Skip to main content
sharethis

ภาคีSaveบางกลอย ยื่นหนังสือถึง คกก.อิสระ หาแนวทางให้อัยการเพชรบุรีไม่สั่งฟ้องชาวบางกลอย 29 ราย คดีกลับขึ้นไปบางกลอยบนเมื่อต้นปี’64 ลั่นหากมีการสั่งฟ้อง ภาคประชาชนเตรียมเคลื่อนไหวใหญ่

 

20 ส.ค. 2565 เฟซบุ๊ก ภาคีSaveบางกลอย โพสต์ข้อความวันนี้ (20 ก.ย.) ระบุว่า เวลาประมาณ 10.45 น. ภาคีSaveบางกลอย ส่งผู้แทนเข้าไปยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่มีอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีข้อเรียกร้องขอความชัดเจนในการสั่งไม่ฟ้องคดีชาวบางกลอย 29 ราย ที่ขณะนี้อยู่ในชั้นพนักงานอัยการ ซึ่งมี ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระฯ คนที่ 1 และ มงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับหนังสือและพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มภาคีSaveบางกลอย ในขณะที่มวลชนยังปักหลักรออยู่ข้างนอก และมีการปราศรัยในบริเวณดังกล่าว

เวลา 11.45 น. ยูดีดีนิวส์ ถ่ายทอดสดผ่ายแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กวันนี้ (20 ส.ค.) พชร คำชำนาญ ตัวแทนภาคีฯ ออกมาแถลงต่อผู้สื่อข่าวถึงผลการเจรจากับผู้แทนคณะกรรมการอิสระฯ 

พชร คำชำนาญ ระบุว่า เหตุที่ภาคีSaveบางกลอย ยื่นหนังสือสืบเนื่องจากเมื่อ ก.ย.ที่ผ่านมา ภาคีSaveบางกลอย ชาวบ้านบางกลอย และทนายความชาวบ้านบางกลอย ได้รับแจ้งว่าพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี จะมีการเร่งรัดส่งฟ้องชาวกะเหรี่ยงบางกลอยวันที่ 27 ก.ย.นี้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ระหว่างนี้ยังไม่มีหมายไปยังชาวบ้าน แต่ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ 

เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ชาวบางกลอย ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการอิสระ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย กลับมาเคลื่อนไหวในวันนี้ เพื่อยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการอิสระชุดดังกล่าว ซึ่งเป็นคณะกรรมการฯ ที่มาจากการผลักดันของบางกลอยคืนถิ่น และกลุ่มพีมูฟทวงสิทธิ์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

พชร ระบุต่อว่า ต่อไปจะเป็นการอ่านถ้อยความในหนังสือที่ยื่นให้คณะกรรมการอิสระ มีถ้อยความดังนี้

รายละเอียดหนังสือ 

เรื่อง ขอให้มีความชัดเจนเรื่องไม่สั่งฟ้องคดีชาวบ้านบางกลอย 

ถึง คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย

ตามที่สมาชิกบางกลอย 29 รายโดนเจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานควบคุมตัวแจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาบุกรุกแผ้วถาง ครอบครองอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในขณะที่ชาวบางกลอยกลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวในพื้นที่ทำกินดั้งเดิม ก่อนถูกอพยพในปี 2554 เหตุการณ์การจับกุมเกิดขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม 2564 ซึ่งก่อนนำตัวชาวบ้านลงมาจากบางกลอยบน เจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับชาวบ้านว่าหากยอมลงมากับเจ้าหน้าที่ จะมีการจัดพื้นที่ทำกินให้กับทุกครัวเรือน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่พาชาวบ้านมาถึงสำนักงานอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่กลับถูกควบคุมตัวส่งดำเนินคดี โดยถูกส่งไปฝากขังยังศาลจังหวัดเพชรบุรีทันที และถูกควบคุมตัวที่เรือนจำ และในเวลาต่อมา ศาลได้ปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขไม่ให้ชาวบ้านกลับขึ้นไปบนบ้างบางกลอยบน อันเป็นถิ่นฐานดั้งเดิม และปัจจุบัน ยังไม่มีการดำเนินการจัดสรรพื้นที่เพิ่มเติม ให้แก่ชาวบ้าน ตามที่รับปากแต่อย่างใด

ภาคีSaveบางกลอย ได้ติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการอย่างต่อเนื่อง พบว่าแม้จะมีความเห็นว่าอัยการไม่ควรสั่งฟ้อง แต่ยังไม่ปรากฏว่ามีผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ไม่สามารถดำเนินการไปได้ตามกรอบระยะเวลาของคณะกรรมการ 

หากอัยการจังหวัดเพชรบุรี มีการดำเนินการทางคดีความต่อเนื่องจนศาลรับฟ้อง ก็จะเป็นการสร้างภาระในการต่อสู้คดีในชั้นศาล ทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหาร และที่สำคัญชาวบ้านอาจต้องสูญเสียอิสรภาพในท้ายที่สุด เท่ากับเป็นการเพิ่มความทุกข์ยากในการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน และครอบครัว ซึ่งในปัจจุบัน ชาวบ้านบางกลอยก็ได้ดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบากอย่างแสนสาหัสอยู่แล้ว 

ดังนั้น พวกเรา ภาคีSaveบางกลอย จึงขอให้คณะกรรมการอิสระ พิจารณาหาแนวทางให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีต่อชาวบ้านบางกลอย ทั้ง 29 ราย ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากเราเห็นว่าการสั่งฟ้องดำเนินคดีชาวบ้านบางกลอย ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่นั้นมาก่อน ปัจจุบัน ชาวบ้านมีความเป็นอยู่อย่างยากไร้ เพราะขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและไม่มีที่ดินทำกินที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการดำรงชีพ ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อสาธารณะ จึงเรียนมาให้พิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือชาวบางกลอย ให้ได้รับความเป็นธรรม และให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเปิดทางสู่การแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ต่อไป และขอให้ท่านชี้แจงผลการดำเนินการดังกล่าวแจ้งกลับมายังภาคีsaveบางกลอย เป็นลายลักษณ์อักษรตามที่อยู่ข้างต้นภายใน 30 วันนับตั้งแต่ที่รับหนังสือฉบับนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความเป็นธรรม จากความร่วมมือของท่าน

พชร ระบุต่อว่า หลังยื่นหนังสือ ทางภาคีฯ เจรจากับชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ และมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีการแจ้งความคืบหน้าเรื่องภาคีSaveบางกลอย 3 ประเด็น ประกอบด้วย

1. เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือไปยังอธิบดีอัยการภาค 7 ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวน เพื่อแจ้งมติของคณะกรรมการอิสระ เรื่อง ความช่วยเหลือและก็การทำงานร่วมมือกับสำนักงานอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกอบการการใช้ดุลยพินิจของอัยการเพชรบุรี ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา  

2. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือไปถึงปลัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว ให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งกรณีนี้ก็จะเกิดขึ้นหากชาวบ้านบางกลอยถูกส่งฟ้อง และก็ถูกฝากขังก็จะให้ความช่วยเหลือด้านกองทุนยุติธรรม 

3. คณะกรรมการอิสระ ก็ได้แจ้งว่าได้มีการทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในการให้การดำเนินการตามกรอบการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา ตามกรอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับเรื่องเงื่อนไขในการดำรงชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์บ้านบางกลอยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 

ซึ่งจากเหตุผลทั้ง 3 ประการ ชาญเชาวน์ กล่าวด้วยว่า จะเป็นการแจ้งไปที่พนักงานอัยการที่จะสามารถใช้ดุลยพินิจในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้

พชร ระบุต่อว่า นอกจากนี้ จดหมายตอบกลับจะไปถึงมือของชาวบางกลอย เป็นลายลักษณ์อักษร 

สมาชิกภาคีฯ ระบุต่อถึงความรู้สึกหลังฟังคำชี้แจงว่า หนึ่ง การถูกจับกุมดำเนินคดีของชาวบางกลอยที่คาอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ ไม่ใช่คดีความที่เป็นตัวบุคคล แต่รวมถึงพื้นที่ทำกินของชาวบางกลอย ที่กลับขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบน และถูกดำเนินคดีไปด้วย คือ 2 ส่วน คือ คดีของคน และคดีของแปลง หมายความว่าถ้ายังไม่ปลดล็อกเงื่อนไขทางด้านคดีความของชาวบางกลอยได้ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ได้เลย เช่น การจัดสรรที่ดินทำกิน หรือว่าการเรียกร้องพื้นที่ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในพื้นที่บ้านบางกลอยบน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ดั้งเดิม

พชร คำชำนาญ

นอกจากนี้ โทษตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีโทษที่รุนแรงมาก คือจำคุกตั้ง 4-10 ปี และอาจมีการปรับเงินสูงถึง 4 แสนบาท ซึ่งอาจทำให้กลุ่มชาติพันธุ์บางกลอย ที่ปกติคุณภาพชีวิตย่ำแย่อยู่แล้ว ต้องเดินทางไปขึ้นศาล ซึ่งเป็นภาระของผู้ถูกฟ้อง และพชร ย้ำว่า เรื่องนี้ยังเป็นภาระเรื่องงบฯ ภาษี คนจ่ายคือภาครัฐต้องนำเงินภาษีประชาชนมาสู้กับประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งไม่เป็นประโยชน์สาธารณะเลย 

สอง ต้องชี้แจงว่ากรณีของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่เกิดขึ้น เป็นหนึ่งใน 34,692 คดี หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีอำนาจเมื่อปี 2557 และริเริ่มนโยบายทวงคืนผืนป่า มีแผนที่จะเพิ่มพื้นที่ป่า 40% 

“ฉะนั้น กรณีของบางกลอยจึงเป็นเดิมพันสำคัญของเหยื่อที่ถูกกฎหมายและนโยบายป่าไม้กันทั่วประเทศ และก็มีพื้นที่ทำกินในลักษณะนี้ ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านไร่ทั่วประเทศ ประชากรไม่ต่ำกว่าหลักล้านคน นั่นหมายความว่า หากพี่น้องบางกลอยถูกดำเนินคดี ก็จะเป็นสัญญาณเตือนไปถึงพี่น้องในพื้นที่อื่นๆ ที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ที่รัฐไปประกาศทับด้วย” พชร ระบุ

พชร ระบุว่า เขาต้องการให้คณะกรรมการอิสระ เป็นโมเดลของการทำงานที่ปราศจากความขัดแย้ง และอคติจากหน่วยงานภาครัฐ และต้องนำเรียนว่า เคยมี คกก.มาแล้วหนึ่งชุด ก่อนหน้านั้น ซึ่งยกเลิกไป และพบว่า รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติฯ และหน่วยงานความมั่นคง เป็นปฏิปักษ์ต่อการแก้ปัญหา อ้างเรื่องความมั่นคง และอ้างเรื่องการอนุรักษ์ 

ฉะนั้น ในคณะกรรมการอิสระ เป็นรูปแบบใหม่ในการผลักดันคณะกรรมการโดยปราศจากหน่วยงานที่เป็นปฏิปักษ์ และยังไม่สามารถทำงานได้ ภาคประชาชนอาจจำเป็นต้องกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ไม่สามารถพึ่งพากลไกใดๆ ได้แล้วต่อจากนี้ที่จะใช้แก้ไขปัญหา ที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีกฎหมายกี่ฉบับ หรือกี่มาตราของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาด้านที่ดิน ทรัพยากร ก็ไม่เคยมีกฎหมายใดๆ เลยที่ให้อำนาจและสิทธิของชุมชนในการใช้ประโยชน์ และจัดการที่ดินและทรัพยากรของตัวเองอย่างแท้จริง 

“ถ้าวันที่ 27 กันยายน อัยการยังคงยืนยันที่จะมีการส่งฟ้องก็เตรียมตัวการเคลื่อนไหวใหญ่ของทั้งภาคีSaveบางกลอย และกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น” พชร ระบุ

ปัญหาบางกลอยช่วงหน้าฝน

พชร กล่าวถึงสถานการณ์ของชาวบ้านว่า ที่ผ่านมาพื้นท่จากบ้านบางกลอยลงมาที่อำเภอเมือง จ.เพชรบุรี ก็ถูกตัดขาดจากน้ำฝนที่ท่วมถนน นอกจากนี้ ชาวบางกลอยไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณโทรศัพท์ หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ต ที่เสถียรมากพอที่จะส่งข้อมูลถึงกันได้ 

ก่อนหน้านี้สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ แจ้งกับภาคีฯ ว่าทางการได้ส่งหนังสือตอบกลับ หลังชาวบ้านยื่นหนังสือไปเมื่อ 4 ก.ย.ที่ผ่านมาแล้ว แต่หนังสือฉบับดังกล่าวไปไม่ถึงชาวบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากภายนอก แม้กระทั่งการตอบกลับหนังสือในคดีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเขา

พชร ระบุว่า ชาวบางกลอย 29 คน ยังคงเผชิญกับอาการเจ็บป่วย และต้องทำงานในเมืองเพื่อนำเงินมาช่วยประทังชีวิต ให้ครอบครัว หาเงินค่ารักษาพยาบาล และสุดท้าย อาจต้องนำเงินเพื่อนำมาใช้สู้คดี หากอัยการมีการส่งฟ้อง ซึ่งนี่สะท้อนว่า ชาวบางกลอย ไม่ใช่คนชายขอบ แต่ถูกทำให้ตกขอบตั้งที่ทางการอพยพเขาลงมาจากบางกลอยบน เมื่อปี 2554
 

หมายเหตุ - เมื่อ 20 ก.ย. 2565 เวลา 15.24 น. มีการอัปเดตความคืบหน้าข่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net