Skip to main content
sharethis

ขณะที่ชาวฮ่องกงวางดอกไม้ไว้อาลัยต่อการจากไปของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 สื่อโปรจีนออกบทบรรณาธิการวิจารณ์ว่าชาวฮ่องกงยังโหยหาการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และควรต้องมีการลบล้างความคิดดังกล่าว ด้านนักวิชาการเผยชาวฮ่องกงมองว่าสภาพสังคมสมัยอยู่กับอังกฤษดีกว่ามาก​ เมื่อเทียบกับการปกครองภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบัน

ขณะที่นักวิจารณ์ในสหราชอาณาจักรพูดถึงประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคม รวมถึงสงครามฝิ่นที่กองทัพเรืออังกฤษบีบบังคับให้มีการค้าฝิ่นกับจีนในสมัยราชวงศ์ชิง นำไปสู่การเสพติดและกำไรแก่อังกฤษอย่างมหาศาล ชาวฮ่องกงกลับบอกกับสำนักข่าว RFA พวกเขารู้สึกเสียใจต่อการจากไปของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 

"เรามีความรู้สึกต่างๆ เกี่ยวกับพระองค์อย่างมาก พระองค์ทรงเป็นเหมือนคุณย่าของเรา ฉันเคารพพระองค์ในฐานะผู้นำที่ยิ่งใหญ่ซึ่งนำความผาสุกทางจิตใจมาสู่เรา" หญิงแซ่ชานระบุ หลังจากเพิ่งเดินทางไปแสดงความเสียใจร่วมกับประชาชนคนอื่นๆ ที่ฮ่องกง เมื่อศุกร์ที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา 

ขณะหลายๆ คนไปวางดอกไม้เพื่อไว้อาลัยแก่พระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ที่ด้านหน้ากงสุลอังกฤษในฮ่องกง ชายแซ่ฟึงให้สัมภาษณ์กับ RFA ว่าเขาและภรรยาเติบโตมาในยุคที่ฮ่องกงยังคงเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่ สมัยที่ทั้ง 2 คนยังเรียนหนังสืออยู่ ที่โรงเรียนมีรูปของพระองค์ติดอยู่ในทุกห้องเรียน  

"เราทุกคนล้วนเติบโตมาในอาณานิคมฮ่องกง ซึ่งช่วยให้เราพัฒนาชีวิตของเราเอง และพัฒนาเมืองนี้ เราจึงรักพระราชินีอย่างมาก พระองค์เคยเสด็จเยือนที่นี่หลายครั้ง พระองค์ทรงใกล้ชิดกับประชาชนเป็นอย่างมาก" นายฟึงกล่าว  

"หลายคนได้ประโยชน์จาก [การเปิด] โรงพยาบาล [ใหม่] หลายแห่ง การรักษาพยาบาล การศึกษา และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้น [ในช่วงนั้น]" นายฟึงกล่าว

ชุง คิม วาห์ นักสังคมวิทยาและผู้สันทัดกรณีระบุว่าพระราชินีเอลิซาเบธทรงเป็นสัญลักษณ์ของฮ่องกงที่ปัจจุบันไม่มีเหลืออยู่แล้ว หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มทำลายเสรีภาพที่ฮ่องกงมีมาแต่เดิม หลังการประท้วงใหญ่และการเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

"ประชาชนตอนนี้มีการรำถึงถึงความหลังของการปกครองและวิธีการบริหารแบบอังกฤษแล้ว เช่น สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้ถดถอยลง [ในช่วงหลัง]" ชุง ให้สัมภาษณ์กับ RFA

"ความทรงจำที่มีต่อพระราชินี การสวรรคต ชวนให้นึกถึงยุคอดีตเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนจะรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมาก"  ชุง กล่าว

ลี ชี ลุง ชาวฮ่องกงที่ปัจจุบันอาศัยในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ให้สัมภาษณ์กับ RFA ว่า แม้พระราชินีจะไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารฮ่องกงในยุคอาณานิคมโดยตรง แต่พระองค์ก็ทรงมาเป็นตัวแทนของช่วงเวลานั้น" 

"สำหรับชาวฮ่องกง มันไม่ได้เป็นเรื่องความรู้ส่วนตัวที่มีต่อพระราชินีมากขนาดนั้น แต่เป็นความรู้สึกเกี่ยวกับความทรงจำที่มีต่อฮ่องกงในอดีต" ลี กล่าวโดยปัจจุบันเธอเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ฮ่องกงในกรุงลอนดอน 

"พระองค์อยู่ที่นั่นขณะที่ประชาชนในฮ่องกงเติบโตขึ้น" ลีกล่าว

หลังการเสียชีวิตของพระราชินีเอลิซาเบธ 'สี จิ้น ผิง' ประธานาธิบดีของจีน และ 'จอห์น ลี' ได้ส่งสาห์นแสดงความเสียใจต่อการจากไปของพระองค์

"พระราชินีเอลิซาเบธที่ ทรงเป็นประมุขที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของสหราชอาณาจักร" แถลงการณ์ของสีจิ้นผิงระบุ "พระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นประมุขของสหราชอาณาจักรพระองค์แรกที่เสด็จเยือนประเทศจีน และการจากไปของพระองค์นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของประชาชนชาวบริเตน" 

"เราขอฝากถึงความสำคัญของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหราชอาณาจักร และพร้อมทำงานร่วมกับกษัตริย์ชาร์ลส์ ถือโอกาสครบรอบ 50 ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับเอกอัครราชทูตระหว่าง 2 ประเทศ ในการส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งและมั่นคงในระดับทวิภาคี และผลประโยชน์ระหว่าง 2ประเทศและประชาชนระหว่าง 2 ประเทศต่อไป" แถลงการณ์ระบุ

ในระดับนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงได้ส่งสาห์นแสดงความเสียใจไปยังลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษเช่นกัน ขณะที่จอห์นลี ผู้บริหารฮ่องกงกล่าวว่า "พระราชินีทรงครองราชย์มากว่า 70 ปี และทรงเป็นประมุขที่ครองราชย์นานที่สุดในสหราชอาณาจักร พระองค์ทรงเป็นที่เคารพรักและสรรเสริญของประชาชนชาวบริเตนอย่างมาก" 

สื่อโปรจีนวิจารณ์ ชาวฮ่องกงโหยหาการเป็นเมืองขึ้น 

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์ได้ลงบทบรรณาธิการโดยวิจารณ์ชาวฮ่องกงแสดงความเสียใจและไว้อาลัยต่อการจากไปของพระราชินีเอลิซาเบธ และระบุว่าจีนต้องมีความพยายามมากขึ้นในการลบล้าง "ความคิดแบบอาณานิคม" จากจิตใจของประชาชน

สำนักข่าวต่างประเทศต่างๆ ได้แสดงภาพของประชาชนฮ่องกงที่คุกเข่าเพื่อแสดงความเคารพหน้ากองดอกไม้บนท้องถนน ขณะที่ชาวฮ่องกงบางคนนำอาหารตามขนบธรรมมาวางเพื่อแสดงความเสียใจตามวัฒนธรรมของงานศพ 

"สื่อต้านจีนเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ โดยบอกว่ามันเป็นการรำลึกความหลังถึงการปกครองแบบอาณานิคมของอังกฤษในหมู่ประชาชนชาวฮ่องกง" เว็บไซต์ของสำนักข่าวต้ากงเหวินฮุ่ยระบุในบทบรรณาธิการเมื่อ 13 ก.ย. "มันแสดงให้เห็นว่าประชาชนบางส่วนในฮ่องกงยังคงมีความเชื่อที่ฝังรากลึก" 

"ความคิดแบบอาณานิคมที่ยังคงมีอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อยมากๆ ควรค่าแก่การสนใจ" หนังสือพิมพ์ระบุ โดยเชื่อมโยงเรื่องนี้กับขบวนการประท้วงใหญ่ในฮ่องกงเมื่อปี 62 ซึ่งปะทุขึ้นหลังการชุมนุมใหญ่เพื่อต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อไปดำเนินคดีในจีนแผ่นดินใหญ่ และขยายขอบเขตออกไปสู่การเรียกร้องการเลือกตั้งประชาธิปไตยเต็มใบ และการทำให้รัฐบาลทำผิดแล้วต้องรับผิดมากยิ่งขึ้น

ประชาชนบางส่วนได้ตื่นขึ้นแล้ว แต่บางคนยังคงจมอยู่ในแฟนตาซีที่พวกเขาเป็นผู้อยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิบริเตน" หนังสือพิมพ์กล่าว "รัฐบาลอาณานิคมอาจไม่อยู่แล้ว แต่การล้มระบอบอาณานิคมยังเป็นสิ่งที่ต้องริเริ่ม"

หนังสือพิมพ์ดังกล่าวอ้างว่าโจทย์ที่ว่านี้มีการเริ่มขึ้นบ้างแล้ว ผ่านการล้มเลิกหลักสูตรที่สอนเกี่ยวกับการคิดเชิงวิพากษ์ตามขนบการศึกษาแบบเสรีนิยมในโรงเรียนต่างๆ ของฮ่องกง และแทนที่ด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับชาติ พลเมือง และศีลธรรม โดยโรงเรียนปฐมและมัธยมในปัจจุบันถูกบังคับให้ส่งเสริมกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนและนักเรียนด้วย

หลังบทบรรณาธิการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว นักร้องโอเปร่าชาวฮ่องกง การ์-ยิง ลอว์ ได้ออกมาขอโทษบนโซเชียลมีเดีย หลังเขาวางดอกไม้ให้แก่พระราชินีเอลิซาเบธที่กงสุลอังกฤษในฮ่องกง โดยพูดเป็นภาษาจีนแมนดารินแทนที่จะพูดเป็นภาษากวางตุ้ง ซึ่งเป็นภาษาประจำถิ่นของฮ่องกง

"ในฐานะบุคคลสาธารณะ ผมขอโทษจริงๆ ที่ผมโพสต์ถ้อยคำแสดงความเสียใจอย่างสิ้นคิดเช่นนั้น" ลอว์ กล่าว "ความตั้งใจแรกของผมคือการแสดงความรำลึกถึงความหลังต่อพระองค์" 

"ผมมีหนังสือเดินทางของจีนมานานแล้ว ซึ่งนี่น่าจะบอกคุณได้ทุกอย่าง ผมเป็นคนจีนและจะรักมาตุภูมิตลอดไป" ลอว์กล่าวพร้อมก้มหัว และประกบสองมือไว้ที่อกซ้าย  

นอกจากวางดอกไม้แล้ว ลอว์ยังเคยแสดงความเห็นด้วยว่าฮ่องกง "ได้รับพระมหากรุณาธิคุณภายใต้การคุ้มครองของพระราชินี" ส่งผลทำให้ 'ทัวร์ลง' โดยผู้เข้ามาวิพากษ์ส่วนใหญ่คือชาวเน็ตผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่าแก๊งชมพูน้อย  (Little Pinks) 

ฮานส์ เยิง นักประวัติศาสตร์ฮ่องกง ซึ่งปัจจุบันพักอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ระบุว่าการที่ชาวฮ่องกงรำลึกถึงความหลังในยุคอาณานิคมเป็นอารมณ์ที่มีความสลับซับซ้อน

"เหตุผลที่เรากำลังเห็นกิจกรรมไว้อาลัยเหล่านี้ เป็นเพราะวิธีการปกครองในปัจจุบันแตกต่างไปจากวิธีการที่เคยมีในฮ่องกงเมื่อ 20 กว่าปีก่อน และอารมณ์ที่มาจากความแตกต่างระหว่างของเก่าและของใหม่" เยิงให้สัมภาษณ์กับ RFA

"มันไม่จำเป็นต้องเป็นความคิดว่าเราคิดถึงยุคอาณานิคมเพราะสิ่งต่างๆ ดีเหลือเกินในยุคนั้นเสมอไป แต่เป็นเพราะปัจจุบันแย่มากจริงๆ" เขาระบุ

เยิงระบุว่าผู้แสดงความเสียใจต่อการสวรรคตของพระราชินีอลิซาเบธบางคนยังอาจเด็กเกินกว่าจะจำยุคสมัยที่มีรูปของพระราชินีในทุกห้องเรียน หรือที่ทุกช่องสถานีโทรทัศน์งต้องจบการถ่ายทอดทุกคืนด้วยเพลง "God Save the Queen" ได้ 

เยิงระบุอีกว่าคนรุ่นใหม่อาจอ่านเกี่ยวกับสภาพสังคมของฮ่องกงก่อนที่จะถูกมอบคืนให้แก่จีนในปี 2540 และได้ข้อสรุปของตัวเองจากการตีความอดีตดังกล่าว

"การศึกษาของประเทศ [ทุกวันนี้] บังคับให้นักเรียนใช้การคิดบวกเพื่อเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และประเด็นต่างๆ ที่จีนเผชิญ ทว่ามันไม่ได้ปลุกเป้าอารมณ์ของพวกเขา" เยิงขยายความ "มันแค่สอนพวกเขาว่าตอนนี้สิ่งต่างๆ ในการเมืองฮ่องกงปัจจุบันเลวร้ายมาก และพวกเขาควรพูดคำขวัญซ้ำๆ อย่างเหมาะสมจะดีกว่า" 

"ยิ่งพวกเขามีประสบการณ์ในการเรียนการสอนของประเทศมากขึ้นเท่าไหร่ พวกเขายิ่งอาจตาสว่างเร็วขึ้นและ...เห็นว่าปัญหาเลวร้ายมากแค่ไหน" เยิง กล่าว

นาธาน ลอว์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกงระบุในโพสต์เฟสบุ๊คของตนเองว่า การโศกเศร้าอาลัยต่อการจากไปของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เป็นการแสดงความไม่พอใจต่อการปราบปรามผู้เห็นต่างและผู้ต่อต้านทางการเมืองอย่างสันติรูปแบบหนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้ทำภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ปัจจุบัน มีการจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองกว่า 10,000 คน และมีการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมืองกว่า 2,800 ราย    

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net