Skip to main content
sharethis
  •  มณเฑียรยืนยันว่าหลังการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้เขาเลือกจะไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 272 ที่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ แล้ว เพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้แล้ว รัฐบาลเองก็บอกเองว่าหลังเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ได้เสียงเกินอยู่แล้วไม่ต้องมีเสียง ส.ว.
  •  มณเฑียรบอกว่าที่เขายกมือโหวตแก้ ม.272 นอกจากเรื่องไม่จำเป็นแล้ว เขาก็ยืนยันมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้ได้และเขาจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการแก้รัฐธรรมนูญ
  • ส่วนเรื่องการปฏิรูปประเทศที่เป็นเหตุผลในการใส่ ม.272 เข้ามาในรัฐธรรมนูญ มณเฑียรบอกว่าตอบแทนรัฐบาลไม่ได้ว่าปฏิรูปสำเร็จหรือไม่ แต่เขาบอกว่าสุดท้ายแล้วการปฏิรูปรายเชิงประเด็นถ้าไม่แก้ระบบบริหารราชการก็จะยังเจอปัญหารัฐราชการรวมศูนย์อยู่ดี

หลังจากในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อ 6-7 ก.ย.2565 มีการอภิปรายเพื่อโหวตรับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในวรรคแรกของมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง และคณะ ซึ่งมี ส.ส.รับหลักการ 333 คน แล้วก็ยังมี ส.ว.ที่โหวตตัดอำนาจตัวเองอีก 23 คน

22 ก.ย. 2565 ประชาไทได้ขอสัมภาษณ์มณเฑียร บุญตัน 1 ใน ส.ว. 23 คนที่เลือกโหวตตัดอำนาจเลือกนายกฯ ของตัวเองถึงเหตุผลที่โหวตเช่นนั้นและหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าหรืออาจเร็วกว่านั้นหากเกิดการยุบสภาก่อน

มณเฑียร บุญตัน อธิบายว่าที่เขาเลือกโหวตสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ตัดมาตรา 272 ออกซึ่งจะเป็นการตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร เพราะเขามองว่าไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้วเนื่องจากตอนตั้งรัฐบาลครั้งที่แล้วก็ไม่ได้อาศัยเสียง ส.ว.เพราะรัฐบาลก็บอกว่าเขามีเสียงเกิน 250 อยู่แล้วก็ไม่ได้มีความจำเป็นอะไร ซึ่งตนเองก็เห็นด้วยว่าไม่มีความจำเป็นก็เลยเห็นด้วยกับรัฐบาลตั้งแต่นั้นมา

มณเฑียรบอกว่าที่ผ่านมาตัวเขาเองก็โหวตสนับสนุนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแทบจะทุกร่าง แม้ว่าอาจจะมีบางร่างแก้ไขที่ไม่เห็นด้วยแต่ก็น้อยมาก

“หลักการของผมก็คือรัฐธรรมนูญทุกฉบับต้องแก้ได้แล้วก็รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะของไทยมักจะออกมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือไม่ได้มีเหตุผลระยะยาวพอที่จะอยู่ยั้งยืนยง มันมักจะออกมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วเหตุผลของคนร่างรัฐธรรมนูญแต่ละครั้งก็มักจะมีเหตุผลโดยใช้ปัจจัยแวดล้อมมากกว่าปัจจัยพื้นฐานในการร่างรัฐธรรมนูญทำให้รัฐธรรมนูญอายุสั้น”

อย่างไรก็ตาม เขามองว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกมาโดยมีเหตุผลเฉพาะกิจมากกว่าร่างออกเมื่อใช้ในระยะยาว แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขทั้งฉบับแม้ว่าสาระของการแก้ไขจะไม่มีปัญหาอะไรแต่เมื่อมองในมุมทางการเมืองแล้วทุกครั้งที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็จะไปสร้างความหวาดกลัวให้แก่คนที่เห็นต่างทางการเมือง ทำให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่แก้ไขหมั่นไส้แล้วออกมาล้มรัฐบาลไม่ว่าจะโดยการไล่หรือยึดอำนาจ เพราะเกิดจากการที่ไม่สามารถหาความเห็นพ้องกันได้ในสังคม

“แต่ผมก็ยกมือให้นะ ตอนแก้มาตรา 256 ผมก็ยกมือให้ เพราะผมเคยพูดไว้แล้วว่าจะไม่เป็นอุปสรรคในการแก้ไข แม้ในทางการเมืองผมจะไม่เห็นด้วยเท่าไหร่นักเพราะมันจะมีผลตามมาแบบเอาคืนแบบไม่รู้จักจบสิ้นมากกว่า”

มณเฑียรยกตัวอย่างกรณีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ถึงจะไม่ได้มีที่มาจากการยึดอำนาจและเขาก็พอใจในฉบับนี้จึงไปโหวตให้ก็ยังเป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุไม่ยาวเพราะมีคนที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ชอบตั้งแต่แรกหาโอกาสที่จะมาล้มอยู่แล้ว

แต่สำหรับการที่มณเฑียรเลือกโหวตตัด ม.272 นี้ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกเขียนขึ้นมาด้วยเหตุผลเฉพาะกิจ เขาก็เห็นว่าเหตุผลที่ว่าก็หมดลงไปแล้วคือผู้ร่างต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นภายหลังจากเกิดการยึดอำนาจมาก็ยังเป็นคำอธิบายที่รับฟังได้แม้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม

“พอยกมือให้รัฐบาลก็บอกว่า ส.ว.ไม่ได้จำเป็นเลย เพราะเสียงเกินอยู่แล้ว จริงๆ ไม่ต้องมี ส.ว.ก็ได้เป็นรัฐบาลอยู่แล้ว ผมก็ว่าเออดี ถ้างั้นก็ไม่ต้องเอา 272 แล้วนะ”

ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามองการปฏิรูปที่ผ่านมาเป็นอย่างไรเพราะเหตุผลเรื่องการปฏิรูปประเทศก็ถูกระบุเป็นเหตุผลที่จะให้อำนาจแก่ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ด้วยในคำถามพ่วงตอนทำประชามติ

มณเฑียรตอบคำถามนี้ว่า การปฏิรูปประเทศที่ผ่านมาก็มีการลงมือทำแล้วก็มีการประชุมรายงานผลดำเนินงานทุก 3 เดือนอยู่ แต่ถ้าถามเขาว่าปฏิรูปสำเร็จหรือไม่ก็คงต้องไปตรวจสอบเอา แต่ก็คงไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะตอบแทนรัฐบาลว่าทำสำเร็จหรือไม่

“ผมคิดว่าถ้าจะปฏิรูปให้สำเร็จก็ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินทั้งฉบับ ซึ่งไม่เห็นมีใครตอบสนองเลยเวลาผมอภิปรายเรื่องนี้ ก็ถ้าทุกคนตำหนิว่าการบริหารของเราเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ เราต้องการบูรณาการ ทุกคนก็ท่องคำนี้กันหมด แต่ผมก็ไม่เห็นมีใครกล้าแก้ไขกฎหมายฉบับนั้นที่เปิดโอกาสให้ทำงานทะลุกระทรวงทบวงกรมราชการต่างๆ ได้ มันก็ยังรวมศูนย์เหมือนเดิม” มณเฑียรเสริมว่าการปฏิรูปเชิงประเด็นโดยไม่แก้ไขระบบราชการบริหารแผ่นดินที่เป็นโครงสร้างใหญ่ก็ยังคงมีปัญหาการบริหารรวมศูนย์เหมือนเดิม

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อเลือกที่จะโหวตตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ แบบนี้แต่ส.ว.ชุดนี้ก็จะอยู่จนครบวาระหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า สำหรับเขาแล้วจะใช้อำนาจตามมาตรา 272 ในการโหวตเลือกนายกฯ อีกหรือไม่

“ผมก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว ใครอยากเป็นนายกฯ ก็ต้องหาคะแนนเกิน 250” นอกจากนั้นมณเฑียรมองว่าการที่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบและการใช้สูตรคำนวนหา ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 ก็จะทำให้พรรคการเมืองได้คะแนนเสียงที่ชัดเจนขึ้นอยู่แล้วทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เสียงมากขึ้นการรวมเสียงเพื่อตั้งรัฐบาลก็จะง่ายขึ้นด้วย

“ไม่ว่าจะฝ่ายไหน ความจำเป็นที่จะใช้เสียงของ ส.ว.จะลดลง เมื่อตรรกะความจำเป็นน้อยลงแล้ว ก็เป็นความจริงที่ยืนยันกันมาตลอดขนาด(เลือกตั้ง) คราวที่แล้วเสียงแตกขนาดนั้นก็บอกว่าไม่จำเป็นแต่เอาไว้กันเหนียว คราวนี้ก็ยิ่งจำเป็นน้อยลง แต่ใคร(ส.ว.) จะโหวตยังไงนั้นก็เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน แต่ผมเห็นว่าไม่จำเป็น”

“ไม่โหวตละ เพราะไม่จำเป็นต้องโหวต” มณเฑียรให้คำตอบย้ำอีกครั้ง และเขายืนยันว่าที่ไม่โหวตไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าไม่ชอบใคร แต่คนที่จะมาเป็นนายกฯ ก็จะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาอยู่แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net