กกต.ย้ำกฎเหล็ก 180 วัน ไม่มีอะไรต้องกังวล - กมธ.กิจการสภาฯ รับหนักใจ ต้องตีความ

เลขาฯ กกต. ย้ำกฎเหล็กข้อห้ามคุมหาเสียงเลือกตั้ง 180 วัน ยึดตามปี 2562 ชี้ทำความเข้าใจทุกพรรคการเมืองแล้ว ไม่มีอะไรต้องกังวล แจงบังคับใช้ให้แข่งขันอย่างเป็นธรรม ยอมรับมีระยะเวลามากขึ้น ขอทุกฝ่ายระมัดระวังทำตามหน้าที่ - ประธาน กมธ. กิจการสภาฯ รับมีประเด็นหนักใจ ต้องตีความ เตรียมเชิญ เลขาฯ กกต. แจงรายละเอียด-ขั้นตอน 28 ก.ย.นี้ ก่อนแจ้งเวียน กมธ. 35 คณะ ให้ปฏิบัติ

25 ก.ย. 2565 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวย้ำถึงประกาศใช้ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) (ฉบับที่ 3) ว่าไม่น่ามีข้อกังวลอะไร ทั้งทางฝั่ง กกต. และพรรคการเมือง ซึ่งประเด็นดังกล่าวสรุปใจความสำคัญได้ ดังนี้

1. กกต. ออกระเบียบฯ บนหลักการเพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรมและเรียบร้อย ไม่ได้คำนึงว่าพรรคไหนจะได้อะไร ทุกคนอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน 2. ระเบียบวิธีหาเสียงใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 แต่ต่างตรงที่เงื่อนเวลาจาก 60 วัน เป็น 180 วัน แก้ไขเพิ่มเติมเพียงกรณีปัจจุบันยังไม่มีเขตเลือกตั้ง เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และกรณีบังคับใช้กับผู้ที่ประสงค์สมัครรับเลือกตั้งด้วย 3. การหาเสียง ให้ศึกษาจากระเบียบ กกต. ฉบับที่ 1-4 หากดูทั้ง 4 ฉบับ ท่านจะไม่มีคำถาม

2. กกต. มีการประชุมชี้แจงตัวแทนพรรคและผู้อำนวยการในแต่ละจังหวัดแล้ว จึงต้องไปถามตัวแทนพรรคว่าทุกปัญหาที่คนสงสัยจะมีอยู่อีกหรือไม่ โดยจะไม่พูดซ้ำ เพราะได้ชี้แจงไปหมดแล้ว
นายแสวง ยังกล่าวว่า กิจกรรมของพรรคการเมืองทุกอย่างต้องเดินไปตามกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งเมื่อเข้าระยะเวลา 180 วันที่ยาวนานขึ้นนั้น พรรคการเมืองต้องระมัดระวังขึ้น เพราะโครงการของพรรคบางอย่างต้องไปดำเนินการกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยห้ามจัดเลี้ยง ให้ทรัพย์สิน สนับสนุนค่ายานพาหนะหรือที่พัก นอกเหนือจากนี้ อย่างอื่นพรรคก็ดำเนินการได้ตามปกติ

ส่วนการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีที่อาจเอื้อประโยชน์ต่อพรรคร่วมรัฐบาล นายแสวง กล่าวว่า กฎหมายมีพร้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องไปแก้ไขอะไร ซึ่งข้อเท็จจริงก็ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป แต่หลักการ คือ รัฐมนตรีและข้าราชการถ้ามีอำนาจหน้าที่ดูแลประชาชนก็ทำได้ โดยต้องระมัดระวังในการไปในตำแหน่งหน้าที่

สำหรับการลงพื้นที่ของ ส.ส. เช่น กรณีเกิดภัยพิบัติ จะต้องระมัดระวังและทำได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ส.ส. มีอำนาจอะไรที่จะไปดูแลประชาชนแบบนั้น ตนจะไม่บอกว่าใครทำอะไรได้ แต่ขอให้ทำในสิ่งที่ตัวเองมีอำนาจหน้าที่ กฎหมายก็จะคุ้มครอง

เลขาธิการ กกต. ยังกล่าวถึงเจตนารมณ์ของระเบียบฯ ว่า เป็นเรื่องของสภาฯ ที่ออกกฎหมายมาแล้ว กกต. ออกกฎเกณฑ์ตาม ซึ่งตัวหลักการของกฎหมายต้องการให้มีการแข่งขันระหว่างผู้สมัครและพรรคการเมืองอย่างเที่ยงธรรม อยู่ในกรอบเวลาและกติกาเดียวกัน ส่วนการใช้ป้ายในการหาเสียง สามารถใช้ตามปี 2562 ทุกพรรคการเมืองเข้าใจ ไม่เคยมีปัญหา

นายแสวง กล่าวถึงประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า เมื่อเข้าสู่โหมดหาเสียง ประชาชนก็ต้องติดตามศึกษาแต่ละพรรค ว่าจะเลือกผู้แทนคนใดไปทำงานให้ชาติบ้านเมืองต่อไป

ประธาน กมธ. กิจการสภาฯ รับมีประเด็นหนักใจ ต้องตีความ เตรียมเชิญ เลขาฯ กกต. แจงรายละเอียด

ด้านนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า วันที่ 28 ก.ย. 2565 เวลา 09.00 น. กมธ.ได้นัดประชุมและเชิญนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าหารือเพื่อพิจารณาถึงแนวทางการหาเสียงเลือกตั้งของ ส.ส. ในช่วงระยะเวลา 180 วัน ก่อนครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 โดยเฉพาะภารกิจในบทบาทหน้าที่ของ ส.ส. ในการพบปะประชาชน เข้าร่วมประเพณีต่างๆ ซึ่งหลังจากหารือกับเลขาธิการ กกต.แล้วจะนำรายละเอียดที่ได้แจ้งเวียนไปยังกมธ.สามัญทุกคณะ เพื่อแจ้งให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ป้องกันการถูกร้องว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

“นอกจากรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายเลือกตั้งที่แก้ไขบางส่วน หลักการที่ทำไม่ได้ คือ สัญญาว่าจะให้ หรือทำให้ แต่การทำหน้าที่ ส.ส. ในบทบาทของกมธ.นั้น จำเป็นต้องสอบถามเพื่อให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ครบถ้วนทุกประเด็น เช่น ฤดูกาลประเพณี ทอดกฐินหากจะทำบุญตามประเพณีทำได้หรือไม่ หากทำได้ในวงเงินเท่าไร อย่างไรก็ดียอมรับว่าระเบียบ กกต. ที่ออกมามีความหนักใจ เพราะกติกาที่ออกมาทำให้ต้องตีความ” นายอนันต์ กล่าว

'ประวิตร' กำชับลูกพรรค พปชร. เคร่งครัดกฎ 180 วัน

25 ก.ย. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ออกประกาศหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมือง ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายในกรอบเวลา 180 วัน ซึ่งจะเริ่มนับในวันที่ 24 ก.ย. 2565 ว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ได้กังวลอะไร แต่ก็ไม่ประมาท โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้กำชับให้สมาชิกพรรค โดยเฉพาะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคระมัดระวังเรื่องกฎ 180 วันของ กกต.อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนนั้นรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐได้ทำมานานแล้ว จากนี้จึงอาจจะต้องระมัดระวังหรือเข้มงวดในสิ่งที่ทำไม่ได้ เช่น การแจกของเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนก็เท่านั้นเอง ทั้งนี้ ฝ่ายกฎหมายพรรคจะชี้แจงประกาศ กกต. ให้กับ ส.ส.ทุกคนทราบในการประชุมพรรคพลังประชารัฐในวันที่ 28 กันยายน เวลา 15.00 น.ด้วย

“พรรคไม่รู้สึกกังวลอะไร แต่อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นเท่านั้นเอง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลลงพื้นที่ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ได้พึ่งจะมานึกได้ว่าห่างหายจากการช่วยประชาชนไปนานเพราะมัวแต่เล่นเกมการเมืองในสภาฯ แล้วก็มาเร่งรีบลงพื้นที่ช่วยประชาชนเอาตอนนี้ ซึ่งถ้าใครมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันนั้น ก็เท่ากับการยอมรับว่า ที่ผ่านมาตัวเองทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่างๆ น้อยกว่าคนอื่นใช่หรือไม่ แต่ถ้าได้ทำมาตลอด ก็เพียงแค่ศึกษาข้อกำหนดที่วันนี้ กกต.กำหนดออกมาอย่างชัดเจนแล้วให้เข้าใจ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แล้วผลงานที่ทำมานั้นจะทำให้ชนะใจประชาชนเอง”นายธนกร กล่าว

'ก้าวไกล' มองกฎเหล็ก กกต.ยังไม่นิ่ง จับตา รมต. หวั่นใช้เกณฑ์ 180 วันหาประโยชน์

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2565 นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คลอดกฎเหล็ก 180 วันก่อนเลือกตั้ง ว่า ทางพรรคได้แจ้งเตือนสมาชิกตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว โดยขอให้ดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และระเบียบว่าด้วยการหาเสียงของ กกต. ปี 2561 เป็นหลัก โดยพรรคก้าวไกลกำลังยกร่างแนวทางปฏิบัติ และกำลังมีการสัมมนาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส., ส.ก. และสมาชิกพรรคทั้ง 77 จังหวัดอยู่ จะได้ชี้แจงแนวปฏิบัติว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้

ในเชิงรายละเอียดทาง กกต. ก็ยังไม่นิ่งเท่าไร ซึ่งเราได้รับเรื่องร้องเรียนจากหลายพื้นที่ว่า กกต.บางจังหวัด โทรศัพท์มาหาว่าที่ผู้สมัครให้เอาป้ายลง ทำให้เริ่มสับสนว่าแนวทางใดทำได้และทำไม่ได้ และเจ้าหน้าที่ กกต. เข้าใจตรงกันหรือไม่ ทั้งนี้ได้บอกกับ ส.ส., ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และสมาชิกพรรค ให้เก็บข้อมูลในส่วนของพรรคการเมืองอื่น ทั้งที่เป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี มีการทำอะไรที่เป็นการสุ่มเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่การจับผิด แต่หากมีการมาจับผิดเราจะได้นำมาเทียบเคียงกันว่าทำไมเราโดน ส่วนในภาพใหญ่การใช้เงิน การขึ้นป้ายเกินกว่า กกต. กำหนดนั้น ไม่ห่วง เพราะพรรคก้าวไกลใช้ทรัพยากรต่ำกว่าเกณฑ์ที่ กกต. กำหนดอยู่แล้ว

ส่วนถามว่าการกำหนดกรอบครั้งนี้มีระยะเวลายาวนานกว่าที่ผ่านมาหรือไม่ นายณัฐวุฒิ ตอบว่า ที่ผ่านมาก็เคยมีการกำหนดไว้ แต่รอบนี้ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ซึ่งทุกพรรคทราบอยู่แล้ว พรรคก้าวไกลเคารพในกติกา แต่ระยะยาวก็ต้องมาดูว่าการกำหนดลักษณะนี้ตอบโจทย์ในเรื่องการใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์หรือไม่ หรือทำให้การช่วยเหลือประชาชนในช่วงภาวะน้ำท่วมหรือประชาชนได้รับความเดือดร้อนในเรื่องอื่นๆ ทำได้ไม่เต็มที่ แทนที่จะเป็นเรื่องบวก แต่ทำให้ประชาชนไม่ได้ประโยชน์หรือไม่ ต้องทบทวนทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส่วนในระดับ ส.ส.ด้วยกัน เราก็ตระหนักว่ารัฐมนตรีมีหน้าที่ปกติที่ต้องทำ แต่อยากให้ กกต. พิจารณาว่าอะไรที่รัฐมนตรีทำแล้วสุ่มเสี่ยง และไม่ให้อาศัยช่องว่างตรงนี้มาหาประโยชน์ในทางการเมืองด้วย

'อนุทิน' ยืนยันไร้อุปสรรคกฎเหล็ก 180 วัน มั่นใจปักธง 8 เขตขอนแก่น

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้สมัครส.ส.และพรรคการเมืองปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายในกรอบเวลา 180 วัน ซึ่งจะเริ่มนับในวันนี้ (24 ก.ย.) นี้ว่าไม่เป็นอุปสรรคในการหาเสียง เพราะเราลงพื้นที่มาตลอดอยู่แล้วตั้งแต่ปี2562 เราก็ศึกษาอะไรทำได้หรือไม่ ข้อกำหนดของกกต.ในช่วงใกล้เลือกตั้งส่วนใหญ่จะต้องระวังเรื่องการสัญญาว่าจะให้ การนำของไปแจก หรือทำผิดระเบียบต่างๆ ทางพรรคภูมิใจไทยก็แจ้งผ่านไลน์กลุ่มพรรคตลอดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เชื่อว่าผู้สมัครส.ส.ทุกคนมีความมั่นใจ อย่างเช่นที่เราเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็เพื่อให้เกิดความสบายใจทุกฝ่าย และเกิดความเรียบร้อย เราก็จัดก่อนวันนี้ (24ก.ย.) ที่จะเข้าสู่ห้วงเวลา 180 วัน 

สำหรับกรณีป้ายหาเสียงที่ตามข้อกำหนด กกต. จะมีการคิดคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ก็ต้องมีการแก้ไขให้ถูกต้อง แต่การติดตั้งป้ายหาเสียงของพรรคได้เกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีข้อกำหนดในช่วง 180 วัน และเกิดมานานแล้ว 

เมื่อถามว่ามีการมองกันว่า พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ อาจจะมีข้อได้เปรียบเนื่องจากสวมหมวก 2 ใบที่เป็นพรรคการเมือง และเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล นายอนุทิน กล่าวว่า เราได้เปรียบเพราะเราทำงานก่อนคนอื่น ทำงานหนักกว่าคนอื่น ก็ต้องได้เปรียบว่า ไม่ใช่ได้เปรียบเพราะไปเอาเปรียบคนอื่น เราทำอะไรด้วยความขยันขันแข็ง พรรคภูมิใจไทยขยันลงพื้นที่ไม่เคยขาด รัฐมนตรีของพรรคก็ทำงานหนักตลอด

“ได้เปรียบในที่นี้คือเป็นเปรียบที่ควรจะ ไม่ใช่อยู่ๆไปกีดกันคนอื่น อย่างนี้ไม่ได้ เราเอางานหนักเข้าทำมันก็ต้องได้เปรียบ” นายอนุทิน กล่าว 

นายอนุทิน ยังกล่าวถึงการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น จำนวน 8 เขต จาก 11 เขตในการประชุมพรรคภูมิใจไทยสัญจร ครั้งที่ 2/2565 ที่จังหวัดขอนแก่น จะมีการตั้งเป้ากวาดทั้ง 8 เขตเลยหรือไม่ว่าเราเปิดตัวผู้สมัครก็ต้องมั่นใจว่าสู้ได้ ส่วนอีก 3 เขตที่เหลือ จะทยอยเปิดตัว ทางนายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.ขอนแก่น เขต 4 ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงาน กำลังดำเนินการอยู่

เมื่อถามว่าจังหวัดขอนแก่นที่ถือเป็นฐานเสียงหลักสำคัญของพรรคเพื่อไทยนั้น มันไม่มีใครเป็นจังหวัดหลักของใครมันอยู่ที่ใครทำงานให้ประชาชนแค่ไหน จังหวัดบุรีรัมย์ก็ไม่ใช่จังหวัดหลักของเราลอง ส.ส.บุรีรัมย์ ขี้เกียจเมื่อไหร่ก็เรียบร้อย มันอยู่ที่ความทุ่มเทของ ส.ส. ถ้าอยากเข้าไปในสภาฯ ก็ต้องทำตัวให้ประชาชนไว้วางใจให้มากที่สุด และตนไม่ต้องมาประเมินความยากง่ายในการเจาะฐานเสียง เพราะเราประเมินบุคลากรของเราที่จะมาทำงานในจังหวัดขอนแก่นจากความทุ่มเท เข้าใจพื้นที่ตัวเอง ความอยากรับใช้ประชาชน เราก็สนับสนุนให้ได้รับชัยชนะ

พรรคเพื่อไทยเข้าใจว่า กกต. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง แต่ถ้าบทบัญญัติเรื่องนับค่าใช้จ่ายและข้อห้ามต่าง ๆ ช่วง 180 วัน มีปัญหา ก็ควรแก้ไขให้ดีขึ้น

25 ก.ย. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งว่านายนพดล ปัทมะ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยกล่าวถึงการออกระเบียบของ กกต. ที่กำหนดว่านับแต่ 24 ก.ย. 2565 ไปถึงการเลือกตั้ง ผู้สมัครและพรรคต้องรวมนับค่าใช้จ่ายต่างๆเป็นค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง และมีข้อห้ามอื่นๆเรื่องแจกของและวิธีการหาเสียง ซึ่งเข้าใจได้ว่า กกต.ต้องทำตามที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. กำหนด บทบัญญัติเรื่องระยะเวลา 180 วันก่อนครบอายุสภาผู้แทนฯ แต่ก่อนไม่เคยมี และที่แปลกคือถ้าในการเลือกตั้งภายหลังการยุบสภา จะต้องใช้บทบัญญัติอื่นที่ระยะเวลาในการคำนวณค่าใช้จ่ายและห้ามกระทำบางเรื่องจะสั้นกว่ามาก ตนฟังว่านักการเมืองและพรรคการเมืองแม้อยากทำให้ถูกต้องแต่ก็กังวลว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ซึ่ง กกต.ก็ได้ชี้แจง แต่ยังมีข้อกังวลต่ออีกว่าถ้านักการเมืองทั่วไปทำไม่ได้ แต่คนมีตำแหน่งทางฝ่ายบริหารเช่น รัฐมนตรีทำได้หรือไม่ อาจรู้สึกว่าลักลั่นกัน มีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมเป็นธรรมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งหรือไม่ นอกจากนั้นมีคำถามว่าข้อห้ามทำกิจกรรมที่ค่อนข้างนานกระทบต่อการดูแลช่วยเหลือประชาชนถ้ามีกรณีภัยพิบัติต่างๆ หรือไม่

นายนพดลกล่าวต่อว่า ตนคิดว่าโจทย์สำคัญของการเลือกตั้งคือสุจริต เสรีและเป็นธรรม ดังนั้นกฎหมายเลือกตั้งต้องตอบโจทย์นี้ให้ได้ ถ้าบทบัญญัติเรื่องค่าใช้จ่ายและการห้ามทำกิจกรรมในบางเรื่องในช่วงเวลา 180 วันก่อนสภาผู้แทนฯครบวาระ ไม่ตอบโจทย์และไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งสุจริต เสรีและเป็นธรรมมากขึ้น เราก็ต้องช่วยกันพิจารณาหาทางแก้ไข และพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ดียิ่งขี้น "กฎหมายที่ดีต้องชัดเจน ปฏิบัติตามได้ สอดคล้องกับสามัญสำนึกและหลักนิติธรรม"

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย [1] [2] | ไทยโพสต์ | ไทยรัฐออนไลน์ | เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท