Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ส่วนใหญ่ของรัฐโบราณไม่มีกองทัพประจำการ เฉพาะรัฐที่มีด้วยเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่น มีเหตุต้องทำสงครามบ่อย) แต่สิ่งที่ต้องจ่ายในการมีกองทัพประจำการก็คือ ต้องเผชิญกับการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพประจำการอยู่บ่อยๆ ที่ต้องจ่ายอีกอย่างคือทรัพยากร เพราะการมีกองทัพประจำการนั้นราคาแพงมาก ถ้าไม่มีอำนาจรวมศูนย์พอจะเก็บภาษีได้เป็นกอบเป็นกำ ก็ไม่สามารถจะมีกองทัพประจำการได้

แต่ในบรรดากองทัพประจำการโบราณนั้น มีกองทัพประเภทหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นแบบอย่างแก่กองทัพประจำการแบบใหม่ของไทยค่อนข้างมาก นั่นคือกองทัพอาณานิคม

การยึดครองอาณานิคมในเอเชียนั้น แตกต่างจากการส่งกำลังกองทัพไปยึดดินแดนของข้าศึกศัตรู จุดมุ่งหมายใหญ่ของการมีอาณานิคมคือการทำกำไร (ทางการค้าหรือด้านอื่นๆ ในสมัยต่อมา) ฉะนั้น จะบริหารอาณานิคมให้เกิดความสงบสุขพอที่จะหาประโยชน์ตามต้องการได้อย่างไร จึงต้องลงทุนแต่เพียงพอดี เพื่อให้ได้กำไรมากๆ เช่น สมัยหนึ่งผลักภาระการปกครองมาไว้กับเจ้านายเดิมซึ่งเป็นชาวพื้นเมือง ใครทำอะไรก็ทำต่อไป เพียงแต่เจ้าอาณานิคมขอแบ่งรายได้บ้างเท่านั้น

กองทัพประจำการในอาณานิคมจึงจำเป็นด้วยเหตุนี้ คือเป็นกำลังสำหรับบังคับให้คนอื่นแบ่งรายได้ให้ หรือไม่แข็งข้อ หรือไม่ยกทัพมาทำลายป้อมค่ายอันเป็นท่าเรือของตน แต่ก็เป็นเพียงกองทัพประจำการขนาดเล็กๆ ทหารส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นเมือง อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนายทหารผิวขาว กองทัพประเภทนี้จึงไม่ค่อยน่าไว้วางใจนัก ถ้าถูกเจ้าพื้นเมืองยกทัพมาล้อมป้อมค่าย ต้องอาศัยกำลังส่วนใหญ่ในยามวิกฤตจากพ่อค้าและครอบครัวมาทำหน้าที่แทน แต่หากถึงขนาดจะต้องยกทัพไปทำสงครามเพื่อยึดดินแดนใหม่ หรือป้องกันตัวจากการแย่งชิงอำนาจของประเทศยุโรปด้วยกัน ก็ต้องขนทหารมาจากยุโรป และจ่ายเงินเดือนทหารในราคาที่แพงกว่าทหารพื้นเมืองมาก ซึ่งสิ้นเปลืองแก่เจ้าอาณานิคมเป็นอย่างยิ่ง

(และหากขืนรบแย่งดินแดนกันไปเรื่อยๆ กำไรจากอาณานิคมก็ไม่คุ้ม ในที่สุดก็คงยกเลิกระบอบอาณานิคมไปเอง ในดินแดนต่างๆ จึงมักลงเอยที่การทำสัญญาแบ่งดินแดนและผลประโยชน์กันระหว่างมหาอำนาจ)

นับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา การแย่งชิงดินแดนและผลประโยชน์ระหว่างมหาอำนาจตะวันตกในเอเชียได้จบลงแล้ว ถึงการช่วงชิงยังมีอยู่แต่ทุกฝ่ายก็รู้ว่าจะไม่สิ้นสุดลงที่สงคราม จึงมีการแบ่งเขตผลประโยชน์เขตอิทธิพลระหว่างกัน

กองทัพประจำการของอาณานิคม ซึ่งในบางประเทศเช่นอินเดียอันถือเป็นเพชรประดับมงกุฎของราชบัลลังก์อังกฤษ อาจมีขนาดใหญ่หน่อย เพราะมีภารกิจหลายอย่างต้องทำ นับตั้บแต่ปราบการกระด้างกระเดื่องของเจ้าครองแคว้น ไปจนถึงพวกหัวชาตินิยมในหมู่ประชาชน ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยล้าน แต่ก็ยังเหมือนกองทัพประจำการอาณานิคมสมัยเดิมเริ่มแรก คือทหารส่วนใหญ่เป็นชาวพื้นเมือง (เป็น “อาชีพ” ที่ทำรายได้ดีกว่าทำนา ฉะนั้น จะเรียกว่าทหารจ้างก็ได้) อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของนายทหารผิวขาว

แต่ในบางอาณานิคม กองทัพแทบจะไม่มีกำลังคนอยู่มากนัก เช่น ในรัฐมลายูทั้งในและนอกสหพันธรัฐ หน้าที่ปราบปรามควบคุมประชาชน โดยเฉพาะพวกจีนอพยพ เป็นหน้าที่ของตำรวจ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชาวอินเดีย ภายใต้การกำกับควบคุมของนายผิวขาวเหมือนกัน) ในพม่าเมื่อแยกจากอินเดียแล้วก็เป็นกองทัพขนาดเล็กประกอบด้วยพวกกะเหรี่ยงและกะฉิ่นซึ่งอังกฤษไว้วางใจมากกว่าพม่า ในอินดีสตะวันออกหรืออินโดนีเซีย พวกดัตช์ใช้ชาวพื้นเมืองที่นับถือศาสนาคริสต์ เช่น ชาวบาตั๊ก, ชาวพื้นเมืองจากเกาะมะลูกู (โดยเฉพาะชาวอัมบน, ติมอร์ และเมอนาโดเป็นทหารประจำการในกองทัพอาณานิคม (KNIL) ยังไม่นับทหารจ้างทั้งชาวเอเชีย, แอฟริกา, ยุโรป และลูกครึ่ง อีกจำนวนหนึ่ง)

เมื่อไม่ต้องรบกับข้าศึกศัตรูที่เป็นต่างด้าว ภารกิจหลักของกองทัพอาณานิคมคืออะไร? ใช่เลยครับ ก็มีไว้ปราบศัตรูภายใน คือเจ้าครองแคว้นหรือเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ (เช่น เจ้ายุคนธรของกัมพูชา) ที่อาจแข็งข้อ, ข้าราชการที่อาจไม่ฟังคำสั่งรัฐบาลอาณานิคม และราษฎรหัวแข็งทั่วไป

มีความแตกต่างในด้านการควบคุมอย่างมากระหว่างการผูกขาดการค้าเครื่องเทศ กับการบังคับแรงงานชาวพื้นเมืองปลูกอ้อยหรือกาแฟเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาลและกาแฟของตะวันตก

แม้เป็นกองทัพประจำการ แต่กองทัพอาณานิคมค่อนข้างประหลาด เพราะมิได้มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองประชาชนในดินแดนที่กองทัพตั้งอยู่ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ มักจะมองประชาชนในอาณานิคมด้วยความระแวง และพร้อมจะใช้กำลังปราบปรามเพื่อรักษาอำนาจของเจ้าอาณานิคม กองทัพอาณานิคมจึงห่างไกลจากกองทัพแห่งชาติ

จะให้กองทัพที่ส่วนใหญ่คือคนพื้นเมือง คอยปราบปรามกบฏซึ่งก็คือคนพื้นเมืองด้วยกันเองได้ สิ่งหนึ่งที่กองทัพประจำการนั้นไม่มีหรือไม่รู้จักเลยคือสำนึกชาตินิยม ถ้ารู้จักก็ต้องเป็นสำนึกชาตินิยมที่ถูกบิดเบี้ยวจนไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงแล้วเท่านั้น

จะว่าไปสำนึกชาตินิยมคือรากฐานทางอุดมการณ์ที่ขาดไม่ได้ของกองทัพประจำการสมัยใหม่ คุณสมบัติสำคัญของความเป็นกองทัพประจำการสมัยใหม่อย่างหนึ่งก็คือ อุดมการณ์ชาตินิยม ตราบเท่าที่กองทัพยังสำนึกว่าตนเป็นกองทัพของบริษัทการค้า, ของกษัตริย์, ของเจ้าครองแคว้น, ของชนชาติใดชนชาติหนึ่งในรัฐ ฯลฯ ตราบนั้น กองทัพนั้นก็ไม่ใช่กองทัพแห่งชาติ บางกองทัพเช่นกองทัพของรัฐปรัสเซีย อาจเป็นกองทัพที่ยังไม่มีสำนึกนี้ในระยะแรก แต่หลังปฏิวัติฝรั่งเศส อุดมการณ์ชาตินิยมแพร่ขยายไปทั่วยุโรปและพิสูจน์ให้เห็นในสมัยนโปเลียนว่ากองทัพที่มีชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ เข้มแข็งกว่ากองทัพของจักรพรรดิหรือกษัตริย์ใดๆ จะต่อต้านได้ กองทัพปรัสเซียก็เริ่มขยับอุดมการณ์จากความจงรักภักดีต่อราชวงศ์มาเป็นความจงรักภักดีต่อ “ชาติ” ยิ่งหลังบิสมาร์กรวมชาติได้แล้ว กองทัพปรัสเซียซึ่งกลายเป็นแกนหลักของกองทัพแห่งชาติ ก็เหมือนกองทัพประจำการสมัยใหม่ของประเทศอื่น คือถือชาตินิยมเป็นอุดมการณ์หลัก จึงพร้อมจะรับใช้นายสิบอย่างฮิตเลอร์ได้ เพราะ “ชาติ” ได้ตัดสินใจแล้วที่จะให้ฮิตเลอร์เป็นผู้นำ

กองทัพอาณานิคม แม้เป็นกองทัพประจำการสมัยใหม่เหมือนกัน (โดยเฉพาะกองทัพอินเดีย) ไม่มีชาตินิยมเป็นพื้นฐานหลักทางอุดมการณ์, กองทัพพม่า, อินเดียตะวันออก, อินโดจีนของฝรั่งเศส, ฟิลิปปินส์, มลายู ล้วนไม่มีทั้งนั้น ไม่ว่าจะติดอาวุธทันสมัยและเคยมีประสบการณ์เข้าร่วมรบในสงครามยุโรปหรือตะวันออกกลางภายใต้การนำของนายพลอังกฤษมาแล้วก็ตาม

ความสัมพันธ์ภายในกองทัพขาดความเป็นปึกแผ่น (solidarity) เพราะมีความระแวงกันสูงมาก ระหว่างนายทหารผิวขาวหรือกึ่งขาวกับพลทหารชาวพื้นเมือง หลายอาณานิคมที่ต้องการกำลังในการป้องกันตนเองสูง เช่น อินดีสตะวันออก หรืออินโดจีน พยายามรักษาจำนวนของทหารผิวขาวหรือกึ่งขาวให้มีจำนวนเท่ากันกับผิวพื้นเมือง ซึ่งไม่ง่ายนัก เพราะทำให้ต้องลงทุนสูงขึ้นไปอีก

ในกองทัพแห่ง “ชาติ” ความสัมพันธ์ของนายทหารกับพลทหารหรือชั้นประทวนกลายเป็นเพื่อนสนิทกันเมื่อเสร็จสงครามแล้ว เพราะการแบ่งแยกระหว่างนายทหารกับพลทหารเป็นเพียงการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบในการรบ ไม่ใช่การแบ่ง “เผ่า” ที่ฝ่ายล่างถูกกดขี่อย่างไม่มีทางเสมอหน้ากับนายได้เลยตลอดชีวิต ความเหลื่อมล้ำตามหน้าที่ความรับผิดชอบแต่ตั้งอยู่บนหลักความเสมอภาค ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกแต่อย่างไร ความเหลื่อมล้ำเสียเปรียบที่ไม่มีทางเงยหน้าอ้าปากได้ตลอดไปต่างหาก ที่ทำให้ชั้นผู้น้อยบางคน “เสียศูนย์” จนลากปืนสงครามมากราดยิงประชาชนอย่างไม่เลือกหน้า

และด้วยเหตุดังนั้น กองทัพอาณานิคมจึงเปราะบาง ผมไม่ได้หมายความว่ารบไม่เก่งนะครับ จะเก่งไม่เก่งก็แล้วแต่อาณานิคมไป แต่เปราะบางเพราะที่ดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการนำและการอุดหนุนของรัฐบาลผิวขาวต่างชาติ ส่วนนี้หายไปเมื่อไร กองทัพอาณานิคมก็แทบจะสลายตัวไปโดยอัตโนมัติเลย เรื่องนี้ดูได้จากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเจ้าอาณานิคมยุโรปตัดสินใจเองหรือถูกบังคับให้ถอนตัวจากอาณานิคมเอเชีย กองทัพอาณานิคมซึ่งมีทั้งการฝึกและอาวุธดีกว่ากองทัพกู้ชาติชาวพื้นเมืองเสียอีก ก็หมดกำลังจะต่อสู้กับกองทัพกู้ชาติได้ ทั้งนี้จะเห็นได้ในพม่า, อินโดนีเซีย และในแง่หนึ่งก็รวมถึงในเวียดนามและลาวด้วย

กองทัพประจำการสมัยใหม่ของไทยถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางลัทธิอาณานิคม จึงไม่แปลกที่ย่อมมีลักษณะคล้ายกองทัพอาณานิคมหลายอย่าง แต่ก่อนจะพูดถึงเรื่องนี้ ผมอยากอธิบายก่อนว่า “ลัทธิอาณานิคม” คืออะไร

ลัทธิอาณานิคม หมายถึงระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง ที่เน้นความสูง-ต่ำที่เกิดจากสิ่งที่เรียกในสมัยนั้นว่าอารยธรรมซึ่งผูกพันกับสีผิว, เพศสภาพ, เส้นสาย (รวมความสัมพันธ์หลายชนิด เช่น กำเนิด, ชนชั้น, การศึกษา, อาชีพ ฯลฯ), สถานะทางเศรษฐกิจ และสถานะในระบบราชการของอาณานิคม ความสัมพันธ์ดังกล่าวหรือวัฒนธรรมอาณานิคม ไม่ได้ครอบงำเฉพาะสังคมของประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมเท่านั้น แต่รวมทั้งโลก ไม่เว้นแม้แต่ในสังคมของประเทศที่เป็นเจ้าอาณานิคมเอง (เช่น ส่วนหนึ่งของประเพณีปฏิบัติต่อสุภาพสตรีในยุโรปในศตวรรษที่ 19 เป็นผลมาจากธรรมเนียมปฏิบัติในอาณานิคม ซึ่งผู้ชายในยุโรปห่วงใยลูกสาว, น้องสาว และสาวๆ ผิวขาวจะถูกคนป่าเถื่อนในอาณานิคม “ละเมิด”)

และด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่ประหลาดอันใดนะครับ หากผมจะพูดว่า สยามก็ตกอยู่ภายใต้ลัทธิอาณานิคมอย่างเดียวกับประเทศอื่นในโลก แม้มิได้ตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการของใครโดยตรงก็ตาม และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงสร้างกองทัพประจำการแบบใหม่ขึ้น พระองค์ท่านจะหาแบบอย่างจากที่ไหนที่เหมาะกับประเทศสยามยิ่งไปกว่ากองทัพอาณานิคมของเพื่อนบ้านเล่าครับ

คราวนี้ลองนึกเปรียบเทียบกับกองทัพประจำการสมัยใหม่ของไทยที่ถือกำเนิดในช่วงเดียวกันว่า มีลักษณะที่ตรงกับกองทัพอาณานิคมอย่างไร

กองทัพไทยไม่เคยใหญ่ (เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นหรือจีน) เหตุผลประการแรกที่เห็นได้ชัดก็เพราะถึงจะได้ส่วนแบ่งของงบประมาณมาก แต่งบประมาณแผ่นดินของสยามและไทยไม่เคยมีมากนัก จนระยะสามสี่ทศวรรษหลังมานี้เอง ดังนั้น แม้แต่ พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารก็บังคับใช้ไม่พร้อมกันทุกมณฑล ค่อยๆ ขยายจากอยุธยาออกไป กองทหารที่ส่งออกไป “คุ้มกัน” คณะข้าหลวงจากส่วนกลางมีจำนวนจำกัด พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อำนาจที่ส่วนกลางสามารถแบ่งส่วนภาษีจากหัวเมืองมาเข้าท้องพระคลังได้มากนั้น คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้มกับการมีกองทัพประจำการสมัยใหม่

ยังมีเหตุผลที่สำคัญกว่านั้นที่ทำให้กองทัพไม่เคยใหญ่ แต่ไม่ค่อยพูดกันก็คือ นโยบายของสยามคือพยายามแทรกเข้าไปในระบบความมั่นคงผ่านสนธิสัญญาที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกวางเอาไว้ ดังที่พูดข้างต้นนะครับ แทนที่จะทำสงครามแย่งชิงอธิปไตยกัน ใช้การเจรจาทำสนธิสัญญาแบ่งผลประโยชน์กันตามลำดับแห่ง “พลังอำนาจ” สิ้นเปลืองน้อยกว่าและได้กำไรมากกว่า

หากสยามเลือกนโยบายต่างประเทศเช่นนี้ ก็ไม่คิดจะปกป้องอธิปไตยของตนด้วยกำลังรบ แตกต่างจากญี่ปุ่นและจีนซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์ “ล่าอาณานิคม” ที่รุนแรงกว่า และระบบสนธิสัญญากลับทำให้เสียเปรียบมากกว่า

และในทางตรงกันข้ามนะครับ ถ้าสยามคิดอย่างญี่ปุ่นในการปกป้องอธิปไตยของตนด้วยกำลังรบ กองทัพประจำการสมัยใหม่ของไทยที่เกิดขึ้นย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงอุดมการณ์ชาตินิยมที่แท้จริงไปได้ จะบิดเบี้ยวชาตินิยมให้รับใช้แต่ชนชั้นสูงอย่างเดียวไม่ได้

กองทัพจึงเป็นทั้งอำนาจที่อาจเพิ่มพูนรายได้ของส่วนกลาง ในขณะเดียวกันก็ปกป้องผลประโยชน์ของส่วนกลางทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง (ภายใน) สรุปก็คือกำเนิดขึ้นเพื่อรักษาอำนาจของส่วนกลางให้เหนือกว่าคู่แข่งทุกชนิด นับตั้งแต่เจ้าเมืองประเทศราช จนถึงกบฏชาวนา

ภารกิจเดียวกับกองทัพอาณานิคมไม่ใช่หรือครับ

สํานึกชาตินิยมของกองทัพประจำการสมัยใหม่ของไทยมีลักษณะบิดเบี้ยว และในระยะหนึ่งอาจมีความขัดแย้งภายในระหว่างชาตินิยมแบบ “ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์” กับชาตินิยมแบบ “ความเจริญรุ่งเรืองของราษฎร” เรื่องชาตินิยมไทยนั้นมีความสำคัญอย่างมากกับเรื่องของกองทัพไทย ผมจะขอข้ามไปก่อน เพราะเนื้อความที่ยาวอาจทำให้สับสน จะย้อนกลับมาใหม่ในตอนหน้า

และดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า กองทัพประจำการสมัยใหม่ของสยามนั้น สงวนตำแหน่งและยศระดับสูงไว้ให้แก่เจ้านายหรือลูกหลานขุนนางตระกูลเก่าแก่ที่ไว้วางใจ สามัญชนที่แม้ได้รับการศึกษาสูงจากยุโรป ก็ถูกกันมิให้ดำรงตำแหน่งและยศสูงเกินระดับหนึ่งเท่านั้น และด้วยเหตุดังนั้นกองทัพสยาม-ไทยจึงขาด solidarity หรือความเป็นปึกแผ่น มีความสัมพันธ์ที่เครียดระหว่างนายทหารระดับสูงกับนายทหารยศที่ต่ำลงมาจนถึงพลทหาร ในแง่หนึ่ง การยึดอำนาจใน 2475 ก็คือการแข็งข้อของนายทหารระดับกลางต่อนายทหารระดับสูง

หลัง 2475 ความสัมพันธ์ก็ใช่จะราบรื่นขึ้น แม้ “กำเนิด” ไม่เป็นเส้นแบ่งความก้าวหน้าในอาชีพทหารอีกแล้ว แต่การมี “เส้นสาย” สัมพันธ์กับกลุ่มทหารที่มีอำนาจทางการเมือง จะทำให้ก้าวหน้าในอาชีพได้รวดเร็ว จึงทำให้เกิดการเกาะกลุ่มกัน เพื่อช่วยกันแสวงหาอิทธิพลทางการเมือง

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า การสร้างกองทัพประจำการแบบใหม่ขึ้นภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีปัญหาในตัวมันเองในเกือบทุกประเทศทั่วโลก เพราะความภักดีที่ให้แก่ตัวบุคคลนั้น อาจแปรเปลี่ยนได้ง่าย คงจำกันได้ว่าตลอดประวัติศาสตร์ไทย ความภักดีของขุนนางโยกย้ายจากเจ้าชายองค์หนึ่ง ไปยังเจ้าชายอีกองค์หนึ่ง หรือในบางกรณีโยกจากเจ้าชายไปสู่อัครมหาเสนาบดีก็มี ดังนั้น วิธีเดียวที่จะรักษาความภักดีของกองทัพแบบใหม่ไว้ให้ยั่งยืน คือเปลี่ยนจากบุคคลให้กลายเป็นสถาบัน ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน ทำสำเร็จในบางสังคม และไม่สำเร็จในบางสังคม

แกนกลางของกองทัพประจำการสมัยใหม่ของปรัสเซียมาจากพวก Junker หรือเกษตรกรเจ้าที่ดินในแคว้นด้านตะวันออก เกือบทั้งหมดเป็นนายทหาร และเกือบทั้งหมดเป็นลูกคนรองๆ ของตระกูลซึ่งไม่มีสิทธิ์รับมรดกที่ดินของตระกูลได้ (นั่นคือที่มาของชื่อ Junkers) พวก Junkers จะรักษาความเป็นแกนกลางของกองทัพสืบมาเมื่อรวมเยอรมันแล้ว และต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองกับนักการเมือง เช่นตลอดศตวรรษที่ 19-20 ตอนต้น กองทัพกดดันให้สภาต้องออกกฏหมายเก็บภาษีนำเข้าพืชพันธธัญญาหารในอัตราสูง เพื่อกีดกันมิให้สินค้าอาหารเข้ามาแข่งขันกับการผลิตในตระกูลของตนเอง

แต่ Junkers ไม่มีความภักดีต่อใครจริงเท่ากับต่อชาติ เช่น บีบให้ราชวงศ์ Hohenzollern ซึ่งเป็นผู้สร้าง Junkers ขึ้นมาเองถึงกาลอวสานในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 และถึงแม้ยอมเชื่อฟังฮิตเลอร์ในระยะแรก แต่ในตอนท้ายสงครามก็พยายามก่อรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมต้องการย้ำในที่นี้ก็คือ “กำเนิด” ย่อมมีความสำคัญในกองทัพสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลายแห่ง กรณีปรัสเซีย-เยอรมนีคือพวก Junkers ในญี่ปุ่นสมัยปฏิรูป คือลูกหลานซามูไรระดับกลางลงมา เมื่อจีนเริ่มสร้างกองทัพประจำการแบบใหม่ ก็ยังเก็บแมนจูไว้เป็นกองกำลังอิสระของราชวงศ์ชิงมากกว่าของชาติ

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 กระบวนการกอบกู้เอกราชของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ต้องสร้างกองทัพปฏิวัติขึ้นในรูปต่างๆ ส่วนกองทัพอาณานิคมก็สูญสลายลงเมื่อฝ่ายจักรวรรดินิยมยอมจำนน ทำให้เกิดกองทัพ “แห่งชาติ” ขึ้นหลายแห่งในภูมิภาคนี้ ยกเว้นสองประเทศคือไทยและฟิลิปปินส์ซึ่งยังสืบทอดกองทัพอาณานิคมต่อมาในนาม “แห่งชาติ”

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_599674

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net