Skip to main content
sharethis

เพราะ #เห็นต่างคุยกันได้ คุยกับ ‘คนเห็นต่าง’ แบบตัวต่อตัว ในงาน ไทยแลนด์ ทอล์ค ปี 2 'พริษฐ์-พงศกร-พรรณิการ์-สามารถ' เป็น ‘คู่ตัวอย่าง คนเห็นต่าง’ นำถกกับคำถามท้าทายทั้ง อนาคตประเทศ การเพิ่มภาษี การสร้างสวัสดิการ เสรีภาพกับกาลเทศะ

บรรยากาศคู่คนเห็นต่างซึ่งจับคู่สนทนากันในงาน

24 ก.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ก.ย.) เวลา 13.00-16.30 น. ที่ชั้น 9 อาคารสยามสเคป (บีทีเอสสยาม) กรุงเทพฯ มีกิจกรรม Thailand Talks 2022 เป็นกิจกรรมที่จับคู่ “คนเห็นต่าง” มานั่งคุยกันแบบตัวต่อตัว ผ่าน 7 คำถามท้าทาย ทั้งในเรื่องการเมือง การศึกษา ภาษี ความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสดงออก รัฐสวัสดิการ ไปจนถึงสิทธิการตาย โดยมุ่งหวังขยายพื้นที่การรับฟังกัน เพื่อเข้าใจกันและกันมากขึ้น 

กิจกรรมนี้จัดโดยมูลนิธิฟรีดริชเนามัน เพื่อเสรีภาพ ประเทศไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายสื่อมวลชน ภายในงานมี 2 วงคุย ‘คู่ตัวอย่าง คนเห็นต่าง’ ที่มีสปีกเกอร์คนสำคัญมาร่วมพูดคุย วงแรก คือการพูดคุยในคำถามที่ว่า อีก 5 ปีข้างหน้าประเทศจะดีกว่านี้ใช่หรือไม่? โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล และ พงศกร ขวัญเมือง อดีตโฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) สมัยพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.

พริษฐ์ วัชรสินธุ (ขวา) พงศกร ขวัญเมือง (ซ้าย)

เศรษฐกิจบอบช้ำ - ความเหลื่อมล้ำ - ประชาธิปไตย โจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้

พริษฐ์ ตอบคำถามข้างต้นว่า ตนเข้ามาทำงานการเมืองด้วยความเชื่อที่ว่าประเทศไทยจะดีขึ้นได้ โดยมองว่าไทยเผชิญกับ 3 โจทย์ใหญ่ต้องเร่งแก้ไข ได้แก่ โจทย์ด้านเศรษฐกิจ ที่บอบช้ำจากโควิด-19 เนื่องจากเป็นประเทศพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยว ต่อมาคือโจทย์ด้านความเหลื่อมล้ำ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นเป็นประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรม แต่ผลกระทบอีกด้านหนึ่งก็อาจจะมาทดแทนบางสาขาอาชีพได้ จึงเป็นประเด็นที่ต้องขบคิดว่านโยบายของรัฐจะโอบอุ้มคนเหล่านี้อย่างไร หรือประเด็นความเหลื่อมล้ำที่ผูกโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพราะเมื่อใดก็ตามที่เกิดภัยพิบัติ คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนรายได้น้อย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะทำอย่างไรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น สุดท้ายคือ โจทย์ด้านประชาธิปไตย พริษฐ์ให้ความคิดเห็นว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางสังคมการเมืองในปัจจุบันมีลักษณะคล้ายกับ 'การเล่นชักเย่อ' โดยเป็นการดึงกันไปมาระหว่างสังคมที่ตื่นตัวด้านประชาธิปไตย กับ ระบบชุดความคิดเก่าที่มีลักษณะถดถอย

ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล เสนอว่า 3 โจทย์ใหญ่นี้ ต้องแก้ด้วยการเขียนหนังสือ 3 เล่มใหม่ อย่างแรกคือรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อแก้กติกาทางการเมืองให้ผู้คนมี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่าเทียมกัน ต่อมาคือ เอกสารงบประมาณ เพื่อให้มีความเป็นธรรมและตรงจุด และสุดท้าย คือ นโยบายด้านการศึกษาที่ไม่ทำให้เด็กกลุ่มไหนตกหล่น

นโยบายที่ใช่ ปฏิบัติได้ ทุกฝ่ายร่วมใจกันทำต่อเนื่อง 

คำถามเดียวกันนี้ พงศกร ให้คำตอบสั้นๆ ไปในทิศทางเดียวกันว่าเมืองไทยดีขึ้นได้ โดยอนาคตของประเทศไทย ตนมองว่าขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ได้แก่ นโยบายที่ตอบโจทย์และต่อเนื่อง ทำงานอย่างร่วมมือกัน อาศัยการประสานสอดคล้องจากหลายภาคส่วน 

ส่วนคำถามที่สองที่ว่า คุณจะยอมจ่ายภาษีเพิ่ม เพื่อให้มีสวัสดิการที่ดีขึ้น ใช่หรือไม่ พริษฐ์ กล่าวว่า ยินดีให้เก็บภาษีเพิ่มเพื่อเป็นรายได้ให้กับประเทศ โดยต้องออกแบบวิธีการจัดเก็บภาษีให้ไม่เป็นการเพิ่มภาระให้คนหมู่มาก และจัดสรรให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งยกตัวอย่าง โมเดลการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการจัดงบประมาณได้เอง

ด้านพงศกร ไม่เห็นด้วยกับการจ่ายภาษีเพิ่ม เพราะมองว่างบประมาณมีเยอะแล้ว แต่ไม่ถูกจัดสรรอย่างเหมาะสม ฉะนั้นทางแก้ของเรื่องนี้จึงไม่ใช่การเพิ่มภาษี แต่เป็นการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่ให้เหมาะสม พร้อมยกตัวอย่าง ตำรวจหรือทหารชั้นผู้น้อยที่ไม่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ยังต้องจ่ายเงินเติมน้ำมันเอง

อดีตโฆษก กทม. กล่าวเสริมเรื่องภาษีอีกว่า การจะตัดสินใจจ่ายภาษีเพิ่มหรือไม่ ควรพิจารณา 2 เรื่องประกอบกัน อย่างแรกคือ จ่ายภาษีแล้วไปไหน ควรมีกลไกที่จะทำให้ประชาชนรู้ว่าภาษีไปไหน ต่อมาก็คือ พอเราจ่ายภาษีแล้ว เราจะได้รับประโยชน์จากภาษีนั้นหรือไม่ เราได้ใช้ประโยชน์ในสิ่งที่เราต้องการหรือไม่

กาลเทศะ ใครเป็นผู้กำหนด

‘คู่ตัวอย่าง คนเห็นต่าง’ วงที่สอง เป็นการคุยกันในคำถามที่ว่า เสรีภาพในการแสดงออก ควรมาพร้อมกับกาลเทศะ ใช่หรือไม่? โดย พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า และ สามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดย พรรณิการ์ ชวนคุยด้วยการตั้งคำถามกับกาลเทศะ พร้อมยกตัวอย่าง ‘กลุ่มฟีเมน’ (FEMEN) กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีที่ประท้วงรัฐบาลรัสเซียด้วยวิธีการเปลือยหน้าอก เนื่องจากต้องการต่อต้านและปลดแอกจากระบอบการปกครองที่มีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่มีลักษณะความเป็นชายสูงของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน คำถามคือ นักเคลื่อนไหวเหล่านี้คือคนที่ไม่รู้จักกาลเทศะหรือเปล่า 

พรรณิการ์ วานิช (ขวา) สามารถ เจนชัยจิตรวนิช (ซ้าย)

พรรณิการ์ เสริมด้วยประสบการณ์ตรงของตนที่เคยถูกต่อว่าว่าเป็นคนไม่รู้จักกาลเทศะ เนื่องจากใส่ชุดสูทขาว-ดำแบรนด์ดังเข้าประชุมสภา รวมทั้งประเด็นยอดฮิตอย่างทรงผมนักเรียน ที่ตนก็เพิ่งรู้ไม่นานมานี้เองว่า ไม่มีกฎกระทรวงฉบับใดระบุให้นักเรียนตัดผมสั้น ผู้หญิงเสมอหู ผู้ชายตัดเกรียน แต่เป็นกฎที่ครูใช้อำนาจสถาปนากฎขึ้นมาเอง

“กาล แปลว่า เวลา ส่วนเทศะ แปลว่า สถานที่ คำถามก็คือ ใครมีอำนาจกำหนดกาลเทศะและความเหมาะสม” แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าว

สังคมภายนอก จะเป็นคนกำหนดกาลเทศะ

สำหรับคำถามเดียวกันนี้ สามารถ มองว่า สังคมภายนอกจะเป็นคนกำหนดกาละเทศะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่เป็นประเทศที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรม ตนมองว่า ผู้คนมีสิทธิที่จะแสดงออก และต้องไม่ละเมิดคนอื่น ย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยในการใช้สิทธิเสรีภาพโดยไม่คำนึงถึงสถานที่

สามารถ เห็นต่างจากพรรณิการ์ ในประเด็นเรื่องทรงผมนักเรียน โดยมองว่าการที่แต่ละโรงเรียนมีกฎเรื่องทรงผมนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผู้มีอำนาจ  

“กฎหมายคือกติการ่วมกัน ถ้าจะอยู่โรงเรียนนี้ผมต้องสั้นนะ ถ้ารับไม่ได้ก็ไปเรียนโรงเรียนอื่น” 

“มันไม่เกี่ยวอะไรกับผู้มีอำนาจ แต่มันเป็นเรื่องของกฎกติการ่วมกัน” สามารถ กล่าว

อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า ทุกสังคมมีปัญหาและความขัดแย้ง แต่สำคัญที่ว่าจะจัดการอย่างไร ตนมอง ‘กาลเทศะ’ เป็นสิ่งที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ เน้นย้ำสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การรับฟังโดยไม่คิดไปเปลี่ยนแปลงความคิดอีกฝ่าย

เสียงจาก ‘สายป่านและแมนนี่’ หนึ่งในคู่เห็นต่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ในกิจกรรมนอกจาก 4 คน ที่เป็นคู่ตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีบุคคลทั่วไปที่เป็น คู่ “คนเห็นต่าง” ซึ่งจับคู่สนทนากันผ่านการตอบ 7 คำถามท้าทาย และมานั่งคุยกันแบบตัวต่อตัวในงานด้วย หนึ่งในคู่นั้นคือ สายป่านและแมนนี่ โดยที่ สายป่านเล่าว่า หลังจากที่ได้คุยกัน ก็พบว่ามีบางประเด็นที่ไม่ได้เห็นตรงกัน แต่ก็ไม่ถึงกับเห็นต่างกันไปเลย เพราะว่าเราพบจุดร่วมในบทสนทนา ทำให้การคุยนั้นลื่นไหล ไม่ได้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น รู้สึกโอเคมากหลังจากที่ได้คุยกัน 

บรรยากาศคู่คนเห็นต่างซึ่งจับคู่สนทนากันในงาน

ขณะที่ แมนนี่ตอบว่า เหตุผลที่อยากมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ เพราะปัจจุบันการเมืองไทยมันแตกแยกแบ่งฝั่งกันชัดเจนมาก โครงการนี้ที่ทำให้คนได้มาคุยกัน มาช่วยกันพัฒนาสังคมไทยไปในทางที่มันดี ทั้งยังเสริม ในฐานะที่ตนทำงานในพรรคการเมือง จึงเห็นปัญหาการแบ่งขั้วแบ่งข้างค่อนข้างชัด จึงอยากให้ ไทยแลนด์ ทอล์ค ต่อยอดไปจัดในระดับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์

ทั้งคู่ยังเล่าต่อถึงประเด็นที่ประทับใจที่สุด อย่างเรื่องสวัสดิการ ว่าเป็นเรื่องที่คุยกันนานที่สุด เพราะหัวข้อมันแตกย่อยต่อไปได้เยอะ และมีหลากหลายมุมมองที่พอคุยกันแล้วลื่นไหลมาก

“อย่างเราเป็นผู้ชาย เราก็จะนึกไม่ออกว่านโยบายผ้าอนามัยฟรีมันสำคัญยังไง พอมาฟังในมุมผู้หญิง มันก็ทำให้เราเห็นว่าผู้หญิงมีค่าใช้จ่ายในเรื่องผ้าอนามัย เราก็เริ่มเห็นว่านโยบายนี้มันอาจจะจำเป็นก็ได้” แมนนี่ยกตัวอย่างปิดท้าย

สำหรับ ‘ไทยแลนด์ ทอล์ค’ เป็นแพลตฟอร์ม พื้นที่ สำหรับให้คนที่คิดเห็นไม่เหมือนกัน มีมุมมองต่างกัน ได้มาพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดกันแบบตัวต่อตัว มุ่งหวังขยายพื้นที่การรับฟังกัน เพื่อเข้าใจกันและกันมากขึ้น โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 และได้ขยายพื้นที่การพูดคุยไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วไทย ได้แก่ พิษณุโลก เชียงราย อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี ระยอง อ่างทอง สงขลา 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net