คนรุ่นใหม่ในจีนว่างงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์-สิทธิแรงงาน 'ไลฟ์สตรีมเมอร์' ถูกพูดถึงอีกครั้งหลังมีคนเสียชีวิต

คนรุ่นใหม่ในจีนว่างงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 4 เดือนติดต่อกันเมื่อเดือน ก.ค. 2565 - สิทธิแรงงานของ 'ไลฟ์สตรีมเมอร์' ถูกพูดถึงมากขึ้นอีกครั้ง หลังเหตุมีคนเสียชีวิตกะทันหันจากการทำงานล่วงเวลาอย่างต่อเนื่อง

'การว่างงานชั่วคราว' ในคนรุ่นใหม่ของจีนยังคงดำเนินต่อไป


เดือน ก.ค. 2565 คนรุ่นใหม่ในจีนมีอัตราว่างงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็น 4 เดือนติดต่อ | ที่มาภาพ: China Labour Bulletin

China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่จับตาประเด็นแรงงานในจีน รายงานว่าอัตราการว่างงานสำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 16 ถึง 24 ปีในจีนแตะระดับ ร้อยละ 19.9 ​​เมื่อเดือน ก.ค. 2565 ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) ระบุอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ในเดือน ก.ค. สูงเนื่องมาจากฤดูกาลรับปริญญามหาวิทยาลัยประจำปี เมื่อเดือน ส.ค. 2565 โฆษกของ NBS ได้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยชี้ว่าผู้หางานรุ่นใหม่พบว่าตำแหน่งงานว่างในปัจจุบันยังไม่เหมาะสมกับพวกเขา ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงาน

การที่ภาครัฐได้ใช้คำว่า 'การว่างงานชั่วคราว' (Frictional Unemployment)* นั้น มีมุมมองหนึ่งพยายามบอกว่าคนรุ่นใหม่มีความคาดหวังสูงในอาชีพการงาน ส่วนอีกมุมมองหนึ่งสรุปปัญหาว่าคนรุ่นใหม่ "ไม่เหมาะกับตำแหน่งงานรายได้สูง แต่ก็ไม่ต้องการรับตำแหน่งที่รายได้ต่ำ" อย่างไรก็ตาม CLB ชี้ว่าไม่มีหลักฐานไม่สนับสนุนความคิดที่ว่าคนรุ่นใหม่มีความคาดหวังสูงเกินไป จากการสำรวจความสามารถในการทำงานของนักศึกษาวิทยาลัยปี 2565 พบว่าเงินเดือนเฉลี่ยของผู้สำเร็จการศึกษาในปีนี้อยู่ที่ 6,507 หยวน ซึ่งลดลงร้อยละ 12 จากปีก่อนหน้า

* 'การว่างงานชั่วคราว' หรือ 'การว่างงานตามภาวะความฝืดของตลาดแรงงาน' (Frictional Unemployment) เป็นการว่างงานที่เกิดขึ้นเนื่องจากภาวะความฝืดของตลาดแรงงานในบางเวลาซึ่งเป็นผลมาจากสาเหตุต่างๆ เช่นความล้มเหลวทางการเงินของสถานประกอบการ เงื่อนไขและคุณสมบัติบางประการที่นายจ้างหรือสหภาพแรงงานกำหนดขึ้น และอาจรวมถึงการเลือกงาน หรือค่านิยมในงานบางอย่างของคนทำงาน 

ในขณะเดียวกัน รูปแบบรายได้ของสมาชิกในครอบครัวกลับเปลี่ยนไป เนื่องจากรายได้ของคนรุ่นใหม่มักจะต่ำกว่าเงินบำนาญของผู้สูงอายุ การสัมภาษณ์ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอายุ 26 ปีในมณฑลเหอเป่ย เปิดเผยว่าพ่อแม่ของเขามีรายได้สูงสุดในครอบครัว โดยมีเงินบำนาญมากกว่า 6,000 หยวนต่อเดือน เงินบำนาญของปู่ย่าตายายของเขามีมากกว่า 4,000 หยวนต่อเดือน ในขณะที่รายได้ของเขามีเพียง 3,000 หยวนต่อเดือน ซึ่งต่ำที่สุดในครอบครัว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สิทธิแรงงานของ 'ไลฟ์สตรีมเมอร์' ถูกพูดถึงมากขึ้นอีกครั้ง หลังเหตุมีคนเสียชีวิตกะทันหันจากการทำงานล่วงเวลาอย่างต่อเนื่อง

ในจีน อาชีพ 'ไลฟ์สตรีมเมอร์' ผู้ทำงานถ่ายทอดสดขายสินค้าหรือประชาสัมพันธ์ให้สินค้าและบริการออนไลน์ เป็นอาชีพที่ต้องทนทุกข์จากชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ตามความต้องการของผู้ว่าจ้างหรือผู้ให้การสนับสนุน | ที่มาภาพ: 遊戲大亂鬥

หลังเกิดเหตุไลฟ์สตรีมเมอร์หญิงวัย 22 ปี ในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง เสียชีวิตกะทันหันหลังจากทำงานล่วงเวลาอย่างต่อเนื่อง ได้ปลุกความกังวลของสาธารณชนเกี่ยวกับสิทธิและผลประโยชน์ของคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้อีกครั้ง นอกเหนือจากปัญหาที่รู้จักกันดีในอุตสาหกรรมการจัดส่งอาหารและบริการเรียกรถออนไลน์หรือที่เรียกว่า 'แรงงานแพลตฟอร์ม' แล้ว 'ไลฟ์สตรีมเมอร์' ผู้ทำงานถ่ายทอดสดขายสินค้าหรือประชาสัมพันธ์ให้สินค้าและบริการออนไลน์ ยังต้องทนทุกข์จากชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ตามความต้องการของผู้ว่าจ้างหรือผู้ให้การสนับสนุน

ตามรายงานของ The Paper ชั่วโมงการทำงานของไลฟ์สตรีมเมอร์ในแต่ละวันมีตั้งแต่ 4-10 ชั่วโมง เมื่อถึงวันคนโสดประจำปีในวันที่ 11 พ.ย. และเทศกาลช้อปปิ้ง 18 มิ.ย. ไลฟ์สตรีมเมอร์ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องโดยมีเวลาพักสั้นๆ เท่านั้น ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจออฟไลน์ในเวลาเที่ยงคืนเท่านั้น และพวกเขาต้องเริ่มถ่ายทอดสดอีกครั้งในเวลา 6:00 น.

ข้อพิพาทด้านแรงงานที่พบได้ทั่วไปในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มก็มีอยู่ในอุตสาหกรรมสตรีมมิงด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานที่ไม่มีสัญญาระหว่างคนทำงานกับผู้ว่าจ้าง ความสัมพันธ์ด้านแรงงานที่ไม่ชัดเจนระหว่างคนทำงานและผู้ว่าจ้าง และการเป็นเจ้าของเนื้อหาในบัญชีของไลฟ์สตรีมเมอร์ เป็นต้น 

ไลฟ์สตรีมเมอร์ในเมืองฮูเหอเฮ่าเท่อ ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน บอกกับสื่อเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอที่ถูกผู้ว่าจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง เธอบอกว่าแม้จะไม่ได้รับเงินเดือน แต่เธอก็ยังต้องติดตามหัวหน้างานเพื่อไปพบลูกค้าใหม่ เนื่องจากไม่มีการเซ็นสัญญาจ้างงาน เธอจึงไม่ทราบชื่อบริษัทต้นสังกัดที่แท้จริงที่เธอทำงานให้

ในจีนการใช้ไลฟ์สตรีมมิ่งในการขายสินค้า ถือเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการเปลี่ยนอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมให้เชื่อมต่อกับโลกไซเบอร์—ซึ่งทางการจีนก็ได้มีการควบคุมการใช้วิธีการนี้มาอย่างต่อเนื่อง 

ในปี 2562 จีนได้ออกกฎควบคุมให้ไลฟ์สตรีมเมอร์หญิง ต้องไม่สวมใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นหรือเปิดเผยร่างกายจนเกินไป ต้องไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแนบไปกับร่างกายหรือโปร่งใส ต้องไม่สวมใส่สีเนื้อ ชุดชั้นใน และชุดที่เซ็กซี่ ระหว่างการไลฟ์สตรีม 

เมื่อช่วงต้นปี 2565 จีนได้เริ่มเข้ามาตรวจสอบสตรีมเมอร์อย่างเข้มงวดเพื่อเก็บภาษี, ห้ามแพลตฟอร์มทุกประเภทที่อยู่ในประเทศไลฟ์สตรีมเกมที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ยังออกนโยบายสนับสนุนคอนเทนต์ที่ถือว่าถูกกฎหมายและเหมาะสมบนไลฟ์สตรีม 

ต่อมาช่วงเดือน พ.ค. 2565 ได้มีการออกกฎหมายใหม่ห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี เข้าชมไลฟ์สตรีม หลังเวลา 22.00 น. รวมถึงบังคับแพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมต่างๆ จะต้องไม่ให้เยาวชนสามารถจ่ายเงินให้กับสตรีมเมอร์ (ให้ทิป) โดยในวงการไลฟ์สตรีมนั้น แพลตฟอร์มมักจะมีฟังก์ชันให้ผู้ชมส่งของขวัญเสมือนจริงให้แก่สตรีมเมอร์ได้ ซึ่งสามารถนำไปเปลี่ยนเป็นเงินในภายหลัง

 

ที่มา
August 2022 labour news roundup: Youth unemployment at record high for fourth consecutive month (China Labour Bulletin, 7 September 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท