Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปรากฎการณ์ตาสว่างถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คำๆ นี้เป็นศัพท์การเมืองที่แหลมคมในยุคคนเสื้อแดงภายใต้บริบทที่การเมืองที่ฝ่ายเจ้า “ครองพระราชอำนาจนำ” มาหลายทศวรรษ ลักษณะที่สำคัญของอาการ “ตาสว่าง” คือ ก่อนหน้านี้เคยรัก เคยหลง เคยซาบซึ้ง แต่ตอนนี้ฉันเลิกแล้ว กลายเป็น “คนเคยรัก”

กระบวนการตาสว่างไม่จำเป็นต้องม้วนเดียวจบ มันอาจเริ่มจาก “รักพ่อไม่ขอเอาป๋า” “ปากแดง” จนเป็น “เหี้ยสั่งฆ่าห่าสั่งยิง” แทนที่จะมองว่าเป็นข้อด้อย จุดอ่อน ลักษณะแบบนี้คือเสน่ห์และพลังของอาการตาสว่าง มันตอกย้ำให้เราเห็นว่าชนชั้นนำมีโอกาสหลายครั้งในการกอบกู้ความชอบธรรม แต่กลับผลักไส เหยียบย่ำคนกลุ่มหนึ่งจนเขา “ไม่มีที่ยืน” ตาสว่างจึงเป็นอาการที่ปะทุออกมาด้วยอารมณ์รุนแรงที่มาจากความผิดหวัง เศร้าเคล้าโกรธ ปลดรูป ปลดธง เผาเสื้อ โยนปฏิทินทิ้งขยะ อาการ “ตาสว่าง” ใน “กลอนสมัคร” น่าจะสะท้อนออกมาได้ดี:

“เห็นกงจักรเป็นดอกบัวชั่ว ชีวิต เคยหลงผิดถึงขั้นตายแทนได้ หลงตามลมชวนเชื่อทุกเมื่อไป บัดนี้ไทยตาสว่างเห็นทางธรรม”

แม้คำว่า “ตาสว่าง” จะถูกเอ่ยถึงในหมู่คนเล่นอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี 2550 แต่มันก็ค่อยๆ ซึมแทรกเข้ามาเป็นศัพท์การเมืองบนท้องถนน โดยเฉพาะเมื่อต้นปี 2552 หลังเหตุการณ์ “ตาสว่างแห่งชาติ (ตุลาคม 2551)” มันอยู่ในคำปราศรัยที่ จักรภพ เพ็ญแข กล่าวบนเวทีว่าตอนนี้มวลชนเสื้อแดงกำลังแพร่ “โรคตาสว่าง” มันอยู่ในบทกลอนของ ไม้หนึ่ง ก กุนที ที่ร่ายกลอนตบหน้าบรรดาศิลปินผู้ภักดี:

 “บูชาคนตาสว่าง แจ้งกระจ่าง เลิกลุ่มหลง รู้สิทธิ์คนมั่นคง ไม่ใช่ผงใต้ฝ่าตีน” 

หลังการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 ในขณะที่บรรดาแกนนำเสื้อแดงถูกจองจำ คำว่า“ตาสว่าง”กลายเป็นคำศัพท์ที่แพร่หลายในวงกว้างสำหรับเสื้อแดงที่ “แพ้ชนะไม่รู้แต่กูจะสู้ทุกวัน” แดงกลุ่มย่อยที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ได้ช่วยทำให้คำๆ นี้เป็นที่นิยมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจัดอีเว้นท์ “17 ตุลาแรลลี่ ตาสว่างกว่าเดิม” นิตยสาร Red Power ขึ้นหน้าปก “ประชาตาสว่าง 9 อันตราย” ฉลองปีใหม่ 2554 เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “ตาสว่าง” ค่อยๆ กลายมาเป็นศัพท์การเมืองที่ใช้กันในหมู่คนเสื้อแดงโดยที่ไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า คนที่ “ตาสว่าง” นั้นต้องมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร 


Red Power Vol. 1, no. 8, 2011

ในช่วงปี 2554 แกนนำเสื้อแดงได้รับเอาศัพท์ของมวลชนไปปราศรัยบนเวทีหลายครั้ง ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ พูดไว้อาลัยในงานศพคนเสื้อแดงว่า “ความรักทำให้เราตาบอด แต่ความตายทำให้เราตาสว่าง” อภิวันท์ วิริยะชัย ประกาศบนเวทีที่จังหวัดอุดรว่า เสื้อแดงตาสว่างหมดแล้ว ปรบมือดังๆ ให้สวรรค์ชั้นฟ้าได้ยิน สุดท้ายแล้ว ณัฐวุฒิเสนอให้แนวทางการต่อสู้ของคนเสื้อแดงคือ “ตาสว่าง ปากกระซิบ” ซึ่งหากมองว่าในช่วงปี 2553-2554 คดีหมิ่นพุ่งทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ นี่ก็อาจเป็นแนวทางสมเหตุสมผลในช่วงปลายรัชสมัย อย่างไรก็ตาม การประกาศของณัฐวุฒินำไปสู่การแตกหักกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งในตอนนั้นได้โต้แย้งว่า แทนที่จะกระซิบกันในหมู่คนคุ้นเคย เราควร “พยายามสร้างวัฒนธรรมอุดมการณ์ใหม่ เข้าแทนที่แบบเก่า เข้าแทนที่ วัฒนธรรมอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ครอบงำอยู่ ซึ่งเป็น "ฐาน" ให้กับระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในขณะนี้” (ดูโพส https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/162834237103197:0)

โดยสรุป การเมืองเรื่องตาสว่างถือเป็นพลังต่อต้านที่แหลมคมของคนเสื้อแดงในยุครัชกาลที่ 9 ตัดภาพมาถึงยุคสมัยปัจจุบัน เยาวรุ่นผู้กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้ ไม่ได้ “ตาสว่าง” ในความหมายเดียวกับคนเสื้อแดง พวกเขาเกิดและโตในบริบทที่ต่างออกไป ในเมื่อพวกเขาอยู่ภายใต้รูปแบบพระราชอำนาจที่ต่างออกไป การแสดงออกและการต่อสู้ของพวกเขาย่อมต่างออกไปด้วย หลายๆ คนไม่ “ซาบซึ้ง” หรือ“เคยรัก” มาตั้งแต่ต้น จุดเด่นของการต่อสู้ระลอกล่าสุดจึงเป็นการ “ผลักเพดาน” หรือ ทะลุนั่นทะลุนี่ นั่นเอง

ดังนั้น ด้านหนึ่งเราอาจมองได้ว่า เยาวรุ่นในปัจจุบันสานต่อการเมืองอุดมการณ์ การเมืองของคนเสื้อแดง (เช่นเดียวกับของคณะราษฎร์) อีกด้านหนึ่ง ก็อาจมองได้ว่าพวกเขาได้แปรเปลี่ยนภาษาต่อต้านของคนเสื้อแดงให้เป็นข้อเรียกร้องที่ชัดเจนและตรงไปตรงมามากขึ้น 

สุดท้ายแล้ว จะ “ตาสว่าง” หรือ “ทะลุฯ” ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นหมุดหมายที่สำคัญของการเมืองไทย เพราะแม้จะต่างกันในเรื่องความเป็นมาและการแสดงออก แต่ทั้งสองปรากฏการณ์ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความกล้าของคนธรรมดาที่ไม่มีต้นทุน ลุกขึ้นมาท้าทายกับอำนาจและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net