Skip to main content
sharethis

หลังการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ก็มีประเด็นสำหรับออสเตรเลียว่าจะดีดตัวให้พ้นจากประวัติศาสตร์อาณานิคมได้อย่างไร มีการอภิปรายเรื่องที่ออสเตรเลียจะกลายเป็นสาธารณรัฐ และการผลักดันให้กลุ่มชนพื้นเมืองเข้ามามีเสียงในสภา ซึ่งรวมทั้ง "แถลงการณ์อูลูรูจากหัวใจ" ซึ่งจะนำไปสู่การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มสิทธิชนพื้นเมืองมากขึ้น

กระดานแสดงผลคะแนนลงประชามติรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ในภูมิภาคเวสเทิร์นออสเตรเลีย เมื่อ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1900 การลงประชามติซึ่งเกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1898 และ 1900 ดังกล่าวมีผลทำให้อาณานิคม 10 แห่งได้รับเอกราชรวมกันเป็นเครือรัฐออสเตรเลีย (ที่มา: แฟ้มภาพ/scootle)

ในช่วงที่มีกระแสข่าวพูดถึงการสวรรคตของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ในออสเตรเลียก็เริ่มมีการกลับมาพูดถึงประเด็นที่ชวนให้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจอย่างบทบาทของสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่มีต่อระบอบอาณานิคมในออสเตรเลียอีกครั้ง ซึ่งลัทธิอาณานิคมจากอังกฤษนี้เป็นสิ่งที่กดขี่ข่มเหงกลุ่มชนพื้นเมืองในออสเตรเลียมาตั้งแต่ในอดีต

พระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์มายาวนานผ่านช่วงเวลาที่มีการทำประชามติในออสเตรเลียปี 2510 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการระบุยอมรับกลุ่มชนพื้นเมืองออสเตรเลียเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญของพวกเขา อย่างไรก็ตามในฐานะที่ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศเครือจักรภพของอังกฤษ ราชินีเอลิซาเบธก็ยังคงเป็นประมุขของประเทศต่อมาเรื่อยๆ หลังจากนั้น และมรดกของการที่อังกฤษเคยเป็นเจ้าอาณานิคมในอดีตก็ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมในออสเตรเลียกับกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชนพื้นเมือง

นอกจากนี้ยังเป็นที่สังเกตว่า พระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ไม่เคยขอโทษในเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เคยเกิดขึ้นกับกลุ่มชนพื้นเมืองภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ มีแค่รัฐบาลออสเตรเลียเท่านั้นที่เคยขอโทษในเรื่องนี้ นอกจากนี้ราชวงศ์อังกฤษก็ยังไม่เคยขอโทษเหยื่ออาณานิคมของพวกเขาในหลายประเทศที่ถูกรุกรานด้วยกำลังและกลุ่มชนพื้นเมืองในพื้นที่เหล่านั้นก็ยังคงประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำและการถูกกดขี่อยู่

ในรัฐธรรมนูญระบุว่าสมาชิกสภารัฐวิกตอเรียของออสเตรเลียต้องทำการพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณแสดงความจงรักภักดีต่อพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ผู้ขึ้นครองราชย์ต่อจากควีนเอลิซาเบธ แต่ผู้นำพรรคกรีนส์ประจำวิกตอเรีย ซาแมนทา รัตนัม และส.ส. รายอื่นๆ ของพรรคกรีนส์ต่างก็สวมเสื้อที่มีคำขวัญระบุว่า "เคยเป็นมาตลอด และจะคงอยู่ตลอดไป" ซึ่งเป็นการสื่อถึงขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิที่ดินทำกินของชนพื้นเมืองออสเตรเลียในนิวเวาท์เวลส์เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว

ผู้คนเข้าแถวรอลงประชามติที่บริสเบน ควีนส์แลนด์ เมื่อ 28 กันยายน ค.ศ. 1899 (ที่มา: แฟ้มภาพ/STATE LIBRARY OF QUEENSLAND)

รัตนัมหัวหน้าพรรคกรีนส์กล่าวที่ด้านนอกของรัฐสภาหลังเสร็จสิ้นพิธีการว่ามันเป็นพิธีการที่ "ไร้สาระ"

รัตนัมบอกว่าในยุคสมัยปี 2565 เช่นนี้ มันเป็นเรื่องถูกต้องที่จะตั้งคำถามว่า "ทำไมพวกเราถึงต้องสั่งให้ต้องยอมรับองค์รัฏฐาธิปัตย์ของราชวงศ์อังกฤษที่อยู่ห่างออกไปหลายพันไมล์ ในขณะที่เราไม่เคยยอมรับอธิปไตยของกลุ่มชนพื้นเมืองในประเทศของพวกเราเลย"

คำกล่าวของรัตนัมมีการพูดออกมาในช่วงที่ ส.ส. พรรคกรีนส์หลายคนในระดับรัฐบาลกลางออสเตรเลียเริ่มมีจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันนี้ รวมถึงหัวหน้าพรรคกรีนส์ในระดับรัฐบาลกลาง อดัม บานทช์ ด้วย บานทซ์กล่าวว่าการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธควรจะจุดชนวนให้เกิดการอภิปรายหารือขึ้นอีกครั้งเกี่ยวกับเรื่องที่จะทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นสาธารณรัฐ บานทช์ระบุในทวิตเตอร์ว่า "ในตอนนี้ออสเตรเลียควรจะก้าวต่อไปข้างหน้า พวกเราต้องการสนธิสัญญากับกลุ่มชนพื้นเมือง และพวกเราควรจะต้องกลายเป็นสาธารณรัฐ"

รองหัวหน้าพรรคกรีนส์ออสเตรเลีย เมห์รีน ฟารูคี ผู้ที่เกิดในปากีสถาน หนึ่งในประเทศที่ต้องจัดการกับปัญหาที่หลงเหลืออยู่จากอาณานิคมอังกฤษ ได้กล่าวว่าเธอไม่สามารถ "แสดงการไว้อาลัยให้กับผู้นำของจักรวรรดิที่เหยียดเชื้อชาติสีผิวได้"

ขบวนการเรียกร้องสาธารณรัฐในออสเตรเลียเริ่มแผ่วลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการอ้างว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะควีนเอลิซาเบธที่ 2 ได้รับความนิยม และมีการมองว่าการทำประชามติเปลียนแปลงเป็นสาธารณรัฐเมื่อปี 2542 ที่มีคนโหวตคัดค้านมากกว่านั้นเป็นลางบอกเหตุมากกว่าจะเป็นการปฏิเสธระบอบสาธารณรัฐอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามในตอนนี้มีคนจำนวนมากที่เน้นหันเหความพยายามไปที่การชดเชยสิ่งที่เคยทำผิดพลาดในประวัติศาสตร์และเน้นให้กลุ่มชนพื้นเมืองเข้ามามีสิทธิมีเสียงในสภามากขึ้น มากกว่าจะเน้นเรื่องการยกเลิกสถานะประมุขของราชวงศ์อังกฤษต่อออสเตรเลีย

Denise Bowden CEO ของ Yothu Yindi ลงนามในแถลงการณ์อูลูรูจากหัวใจ (Uluru Statement from the Heart) ที่ภูมิภาคเซ็นทรัลออสเตรเลีย เมื่อ 29 พฤษภาคม 2560 (ที่มา: Wikipedia)

ในตอนที่แอนโทนี อัลบานิส ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สุนทรพจน์ในการประกาศชัยชนะของเขามีการระบุถึงพันธกิจที่ว่าจะมีการนำ "แถลงการณ์อูลูรูจากหัวใจ" มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ แถลงการณ์ที่ว่านี้เป็นการเรียกร้องปฏิรูปเพื่อให้มีการยอมรับกลุ่มชนพื้นเมืองออสเตรเลียอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การทำประชามติ

แถลงการณ์อูลูรูจากหัวใจนี้มีที่มาจากกลุ่มผู้นำชนพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงเป็นผู้นำเสนอตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา พวกเขาแถลงว่า "พวกเราต้องการให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อเสริมพลังให้กับประชาชนของพวกเราและทำให้พวกเรามีตำแหน่งแห่งที่ที่เหมาะสมในประเทศของพวกเราเอง"

ข้อเสนอของกลุ่มชนพื้นเมืองเหล่านี้เคยถูกปฏิเสธจากรัฐบาลพรรคเสรีนิยมในยุคนั้น ขณะกลุ่มนักการเมืองพรรคกรีนส์อย่าง ส.ว. ลิเดีย ทอร์ป ที่เป็นชนพื้นเมืองก็พยายามจะผลักดันสิทธิของกลุ่มชนพื้นเมืองไปให้ไกลกว่านั้นโดยต่อต้านการทำประชามติบอกว่ามัน "เสียเวลาเปล่า" และเสนอว่าควรจะเอาเวลาและทรัพยากรไปใช้กับการพัฒนาให้เกิดสนธิสัญญากับกลุ่มชนพื้นเมืองเลยจะดีกว่า ทอร์ปกล่าวว่า "สนธิสัญญาเป็นสิ่งที่ประชาชนของพวกเราต่อสู้มาโดยตลอดเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว"

ในอีกฟากหนึ่งทางการเมืองก็มี จาซินตา นัมปิจินพา ไพรซ์ จากกลุ่มแนวร่วม ส.ว. ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในเขตพื้นที่นอร์เทิร์นเทอร์ริทอรี กล่าววิจารณ์ว่าข้อเสนอจากพรรคแรงงานมีลักษณะ "กำกวม" และวิจารณ์ว่าเธอไม่สามารถสนับสนุนข้อเสนอแบบ "ข้าราชการนิยม" ที่มีการรับงบประมาณจากรัฐบาลกลางแต่ก็ไม่ได้พัฒนาผลลัพธ์อะไร เธอมองว่าเคยมีต้นแบบของข้อเสนอรูปแบบนี้ที่ออกมาแล้วล้มเหลว ไพรซ์เป็นคนที่มีเชื้อสายเป็นลูกผสมระหว่างเชื้อสายชนพื้นเมืองวาร์ลปิรี กับ เชื้อสายเคลต์จากยุโรป

นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าประชามติในประเทศอย่างออสเตรเลียอาจจะกลายเป็นการขัดขวางความก้าวหน้ามากกว่า เช่น กรณีการลงประชามติโหวตคัดค้านการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกันที่ออกมาเมื่อปี 2560 ที่มีการโหวตคัดค้าน ทำให้เป็นการสนับสนุนเหตุผลที่ว่าไม่ควรเอาเรื่องสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ควรจะมีการการันตีให้ประชาชนมาตัดสินด้วยการทำประชามติ

อย่างไรก็ตามมาร์คัส สจ็วต ประธานร่วมของกลุ่มสมัชชาชนพื้นเมืองวิกตอเรียก็ได้กล่าวว่า เขาอยากให้มีการทำประชามติ และบอกว่าการที่ชนพื้นเมืองจะมีสิทธิมีเสียงในสภานั้นเป็น "สิ่งที่อยู่พ้นจากการเมือง" เพื่อเป็นการวิจารณ์เรื่องที่พรรคการเมืองต่างกันแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ต่างกันออกไปเพราะแค่ต้องการแสดงออกแบ่งแยกทางการเมือง อีกทั้งยังมองว่าการทำสนธิสัญญาถึงแม้จะเป็นเรื่องดีแต่มันต้องใช้เวลาในการเจรจานานมาก พวกเขามีโอกาสที่จะทำให้เกิด "ช่วงเวลาประวัติศาสตร์" ในการที่จะได้เห็น "การโหวตสนับสนุนที่ประสบความสำเร็จ"

ไม่ว่าพรรคแรงงานจะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขาแสดงออกในเห็นในตอนนี้ก็ดูจะเป็นการเน้นเรื่องการประนีประนอม ทำให้กลุ่มชนพื้นเมืองได้มีเสียงในสภาเป็นเรื่องสำคัญมาก่อนการถอนออสเตรเลียออกจากระบอบกษัตริย์ของอังกฤษ เช่นที่อัลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเคยกล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่ามันยังเป็นเรื่อง "ไม่เหมาะสม" ที่จะพูดถึงเรื่องนี้ในช่วงที่มีคนกำลังไว้อาลัยต่อการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธ

แต่ทอร์ปก็กล่าวโต้ตอบการใช้ถ้อยคำของอัลบานีสด้วยการบอกว่า กลุ่มชนพื้นเมืองนั้นได้ทำการ "เรียกร้องให้มีวันไว้ทุกข์มาเป็นเวลามากกว่า 80 ปีแล้ว"

ทอร์ป ยังระบุอีกว่า กระบวนการที่พวกเขาจะสามารถเลือกประมุขของประเทศที่เป็นศูนย์รวมของทุกคนในประเทศได้จะกลายเป็นสิ่งทีจะบีบให้พวกเขาต้องพูดความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และผลักดันให้เกิดกระบวนการที่จริงจังในการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดที่มาจากการล่าอาณานิคม

เรียบเรียงจาก

After Queen’s Passing, Australia Debates How to Move on From Colonial Wrongs, The Diplomat, 16-09-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net