เปิดตัวหนังสือ ‘สร้างความเข้าใจฟ้องปิดปาก’ เครื่องมือสร้างความกล้ารายงานข่าวสำหรับทุกคน

องค์กรสื่อ-นักกฎหมายจัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘สร้างความเข้าใจการถูกฟ้องปิดปาก (SLAPP)’ ผู้เขียนหวังเป็นหมุดหมายสร้างความเข้าใจและการป้องกันการฟ้องปิดปากที่อ่านง่าย คนทั่วไปอ่านได้ สื่ออ่านดี นักกฎหมายใช้ศึกษาได้ เป็น “เครื่องมือสร้างความกล้าสำหรับการรายงานข่าว” สำหรับทุกคน

หรือคลิกเพื่อดาวท์โหลดหนังสือได้ที่ https://thaisej.org/e-book/

23 ก.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (23 ก.ย.) ที่ SEA Junction ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICU) และสำนักเครือข่ายสารธารณะ ไทยพีบีเอส ร่วมกันจัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “การทำความเข้าใจการถูกฟ้องปิดปาก (SLAPP) สำหรับสื่อมวลชน” เมื่อเวลา 13.15-13.45 น. 

สำหรับหนังสือที่มีการเปิดตัวชื่อว่า 'SLAPP : 1 ความฝัน และการถูกฟ้องปิดปาก' แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ การทำความเข้าใจการฟ้องปิดปากในเชิงคำนิยามว่า การฟ้อง SLAPP คืออะไร พร้อมฉายภาพให้เห็นสถานการณ์และรูปแบบการฟ้องปิดปากทั้งไทยและต่างประเทศ และส่วนที่ 2 เป็นคำแนะนำ และข้อเสนอ โดยคำแนะนำประกอบด้วย ป้องกันการถูกฟ้องอย่างไร และทำอย่างไรเมื่อถูกฟ้อง 

สำหรับ SLAPP หรือการฟ้องปิดปาก คือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะ หรือเพื่อขัดขวางกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์สำหรับผู้ฟ้องคดี 

ทั้งนี้ ในบริบทในประเทศไทย กฎหมายส่วนใหญ่ที่ถูกใช้เพื่อฟ้องปิดปาก ได้แก่ ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา ความผิดฐานหมิ่นประมาททางแพ่ง การละเมิดทางแพ่ง พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 116 หรือยุยงปลุกปั่น และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล จากชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และเป็นบรรณาธิการ (บ.ก.) จัดทำหนังสือ กล่าวถึงที่มาของชื่อหนังสือ “SLAPP: 1 ความฝัน กับการถูกฟ้องปิดปาก” ระบุว่าเจตนารมย์ของหนังสือเพื่อให้ประชาชนที่อาจไม่คุ้นเคยสามารถเข้าใจได้โดยง่าย ไม่มองว่าเป็น ‘ยาขม’ ที่ไม่อยากจะหยิบขึ้นมาอ่านตั้งแต่เริ่ม ดังนั้น ชื่อหนังสือจะมีความเป็นวรรณกรรม และเข้าถึงง่าย 

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล (กลาง) จากชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และ บ.ก.หนังสือ

สมาชิกชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า สำหรับคำว่ า "1 ความฝัน" มาจากแนวคิดที่ว่าไม่ว่าคุณจะเป็นสื่อแบบไหนก็ตาม เมื่อเข้ามาสู่เส้นทางสายอาชีพนี้ ทุกคนต่ างมีความฝันที่จะได้รายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ถูกคุกคาม จึงเอาความฝันนี้มาตั้งเป็นชื่อหนังสือ

"ไม่ว่าจะเป็นใคร ถูกนิยามว่าอะไร คนที่ก้าวเข้ามาสู่เส้นทางสายนี้ (สื่อมวลชน) ต่างมีความฝันเดียวกัน คือ เราอยากที่จะมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร มีโอกาสที่จะได้ถ่ายทอดเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมา ไม่ถูกคุกคาม ไม่ถูกละเมิด อันนี้ไม่ว่าจะเป็นใครที่ก้าวเข้ามาเป็นสื่อ มีความฝันนี้เดียวกัน" ฐิติพันธ์ กล่าวถึงที่มาของชื่อ '1 ความฝัน'

ด้านอรพิน ลิลิตวิศิษฏ์วงศ์ สื่อมวลชนอิสระ และเป็น บ.ก.ร่วมจัดทำหนังสือเล่มนี้ เผยว่า เธอต้องการให้ให้หนังสือเล่มนี้ปักหมุดสร้างความเข้าใจเรื่อง SLAPP ในวงการสื่อมวลชน 

อรพิน ลิลิตวิศิษฏ์วงศ์ (ซ้าย) สื่อมวลชนอิสระ และเป็น บ.ก.ร่วมจัดทำหนังสือ

อรพิน ระบุต่อว่า เธอมีส่วนร่วมกับการออกแบบบทที่ 3 ว่าด้วยวิธีการทำยังไงเมื่อถูกฟ้องปิดปาก โดยเธออยากให้หนังสือสามารถนำไปใช้ได้จริง ตอบโจทย์ และทำให้ทุกคนเห็นว่า เมื่อถูกฟ้องปิดปาก จะมีกลไกหรือเครื่องมือใดบ้างที่จะช่วยป้องกัน โดยเฉพาะสื่อพลเมือง สื่อไม่มีสังกัด หรือสื่ออิสระ ซึ่งถือเป็นแนวหน้าของการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะให้กับสังคมในปัจจุบัน 

นอกจากนี้ อรพิน มองว่า การยกระดับการรายงานข่าว ตลอดจนการสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน จะเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันเมื่อเผชิญการถูกฟ้องปิดปาก 

สื่ออิสระ ระบุด้วยว่า เธอเขียนป้องกันการถูกฟ้องไม่ใช่ให้สื่อมวลชนเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะถ้าเซ็นเซอร์ตัวเองเมื่อไร ก็จะเข้าทางคนที่ฟ้อง เพราะว่าเขาต้องการทำให้กลัว แต่เธอกลับมองว่าวิธีของสื่อที่จะสู้ได้ดีที่สุด คือการออกมาสื่อสารกดดันผู้ถูกฟ้อง เป็นบทบาทเชิงรุก มากกว่าเชิงรับ 

“การเผชิญหน้าก้าวผ่านความกลัวและลุกขึ้นสู้กลับ หมายถึงว่าสู้กลับในเรื่องของการสื่อสาร เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นสื่อ ดังนั้น วิธีที่จะตอบโต้การฟ้องปิดปากได้ดีที่สุด คือการเปิดปาก และก็วอยซ์ออกไป” อรพิน กล่าว พร้อมระบุว่า หากมีโอกาสหน้า เธออยากทำประเด็นการสู้กับความรู้สึกกลัวระหว่างการถูกฟ้องที่ไม่ใช่ในเชิงรูปธรรม แต่ในด้านนามธรรม 

ด้านพนม ทะโน ผู้ดำเนินรายการ กล่าวเสริมว่า เขาเห็นสอดคล้องว่า สื่อบางครั้งเซ็นเซอร์ตัวเองตั้งแต่ก่อนรายงานข่าว ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าวัฒนธรรมการฟ้องปิดปากไม่ใช่แค่ผู้ถูกฟ้องเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่สื่อบางรายอาจเกิดความกลัว และเซ็นเซอร์ตัวเองจนไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ 

ธีระชัย ศาลกิจเจริญถาวร กรรมการชมรมสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เครื่องมือที่จะสร้างความกลัวในการนำเสนอข่าวสาร แต่เป็นเครื่องมือในการสร้างความกล้าในการสื่อสาร โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ประชาชนสามารถเป็นสื่อได้ด้วยตัวเอง และเขามองว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้คนที่ถูกฟ้องปิดปาก เห็นภาพมากขึ้นว่าหากถูกดำเนินคดีจะต้องทำยังไงต่อไป

ธีระชัย ศาลกิจเจริญถาวร (ซ้าย) กรรมการชมรมสิ่งแวดล้อม

ด้านเสาวนีย์ แก้วจุลกาญจน์ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ระบุว่า หนังสือเล่มนี้พยายามทำให้ภาษากฎหมายเข้าถึงและอ่านง่าย เธอมองด้วยว่าปัญหาที่คนในสังคมยังไม่ทราบว่า อะไรคือ SLAPP เนื่องจากมันเป็นพื้นที่ 'สีเทา' ระหว่างผู้ถูกฟ้องมีสิทธิในการป้องกันตัวเอง และสื่อมีสิทธิที่รายงานข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ ความยากไม่ได้เพียงแค่นั้น แต่กระบวนการยุติธรรมไทยยังต้องเผชิญความลำบากอีกด้วย เนื่องจากแม้ว่าศาลมีเครื่องมือที่จะทำให้คดีฟ้องปิดปากหลุดไปจากศาลได้เร็วที่สุด แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหา

เสาวนีย์ เสริมตัวอย่าง กรณีการฟ้องปิดปากด้วยข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หากดูตลอดกระบวนการพิจารณาของศาล จะสิ้นสุดที่ศาลใช้ข้อยกเว้นว่าเป็นการวิจารณ์โดยสุจริต แต่กว่าจะถึงกระบวนการนั้นใช้เวลานาน บางกรณีคือ 3-4 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่นาน และสร้างภาระให้ผู้ถูกฟ้องอย่างมาก

เสาวนีย์ ระบุต่อว่า บางกรณีมีการฟ้องปิดปาก โดยใช้ข้อหาความผิดฐานบุกรุก หรือลักทรัพย์ ซึ่งเป็นคดีความอาญา และกระบวนการศาลต้องพิสูจน์จนถึงที่สุด แต่ในกรณีต่างประเทศถ้าคดีมีความเทาๆ บางทีก็มีกำหนดกรอบระยะเวลาว่าให้ไต่สวนภายใน 60-90 วันไปเลย ซึ่งเป็นการลดภาระของผู้ถูกฟ้องไปในตัว

ขณะที่เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสื่อประชาไท กล่าวเสริมถึงเนื้อหาในหนังสืออย่างละเอียด และมองว่าประโยชน์ของหนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกคน รวมถึงฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ และวงการนิติศาสตร์ และนักกฎหมาย เพราะในหนังสือมีการวิจารณ์ปัญหาตัวบทกฎหมายของประเทศไทย และมีกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศมาให้อ่านควบคู่ด้วย ซึ่งอาจนำมาสู่แนวทางใหม่ๆ ในการป้องกันการฟ้องปิดปาก

ท้ายสุด เทวฤทธิ์ มีข้อเสนอเชิงวัฒนธรรมว่าเราต้องสร้างความตระหนักรู้ในสังคม ให้พวกเขาเห็นว่าการวิจารณ์ หรือเสรีภาพแสดงความเห็น มันไม่ใช่ภัยอันตราย แต่นำไปสู่ผลประโยชน์สาธารณะ และนี่คือส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย

“เราจะทำยังไงให้สังคมไทยยอมรับ และเห็นความสำคัญของเสรีภาพในการสื่อสาร เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่ามันไม่เป็นภัย และนำไปสู่ผลประโยชน์ต่อสาธารณะ มันทำให้คนในสังคมประชาธิปไตย มันสามารถรันไปได้ หนังสือเล่มนี้มันเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องทำประเด็นในเชิงสาธารณะ เจ้าหน้าที่รัฐในส่วนของกระบวนการยุติธรรม ทั้งในเรื่องของคนที่ทำสื่อ ทั้งในเรื่องของแคมเปญเนอร์ รณรงค์เพื่อให้เกิดการปฏิรูปกฎหมาย และที่สำคัญประชาชนทั่วไป ควรจะอ่าน” เทวฤทธิ์ ทิ้งท้าย


เทวฤทธิ์ มณีฉาย (กลาง) บ.ก.บห. จากสื่อประชาไท และพนม ทะโน ผู้ดำเนินรายการ (ขวา)

หมายเหตุ - มีการอัปเดตเนื้อหาข่าว และเพิ่ม QR CODE สำหรับดาวน์โหลดหนังสือ SLAPP : หนึ่งความฝัน กับการถูกฟ้องปิดปาก เมื่อ 24 ก.ย. 2565 เวลา 17.32 น. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท