Skip to main content
sharethis

เวทีสถานการณ์ด้านนโยบายและกฎหมายการแก้ไขปัญหาป่าไม้-ที่ดิน ที่ทำกิน สู่การสื่อสารสาธารณะเพื่อลดข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินภาคใต้ชี้ควรยกระดับเรื่องที่ดินเป็นประเด็นสาธารณะพบเขตป่าทับซ้อนชุมชนภาคใต้กว่า 1.3 แสนครัวเรือน

15-16 ก.ย. 2565 สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการภูมิภาคใต้ ไทยพีบีเอส ร่วมด้วยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สภาประชาชนภาคใต้ และมูลนิธิชุมชนไท จัดเวทีสถานการณ์ด้านนโยบายและกฎหมายการแก้ไขปัญหาป่าไม้-ที่ดิน ที่ทำกิน สู่การสื่อสารสาธารณะเพื่อลดข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาด้านที่ดิน ณ โรงแรมปุระนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 20 คน จาก 8 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา สตูล พัทลุง ปัตตานี และนราธิวาส

กิจกรรมในงานมีการประมวลสถานการณ์การขับเคลื่อนของเครือข่ายแก้ไขปัญหาป่าไม้-ที่ดินภาคใต้ โดย วิริยะ แต้มแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคใต้ รวมถึงการสรุปความคืบหน้าและสถานการณ์ด้านนโยบายและกฎหมายด้านป่าไม้ที่ดิน โดย ณัฐวุฒิ อุปปะ ประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส และการรับฟังความคิดเห็นกรณีข้อจำกัดและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน ภาคใต้ และข้อเสนอแนะต่อไทยพีบีเอสต่อประเด็นแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ใน 8 กรณี ได้แก่ กรณีที่ดินเอกชนรุกที่ดินของรัฐและประชาชน กรณีที่ดินสาธารณประโยชน์/ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ กรณีเขตอุทยานทับซ้อนที่ดิน ที่ทำกิน กรณีเขตป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนที่ดิน ที่ทำกิน กรณีที่ดินตั้งอยู่ในเขตป่าชายเลน กรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินด้วยแนวทางโฉนดชุมชน กรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินด้วยแนวทางนิคม และกรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินด้วยแนวทางการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร

วิริยะ กล่าวว่า ภาคใต้มีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติกับชุมชน จำนวน 749,648 ไร่ มีคนอาศัยอยู่ 76,120 ครัวเรือน และมีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเขตอุทยานแห่งชาติกับชุมชน จำนวน 562,915 ไร่ มีคนอาศัยอยู่ 55,306 ในส่วนข้อเสนอจากเวทีในภาคใต้ มีดังนี้ (1) กระจายอำนาจให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ดินและทรัพยากร (2) กระจายที่ดินอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม เพื่อส่งเสริมสิทธิในการจัดการที่ดินของชุมชนอย่างเข้มแข็ง (3) รับรองสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรตามวิถีวัฒนธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดิน

นอกจากนั้น มีการเสวนาเรื่อง “เสียงคนใต้กับการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม” โดยมีวิทยากร ได้แก่ มะนาวี เด็งโด เครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี สมภา ใจกล้า เครือข่ายที่ดินภาคใต้ ณัฐวุฒิ อุปปะ ประธานสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส ไมตรี จงไกรจักร์ ที่ปรึกษาสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการภูมิภาคใต้ ธิวัชร์ ดำแก้ว นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร

มะนาวี เด็งโด เครือข่ายแก้ไขปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี กล่าวว่า การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตอุทยานแห่งชาติ ในพื้นที่เทือกเขาบูโดส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน 89 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 25 ตำบล 9 อำเภอ 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ต้องกลายเป็นผู้บุกรุกป่า ไม่สามารถเก็บผลไม้ในสวนที่ปลูกไว้ ไม่สามารถตัดโค่นต้นยางพาราที่ไม่ให้น้ำยางเพื่อปลูกใหม่ทดแทน ทำให้ขาดรายได้ ไม่มีเงินส่งเสียลูกหลานเรียนหนังสือ ชาวบ้านได้รวมกลุ่มแก้ไขปัญหาในปี 2549 ขับเคลื่อนให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา จนมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 ต.ค. 2551 ให้สามารถตัดโค่นยางพาราที่หมดอายุเพื่อปลูกใหม่ทดแทนในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 4 ของพื้นที่ ให้กรมที่ดินตรวจสอบและออกเอกสารสิทธิให้กลุ่มที่ดินที่อยู่นอกเขตป่า และพิสูจน์สิทธิที่ดินที่อยู่ในเขตป่า

“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยอมรับว่ากฎหมายรุกล้ำที่ทำกินของชุมชนเดิม มีมติชัดเจนว่า 13,000 แปลง เนื้อที่ประมาณ 60,000 ไร่ อยู่ก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เข้ากระบวนการที่รองประวิตรเป็นประธาน กำลังจะผลักดันให้มีมติ ค.ร.ม. กันพื้นที่ออกจากเขตอุทยาน ฯ คืนสิทธิให้พี่น้อง แต่สุดท้ายเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ส่งผลกระทบต่อกระบวนการแก้ไขปัญหา เหมือนเป็นการปิดประตูไม่ให้เราเข้าบ้าน ทุกอย่างที่ทำมาถูกล้มกระดาน เราต้องการรักษาที่ดินของบรรพบุรุษให้ลูกหลาน ซึ่งบางพื้นที่ครอบครองกันมา 400 กว่าปี มีมัสยิด 390 ปี วัด 200 กว่าปี ไม่ได้ต้องการโฉนดที่ดิน” มะนาวีกล่าว

สมภา กล่าวว่า ปัญหาที่ดินยังเป็นปัญหาหลักของประเทศไทย สาเหตุหนึ่งเกิดจากการประกาศกฎหมายทับซ้อนพื้นที่ทำกิน หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหาตามกฎหมาย จึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายให้มีการรับรองสิทธิชุมชน เพื่อให้หน่วยงานรัฐปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน รูปแบบการแก้ไขปัญหาที่ดินไม่ควรใช้รูปแบบเดียว สิทธิในที่ดินควรมีหลายรูปแบบ ไม่ควรใช้โฉนดรูปแบบเดียว ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมาก รัฐควรส่งเสริมและเคารพสิทธิชุมชน ส่งเสริมสวัสดิการชุมชนให้มากขึ้น

ไมตรี กล่าวว่า ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิต ถ้าหากชาวบ้านเข้าไม่ถึงที่ดินและทรัพยากรจะก่อให้เกิดปัญหาความยากจนตามมา เป็นวัฏจักรความยากจนที่หมักหมมมานาน ส่งผลให้เข้าไม่ถึงการบริการของรัฐ กฎหมายประกาศทับซ้อนพื้นที่ชุมชน ทั้งที่มีคนอยู่ในพื้นที่มาก่อน มีวัดมัสยิดเป็นหลักฐาน ควรยอมรับความจริงในเรื่องนี้ ควรมองเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงนโยบาย ควรรับรองสิทธิชุมชนให้สามารถบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากร และพัฒนาพื้นที่ได้ อาจใช้รูปแบบโฉนดชุมชน หรือรูปแบบอื่น ๆ ควรขับเคลื่อนให้มีการกระจายการถือครองที่ดิน ในขณะที่ที่ดินจำนวนมากรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่คนไทยจำนวนมากไม่มีที่ดิน งานวิจัยในปี 2553 ระบุว่าที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 180,000 ล้านบาทต่อปี พีมูฟพยายามผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า การผูกขาดการจัดการที่ดินโดยรัฐไม่สามารถรักษาป่า แต่ทำให้ป่าลดลงมาโดยตลอด ควรปรับเปลี่ยนจากการผูกขาดมาเป็นการจัดการร่วมกัน รัฐธรรมนูญควรรับรองสิทธิชุมชนแทนการบัญญัติว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ ในขณะที่เกษตรกร 30 ล้านคนไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง แต่บางคนมีที่ดิน 630,000 ไร่ แสดงว่าการกระจายการถือครองที่ดินของไทยมีปัญหา คนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงที่ดิน แต่รัฐมีนโยบายให้ต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดิน ต่างชาติสามารถเช่าที่ดินได้ 99 ปี ทำนิคมอุตสาหกรรม การแก้ปัญหาต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีปัญหาที่ดินกระจุกตัว การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และการรับรองสิทธิชุมชนควรเป็นวาระหลักที่ทำร่วมกัน

ในช่วงระดมความคิดเห็นที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า เรื่องที่ดินเป็นเรื่องสำคัญ ควรยกระดับเป็นประเด็นสาธารณะ เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดิน เข้าไม่ถึงที่ดิน และไม่มีความมั่นคงในที่ดิน ควรออกแบบยุทธศาสตร์การสื่อสารในประเด็นที่ดิน สื่อสารข้อมูลการกระจุกตัวที่ดิน และปัญหาจากการจัดการที่ดินของรัฐให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจ ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้งและยกระดับกลไกการแก้ไขปัญหาที่ดินในระดับภาค และจัดตั้งคณะทำงานจัดทำฐานข้อมูลที่ดิน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net