‘หมอฉันชาย’ ชี้หัวใจการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย คือหยุดรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ ‘พระไพศาล’ หนุน ‘วางแผนดูแลล่วงหน้า’

เวที “สร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4” สช.ระดมภาคีร่วมให้ทิศทางการวางแผนชีวิตระยะสุดท้าย “นพ.ฉันชาย” ย้ำเตือนแพทย์มุ่งการรักษาที่เกิดประโยชน์ ลดการยื้อชีวิตที่ทรมาน-ไม่มีคุณภาพ ด้าน “พระไพศาล” ชี้การวางแผนล่วงหน้าคือความไม่ประมาทในชีวิต หนุนเตรียมตัวล่วงหน้าตั้งแต่สุขภาพยังดี

20 ก.ย.2565 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช. รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม รวม 13 องค์กร ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4” ภายใต้แนวคิด “วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง” ระหว่างวันที่ 15-16 ก.ย. 2565 เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งมุ่งหวังให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองศาสตราจารย์และคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในฐานะบุคลากรการแพทย์ คือควรให้การรักษาที่ได้ประโยชน์ แต่หยุดการรักษาที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งสิ่งนี้เองจะเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนการวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance Care Planning) หรือ ACP รวมถึงการทำหนังสือแสดงเจตนาการดูแลตนเองในระยะสุดท้าย หรือ Living will ในประเทศไทย

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ในส่วนหลักการสำคัญที่จะบอกว่าการรักษาเป็นประโยชน์หรือไม่ คือการประเมินว่าการรักษานั้นตอบสนองต่อเป้าประสงค์ของเราหรือไม่ ซึ่งเป้าประสงค์นี้อาจแปรเปลี่ยนไปตามระยะของโรค เช่น หากเป็นโรคในระยะที่สามารถรักษาให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ เป้าหมายก็คือการทำให้หายจากโรคโดยเร็ว แต่เมื่อเป็นโรคในระยะท้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ เป้าหมายสูงสุดอาจเป็นการทำให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดช่วงที่จะต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมานลงให้น้อยที่สุด

“หากเรายื้อให้คนไข้อยู่ได้นานขึ้น แต่เขาต้องทนอยู่อย่างทรมาน ไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ถือว่าการรักษานั้นไม่มีประโยชน์ แต่หากการยื้อชีวิตออกไปอีกไม่กี่วันนั้น เป็นไปเพื่อให้ลูกหลานสามารถเดินทางมาพบหน้าได้ทัน อันนั้นอาจถือว่าเป็นประโยชน์ เพราะสามารถตอบวัตถุประสงค์ได้ ฉะนั้นในบริบทจึงต้องถามเสมอว่าจุดประสงค์ของการรักษานั้นทำไปเพื่ออะไร และอีกสิ่งที่ต้องคำนึงคือต้องเป็นประโยชน์ของคนไข้ ไม่ใช่เป็นประโยชน์ของญาติหรือของใคร” ฉันชาย กล่าว

นพ.อิศรางค์ นุชประยูร เยือนเย็น ศาสตราจารย์และวิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า ยกตัวอย่างถึงกรณีผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับโรคมะเร็งลุกลาม หากเลือกเข้ากระบวนการรักษา เจอแพทย์ รับเคมีบำบัด ให้การรักษาตามมาตรฐาน สุดท้ายหากมะเร็งไม่หายและกลับมาใหม่เรื่อยๆ ก็อาจต้องตายด้วยความผิดหวัง หรือบางรายหนี ไปลองการแพทย์ทางเลือก ก็อาจตายอย่างทรมานโดยที่สุดท้ายไม่หายเหมือนกัน แต่หากเรามาเจอกับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ก็อาจตายดีแบบมีศักดิ์ศรีได้

“มะเร็งไม่มีอะไรน่ากลัว มันมีทั้งชนิดที่รักษาได้ คือมีโอกาสหายขาดได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าหายขาดชัวร์ กับชนิดที่รักษายาก ที่แปลว่าจะรักษาหรือไม่ โอกาสหายก็แทบไม่มีเหมือนกัน ฉะนั้นหากเราไม่ได้กลัวความตาย แต่กลัวทรมาน การดูแลแบบประคับประคองนี้ก็จะให้ความมั่นใจได้ว่าคุณจะไม่ต้องเจอกับความทรมาน จะได้อยู่บ้าน ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และตายดีอย่างมีความสุขได้” นพ.อิศรางค์ กล่าว

ขณะที่ พระอธิการไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า การวางแผนชีวิตในระยะสุดท้ายเอาไว้ เช่น หากเมื่อเจ็บป่วยแล้วเราไม่ต้องการที่จะยื้่อชีวิต ไม่อยากเจาะคอใส่ท่อ ต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมานโดยไม่จำเป็น หากเรามีการแสดงเจตนาเหล่านี้เอาไว้ล่วงหน้า ก็จะช่วยให้ญาติพี่น้อง ลูกหลาน หรือผู้ที่ต้องดูแลสามารถตัดสินใจได้ถูก ไม่เช่นนั้นภาระก็จะไปตกอยู่กับผู้ดูแล ซึ่งหลายครอบครัวก็มีถึงขั้นเกิดความขัดแย้ง ทะเลาะวิวาท เนื่องด้วยความเห็นที่ไม่ตรงกัน เพราะผู้ป่วยไม่ได้แสดงเจตนาเอาไว้ล่วงหน้า

พระอธิการไพศาล กล่าวว่า การที่เราวางแผนไว้ล่วงหน้ายังสอดคล้องกับหลักทางพุทธศาสนา คือการแสดงความไม่ประมาทกับชีวิต แม้ตอนนี้เราอาจยังสุขภาพดี อายุยังน้อย หากแต่ชีวิตเป็นสิ่งไม่เที่ยง และความตายก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทราบได้ว่าจะเกิดกับเราเมื่อไร ฉะนั้นในขณะที่เรายังสุขภาพดีก็อย่าประมาทกับชีวิต และวางแผนเอาไว้เนิ่นๆ ว่าหากถึงวันที่เกิดอะไรขึ้นแล้วเราจะมีคำสั่งเสียอะไรไว้ล่วงหน้า เพราะความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากแต่การเตรียมความพร้อมในลักษณะนี้ไว้ จะเป็นส่วนทำให้เราตายดี ไปอย่างสงบได้

สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันเรื่องของสิทธิตามมาตรา 12 ในประเทศไทยมีทั้งโอกาส คือมีกฎหมายรองรับ มีบทปฏิบัติการต่างๆ รวมถึงการขับเคลื่อนที่มีมาไม่น้อยกว่า 15 ปี แต่ยังมีในส่วนของความท้าทาย คือจะสร้างความตระหนักให้เรื่องเหล่านี้ไปถึงประชาชนเพื่อได้ใช้สิทธิด้านสุขภาพตามที่ตนเองมีอย่างไร โดยเฉพาะสิทธิในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

สุทธิพงษ์ กล่าวว่า การรับรองสิทธินี้ตามกฎหมาย ยังเป็นเรื่องสากลที่หลายประเทศมีการพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ แสดงถึงความเป็นอารยะของสังคมประเทศนั้นที่สนใจให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนในระยะท้าย ซึ่งสิ่งนี้เองยังจะมีความสำคัญทั้งในเชิงระบบการเงินการคลังของประเทศ รวมถึงสถานการณ์โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป เมื่อเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย เป็นโรคเรื้อรังเยอะขึ้น หากส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการดูแลในระยะท้ายที่เหมาะสม ก็จะช่วยลดภาระทางการเงิน ทำให้ระบบบริหารจัดการสถานพยาบาลดีขึ้น ทั้งยังลดข้อร้องเรียน ข้อขัดแย้ง หรือความไม่เข้าใจทั้งหลายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท