Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในระบอบเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) ที่ยึด “เสียงข้างมาก” เป็นข้อยุติในเรื่องการบัญญัติกฎหมายและนโยบายสาธารณะต่างๆ ย่อมเป็นไปได้ว่าเสียงข้างมากอาจ “เพิ่ม” หรือ “ลดทอน” สิทธิและเสรีภาพก็ได้ 

ตัวอย่างกรณีการเพิ่มสิทธิและเสรีภาพ ก็เช่นในปี 1973 ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาตัดสินคดีประวัติศาสตร์ Roe v Wade ด้วยการลงมติ 7 ต่อ 2 เสียงตัดสินว่าการทำแท้งของผู้หญิงเป็น “สิทธิตามรัฐธรรมนูญ” คำตัดสินนี้ให้สิทธิทำแท้งเสรีในช่วงสามเดือนแรก (ระยะแรก) ของการตั้งครรภ์ และตัวอย่างของการลดทอนสิทธิและเสรีภาพก็คือ ในปี 2022 ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ลงมติ 6 ต่อ 3 เสียงให้ยกเลิกสิทธิทำแท้งตามรัฐธรรมนูญตามคำวินิจฉัยในคดี Roe v Wade ส่งผลให้การทำแท้งไม่ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไป 

นั่นคือปัญหาว่าเสียงข้างมากในระบอบเสรีประชาธิปไตย ก็อาจลดทอนสิทธิและเสรีภาพได้ แต่การปกครองของไทยที่ไม่ใช่ระบอบเสรีประชาธิปไตยก็ยิ่งมี “การล็อก” เสียงข้างมากให้ลดทอนสิทธิและเสรีภาพได้เสมอ เช่น เสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การชุมนุมที่เสนอให้ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” (ซึ่งเป็นข้อเสนอเพื่อเพิ่มสิทธิและเสรีภาพ) เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเสียงข้างมากของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ลงมติสืบทอดอำนาจเผด็จการ เป็นต้น

คำถามคือ ถ้าเป็นไปได้ที่เสียงข้างมากในระบอบเสรีประชาธิปไตยอาจลดทอนสิทธิและเสรีภาพได้ เราจะมีทางออกอย่างไร

ข้อเสนอให้ยึดถือ “core values” หรือ “คุณค่าแกนกลาง/คุณค่าหลัก” ของระบอบเสรีประชาธิปไตย คือความพยายามหนึ่งที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้สิทธิและเสรีภาพกับประชาธิปไตยไปด้วยกันได้อย่างมีความสัมพันธ์เชิงสนับสนุนกันและกันในทางปฏิบัติ

ตัวอย่างของความพยายามดังกล่าว เช่นในหนังสือ “เสรีนิยมทางการเมือง” (Political Liberalism) ของจอห์น รอลส์ นักปรัชญาชาวอเมริกันที่เสนอว่า ในระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ประชาชนมีความคิด ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรมและอื่นๆ แตกต่างกันและขัดแย้งกัน จำเป็นต้องมีคุณค่าแกนกลางที่พลเมืองทุกคนต้องยึดถือร่วมกัน ได้แก่ “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” (public principles of justice) สองประการ คือ 

1) หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม (the principle of equal liberty) ถือว่าทุกคนมีเสรีภาพปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองเท่าเทียมกัน 

2) หลักความแตกต่าง (the difference principle) ถือว่าในสังคมเสรีประชาธิปไตย ความแตกต่างทางเศรษฐกิจสามารถมีได้ภายใต้เงื่อนไขสองประการ คือ (ก) ต้องกระจายโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรมแก่พลเมืองทุกคนในการเข้าถึงตำแหน่งที่มีเกียรติในสังคม และอาชีพการงานที่ก้าวหน้า และ (ข) ต้องให้หลักประกันสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ แก่พลเมืองที่เสียเปรียบในสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในด้านต่างๆ 

การยึด “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” สองประการนี้เป็น “core values” ของระบอบเสรีประชาธิปไตยมีความจำเป็นอย่างไร

ประการแรก จำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดีส่วนตัวของเราแต่ละคน เพราะหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมประกัน “เสรีภาพปัจเจกบุคคล” (individual liberty) คือ เสรีภาพที่เราแต่ละคนจะเลือกใช้ชีวิตส่วนตัวในแบบที่ตนเองเห็นว่าดี เช่น เลือกนับถือศาสนา หรือแสดงอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม หรือเลือกไม่ถือศาสนา เลือกสมาทานปรัชญาชีวิตแบบใดๆ ก็ได้ หรือเลือกใช้ชีวิตตามอุปนิสัย รสนิยมใดๆ ของตนเองได้ ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น 

ประการที่สอง จำเป็นต่อวิถีชีวิตสาธารณะทางการเมือง เพราะหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมประกัน “เสรีภาพทางการเมือง” (political liberty) ที่ครอบคลุมถึงสิทธิเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมทางการเมือง เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การตีพิมพ์ การชุมนุม สิทธิในการเข้าถึงการบริการสาธารณะของรัฐ สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติจากรัฐบนหลักความเสมอภาคทางกฎหมายตามหลักนิรัฐ เป็นต้น และ 

ประการที่สาม จำเป็นต่อการกระจายความเป็นธรรมทางโอกาสและสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมืองทุกคน เพราะหลักความแตกต่างข้อ (ก) ประกันการเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรมแก่เราทุกคน และข้อ (ข) ประกันสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ แก่พลเมืองทุกคน

สรุปง่ายๆ คือ ถ้าบัญญัติหลักความยุติธรรมสาธารณะ คือหลักเสรีภาพที่เท่าเทียม, หลักการกระจายโอกาสที่เป็นธรรมและเท่าเทียม และหลักประกันสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญของระบอบเสรีประชาธิปไตยเพื่อให้สถาบันต่างๆ ทางสังคมและการเมือง เช่น รัฐบาล รัฐสภา ศาล กองทัพ สถาบันการศึกษา ระบบราชการทั้งหมด ระบบเศรษฐกิจ และพลเมืองเสรีและเสมอภาคทุกคนยึดถือร่วมกัน ย่อมทำให้สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยเข้มแข็งเอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและส่งเสริมสวัสดิการต่างๆ ของพลเมือง

แต่อย่างไรก็ตาม ระบอบเสรีประชาธิปไตยเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ต่อรองในเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่มีความคิด ความเชื่อต่างกัน และมีลักษณะของผลประโยชน์แตกต่างกัน ซึ่งผลประโยชน์อาจจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ โดยการต่อสู้ต่อรองดังกล่าวจำเป็นต้องหาข้อตกลงหรือ “ฉันทามติ” ร่วมกันให้ได้ ซึ่งโดยทั่วไปเรายึด “เสียงข้างมาก” เป็นข้อยุติในประเด็นสาธารณะต่างๆ แนวปฏิบัติที่รอลส์เสนอเพื่อที่จะปกป้องรักษา “คุณค่าแกนกลาง” ของระบอบเสรีประชาธิปไตยเอาไว้ให้ได้มีสองแนวทางหลักๆ คือ

แนวทางแรก เราต้องแยกระหว่าง “เหตุผลส่วนบุคคล” (personal reason) กับ “เหตุผลสาธารณะ” (public reason) 

เหตุผลส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่เราใช้เหตุผลเพื่อการมีชีวิตที่ดีส่วนตัวของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนย่อมจะมีเหตุผลแตกต่างกันว่า การมีชีวิตที่ดีส่วนตัวของตนเองควรเป็นเช่นไร เป้าหมาย คุณค่าของชีวิตคืออะไร ตนเองควรเลือกความเชื่อ, ศาสนา, ปรัชญาหรืออุดมคติแบบไหนดีที่จะสนับสนุนการมีชีวิตที่ดีของตนเองให้มากที่สุด ซึ่งหลักเสรีภาพที่เท่าเทียมย่อมประกันเสรีภาพปัจเจกบุคคลให้แต่ละคนได้เลือกชีวิตที่ดีแบบที่ตนเห็นสมควรอย่างไรก็ได้ ตราบที่ไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น

ส่วนเหตุผลสาธารณะ คือการใช้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องสาธารณะทางการเมืองที่นำไปสู่การบัญญัติกฎหมายและการกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ การใช้เหตุผลเช่นนี้จำเป็นต้องสอดคล้องกับหลักความยุติธรรมสาธารณะ ดังนั้น เหตุผลสาธารณะจึงเป็นเหตุผลที่ปกป้องรักษา เพิ่ม และหนุนเสริมการมีเสรีภาพที่เท่าเทียม การกระจายโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรมแก่พลเมืองทุกคน และการเพิ่มสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ แก่พลเมืองทุกคน

แนวทางที่สอง หากเราจะนำความเชื่อส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางศาสนา แนวคิดทางปรัชญา ความเชื่อแบบโลกวิสัย หรือความเชื่อ คุณค่าทางศีลธรรมแบบไม่ใช่ศาสนา เช่นความเชื่อ คุณค่าทางศีลธรรมแบบอเทวนิยม วัฒนธรรมพื้นเมือง วัฒนธรรมชนกลุ่มน้อย ชนเผ่าต่างๆ มาอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องสาธารณะทางการเมือง เราจำเป็นต้องตีความให้สอดคล้องกับเหตุผลสาธารณะและหลักความยุติธรรมสาธารณะ อันเป็น “core values” ของระบอบเสรีประชาธิปไตย เพื่อให้คนทุกศาสนา คนไม่มีศาสนา และอื่นๆ สามารถยอมรับร่วมกันได้ 

ไม่ใช่อ้างความเชื่อส่วนบุคคลแบบยกขึ้นเหนือคุณค่าแกนกลางหรือคุณค่าหลักของประชาธิปไตย เช่น อ้างว่าหลักธรรมาธิปไตยแบบพุทธต้องเป็นหลักที่คอยกำกับหลักสิทธิ เสรีภาพของระบอบเสรีประชาธิปไตย หรืออ้างหลักคำสอนในไบเบิล และอัลกุรอานคัดค้านการออกกฎหมายรับรองสิทธิทำแท้ง สมรสเท่าเทียม หรืออ้างว่าทุกศาสนาต่างสอนให้คนเป็นคนดี ดังนั้น รัฐจึงควรบังคับเรียนศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ เป็นต้น ซึ่งเป็นการอ้างแบบยัดเยียดความเชื่อส่วนบุคคลของกลุ่มศาสนาพวกตนให้กลายเป็น “core values” ที่คนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาต้องยึดถือร่วมกัน อันเป็นการอ้างความเชื่อส่วนบุคคลแบบเอาเปรียบ หรือไม่เป็นธรรมกับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เชื่อเช่นนั้น

จะเห็นว่าถ้าพลเมืองมีวัฒนธรรมการถกเถียงประเด็นสาธารณะโดยยึด “core values” ของระบอบเสรีประชาธิปไตยเป็นหลัก จะทำให้เสียงข้างมาก (ทั้งในและนอกสภา) ปกป้องสิทธิและเสรีภาพเป็นด้านหลัก แทนที่จะปกป้อง “อภิสิทธิ์” ของคนส่วนน้อยเช่นพวกศักดินา กลุ่มศาสนา ทหาร หรือกลุ่มทุนผูกขาด พูดอีกอย่าง เสียงข้างมากจะเพิ่มขยายหรือกระจายสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมแก่ประชาชนส่วนใหญ่มากขึ้น และยกระดับสิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ แก่คนข้างล่าง คนชายขอบกลุ่มต่างๆ ให้เท่าเทียมกับคนส่วนใหญ่มากขึ้น

แนวทางของรอลส์ตามที่กล่าวมา (โดยการตีความของผม) คือการทำงานปรัชญาเพื่อหาทางออกจากปัญหาการลดทอนสิทธิและเสรีภาพด้วยเสียงข้างมาก โดยเฉพาะเสียงข้างมากในนามศาสนาที่มักอ้างว่า ในเมื่อประเทศนี้คนส่วนใหญ่ถือศาสนา ก. ก็ต้องบัญญัติกฎหมายหรือกำหนดนโยบายสาธาณะต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักความเชื่อของศาสนา ก. อะไรทำนองนี้เป็นต้น 

แต่อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นแล้วว่า ไม่ใช่ความคิดแบบรอลส์มุ่งกีดกันความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อ, คุณค่าแบบอื่นๆ บรรดามีออกจากพื้นที่สาธารณะโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ปฏิเสธการนำความเชื่อทางศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือความเชื่อส่วนบุคคลแบบใดแบบหนึ่งมาลดทอนหรือทำลายคุณค่าแกนกลางของระบอบเสรีประชาธิปไตย เพราะการที่เราทุกคนร่วมมือกันรักษาคุณค่าแกนกลางของระบอบเสรีประชาธิปไตยเอาไว้ให้ได้เท่านั้น ความเชื่อทางศาสนาหรือความเชื่อส่วนบุคคลแบบใดๆ จึงยังคงดำรงอยู่ได้และแสดงออกได้อย่างเสรี หรืออย่างมีคุณค่าต่อวิถีชีวิตส่วนตัวของเราแต่ละคนหรือของกลุ่มทางศาสนาและวัฒนธรรมต่างๆ เพียงแค่เมื่อจะนำความเชื่อส่วนตัวเหล่านั้นมาอภิปรายสาธารณะ เราจำเป็นต้องตีความให้สอดคล้องหรือไปกันได้กับคุณค่าแกนกลางของระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้มีความ “สมเหตุสมผล” ที่คนศาสนาอื่นๆ หรือคนไม่มีศาสนาที่ไม่เชื่อแบบเราสามารถยอมรับร่วมกันได้เท่านั้นเอง

แนวทางแบบที่รอลส์เสนอ คือแนวทางปฏิบัติในระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ในเชิงโครงสร้างมีการแยกศาสนาจากรัฐอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นแนวทางที่นำมาปรับใช้กับสังคมที่มุ่งเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยได้เช่นกัน

 

ที่มาภาพ: https://ethics.org.au/big-thinker-john-rawls/
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net