื่องของความต้องการที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลที่นำเข้าแรงงานภายใต้ MOU ขณะนี้มีคำร้องไปขอถึงล่าสุดราว 3.2 แสนกว่าคนซึ่งสอดคล้องกับแรงงานต่างด้าวที่ส.อ.ท.สำรวจที่ยังขาดแคลน 4.5 แสนคนแต่ปัญหาการนำเข้าภายใต้ MOU ติดขัดไม่ราบรื่นเพราะประเทศต้นทางยังไม่มีความพร้อม โดยคำร้องขอนำเข้าไปมีความชัดเจนที่จะมีการนำเข้ามาเพียง 1.08 แสนคนเท่านั้น

“รัฐบาลเมียนมาไม่สามารถอำนวยความสะดวกในการกรอกพาสปอร์ตได้ ไม่มีวีซ่าจะอยู่ในไทยแม้จะได้รับการให้อยู่ได้ชั่วคราวถึงปี 66 ได้ ทำให้นายจ้างไม่สามารถเปิดบัญชีเพื่อจ่ายค่าจ้าง ทำให้ต้องจ่ายเป็นเงินสดแทนซึ่งเป็นความยากลำบาก และยังมีปัญหาอื่นๆ เรื่องความสามารถการรับแรงงานต่างด้าวแต่ละวัน 1,000 คนหากให้ครบกว่า 3 แสนคนตามที่ยื่นคำร้องน่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือน วันที่ 14 ก.ย.นี้กระทรวงแรงงานจะแถลงผลการดำเนินงานและทิศทางนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว จึงจะใช้โอกาสนี้หารือถึงแนวทางในการเพิ่มแรงงานต่างด้าวเข้ามา” นายสุชาติกล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 13/9/2565

รมว.แรงงาน สั่งติวเข้มครูภาษาอังกฤษ ดัน "แรงงานไทย" ทำงานเรือสำราญ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า อาชีพบน เรือสำราญ หรือ Shipboard อาจจะเป็นอาชีพที่หลายๆ คนยังไม่คุ้นเคย แต่ในปัจจุบันนั่นขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก การ ทำงานบนเรือสำราญ เป็นการทำงานที่ต้องใช้ชีวิตบนเรือ เหมาะสำหรับแรงงานที่จบใหม่ และต้องการ หาประสบการณ์และโอกาสที่ท้าทาย ด้วยรูปแบบของงาน และระยะเวลาการจ้างงานนั้นก็จะแตกต่าง กับสายงานอื่น คือ การทำสัญญาจ้างเป็นระยะเวลา 6-9 เดือน และรองรับรายสูงสุดกว่า 50,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งจำนวนเงินนี้จะสามารถเก็บไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้หลังหมดสัญญาจ้างได้ดีเลยทีเดียว

สำหรับการทำงานบนเรือสำราญนั้นมีอาชีพหลากหลายอาชีพที่น่าสนใจ ได้แก่ พนักงานดูแลต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟบนเรือ แม่บ้าน พ่อครัวหรือแม่ครัว บาร์เทนเดอร์ ช่างภาพ พนักงานนวดในสปา ช่างเครื่อง เป็นต้น

การทำงานดังกล่าวต้องผ่านการสอบ Marlins Test และทักษะทางด้านภาษา ซึ่ง แรงงานไทยยังขาดทักษะด้านภาษาอังกฤษ ทำให้แรงงานเพิ่งจบใหม่ขาดโอกาสในการทำงานบนเรือ สำราญ จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดฝึกอบรมครูต้นแบบด้านภาษาอังกฤษ สำหรับการ สอบ Marlins Test สำหรับผู้ทำงานบนเรือสำราญ เพื่อให้ความรู้แก่วิทยากรต้นแบบ หรือครู ก. ให้ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดแก่แรงงานที่สนใจไปทำงานบนเรือสำราญ รวมทั้งให้มีการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะเฉพาะด้านในอาชีพต่างๆที่สามารถ ทำงานบนเรือสำราญได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ บาร์ เทนเดอร์ พนักงานนวด และอีกมากมาย เพื่อให้มีความพร้อมในการพัฒนาทักษะ และเพิ่มศักยภาพ การพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับแรงงานไทยไปทำงานบนเรือสำราญ และ ผลักดันแรงงานไทยมีงาน มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวต่อว่า ในแต่ละปี กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะดำเนินการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานในสาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือปีละไม่ น้อยกว่า 100 คน และจัดอบรมให้ความรู้แก่วิทยากรต้นแบบอีกปีละ 40 คน เพื่อถ่ายทอดความรู้แก่ วิทยากรและชี้แจงกฎระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงพัฒนาวิทยากรต้นแบบคนใหม่ให้ได้เรียนรู้ ข้อกำหนดต่างๆ

กรมจึงมีการจัดอบรมในหลักสูตร วิทยากรต้นแบบภาษาอังกฤษสำหรับการสอบ Marlins Test สำหรับผู้ทำงานบนเรือสำราญ การฝึกอบรมในครั้งนี้มีทั้งสิ้น 22 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของกรม บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเป็นวิทยากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 กันยายน 2565 ณ ราชพฤกษ์ สมุย รีสอร์ท อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

การฝึกอบรมในครั้งนี้เน้นการทำแบบทดสอบ Marlins Test ซึ่งเป็นแบบทดสอบภาษาอังกฤษออนไลน์ ที่ต้องสอบผ่านทางอินเตอร์เน็ต สำหรับใช้วัด ระดับความเข้าใจและความสามารถในการเขียน ฟัง อ่าน และพูด รวมถึงการใช้ประโยคต่าง ๆ ใน ภาษาอังกฤษสำหรับผู้ที่จะทำงานเรือสำราญ จึงเป็นอีกหลักสูตรที่วิทยากรจะต้องมีความรู้และสามารถ ถ่ายทอดให้แก่แรงงาน โดยผู้ที่จะไปทำงานบนเรือสำราญได้นั้นจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 80% จึง จะถือว่าสอบผ่าน

นายชาคริต จิตสร้างบุญ รองหัวหน้าหน่วยการศึกษา โรงเรียนมารุ (Maru CHOT ) สอนอาชีพการเรือสำราญ และการโรงแรม และเป็นอาจารย์ประจำวิชาภาษาอังกฤษและการบริการ เป็นหนึ่งในผู้เข้าอบรมวิทยากร ต้นแบบ เล่าว่า ภาษาอังกฤษ มีความจำเป็นมากสำหรับแรงงานที่จะไปทำงานบนเรือสำราญ รวมถึง แรงงานไทย มีจุดอ่อนในด้านนี้มาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แรงงานต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้ โดยการอบรมในครั้งนี้เน้น ทักษะภาษาอังกฤษที่แรงงานต้องสามารถสื่อสารได้ ด้วยการนำแบบทดสอบมาเป็นตัวกำหนดหัวข้อในการ อบรม

ชาคริตยังบอกอีกด้วยว่า อาชีพนี้ยังขาดกำลังแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งการไปทำงานบนเรือจะมีรายได้เริ่มต้นประมาณ 500 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 18,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 6 กันยายน 2565) เป็นรายได้ที่ไม่สูง แต่รับเงินเต็มๆ ไม่ถูกหักอะไรเลย และยังมีรายได้อื่นอีก ซึ่งคนไทยที่ไปทำงานบน เรือสำราญจะได้ค่า offer จึงทำให้มีรายได้มากกว่าครึ่งแสน นอกจากนี้ บนเรือสำราญมีหลายตำแหน่งงาน ทั้งคนครัว พนักงานบริการและพนักงานทั่วไป เป็นต้น และรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-45 ปีเท่านั้น จึงเป็นอีกหนึ่ง ทางเลือกของแรงงานที่สนใจทำงานในด้านนี้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 12/9/2565

คนงานเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน ปลื้ม รมว.แรงงาน นำทีมเยี่ยมให้กำลังใจถึงแคมป์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน และคณะ เยี่ยมพบปะให้กำลังใจ มอบอาหารแห้ง และร่วมรับประทานอาหารเย็นกับคนงานที่มาเก็บผลไม้ป่าที่แคมป์คนงาน พร้อมหารือร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล รับฟังสภาพปัญหา และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานไทยที่มาเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน ณ แคมป์คนงานของบริษัท เฟรนด์ เบอร์รี่ สวีเดน โดยมี นายรัฐธรรมนูญ มีระหันนอก ประธานบริหารบริษัท เฟรนด์ เบอร์รี่ สวีเดน ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชม ซึ่งบริษัทแห่งนี้ได้มีการจ้างแรงงานไทยมาเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนเป็นจำนวนมาก และมีระบบการดูแลคุ้มครองแรงงานเป็นอย่างดี

นายสุชาติ กล่าวว่า ในวันนี้ผมได้นำความห่วงใยจากท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ที่ได้มีความห่วงใยแรงงานไทยทุกคนที่มาทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละคนเป็นเสาหลักของครอบครัวตั้งใจมาทำงานหาเงินส่งกลับเลี้ยงครอบครัวที่ประเทศไทย ซึ่งแต่ละปีมีรายได้ส่งกลับเพื่อพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมาก ในวันนี้ท่านจึงมอบหมายให้ผมและคณะได้เดินทางมาเยี่ยมแรงงานไทยซึ่งส่วนใหญ่มาเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดน เพื่อต้องการพบปะพูดคุยสอบถามสารทุกข์สุกดิบ เกี่ยวกับความเป็นอยู่ เนื่องจากแรงงานไทยเหล่านี้ต้องจากบ้านมาทำงานในต่างแดน จึงต้องได้รับการดูแลเพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการและความคุ้มครองตามกฎหมาย

นายสุชาติ ยังกล่าวอีกว่า จากการพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันกับท่านประธานบริหารบริษัท เฟรนด์ เบอร์รี่ สวีเดนท่านได้ชื่นชมแรงงานไทยว่าเป็นแรงงานที่มีระเบียบวินัย ขยันทำงาน และซื่อสัตย์ ซึ่งต้องยอมรับว่าแรงงานไทยที่มาเก็บผลไม้ป่าเป็นที่ต้องการของนายจ้างทั้งในฟินแลนด์และสวีเดน เนื่องจากคนไทยมีพื้นฐานทักษะฝีมือมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เมื่อว่างเว้นจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในประเทศไทย ก็เข้ามาทำงาน หาเงิน โดยการเก็บผลไม้ป่าตามฤดูกาล จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่การหารือในครั้งนี้จะช่วยให้คนไทยได้มาทำงานในสวีเดนมากขึ้น ซึ่งบริษัทได้มีระบบการดูแลคนงานที่ดี จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานไทยที่ได้รับการดูแลจากนายจ้างเป็นอย่างดี" นายสุชาติ กล่าวท้ายสุด

ที่มา: สยามรัฐ, 10/9/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท