Skip to main content
sharethis

จับกดน้ำ เอาถุงมาครอบหัว โดนซ้อม ทิ้งไว้ในห้องเย็นเฉียบ ใช้ให้วิ่งไปเปลี่ยนเป้าแล้วยิงปืน M-16 ใส่ อภิรัฐ ‘แมว’ ศรีปัดเนตร อดีตนักกิจกรรมการเมือง เล่าประสบการณ์ถูกคุมขังในค่ายทหาร 28 วันใต้รัฐบาล คสช. ที่ไม่ได้ให้อะไรเขานอกจากคดีความ แผลใจที่เหวอะหวะ และกลายเป็นหนึ่งคนที่ต้อง ‘ไกลบ้าน’

ทหารในชุดและอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน หลังรัฐประหาร 2557

ช่วงบ่ายแก่ๆ ของ 27 พ.ค. 2557 เพียงห้าวันหลังการรัฐประหารของกลุ่มข้าราชการติดอาวุธชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิบัติการของกองทัพและตำรวจในการกวาดล้างกลุ่มคนที่เชื่อว่าเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยได้ดำเนินมาถึงบ้านหลังหนึ่งใน อ.เมืองชลบุรี ซึ่งมีข้อมูลว่าเป็นบ้านของมนัญชยา เกตุแก้ว (เมย์ อียู) คนเสื้อแดงที่ทำหน้าที่ระดมทุนให้ความช่วยเหลือคนเสื้อแดงและครอบครัวที่ถูกขังอยู่จากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553

หลังจากด้อมๆ มองๆ บ้านหลังนั้นอยู่พักใหญ่ ทหารและตำรวจกลุ่มนั้นเดินมาล้อมบ้านหลังตรงข้ามที่ชายและหญิงคู่หนึ่งพักอาศัยอยู่เพื่อทำการตรวจค้นต่อ

“เขาบอกว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหมือนกับว่าเขามาจากไหนตอนนั้นก็ไม่แน่ใจ บอกว่ามาทำการตรวจค้น โดยที่เราไม่รู้ว่าเขามีใบอะไรมาหรือเปล่า ตอนนั้นที่เขาเข้ามาบ้านที่อยู่ตอนนั้นก็น่าจะมืด แต่จำเวลาไม่ได้ เป็นช่วงเย็นๆ เพราะเขาเหมือนมาค้นที่บ้านหลังหนึ่งก่อน” ผู้ชายที่อยู่ที่บ้านหลังดังกล่าวระบุ

เจ้าหน้าที่มีทั้งเป็นตำรวจในเครื่องแบบ ทั้งหน่วยติดอาวุธปืนยาว ปิดหน้าคล้ายกับหน่วย SWAT รวมไปถึงนายทหารในเครื่องแบบ เมื่อตอบคำถามของเจ้าหน้าที่ไปว่าทั้งสองคนเป็นใคร พวกเขาก็ถูกจับกุม ผู้หญิงถูกนำตัวขึ้นรถตู้ จุดหมายปลายทางไม่ทราบชัด ส่วนผู้ชายถูกนำขึ้นรถคุมขังของตำรวจ ถูกปิดตาและมัดมือด้วยเคเบิลไทด์

เท่านั้นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการคุมขัง 28 วันในค่ายทหารของอภิรัฐ ศรีปัดเนตร หรือ “แมว” ที่ถูกจับกุมพร้อมกับ (อดีตคนรัก) กริชสุดา คุณะเสน หรือรู้จักกันในชื่อ “เปิ้ล” หรือ “สหายสุดซอย” ซึ่งอภิรัฐยืนยันกับประชาไทว่าไม่มีอะไรที่เป็นการ “ปรับทัศนคติ” มีเพียงการรีดข้อมูลที่เอาชีวิตของตัวเขาเองมาเป็นตัวประกัน

ทั้งหมดนั้นดำเนินไปในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ทหารดุริยางค์กระจายตัวสร้างความบันเทิงให้ประชาชนทั่วประเทศ แกนนำ กปปส. แต่งชุดทหารเลี้ยงฉลองภารกิจล้มรัฐบาลได้สำเร็จ รัฐบาล คสช.และกระทรวงการต่างประเทศแถลงปฏิเสธเรื่องการทรมานคนในค่ายทหาร และเป็นเวลาเดียวกับที่ประชาชนทั่วไปดำเนินชีวิตไปอย่างปกติ

ต้องขัง

อภิรัฐเล่าว่าเขาเคยทำงานกิจกรรมและงานการเมือง ในช่วงก่อนรัฐประหาร 2557 เขาทำงานกับกริชสุดาและมนัญชยาในการช่วยเหลือเยียวยาและให้ทุนการศึกษากับครอบครัวนักโทษการเมือง โดยบ้านที่พักอาศัยในวันที่ถูกจับกุมเป็นบ้านของกริชสุดา

อภิรัฐ ศรีปัดเนตร ถ่ายหลังลี้ภัยไปยังเยอรมนี

ย้อนกลับมาในวันที่เจ้าหน้าที่มาล้อมบ้าน อภิรัฐเล่าว่าเขาไม่ได้คิดจะหลบหนีเหมือนกับคนอื่นๆ ที่เริ่มลี้ภัยไปต่างประเทศ เพราะไม่ได้คิดว่าตัวเองมีความผิดอะไรและไม่คิดว่าจะมีใครมาจับ 

เจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้แสดงหมายจับหรือหมายค้นได้เข้าทำการควบคุมตัวและตรวจค้นบ้านที่พวกเขาอยู่ อภิรัฐบอกว่าเจ้าหน้าที่ได้เอาเอกสารเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังและครอบครัวของผู้ต้องขัง รายชื่อการ์ดเสื้อแดงบางคนที่ได้เคยช่วยเหลือเป็นครั้งคราว และคอมพิวเตอร์ของเขาไป ทั้งนี้ อภิรัฐยืนยันว่าไม่มีอาวุธหรือสิ่งผิดกฎหมาย ส่วนภาพข่าวที่ระบุว่ามีการยึดสมุดรายชื่อมือปืนรับจ้างและผู้มีอิทธิพลนั้น เขายืนยันว่าเป็นการใส่ร้าย

หลังจากนั้นเขาถูกยึดโทรศัพท์มือถือ ถูกมัดมือและปิดตา และนำตัวขึ้นรถคุมขังของตำรวจ จากการวิเคราะห์ในวันนั้นและการตรวจสอบหลังเหตุการณ์ เขาเชื่อว่ารถมุ่งหน้าไปที่หน่วยทหารสื่อสารแห่งหนึ่งใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

“ตอนที่เขาเอาผ้ามามัดตาตอนนั้นมันยังไม่แน่น ก็ยังพอมองเห็นอะไรได้อยู่ แต่พอเข้าใจว่าเข้าแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตอนนั้นก็มีตำรวจคนที่เฝ้าเข้ามาทำการรัดอีกครั้งหนึ่ง เหมือนเอาเทปกาวมาพันรอบหัวอีกรอบให้ตาเราปิดสนิท มองไม่เห็น ทีนี้เขาก็จับเข้าไป”

เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง อภิรัฐถูกนำตัวลงไปที่รถอีกคันหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นรถฮัมวี่ นั่งรถไม่นานก็ถึงจุดหมายปลายทาง เขาถูกนำตัวเข้าไปไว้ในห้องๆ หนึ่ง พื้นเป็นปูนซีเมนต์และเปิดเครื่องปรับอากาศ ทั้งหมดเกิดขึ้นในขณะที่ตายังปิดและมือยังถูกมัดและไม่มีการอธิบายใดๆ จากผู้ควบคุมตัวว่าจะพาตัวเขาไปที่ไหน

“เขาก็ให้นั่งบนเก้าอี้ เขาก็ให้นั่งอยู่ตรงนั้นจนรู้สึกว่าเราเผลอหลับไป มันดึกแล้วเราก็เหนื่อย เราก็หลับไปบนเก้าอี้นั้น แล้วเราก็สะดุ้งตื่น เหมือนมีคนเข้ามาในห้อง แล้วเขาก็พาเราไปนอนบนพื้น” 

อภิรัฐลืมตาตื่นขึ้นมาในผ้าปิดตา เขาคาดว่าน่าจะเป็นเวลาเช้าเพราะว่าได้ยินเสียงฝึกทหาร หลังจากนั้นก็มีคนเข้ามาในห้องราว 2-3 คน ไม่ทราบว่าเป็นใครเพราะไม่มีการแนะนำตัว มีเพียงการถามคำถามไปเรื่อยๆ ของคนหนึ่ง ในขณะที่อีกคนเหยียบหลังของเขาเอาไว้กับพื้นในท่านอนคว่ำ และรู้สึกว่าน่าจะมีอีกคนยืนประกบข้างอยู่

“ตอนสอบเขาก็จะให้เรานอนไปกับพื้น นอนคว่ำ เอาหน้าลง…เหยียบที่ลำตัว หลัง แล้วเขาก็ถามเรา เขาก็มีรายชื่อมาอ่านให้เราฟังแล้วถามว่ารู้จักคนนี้มั้ย รู้จักคนนั้นมั้ย”

“ถ้าถามแล้วต้องตอบเลย ถ้าตอบช้าเขาก็จะเตะ เตะตรงชายโครง เขาจะเอารองเท้าคอมแบทจิ้มไปตรงหลัง ตรงท้อง”

อภิรัฐระลึกถึงสิ่งที่ถูกถาม เขาเล่าว่าส่วนมากเป็นรายชื่อคน มีการเอารายชื่อนายตำรวจหลายคนมาไล่ถาม รวมถึงนำภาพมาให้ดูบ้าง โดยจะยื่นภาพมาให้เขาที่นอนคว่ำอยู่ดู แล้วแง้มผ้าปิดตาออกมานิดหน่อย ซึ่งจากคนที่นำมาถามก็มีทั้งคนที่เขารู้จักและไม่รู้จัก การสอบถามดำเนินไปเช่นนี้ในช่วงแรกของการควบคุมตัว เพียงสิ่งเดียวที่เพิ่มขึ้นคือความทารุณของผู้ควบคุมตัว

“เขามีตบ มีเตะ จำไม่ได้ว่าเป็นวันที่สองหรือสาม เขาก็จะมีเอาผ้า ไม่รู้ว่าผ้าอะไร มาคลุมหัวให้เราอึดอัด เขาก็จะบอกว่า จะพูดมั้ย ถ้าไม่พูดก็จะทำร้ายต่อไป เขาก็จะเอาถุงผ้ามารัดตรงคอ ในตอนนั้นเรากลัวนะ เราก็ร้อง บางทีเราแกล้งทำเหมือนจะร้องไห้ด้วย เพราะเรากลัว เขาก็รัดเรา จนมันดัง เอื้อก เหมือนมันจะสุดแล้ว คือมันหายใจไม่ออก เขาก็ปล่อยเรา แล้วเขาก็ถามว่า ใช่-ไม่ใช่”

8 วันแรก กับการทรมานในความมืด

การสอบถามและทำร้ายเกิดขึ้นคราวละไม่นานและมีรูปแบบชัดเจน เป็นการเข้ามาสอบถาม ทำร้าย แล้วก็ออกไป แล้วก็ทำซ้ำอีกครั้ง ในช่วง 8 วันแรก อภิรัฐถูกปิดตา มัดมือและทิ้งเอาไว้ในห้องเพียงคนเดียว มีกระโถนหนึ่งให้เขาคลำหาเวลาจะใช้ปัสสาวะ หากปวดท้องหนักก็ให้ตะโกนเรียกคนให้พาไป ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะมาทุกครั้ง การสมาคมกับมนุษย์จะเกิดขึ้นในสามรูปแบบใหญ่ๆ หนึ่ง รับป้อนอาหารสามมื้อจากทหาร สอง การนำตัวไปข้างนอก เช่น อาบน้ำหรือเข้าห้องน้ำ และสาม การทรมาน

“ทหารที่มาป้อนก็คุยกันบ้างบางคน เขาก็บอกว่าสงสารนะ ทำไมมาโดนแบบนี้ เราก็ไม่ได้ตอบ เขาก็บอกว่าดูแลตัวเองนะ ไม่อยากให้คนไทยทำร้ายกันเลย” อภิรัฐเล่าถึงหนึ่งในความเห็นใจจากทหารผู้น้อย

ราววันที่สองหรือสามของการคุมขัง อภิรัฐเล่าว่าเขาถูกนำตัวไปยังบ่อน้ำแห่งหนึ่งเพื่อถ่วงน้ำและจับกดน้ำเพื่อเค้นข้อมูล คำถามส่วนมากเป็นเรื่องอาวุธสงครามซึ่งเป็นสิ่งที่เขายืนยันว่าไม่รู้และไม่มี นอกจากการปฏิเสธ สิ่งที่เขาทำก็คือร้องให้คนช่วยและร้องไห้

“ตอนที่กดมันเหมือนบอกเป็นจังหวะให้พลทหารมันจุ่มผมลง ตอนที่จุ่ม มันเหมือนมีเวลาพอให้เราตั้งสติได้อยู่ว่าต้องลงแบบไหน เพราะตอนนั้นมันก็ต้องเอาตัวรอด ถ้ามันทำมาขนาดนั้นผมก็ร้องไห้อย่างเดียว แล้วก็ร้องให้คนช่วย”

การกดน้ำดำเนินไปไม่นาน อภิรัฐจำไม่ได้ชัด แต่คิดว่าถูกกดน้ำอยู่ประมาณ 2-3 ครั้ง จากนั้นก็ถูกนำตัวกลับไปอยู่ในห้องที่เปิดแอร์เย็นเฉียบ เขาเล่าว่าเขาปวดท้องและอยากเข้าห้องน้ำ แต่ตะโกนไปแล้วไม่มีใครช่วย จึงได้แต่นอนร้องไห้อยู่ตรงนั้น 

เย็นวันเดียวกันกับการโดนจับกดน้ำ อภิรัฐถูกนำตัวไปอาบน้ำ เสื้อผ้าถูกถอดออกหมดเหลือเพียงผ้าปิดตา เคเบิลไทด์ถูกปลดจากมือเพื่ออาบน้ำแต่ก็ถูกมัดขาไว้แทนเพื่อป้องกันการหลบหนี ระหว่างอาบน้ำ เขาได้ยินเสียงคนคุยกันอยู่รอบๆ เยอะมาก แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นและไม่รู้ว่าพูดอะไรกัน 

จากน้ำและความเย็นที่เจอ ทำให้อภิรัฐป่วยจนกินอะไรไม่ได้ในเช้าวันถัดมา หลังจากวันนั้น ห้องเปล่าๆ พร้อมกระโถนหนึ่งใบก็มีฟูกนอนแบบทหารมาให้นอน แต่การทรมานกายและใจเพื่อเอาข้อมูลก็ยังดำเนินต่อไป มีครั้งหนึ่งที่เขาเชื่อว่าถูกขู่ด้วยปืน

“เขาถามแบบว่า จะพูดไม่พูด ถ้าไม่พูด (จะ) ยิงนะ ตอนแรกไม่เชื่อคิดว่าเขาจะไม่ยิง แต่เขาเอาปืนมาจ่อตรงคอ ที่รู้ว่าเป็นปืนเพราะมันเป็นเหล็กเย็นๆ มาจ่อที่ตรงคอ ก็ไม่คิดว่าเขาจะยิงเรา แต่ก็กลัว”

อภิรัฐเล่าว่า ช่วงกลางคืน เขาได้ยินเสียงร้องของผู้หญิงและผู้ชายดังขึ้นมาเป็นระยะ แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร และร้องเพราะถูกกระทำแบบเดียวกันกับที่เขาถูกกระทำหรือไม่ แต่ช่วงเวลาที่เขาถูกทรมานเป็นช่วงเวลากลางวัน

“วันที่สามคือเครียดมาก มันก็พันหัวเราจนแน่นไปหมด ไม่รู้ว่าปวดอะไรกันแน่ มันปวดหู ปวดตาหรือปวดจมูก มันปวดไปหมด พลิกตัวอะไรก็เจ็บ”

ความทารุณสารพัดที่เผชิญ ทำให้ความเครียดและความกลัวในใจของเขาเริ่มทำงานถึงขีดสุดโดยเฉพาะเมื่อถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว ซึ่งหากนับสัดส่วนก็เป็นส่วนมากจากเวลาที่ถูกคุมขังทั้งหมด

“วันๆ หนึ่งคิดเยอะมาก พอหลับตาก็คิดไปแล้วว่าทำไมเราต้องมาอยู่ตรงนี้ ทำไมทำกับเราอย่างนี้ เราทำอะไรผิด ก็คิดอย่างนี้อยู่ตลอด” 

“ทุกๆ วันจะโดนปิดตาและมัดมือแน่น แต่มีคืนหนึ่ง ที่นอนไปนอนมาแล้วอยู่ๆ ก็ตื่นขึ้นมา รู้สึกว่าทำไมไฟมันสว่าง เราก็หลับตาลงอีกรอบหนึ่ง แล้วก็เอะใจว่าทำไม ใครมาเปิดตา โดยที่กลัวว่าเขาจะเห็นว่าทำไมเปิดตา จะหนีหรือเปล่า เราเลยเอาที่มัดตามาใส่คืน แล้วก็ทำให้มันแน่นเหมือนเดิม สักพักผมก็นอน สักพักผมก็เอะใจอีก อ้าว แล้วใครมาเอาเคเบิลไทด์ในมือออกโดยที่ผมไม่รู้ ผมดึงผ้าปิดตาออก แล้วเห็นมันวางอยู่ข้างๆ ผมก็จับมันมาใส่ให้เหมือนเดิม”

“ทำไมมันเป็นแบบนี้ ใครมาทำเรา เราไม่รู้ตัวเลย หลังจากนั้นเราก็พยายามไม่กินข้าว ไม่กินอะไรที่เขาเอามาให้ ผมกลัวว่ามันจะเอาเราไปทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า เพราะผมไม่รู้สึกตัวเลยว่าใครมาเปิดหน้าให้ เอาอะไรออกจากมือให้”

เปิดตาเพื่อพบกับการทรมานจิตใจ

ผ้าปิดตาของอภิรัฐถูกปลดออกในวันที่ 8 ของการคุมขัง หลังเกินระยะเวลาที่คำสั่งหัวหน้า คสช. อนุญาตให้ควบคุมตัวประชาชนโดยไม่มีหมายใดๆ ได้เป็นเวลา 7 วัน เขาได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่ากริชสุดาที่ถูกคุมขังอยู่อีกที่หนึ่งจะขออยู่ต่อเพราะกลัวว่าออกไปข้างนอกแล้วจะมีอันตราย จึงจะขอ ‘อยู่ต่อไปเรื่อยๆ’ ทหารคนนั้นถามอภิรัฐว่าจะอยู่ต่อเหมือนกันหรือไม่ เพราะถ้าออกไปแล้วคงมีอันตรายถึงชีวิตแน่นอน 

อภิรัฐฟังแล้วเหมือนเป็นคำขู่ จึงจำใจที่จะต้องอยู่ต่อ ก่อนเซ็นใบให้ความยินยอมที่จะถูกควบคุมตัวต่ออีก 7 วันที่ทหารยื่นมาให้

เมื่อเซ็นเอกสารแล้ว เขาถูกนำตัวไปปิดตาและมัดมืออยู่ในค่ายทหาร จากนั้นเดินไปขึ้นรถและเดินทางอยู่ราวชั่วโมงกว่าๆ รถเดินทางเข้ารกเข้าพงไปบนถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อ ก่อนจะมาถึงบ้านพักรับรองของทหารสัญญาบัตร ในบ้านมีป้ายเขียนชื่อสถานที่ว่าเป็นค่ายทหารเสือราชินี จ.ชลบุรี

ไม่มีการทรมานรายวันอีกต่อไป มีเพียงทหารที่คุมตัวเขามาตั้งแต่ที่เดิมที่คอยเฝ้าระหว่างที่อภิรัฐใช้ชีวิตอยู่ชั้นบนของบ้าน ทหารคนนั้นใช้ผ้าปิดหน้าตัวเองไว้ให้เห็นแค่ตาและพกปืนสั้น เมื่อถามว่าเขาเป็นใคร คำตอบกำกวมที่ได้ก็คือ เป็นทั้งทหารและตำรวจ

“เขาก็บอกว่า เนี่ย ห้ามไปไหน ห้ามวิ่งห้ามตะโกนขอความช่วยเหลือ ไม่งั้นเขาจะยิง”

อภิรัฐพักอยู่ที่บ้านหลังนั้นราว 2 วัน 2 คืน ได้เดินทางไปกับทหารราว 4 คนเพื่อไปชี้บ้านสวนใน จ.ชลบุรีเพื่อยืนยันว่าเป็นบ้านของมนัญชยา นายจ้างของเขา ไม่มีการทุบตีเพื่อรีดข้อมูลอีกแล้ว ในช่วงที่เขาถูกคุมตัวไว้ที่ค่ายทหารในจังหวัดชลบุรี แต่เขาก็ยังถูกเรียกให้ธำรงวินัยด้วยการดันพื้น ซิทอัพและลุกนั่งในทุกๆ เช้า และยังมีความทารุณที่เขาได้รับในอีกรูปแบบหนึ่งที่เลวร้ายไม่ต่างกัน

อภิรัฐเล่าว่า ในวันที่ไปชี้บ้านของมนัญชยา ระหว่างทางกลับบ้านพัก พวกเขาได้แวะกินอาหารที่ร้านแห่งหนึ่ง คนที่ไปด้วยคนหนึ่งเอาโทรศัพท์มือถือของอภิรัฐที่ถูกยึดไปตั้งแต่วันแรกมาให้อภิรัฐดูก่อนจะยึดกลับไปเมื่อถึงที่พักโดยไม่ให้ใช้มือถือติดต่อกับใคร 

“พอเปิดโทรศัพท์ขึ้นมา ซึ่งมันก็เห็นเบอร์ เห็นข้อความที่พ่อ พี่ชาย ญาติโทรหา ทีนี้เราเห็นแล้วอยู่ดีๆ อาการมันก็ร้องไห้ออกมา แล้วมันจะมีทหารที่ไปด้วยกันที่นั่งด้วยกัน เขาตบเราหัวทิ่มกลางโต๊ะข้าวเลย คนเขาก็มองกันเต็ม เขาก็บอกว่ามึงหยุดได้แล้ว จะงอแงทำควยอะไร เขาก็ด่า ตอนนั้นเรารู้สึกเกือบฟิวส์ขาดแล้ว ดีที่ตั้งสติตัวเองได้” 

ในวันเดียวกันหลังจากกินข้าวเสร็จ อภิรัฐถูกทหารเรียกไปที่สนามยิงปืน ที่สนามยิงปืนนั้นมีปืน M-16 ทั้งแบบธรรมดาและแบบติดลำกล้องถูกเตรียมไว้เพื่อลองยิง และให้อภิรัฐทำหน้าที่คอยวิ่งไปเปลี่ยนเป้ากระดาษในสนามซ้อมยิงปืน

“ในระหว่างเขาซ้อมปืน เราก็จะเป็นคนที่คอยไปเปลี่ยนเป้าให้ พอไปเปลี่ยนเป้าให้เขาก็ยิงปังๆๆ โดยที่เขาไม่ได้สนใจเลยว่าจะโดนเราหรือเปล่า…เหมือนเขาก็จะยิงแบบแกล้งๆ แต่พอยิงไป (พวก) เขาก็บอกกันว่า ไม่ได้ๆ”

“ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกยังไง รู้สึกว่า เหมือนว่า คุณยังเอาปืนมาลองมายิง แล้วไปว่าคนอื่นเขาว่าทำร้ายคนนั้นคนนี้ ผมก็รู้สึกว่าทำไมเอาปืนมา เอามาจากไหน แล้วไปฝึกแล้วจะไปทำร้ายใคร”

ออกจากค่าย ย้ายประเทศ

หลังจากอยู่ที่บ้านพักรับรองได้ 2 วัน 2 คืน อภิรัฐถูกนำตัวออกไปยังค่ายทหารเดิมที่เคยถูกคุมขังครั้งแรก ไม่มีการทุบตีหรือล่อเป้ากระสุนแล้ว เจ้าหน้าที่ปล่อยให้เขาอยู่เฉยๆ ไปเรื่อยๆ ใช้ชีวิตนั่งดูโทรทัศน์ที่เปิดได้เพียงรายการจากต่างประเทศเท่านั้น และ 2 วันก่อนที่จะปล่อยตัว เขาถูกนำตัวไปอยู่ที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งที่เขตบางเขน ระหว่างที่อยู่ที่นั่น เขาเจอคนอีกคนที่เล่าว่าตนเป็นการ์ดเสื้อแดงและถูกทำร้ายระหว่างควบคุมตัวเช่นกัน 

“โอ้โห เราเห็นแล้วแบบ เขียวทั้งตัวเลย ทั้งท้อง ทั้งซี่โครง เขียวช้ำ ใต้แขน หลังแขน แขนพับ เขาทำขนาดนี้” 

นอกจากการ์ดเสื้อแดงคนนั้น อภิรัฐยังได้เจอ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ยศขณะนั้น) หรือ ‘เสธ.ไก่อู’  โฆษกกองทัพบก (ทบ.) และหัวหน้าทีมโฆษก คสช. ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์โดยรัฐบาล  คสช. สรรเสริญบอกอภิรัฐว่า ขณะนี้ประชาชนกำลังมองกองทัพในทางที่แย่ อยากให้ออกไปพูดอะไรที่เป็นผลดีกับกองทัพ

“เขาก็พูดประมาณว่าถ้าพูดก็จะได้ออกเร็วหน่อย”

เมื่อ 23 มิ.ย. ช่อง ททบ. 5 เผยแพร่คำสัมภาษณ์ของกริชสุดา โดยเธอระบุว่าไม่มีการทรมานเธอระหว่างการคุมขัง มีทหารผู้หญิงอำนวยความสะดวกให้  และ “มันสุขสบายเกินที่จะพูดอะค่ะ ดีทุกอย่าง” แต่เมื่อ 2 ส.ค. 2557 กริชสุดาให้สัมภาษณ์ในรายการของจอม เพชรประดับ ในช่อง Jom ว่าในวันดังกล่าว มีทหารยศนายพันผู้หนึ่งมานัดแนะกับเธอก่อนให้สัมภาษณ์สื่อ ว่าให้เธอพูดถึงกองทัพในทางที่ดี เธอยังเล่าในการให้สัมภาษณ์กับจอมด้วยว่า เธอถูกทำร้ายด้วยการชกต่อย ทุบตี นำถุงมาครอบหัวให้ขาดอากาศหายใจ และได้อาบน้ำไม่กี่ครั้งนับตั้งแต่ถูกจับกุมพร้อมอภิรัฐเมื่อ 27 พ.ค.

อภิรัฐได้รับการปล่อยตัวจากการคุมขังเมื่อ 24 มิ.ย. 2557 พร้อมกับกริชสุดาที่เพิ่งจะได้เจอกันก่อนปล่อยตัวเพียงแค่วันเดียว สรรเสริญให้ทั้งสองเซ็นเอกสารยินยอมควบคุมตัวย้อนหลังเนื่องจากฏอัยการศึกให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวพลเรือนได้เป็นเวลา 7 วันเท่านั้น ส่วนคอมพิวเตอร์ที่ถูกยึดไปนั้นไม่ได้คืน หลังจากปล่อยตัว อภิรัฐถูกส่งตัวไปยังกองบังคับการปราบปรามตามหมายจับคดีครอบครองอาวุธปืน โดยอ้างว่าเขามีปืนพกในครอบครอง อภิรัฐยืนยันว่าไม่เคยมีอาวุธปืนสักกระบอก ต่อมาเขาถูกนำตัวไปยัง จ.ชลบุรีและได้รับการประกันตัว หลังจากนั้นเขาไปหาหมอเพื่อตรวจร่างกาย และตัดสินใจหนีไปยังประเทศกัมพูชาพร้อมกับกริชสุดาตามคำแนะนำของผู้ใหญ่

อภิรัฐไม่ได้บอกเล่าหรือซักถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาทั้งสองคนในช่วงเวลา 28 วันในค่ายทหาร เขาอธิบายว่าเขาไม่ต้องการที่จะ พูดถึง ถามถึงหรือคิดถึงมันอีก และเขาก็คิดว่ากริชสุดาก็คิดเหมือนกันกับเขา ตอนนั้นพวกเขาคิดอย่างเดียวว่าไม่อยากอยู่เมืองไทย ประเทศไทยไม่ใช่สถานที่ๆ ให้ความปลอดภัยกับพวกเขา พวกเขาต้องการที่จะหนีไปจากมัน

เมื่อนัดหมายสถานที่ วันเวลา กับเพื่อนให้มารับเป็นที่เรียบร้อย พวกเขาสองคนตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า พากันเดินทางตัดผ่านไร่-นา ที่คั่นกลางระหว่างถนนของประเทศไทยและกัมพูชาข้ามแดนไปแบบง่ายๆ แต่กัมพูชาก็ยังไม่ได้เป็นสถานที่ๆ พวกเขารู้สึกปลอดภัย กริชสุดา มีหนังสือเดินทาง เธอจึงได้เดินทางไปยังประเทศที่สามที่มีความปลอดภัยมากกว่าในเวลาไม่นานหลังจากนั้น ส่วนอภิรัฐไม่มีหนังสือเดินทาง จึงทำให้ต้องตกค้างอยู่ในสถานะผู้เข้าเมืองผิดกฏหมายนานร่วม 7 ปี ก่อนที่จะได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนให้เดินทางไปขอลี้ภัยในประเทศที่สาม

บาดแผลที่ยังหลงเหลือ

28 วันของการคุมขังเปลี่ยนชีวิตของอภิรัฐ ในช่วงแรก อาการหวาดกลัวทำให้เขาไม่ไว้ใจแม้กระทั่งคนที่ใกล้ชิด อาการนี้ค่อยๆ ดีขึ้น แต่ชะตากรรมของผู้ลี้ภัยอื่นๆ ที่ถูกลักพาตัว บางคนพบเป็นศพ ก็ทำให้แผลในใจกลับกลายเป็นแผลสดอีกครั้ง

“มันทำให้เราให้เรามาอยู่อีกที่หนึ่ง ซึ่งไกลบ้าน เป็นที่ๆ เราไม่คุ้นชิน แล้วพอเรามาอยู่ ก็มีคนที่เรารู้จักโดนอุ้มหาย คนนั้นหาย คนนี้หาย ยิ่งทำให้เราระแวง กลัวไปหมด ซึ่งทำให้เราใช้ชีวิตลำบาก”

“ปัญหาหลักๆ คือนอนไม่ค่อยหลับ ตื่นมาแล้วก็นอนยาก ก่อนจะมาเยอรมัน ตอนนั้นอยู่เขมร ช่วงนั้นพี่ต้าร์ (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) หาย ผมเห็นรถตู้ไม่ได้เลย เห็นแล้วจะหวาดผวา ระแวงทันที พอมาอยู่ที่นี่ แรกๆ มาเจอรถตู้ที่อยู่ตามชนบทก็ยังมีหลอนๆ กลัวๆ อยู่ กลัวรถตู้ดำทึบ แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้ว” 

8 ปีหลังจากวันที่ถูกคุมขัง ปัจจุบัน อภิรัฐกำลังอยู่ในขั้นตอนการขอสถานะผู้ลี้ภัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนีร่วมกับผู้ลี้ภัยหลายชาติ เขากำลังเรียนภาษาเยอรมันที่เขาเองบอกว่ายังไม่ค่อยถนัดนัก เขายังฝันร้ายบ่อยๆ และมีปัญหาเรื่องการนอน โดยเจ้าหน้าที่ก็จัดแจงให้เขาเข้าถึงการบำบัดโดยนักจิตวิทยาและให้ทำสวนเพื่อคลายความเครียด

ระหว่างรอคอยขั้นตอนการขอสถานะผู้ลี้ภัย อภิรัฐยังไม่ได้นึกถึงอนาคตที่ชัดเจนเพราะต้องดูก่อนว่าจะได้อยู่ที่นั่นนานขนาดไหน อาจจะต้องหางานทำหรือเรียนต่อในสายอาชีพที่นั่นและมองเรื่องการขอสัญชาติต่อไป แต่ก็เป็นเรื่องที่ไกลออกไปในอนาคต 

เมื่อถามว่ามีอะไรที่อยากจะทิ้งท้าย อภิรัฐตอบว่า

“อยากให้ทุกคนสู้ ทุกคนต้องสู้ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจ ก็แย่ แล้วก็มีนายกฯ ที่มันแย่ๆ อยากให้สู้และรักษาสุขภาพไว้ก่อน หวังว่าอีกไม่นานมันจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net