Skip to main content
sharethis

กองกำลังฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่า เริ่มส่งสัญญาณรุกกลับแล้ว หลังประกาศสงครามปกป้องประชาชน เน้นตั้งรับและใช้วิธีการรบแบบกองโจรเตะตัดขา มานานกว่า 1 ปี แต่ก็นำมาสู่คำถามสำคัญถึงความพร้อมรบของกองกำลังมีมากแค่ไหน อีกทั้งบางคนมีความกังวลเรื่องเอกภาพภายในกองกำลังภาค ปชช.

 

16 ก.ย. 2565 'ติ่นเตดป่าย' (Tin Htet Paing) เขียนบทวิเคราะห์บนเว็บไซต์ข่าว ‘Myanmar Now’ รายงานเมื่อ 13 ก.ย. 2565 ระบุว่า 1 ปีผ่านมา หลังรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ประกาศ ‘สงครามต่อต้าน’ เผด็จการทหารพม่าที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD เมื่อ ก.พ. 2564 ดูหว่าละชิละ รักษาการประธานาธิบดี แห่งรัฐบาล NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแย่งชิงบทบาทการบริหารประเทศจากกองทัพพม่า มองว่า เร็วเกินไปที่จะบอกว่ากองกำลังประชาชนใกล้ได้รับชัยชนะแล้ว 

ดูหว่าละชิละ รักษาการประธานาธิบดี รัฐบาล NUG (ที่มา: National Unity Government of Myanmar)

แม้ว่ารัฐบาล NUG จะบอกว่ากองกำลังฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะสามารถยึดกุมพื้นที่จำนวนมากจาก พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า เอาไว้ได้ แต่ละชิละ มองว่า การบรรลุเป้าหมายสูงสุดในการโค่นล้มการปกครองของเผด็จการทหารให้ราบคาบนั้น ยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคอีกมาก

ขณะที่สมรรถภาพความที่แตกต่างกันด้านกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เห็นได้ชัด แต่อีกประเด็นคือการปรับเปลี่ยนท่าทีและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับกองกำลังกลุ่มต่างๆ ที่ต่อต้านเผด็จการทหารให้กลายมาเป็นแนวร่วมต่อสู้ที่มีความเหนียวแน่นกันมากขึ้น 

ประธานาธิบดีของ NUG เคยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว Myanmar Now เมื่อไม่นานนี้ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีทุนทรัพย์และการฝึกซ้อมที่ดี การแสวงหาแหล่งเงินทุนเพื่อยกระดับอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับแนวหน้าได้นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาล NUG ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในตอนนี้

อย่างไรก็ตาม ละชิละ ระบุว่านี่ไม่ใช่เรื่องเดียวที่รัฐบาล NUG คำนึงถึง อีกเรื่องหนึ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญคือการฝึกฝนอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่เพียงจะทำให้พวกเขามีความพร้อมในการรบเท่านั้น แต่ยังทำให้พวกเขามีความคุ้นเคยกับกฎยุทธวินัยและสายการบังคับบัญชาด้วย

ละชิละ กล่าวว่า ถ้าหากกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) และกองกำลังอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหารได้รับการติดอาวุธและมียุทธวินัยที่ดี ก็จะสามารถเอาชนะเผด็จการทหารได้

นอกจากนี้ รักษาการประธานาธิบดี รัฐบาล NUG กล่าวว่า จากหลายสิบปีที่ผ่านมา พวกเขาพยายามใช้วิธีการต่อสู้ขัดขืนด้วยวิธีการแบบสันติมาโดยตลอด แต่การที่เผด็จการทหารใช้กำลังรุนแรงในการสถาปนาอำนาจของตัวเอง ก็ทำให้เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่พวกเขาจะต้องหันมาใช้วิธีจับอาวุธขึ้นสู้กับเผด็จการ

"พวกเราไม่ทีทางเลือกนอกจากจะต้องโต้ตอบด้วยภาษาที่พวกเขาเข้าใจ โดยการใช้อาวุธ เพื่อทำให้พวกเขาเข้ารูปเข้ารอย ในเมื่ออาวุธเป็นสิ่งเดียวที่เผด็จการทหารพวกนี้เล็งเห็นความสำคัญ ผมเชื่อว่ามันเป็นวิธีทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่" ดูหว่าละชิละ กล่าว

ตัวแปรสำคัญ-กองกำลังชาติพันธุ์

ยี่มอน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม แห่งรัฐบาล NUG กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญอีกประการที่จะทำให้ฝ่ายต้านเผด็จการพม่าชนะได้ คือ การเสริมความเข้มแข็งและขยายความร่วมมือเป็นพันธมิตรระหว่างกลุ่มกองกำลังติดอาวุธกลุ่มใหม่ๆ รวมถึงกลุ่มที่ต่อสู้กับการปกครองของเผด็จการทหารพม่ามาเป็นเวลาหลายสิบปี อย่างกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAOs) มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับเผด็จการทหารมาอย่างต่อเนื่อง และจะยังคงต่อสู้ต่อไปหลังจากที่ขบวนการกลุ่มติดอาวุธเข้าสู่ช่วงสงครามแบบเชิงรุก

ยี่มอน กล่าวอีกว่า จนถึงตอนนี้ปฏิบัติการปะทะกับกองทัพพม่าส่วนใหญ่เป็นปฏิบัติการเชิงตั้งรับ หรือไม่ก็เป็นการลอบโจมตีที่มุ่งเน้นการทำลายสรรพกำลังของกองทัพพม่าในการลำเลียงเสบียงและกำลังเสริมไปในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง แต่ปฏิบัติการเหล่านี้ก็สร้างความเสียหายได้น้อยต่อกองทัพที่ยังคงยึดกุมอำนาจอยู่ แต่ในตอนนี้ทางรัฐบาล NUG เชื่อว่า พวกเขาพร้อมแล้วที่จะเพิ่มกำลังการโจมตีโดยตรงต่อโครงสร้างการบัญชาการของเผด็จการทหาร

ยี่มอน เชื่อว่า ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะสามารถทำปฏิบัติการเชิงรุกต่อกองทัพพม่าด้วยความช่วยเหลือของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAOs) รวมถึงกลุ่มที่เพิ่งจะเริ่มให้ความร่วมมือกับ NUG ด้วย ซึ่งจะไม่เพียงแค่สามารถปลดปล่อยพื้นที่ได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะสามารถลดทอนกำลังของกองทัพเผด็จการลงได้

ภาพวันเฉลิมฉลองครบรอบ 64 ปี แห่งการปฏิวัติ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU

ในที่ประชุมหารือเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี การเริ่มต้นสงครามต่อต้านเผด็จการทหารพม่า ยี่มอน กล่าวว่า PDF เป็น "กองกำลังที่เผด็จการทหารไม่สามารถทำลายลงได้" เนื่องจากการสนับสนุนอย่างมั่นคงจาก EAOs และจากประชาชน

แอนโทนี ดาวิส นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงและการทหารของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เข้าร่วมในการหารือครั้งนี้ด้วย เขาเห็นด้วยว่า ความสำเร็จของกองกำลังต่อต้านเผด็จการพม่าจนถึงตอนนี้ "มีความน่าทึ่งอย่างแท้จริง" ซึ่งดาวิส ให้เครดิตเรื่องนี้ว่า ส่วนใหญ่มาจากความกล้าหาญของประชาชนชาวพม่า แต่ก็บอกว่ากลุ่มองค์กรอย่าง EAOs หรือบางครั้งก็เรียกว่า EROs มีอิทธิพลต่อเรื่องนี้อย่างมากด้วย

ดาวิส กล่าวว่า ในพื้นที่ๆ EAOs สามารถสร้างความเสียหายให้กับกองทัพพม่า และทำให้กองทัพเผด็จการสูญเสียกำลังพลได้มากที่สุดนั้น เป็นพื้นที่ๆ ทางกองกำลัง PDF สามารถจะเรียนรู้และได้ประโยชน์จากประสบการณ์การรบภาคสนามของ EAOs ตรงจุดนี้ได้

ทางรัฐบาลพลัดถิ่น ‘NUG’ เปิดเผยว่า พวกเขากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 8 กลุ่มที่เป็นสมาชิกของ EAOs โดยที่กลุ่มเหล่านี้ให้การฝึกฝนด้านยุทธวิธีการรบ และการสนับสนุนด้านอื่นๆ อย่างเปิดเผย นอกจากนี้ ยังสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่ในปฏิบัติการร่วมกันกับกองกำลังของ PDF รวมถึงมีอยู่หลายครั้งที่สมาชิกของ EAOs เอาเจ้าหน้าที่ของตัวเองเข้าไปร่วมกับหน่วยรบที่ตั้งขึ้นใหม่ และปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บัญชาการแนวหน้าของหน่วยรบใหม่ๆ เหล่านั้น

ดาวิส ระบุว่า เผด็จการทหารรู้ดีว่า พวกเขาอยู่ในสถานการณ์อันตราย เพราะกลุ่มแนวร่วมเช่นนี้นับเป็น "ภัยร้ายแรง" ต่อเผด็จการทหาร ทำให้เผด็จการทหารพยายามจะทำลายพันธมิตรเช่นนี้ทุกวิถีทาง โดยดาวิส ชี้ให้เห็นว่า เผด็จการทหารพม่าพยายามจะจัดให้มี "การเจรจาสันติภาพ" กับกลุ่มกองกำลังที่เป็นสมาชิกของ EAOs อยู่บ่อยๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธวิธีที่เผด็จการใช้เพื่อทำให้เกิดความแตกแยก

เผด็จการพม่ากลัวแม้กระทั่งกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ซึ่งเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดใน EAOs อาจจะเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงสมดุลทางขุมกำลังให้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการกลายมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ ในการพบปะหารือเมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาเผด็จการทหารพม่ายอมรับข้อเรียกร้องของกลุ่มว้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ให้เขตแดนของว้าได้รับการยกระดับเป็น "รัฐปกครองตนเอง" เรื่องนี้ดูเหมือนจะได้ผลดีกับเผด็จการพม่าเองในเรื่องที่ว่า หลังจากที่การพบปะหารือกันสิ้นสุดลง กลุ่มผู้นำ UWSA แถลงว่าวิกฤตหลังการรัฐประหารในพม่านั้นเป็น "กิจการภายใน" ของประเทศพม่าที่มีชนชาติส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า และประกาศว่าจะไม่อยู่ข้างฝ่ายใดในความขัดแย้งนี้

มีกองกำลังชาติพันธุ์อีกกลุ่มหนึ่งคือ อาระกันอาร์มี (AA) จากรัฐยะไข่ ก็ประกาศว่าพวกเขาจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการลุกฮือต่อต้านเผด็จการทหารที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร แต่ก็บอกว่าพวกเขาเป็น "มิตร" กับกลุ่มใดก็ตามที่ต่อสู้เพื่อต่อต้านการกดขี่ แต่ไม่นานมานี้ ‘อาระกันอาร์มี’ กลับมาเปิดฉากขัดแย้งกับกองทัพพม่าอีกครั้งหลังจากที่กองทัพพม่าขยายการรุกล้ำ ทำให้ความขัดแย้งในรัฐยะไข่ เริ่มทวีความตึงเครียดมากขึ้น ซึ่งนี่อาจจะส่งผลลัพธ์ใหญ่ๆ ต่อสงครามในที่อื่นๆ ของประเทศพม่าได้

"เริ่มจากศูนย์"

แม้กระทั่งก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งกองกำลัง PDF ในเดือน พ.ค. 2564 มีคนรุ่นใหม่หลายหมื่นคนที่พากันเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมกับขบวนการติดอาวุธที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ ทำให้เกิดกลุ่มนักรบที่พร้อมและยอมสละชีวิตตัวเอง เพื่ออุดมการณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากประชาชน จากตัวเลขของ NUG ระบุว่าในช่วงปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ (2564-2565) มีนักรบฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 1,500 ราย แต่กองทัพพม่าก็สูญเสียไปมากกว่า 20,000 ราย

ยี่มอน ระบุว่า กองกำลัง PDF ตอนนี้มีกำลังพลอยู่ประมาณ 70,000 นาย และจากตัวเลขที่ออกมาเมื่อเดือน พ.ค. ระบุว่ามีกองพันที่ปฏิบัติการอยู่รวมแล้ว 300 กองพัน และทีมพิทักษ์ประชาชน (PDTs) ที่ปฏิบัติการในเมืองก็มีตัวเลขจำนวนเท่าๆ กัน องค์กรแรกคือ PDF จะปฏิบัติงานตามสายบังคับบัญชามาจากหน่วยบัญชาการในสังกัดของ NUG ที่แยกต่างหากออกมา แต่องค์กร PDTs จะปฏิบัติงานภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงจากกระทรวงกลาโหม แห่งรัฐบาล NUG และจะได้รับหน้าที่ปฏิบัติการในยุทธการแบบสงครามกองโจรในตัวเมือง มีการฝึกรบและให้การสนับสนุนทางการขนส่งกำลังบำรุง และประสานงานร่วมกับกองพันของ PDF เมื่อมีปฏิบัติการระดับใหญ่ๆ

นอกจากนี้ ฝ่ายต้านเผด็จการทหารยังมีกองกำลังพิทักษ์ท้องถิ่น (LDFs) ที่อยู่ตามเมืองหรือหมู่บ้านต่างๆ ที่กระจายกำลังอยู่ทั่วประเทศด้วย ถึงแม้ว่ากลุ่ม LDFs นี้จะเป็นอิสระจากการบัญชาการของ NUG แต่ก็เป็นกลุ่มที่มักจะเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารของ PDFs และพันธมิตรฝ่ายต่างรัฐประหารกลุ่มอื่นๆ โดยรวมแล้วมีจำนวนนักรบของ LDFs อยู่ในจำนวนใกล้เคียงกับกำลังพลของ PDF

แต่ก็มีปัญหาอยู่ตรงที่ว่า แม้กลุ่มเหล่านี้ดูจะสนับสนุนรัฐบาล NUG ที่บอกว่าพวกเขามีสมรรถนะมากพอในการปฏิบัติการเชิงรุกขนานใหญ่ต่อเผด็จการทหาร แต่ก็มีบางส่วนที่มองว่าพวกเขาไม่แน่ใจว่ามันจะทำได้จริงหรือไม่ กลุ่มที่ไม่แน่ใจนี้มองว่าการที่กองกำลังต่อต้านเผด็จการขาดความเป็นเอกภาพยังคงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

หน่วยอู (Nway Oo) โฆษกขององค์กรคุ้มครองความปลอดภัยพลเรือนแห่งเมย่าว์ (Myaung) ซึ่งเป็นกลุ่ม LDF ในภูมิภาคสะไกน์ กล่าวว่า "ผมเชื่อว่าความเข้มแข็งจากความเป็นเอกภาพของพวกเราจะเป็นตัวตัดสินได้มากกว่าเรื่องที่ว่าเราจะดำเนินการเชิงรุกหรือไม่"

หน่วยอู มองว่า NUG ควรจะมีกลุ่มกองกำลังที่เป็นเอกภาพมากกว่านี้ถ้าหากจะดำเนินปฏิบัติการทางทหารในแบบที่มีความทะเยอทะยาน เขามองด้งบว่า หลังจากที่การสู้รบดำเนินมาเป็นเวลา 1 ปี มันมีสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของกองกำลังต่อต้านเผด็จการทหารเริ่มเสื่อมถอยลง รัฐบาลพลัดถิ่น NUG ควรจะแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว แต่ในตอนนี้ดูเหมือนว่า NUG จะให้ความสำคัญไปกับเรื่องที่ว่าพวกเขาจะติดอาวุธให้กับกลุ่มกองกำลังที่อยู่ภายใต้การบัญชาการของพวกเขาได้อย่างไรมากกว่า

ยี่มูน บอกว่า การที่ฝ่ายเผด็จการทหารมีกำลังมากกว่า ทำให้ NUG หวังว่าพวกเขาจะสามารถติดอาวุธปืนไรเฟิล ให้กับกองกำลัง PDF ได้ประมาณ 20,000 นาย ภายในช่วงเวลา 4 เดือนหลังจากนี้ ซึ่ง NUG จะใช้งบประมาณในเรื่องนี้อย่างน้อย 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3,700 ล้านบาท)

ในฐานะที่ขบวนการติดอาวุธต่อต้านเผด็จการในพม่าเป็น "การปฏิวัติแบบพึ่งพาตนเอง" ทำให้พวกเขาต้องอาศัยการสนับสนุนจากประชาชนอย่างมากในด้านการเงิน เนโพนลัต (Nay Phone Latt) สมาชิกของ NUG เคยประเมินไว้เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ราคาที่ต้องจ่ายให้กับการต่อสู้กับเผด็จการทหารอยู่ที่ราว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ราว 370 ล้านบาท) มีจำนวนมากที่มาจาก NUG เอง แต่ก็มีบางส่วนที่ได้รับโดยตรงจากประชาชนที่ส่งไปให้กับกลุ่มกองกำลังที่กำลังสู้รบบนภาคพื้นดิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากระดับขนาดและต้นทุนของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพม่าแล้ว มันยังสร้างความเสียหายให้กับวิถีชีวิตของผู้คนในพม่าอย่างนับไม่ถ้วนด้วย และดูเหมือนจะเป็นความเสียหายในระดับที่ใหญ่กว่าทุกอย่างที่เผด็จการพม่าเคยทำมา ความโกรธแค้นของประชาชนเป็นชนวนให้เกิดการลุกฮือในระดับที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับในหลายๆ ประเทศเช่นกัน

ซอต่อนี โฆษกของกลุ่มติดอาวุธ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กล่าวว่า ถึงแม้พวกเขาจะยังไม่รู้สึกพอใจกับระดับความสำเร็จในตอนนี้ แต่การปฏิวัติของพวกเขาก็ "เริ่มต้นมาจากศูนย์" และพวกเขาก็ควรจะเล็งเห็นในเรื่องนี้ แล้วก็เข้าใจว่าพวกเขาสามารถฝ่าฟันอุปสรรคจำนวนมากมาได้ในช่วงปีที่ผ่านมา

นำสงครามส่งถึงศัตรู

ในรายงานที่ออกมาเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา สภาที่ปรึกษาพิเศษต่อกรณีเมียนมา (Special Advisory Council for Myanmar - SAC-M) ซึ่งเป็นกลุ่มอดีตทูตและผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนผู้ทำการสอดส่องสถานการณ์หลังรัฐประหารในพม่า ระบุยืนยันว่า ในตอนนี้ NUG และพันธมิตรของกลุ่มต่อต้านเผด็จการได้ควบคุมพื้นที่อาณาเขตร้อยละ 52 ของประเทศเอาไว้ได้ ในขณะที่ฝ่ายเผด็จการทหารสามารถควบคุมพื้นที่อย่างมีเสถียรภาพได้ร้อยละ 17 ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่เหลือเป็นที่ๆ มีการสู้รบหรือควบคุมโดยกลุ่ม EAOs ที่มีสนธิสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลเผด็จการทหาร

แผนที่ภูมิศาสตร์ เผยให้เห็นการปะทะด้วยอาวุธพื้นที่ต่างๆ ในประเทศเมียนมา โดยสีแดงหมายถึงพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง สีแดงยิ่งเข้มมากเท่าไร ยิ่งมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นเท่านั้น (ที่มา: สภาที่ปรึกษาพิเศษต่อกรณีเมียนมา (SAC-M))

แผนที่ภูมิศาสตร์ เผยให้เห็นพื้นที่ที่กองกำลังฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่าควบคุมในประเทศเมียนมา โดยสีฟ้า หมายถึงพื้นที่ที่กองกำลังภาคประชาชนควบคุมได้ สีฟ้ายิ่งเข้มมากเท่าไร หมายถึงกองกำลังภาคประชาชนยิ่งควบคุมพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จมากขึ้นเท่านั้น (ที่มา: สภาที่ปรึกษาพิเศษต่อกรณีเมียนมา (SAC-M))

รายงานฉบับดังกล่าวนี้ระบุว่า ทิศทางของความขัดแย้งเป็นไปในทางที่เอื้อต่อฝ่ายต่อต้านเผด็จการ และเผด็จการทหารพม่าก็กำลังสูญเสียการควบคุมในสิ่งที่พวกเขาทำอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าฝ่ายเผด็จการทหารจะยังคงใช้กำลังรุนแรงในการกระทำทารุณโหดเหี้ยมอย่างหนักก็ตาม

ถึงแม้ว่ากลยุทธ์แบบผลาญภพ (Scorched Earth) ที่หมายถึงกลยุทธ์แบบที่ทำลายทุกสิ่งที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อข้าศึกเมื่อข้าศึกบุกหรือถอยทัพออกจากพื้นที่นั้นๆ จะเป็นกลยุทธ์ที่เผด็จการทหารพม่านำมาใช้แล้วล้มเหลวก็ตาม แต่เผด็จการทหารพม่าก็ดูเหมือนจะยังไม่ลดละ พวกเขายังคงเดินหน้าทำลายชุมชนต่างๆ ราบเป็นหน้ากลอง ส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนต้องหนีตายในขณะที่บ้านของพวกเขาถูกทำลาย

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านกิจการมนุษยธรรมของสหประชาชาติ ประเมินว่า ในตอนนี้มีพลเรือนประมาณ 1.2 ล้านรายในพม่าที่เป็นผู้พลัดถิ่น ถึงว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 800,000 ราย นับตั้งแต่ที่กองทัพพม่าก่อการรัฐประหาร

ซอต่อนี กล่าวว่า กลุ่มคนที่ถูกบีบให้กลายเป็นผู้พลัดถิ่นเหล่านี้มี 300,000 รายที่อาศัยในพื้นที่ของ KNU เรื่องนี้เป็นความจริงอันโหดร้ายที่กลุ่มผู้ต่อต้านเผด็จการทหารต้องยอมรับว่ามันเป็นผลกระทบที่จะเกิดจากการมีส่วนร่วมกับกองกำลังติดอาวุธ

ซอต่อนี บอกว่า เมื่อใดก็ตามที่กองทัพพวกเขาถูกเล่นงานจากข้าศึกที่เป็นกลุ่มติดอาวุธ กลุ่มเผด็จการจะหันไปข่มเหงพลเรือนและตั้งเป้าหมายกับพลเรือน เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องหาวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อแก้ไข

แอนโทนี ดาวิส เตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่เผด็จการทหารอาจจะใช้วิธีเดิมอีก กองทัพพม่าไม่เคยมีประวัติเรื่องการแตกหักภายใน และมักจะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาพร้อมจะใช้ความรุนแรงแบบสุดโต่งเพื่อยึดกุมอำนาจเอาไว้ ดาวิส ยังบอกอีกว่าฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหารดูเหมือนจะกำลังเตรียมการยกระดับปฏิบัติการไปสู่ขั้นถัดไปหลังจากที่เน้นการตั้งรับและปฏิบัติการแบบกองโจรในระดับเล็กๆ มาเป็นเวลา 1 ปี

"ในปฏิบัติการขั้นที่สองคือขั้นที่จะมีการสร้างสมดุลทางยุทธศาสตร์ โดยการที่กองกำลังปฏิวัติจะสามารถจัดตั้งและติดอาวุธไปจนถึงระดับที่พวกเขาไม่ใช่แค่สามารถคงไว้ซึ่งความอยู่รอดของตัวเองได้อย่างเดียว แต่ยังสามารถพัฒนาไปสู่การนำสงครามส่งตรงถึงศัตรูได้ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ศัตรูกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ" ดาวิส กล่าว

 

เรียบเรียงจาก

As struggle rages on, Myanmar’s resistance prepares to go on the offensive, Myanmar Now, 13-09-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net