Skip to main content
sharethis

ครป.จัดวงถก ปชช. เรื่อง ‘ล้างหนี้ กยศ. ยุติธรรมหรือเอาเปรียบสังคม?’ ‘ษัษฐรัมย์’ ชวนปรับมุมมองการศึกษาเป็นเรื่อง 'สิทธิขั้นพื้นฐาน' แจงล้างหนี้-เรียนฟรีเป็นไปได้ พร้อมคุยกับอดีตลูกหนี้ถึงปัญหาการกู้ยืม เผยความรู้สึกไม่เสียดายหากมีการล้างหนี้ มองผลลัพธ์คนรุ่นใหม่ได้เรียน มีงานทำ ประเทศได้กำไร

 

เมื่อ 17 ก.ย. 2565 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย จัดวงสนทนาบนแอปพลิเคชัน 'คลับเฮาส์' "#ล้างหนี้กยศ. ยุติธรรม หรือเอาเปรียบสังคม?" โดยมีผู้ร่วมสนทนา ประกอบด้วย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี หัวหน้าศูนย์วิจัยการเรียนรู้รัฐสวัสดิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นผู้นำแคมเปญ #ล้างหนี้กยศ. และ วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. อดีตลูกหนี้ กยศ. ซึ่งกิจกรรมนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังกว่า 600 คน 

ษัษฐรัมย์ อธิบายว่า ที่มาของแคมเปญนี้เป็นสิ่งที่ถูกนำเสนอขึ้นมาพร้อมกับแคมเปญการเรียนฟรีในระดับอุดมศึกษา ซึ่งหากผลักดันให้การเรียนฟรีเกิดขึ้นได้แล้ว สิ่งที่ต้องทบทวนคือการแก้ปัญหานโยบายที่ผิดพลาดในอดีตที่ทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้ แต่เราแก้ปัญหาด้วยการให้เขาไปกู้เงิน จนเกิดหนี้ทางการศึกษา จึงนำมาสู่เรื่องว่าควรต้องล้างหนี้ กยศ. คือ การที่ให้รัฐบาลเข้ามาจัดการภาระหนี้อันนี้ กลไกการล้างหนี้นั้นทำได้หลากหลายมากมาย ตั้งแต่การพักชำระหนี้ระยะยาว หรือเปลี่ยนหนี้ให้กลายเป็นทุน หรือการล้างหนี้ตามเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งอย่างที่ตอนนี้ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ‘โจ ไบเดน’ กำลังทำอยู่ เพื่อแก้ไขปัญหาจากการที่คนอเมริกาจำนวนมากมีหนี้จากการศึกษาเฉลี่ยร่วมราวๆ 7 แสนบาทถึง 4 ล้านบาทต่อคน กว่า 16% ต้องใช้หนี้จากการกู้ยืมเพื่อการศึกษาไปจนเกษียณ

 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

มองการศึกษาให้เป็น ‘สิทธิ’

การทำนโยบายล้างหนี้การศึกษานั้นง่ายกว่าเรื่องการเรียนฟรี แต่วันนี้สิ่งที่สังคมถกเถียงกันกลับกลายไปเป็นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมว่า มีหนี้ก็ต้องใช้หนี้ ด้านหนึ่งคือเราไม่เคยมองว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็น “สิทธิ” ขั้นพื้นฐาน แต่ไปมองเป็นเรื่องของความหรูหรา สังคมไทยยังมองสวัสดิการเป็นเรื่องของคนจน อย่างการศึกษาคนก็มองว่าคนเรียนเก่งก็สอบชิงทุนได้ มีโรงเรียนสำหรับผู้มีความเป็นเลิศทางการศึกษามากมาย ซึ่งมุ่งหวังว่าการให้บริการการศึกษาแก่คนที่ถูกมองว่ามีคุณภาพจะยกระดับการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งวันนี้ก็เห็นแล้วว่ามันไม่จริงเลย เราก็ยังไม่ได้เป็นประเทศที่ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ กลายเป็นว่าวิธีการส่งเสริมคนเรียนเก่งแบบโมเดลโครงการช้างเผือกต่างๆ ก็ได้เพียงแค่เป็นการยกระดับโอกาสทางสังคมของคนบางกลุ่มเท่านั้น ส่วนคนเรียนไม่เก่ง เราก็คิดว่าให้กู้เงินเรียนไปถ้าเขาอยากมีชีวิตที่ดี ซึ่งตนอยากให้มองว่าหนี้การศึกษามันไม่ใช่หนี้ที่เราเลือกเอง แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากเงื่อนไขความเหลื่อมล้ำในสังคม พอบอกว่าสวัสดิการมันสำหรับแค่คนจนเท่านั้น ก็ทำให้เกิดทัศนคติประหลาดๆ เช่น คนกู้ กยศ. ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องหน้าสดมาเรียน ซื้อเครื่องสำอางไม่ได้ หรือจะมีสมาร์ทโฟนดีๆ ไม่ได้ ต้องใช้โทรศัพท์ที่ดูสมกับความยากจน พอคิดแบบนี้ทุกอย่างก็ผิดเพี้ยนไปหมด เกิดความคิดว่าถ้ากู้ กยศ. เมื่อเรียนจบแล้ว คุณซื้อบ้านได้ คุณผ่อนรถได้ แต่ทำไมคุณใช้หนี้ กยศ.ไม่ได้ กลายเป็นว่ากู้เงินเรียนจบแล้ว ก็ยังไม่มีโอกาสที่จะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ สร้างชีวิตที่ดีให้ตนเอง ให้ครอบครัว และก็มีข้อเท็จจริงที่ลูกหนี้ กยศ.เรียนจบ ทำงาน แต่ไม่มีโอกาสได้สร้างความมั่นคงให้กับชีวิตตนเอง ถูกยึดบ้านจากการบังคับคดีของ กยศ.

ทั้งนี้ มีข้อมูลปรากฏว่า กยศ.ใช้งบประมาณในช่วง 10 ปีย้อนหลังนับหมื่นล้านบาทในการจ้างทนายความเอกชนเพื่อติดตามทวงถามหนี้ วิธีการแบบนี้เคยมีนักธุรกิจที่ไม่เห็นด้วยกับการล้างหนี้ กยศ. จนพอมาเห็นตัวเลขงบประมาณในการทวงถามหนี้ซึ่งสูงมาก พอๆ กับยอดหนี้ที่พึงได้รับ นักธุรกิจท่านนั้นก็บอกว่ายุบองค์กรนี้แล้วทำมหาวิทยาลัยเรียนฟรียังดีเสียกว่า 

ในฐานะที่ตนสอนหนังสือเป็นอาชีพมาตลอด ตนกล่าวได้ว่า จริงๆ แล้วมันไม่มีเด็กเรียนเก่ง เด็กเรียนไม่เก่ง มีแค่เด็กที่มีความพร้อมมากกว่า มีความพร้อมน้อยกว่า 80% คือเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ ถ้าจะให้ยุติธรรม ลองให้คนได้เริ่มต้นเท่ากันดู ด้วยการให้เรียนฟรีเหมือนกัน มีเงินช่วยค่าครองชีพให้ได้เริ่มต้นเท่ากัน แล้วพอหลังจากนั้น คุณจะค่อยไปควานหาเด็กที่เรียนเก่งกว่ามาสนับสนุนต่อยอด ก็เป็นเรื่องที่รับได้ ทั้งนี้ นอกจากการศึกษาฟรีแล้ว การให้เรียนโดยมีเงินช่วยค่าครองชีพก็เป็นเรื่องสำคัญ จริงอยู่ว่าบางคนได้เงินแล้ว ก็อาจเอาไปใช้เรื่องสันทนาการส่วนตัวบ้าง แต่ข้อเท็จจริงคือเด็กเหล่านี้ก็ต้องมีค่าครองชีพในการเดินทางมาเรียน จ่ายค่าหอพัก ค่ากินอยู่ก่อน หลายคนก็ต้องไปหารายได้ส่วนต่างเอาเองด้วย เท่านี้ก็ผิดกันโดยสิ้นเชิงแล้วเมื่อเทียบกับคนที่มีความพร้อม ชีวิตไม่ต้องดิ้นรน 

โยกงบฯ ไม่จำเป็น แผ้วทางการศึกษาฟรี ล้างหนี้ กยศ.

ษัษฐรัมย์ ยังชี้ว่า เราสามารถทำเรื่องการศึกษาฟรีและล้างหนี้จากการศึกษาได้ อย่างในงบประมาณแผ่นดินปี 2566 การมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ทำให้กระทรวงทบวงกรมต่างๆ ทำแผนการใช้งบให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งในหมวด ‘การสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ’ มีการตั้งงบไว้ 7 แสนกว่าล้านบาท คิดเป็น 20% ของงบรายจ่ายของประเทศ แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าประเทศเรามีเงิน แต่งบเหล่านี้ไปอยู่กับการฝึกอาชีพของกรมประมง การดูงานของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งไม่ได้ถูกส่งตรงไปยังประชาชนคนส่วนใหญ่ ทำโครงการแบบนี้กันมาหลายปีแล้วก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย 

ถ้าต้องการทำให้มหาวิทยาลัยเรียนฟรีทั้งระบบ คือเรียนฟรีทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน ก็ทำเหมือนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือประกันสังคม ที่ทำให้คนมารับบริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ โดยรัฐเป็นเจ้าภาพ แค่เปลี่ยนบท กยศ. จากการเป็นกองทุนหมุนเวียนที่ต้องจ่ายเงินกู้คืนกลับมา ให้กลายเป็นองค์กรที่ทำงานเหมือนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้งบประมาณ 1.6 แสนล้านบาทต่อปี สำหรับการทำให้ทุกคนได้เรียนปริญญาตรีฟรี ตามค่ากลางที่ กยศ.เป็นคนกำหนดเองว่าแต่ละหลักสูตร กยศ.ให้กู้ได้เท่าไหร่ ให้ค่าครองชีพได้เท่าไร คิดในฐานประชากรที่ว่าคนมีแนวโน้มจะเรียนมหาวิทยาลัยเพิ่ม ก็จะทำให้เกิดมหาวิทยาลัยเรียนฟรีมีเงินเดือน 

ษัษฐรัมย์ ระบุต่อว่า ถ้าเราอยากให้คนตั้งแต่ระบบ ป.1-ม.6 ไม่มีคนตกออกเลย ซึ่งปัจจุบัน เด็กเข้า ป.1 จำนวน 100 คน ได้เข้าเรียนต่อถึงมหาวิทยาลัยแค่ปีละ 30 คนเท่านั้น ด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ถ้าเราสนับสนุนได้วันละ 80-100 บาทต่อคน เด็กจะอยู่ในระดับการศึกษาตั้งแต่ ป.1-ม.6 ได้ขึ้นมาถึง 70-80% รวมทั้งหมดก็ประมาณ 4 แสนกว่าล้านบาท ช่วยให้เด็กมีโอกาสเรียนจนถึง ม.6 ทวีคูณ 2-3 เท่าเลย โดยที่เรียนฟรีแล้วยังมีเงินอุดหนุนค่าครองชีพด้วย ซึ่งไม่ต้องกลัวว่าพอเรียนฟรีแล้วคนจะแห่กันมาเรียน เพราะสุดท้ายแต่ละคนก็มีเงื่อนไขการตัดสินใจในชีวิตไม่เหมือนกัน แม้แต่ในประเทศที่ระบบการศึกษาและรัฐสวัสดิการดีมากๆ ก็ไม่เคยเกิดปรากฏการณ์แบบที่กลัวกันไปเองแบบนั้น ที่สำคัญคือผู้ประกอบการเองที่จะมีโอกาสได้แรงงานที่มีทักษะมากขึ้น 

เริ่มจากพักชำระ-ลดหนี้ตามเงื่อนไข

ษัษฐรัมย์ ระบุต่อว่า การล้างหนี้การศึกษานั้น ตอนนี้เรามียอดหนี้ประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องล้างหมดทันที เพราะในทางเทคนิคเงินเหล่านี้ครึ่งหนึ่งเป็น NPL (เงินกู้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ Non-performing Loans) เพราะเป็นเงินที่ปล่อยกู้ให้คนจนในระบบสังคมที่เหลื่อมล้ำ คนสามารถที่จะใช้หนี้ได้เป็นส่วนมากอยู่แล้วเป็นภาวะปกติ กยศ.ก็ไม่ได้ขาดทุนอะไรมาก อาจเริ่มที่การพักชำระหนี้ เหมือนที่สหรัฐอเมริกาทำในตอนนี้ พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จากนั้น ก็วางเงื่อนไขตามมา อาทิ เรื่องอายุ หรือคนที่ทำงานในภาคการบริการสาธารณะ (Public Services) ไม่ว่าจะเป็นส่วนของรัฐ ท้องถิ่น องค์กรไม่แสวงหากำไร หรือภาคด้านสาธารณสุขที่บุคลากรกำลังขาดแคลน ก็ให้เป็นช่วงเวลาการทำงานของเขาเป็นการลดหนี้ได้ 50% ถ้าใครทำตามเงื่อนไขนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ นี่คือการที่เราไม่ได้มองแค่ว่าตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจ แต่มองไปถึงทวีคูณว่าด้วยความเสมอภาค (Equity Multiplier)

มองปัญหาผ่านสายตาคนเคยกู้ ต้องแข่งกันยากจน

วรภัทร กรรมการ ครป. ในฐานะอดีตลูกหนี้ กยศ. ก็ได้บอกเล่าประสบการณ์ว่า ระบบการให้กู้ยืมของ กยศ.มีระบบที่คัดกรองความยากจน ซึ่งเป็นการตีตรากดทับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดังที่ ษัษฐรัมย์กล่าวมาข้างต้น นี่คือความจริง อย่างตนเองแม้ไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่ยากจนขนาดเกิดในสลัม อยู่บ้านมุงหลังคาสังกะสี แต่ก็ไม่ได้มีฐานะที่ดีและมั่นคง ซึ่งทีนี้ภายใต้ระบบการคัดกรองความยากจน มันก็ตีตราชีวิตของตนไม่ให้มีโอกาสใดๆ ที่จะแสวงหาความสุขให้ตนเอง แต่งตัว ทานอาหาร หรือทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ ทั้งยังต้องหารายได้เลี้ยงตัวเองทางอื่นๆ เพื่อที่จะได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ขับเคลื่อนสังคมในแนวทางที่ตนอยากให้มันเป็นในช่วงวัยเยาวชน ที่ถือว่าเป็นวัยที่มีกำลังมากที่สุด และในขณะที่การเป็นลูกหนี้ กยศ. แล้วต้องใช้ชีวิตแบบที่สังคมมองว่า กยศ. คือสวัสดิการสำหรับคนยากไร้อนาถา แต่ก็มีเงื่อนไขที่ย้อนแย้งคือ ต้องไปหาผู้ค้ำประกันเซ็นเอกสารการขอกู้เงิน ซึ่งยังโชคดีที่มีญาติรับราชการช่วยเซ็นให้ได้ และมีบางครั้งตนกำลังจะยื่นเอกสารไม่ทัน ก็ได้รับความกรุณาจากผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่ชุมชนรอบข้างมหาวิทยาลัยที่ตนจัดกิจกรรมอาสาสมัครนักศึกษาช่วยสอนหนังสืออยู่ ช่วยเซ็นค้ำประกันให้ และพอเรียนจบออกมาทำงานแล้ว ก็ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรอบสังคมตีตราความยากจน กระทั่งพอถึงจุดหนึ่งที่ตนพอเริ่มมีความสามารถในการหาเงินได้ในระดับหนึ่ง ตนก็อยากปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการที่ถูกผูกมานับ 10 ปี จึงตัดสินใจชำระหนี้แบบปิดยอดหนี้ก่อนกำหนด ทั้งนี้ หากตนชำระยอดหนี้ตามกำหนดระยะเวลา ตนจะมีหนี้ กยศ.ติดตัวไปจนถึงอายุ 40 กว่าเลยทีเดียว ซึ่งการปิดยอดหนี้ก่อนกำหนดของตนนั้น ก็ไม่ได้รับมาตรการจูงใจช่วยเหลือใดๆ จากทาง กยศ.เลย

เงื่อนไขประหลาด ต้องทำ ‘จิตอาสา’-สร้างภาระผู้กู้

และยิ่งปัจจุบัน ตนพบว่ามีเงื่อนไขสุดประหลาดเพิ่มขึ้นมาอีกในการกู้เงิน กยศ. คือ การสะสมชั่วโมงจิตสาธารณะเพื่อเป็นส่วนในการได้รับพิจารณากู้เงินในปีการศึกษาถัดไป ในฐานะที่เป็นนักกิจกรรมตั้งแต่วัยเรียน เป็นผู้นำในองค์กรนักศึกษา มีผลงานกิจกรรมระดับประเทศ ได้รับพระราชทานรางวัลเป็นเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ  ก็คิดว่า หากตนต้องกู้ กยศ. ภายใต้เงื่อนไขนี้  มันก็คงไม่ใช่เงื่อนไขที่ตนจะลำบากอะไรนัก  แต่เมื่อพูดในมุมองของการเป็นผู้จัดกิจกรรม ตนกล่าวเลยว่า ตนยินดีที่จะจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมแค่ 2 คน มากกว่าที่จะประสบความสำเร็จเชิงปริมาณผู้เข้าร่วมที่มาเพียงเพื่อสะสมชั่วโมงจิตสาธารณะแบบนี้ และที่จริง การกู้ กยศ.มันก็เป็นเงินกู้ที่ผู้กู้มีภาระหน้าที่ผูกพันในการชำระหนี้ การบังคับทำกิจกรรมสะสมชั่วโมงจิตสาธารณะจึงดูไม่สมเหตุสมผลมากๆ ซึ่งเมื่อวรภัทร กล่าวมาถึงตรงนี้ ษัษฐรัมย์ก็ได้เสริมขึ้นมาว่า เรื่องนี้ยังเป็นการสร้างภาระแก่ผู้กู้ที่มีเงื่อนไขในการหารายได้เลี้ยงดูตนเองด้วย 

นอกจากนี้ วรภัทร ยังกล่าวไปถึงเรื่องการมอบรางวัลบุคคลต้นแบบ กยศ.ว่าต่อให้ทาง กยศ. เสนอชื่อตนให้ได้รับรางวัลนี้ ในฐานะที่ไม่เคยต้องเข้าสู่กระบวนการทวงถามหนี้ และมีผลงานกิจกรรมสาธารณะเป็นที่ประจักษ์ ตนก็ไม่อยากมารับรางวัล เพราะไม่อยากตอกย้ำความรู้สึกเจ็บปวดที่ตนเองเคยผ่านมาในระบบการตีตราความยากจน 

ชี้กำไรอาจมาในฐานะรูปแบบอนาคตของเยาวชนที่เรียนจบ มีงานทำ จ่ายภาษี

ส่วนเรื่องการล้างหนี้ กยศ. หากเกิดขึ้นจริง ตนก็ไม่รู้สึกเสียดายเงินที่ตนชำระหนี้หมดไปก่อนแล้ว แต่กลับจะดีใจเสียมากกว่าที่จะได้เห็นรุ่นน้องไม่ต้องลำบากเหมือนที่ตนเคยผ่านมา และเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว เงินเหล่านี้ก็ไม่ได้จมหายไป แต่จะไปปรากฏในรูปของการที่คนเรียนจบ มีงานทำ มีความสามารถในการสร้างผลผลิต มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ขณะเดียวกัน คนเหล่านี้ก็เป็นผู้บริโภคด้วย ซึ่งทุกสิ่งที่บริโภคไม่ว่าจะปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตหรือเพื่อสันทนาการ ก็ล้วนมีภาษีแฝงอยู่อีกทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่รัฐใช้ภาษีลงทุนในโครงการต่างๆ โดยหวังว่าจะจูงใจนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ มุ่งหวังเม็ดเงินจากการเข้ามาท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยของชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำอยู่แล้ว และแม้ตนจะรู้ว่าในความเป็นจริงมีลูกหนี้ กยศ.ที่จงใจเหนียวหนี้ มีความสามารถชำระหนี้ได้ แต่ไม่ชำระ ซึ่งจำนวนหนึ่งก็ปรากฏว่าเป็นบุคลากรข้าราชการ ซึ่งก็อ้างว่าไม่รู้ว่าเงิน กยศ.เป็นหนี้ที่ต้องใช้คืน ซึ่งสำหรับตนนั้นไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นสาระใดๆ เพราะตนคิดว่าเราไม่สามารถทำให้คนทุกคนเป็นคนดีตามจารีตที่สังคมกำหนดได้ แต่ตนขอเลือกที่จะสนับสนุน ขับเคลื่อนในสิ่งที่ทำให้ทุกคนมีความเป็นมนุษย์ที่เสมอภาคกัน 

ในการสนทนาครั้งนี้ยังมีผู้เข้าร่วมขึ้นมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย รวมถึง เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. และผู้อำนวยการสถาบันสังคมประชาธิปไตย ที่เสนอเรื่องการปฏิรูปภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดการผูกขาดทรัพยากรของส่วนรวม และมีสมาชิกพรรคไทยสร้างไทย ที่อภิปรายถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำให้การศึกษาเป็นธุรกิจ โดยที่ กยศ.เป็นหนึ่งในเครื่องมือสนองผลประโยชน์


รับฟังย้อนหลังได้ที่ https://www.clubhouse.com/room/MEXz3ryV?utm_medium=ch_room_terc&utm_campaign=UwqI6LZQ5m4TyXar8CbL8g-373231
    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net