Skip to main content
sharethis

กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ยื่นหนังสือถึง ‘ประวิตร’ เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพิจารณาให้องค์กร แอมเนสตี้ อยู่ไทยต่อหรือไม่ หลัง 'แอมเนสตี้' นักวิชาการ และนักกิจกรรม ยื่นหนังสือต่อทางการไทย ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา

 

26 ก.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (26 ก.ย.) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อเวลา 10.05 น. กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งเป็นกลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ นำโดยอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธาน และ นพคุณ ทองถิ่น รองประธาน เดินทางยื่นหนังสือเรื่อง ‘แอมเนสตี้ แทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย’ ต่อ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการนายกรัฐมนตรี โดยมี สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ 

กลุ่ม ศปปส. ยื่นหนังสือถึง สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ

นพคุณ ทองถิ่น รองประธานกลุ่ม ศปปส. เป็นตัวแทนอ่านหนังสือยื่นถึงรองนายกฯ มีใจความว่า การยื่นหนังสือวันนี้เป็นผลสืบเนื่องจากเมื่อ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย นักกิจกรรมการเมือง และนักวิชาการ ยื่นหนังสือและ 6 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยที่บริเวณหน้าทำเนียบ เพื่อให้ยุติการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยุติข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เกิดจากการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง ทางกลุ่ม ศปปส. จึงมีข้อสงสัยฝากไปยังรัฐบาลว่า ทำไมถึงให้องค์กรแอมเนสตี้ เข้ามาแทรกแซงกิจการการเมืองในประเทศไทยโดยไม่มีการท้วงติงใดๆ จากทางการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนังสือระบุต่อว่า จากที่ ศปปส. เคยยื่นหนังสือถึงศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์รัฐบาลไทยเรื่อง แอมเนสตี้ เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย เมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เห็นการจัดการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาลไทย อีกทั้งช่วงที่ผ่านมา แอมเนสตี้ฯ มีการจัดระดมมวลชน และจัดการชุมนุมทางการเมือง สร้างความวุ่นวายในกรุงเทพฯ ดังนั้น ทาง ศปปส. จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้มีการพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพิจารณาความเหมาะสมว่าจะให้องค์กรแอมเนสตี้ฯ อยู่ต่อในประเทศไทย หรือไม่  

นพคุณ ทองถิ่น รองประธาน ศปปส.

ทั้งนี้ อานนท์ ให้สัมภาษณ์หลังยื่นหนังสือระบุว่า เรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะยกเลิกหรือไม่ยกเลิก ไม่ได้เกี่ยวกับ ศปปส. เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล และมองว่าคนที่เดือดร้อนมีแต่คนที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ถ้าประชาชนอยู่ภายใต้กฎหมาย และระเบียบของสังคม จะไม่มีใครโดนคดีจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ ประธาน ศปปส.เรียกร้องไปยังแอมเนสตี้ ด้วยว่า หากเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องมนุษยธรรมจริง ควรดูแลอย่างเท่าเทียมกันทุกคน เพราะตอนการชุมนุมพันธมิตร หรือ กปปส. โดนยิง ไม่มีองค์กรไหนมาดูแล หรือตรวจสอบให้เลย นอกจากพวกเขาทำกันเอง

รายละเอียดในหนังสือ

สืบเนื่องจากเมื่อ 23 กันยายน 2565 แอมเนสตี้ พร้อมด้วยตัวแทนนักวิชาการ นักกิจกรรมทางการเมือง เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ให้ยุติการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยุติข้อกล่าวหาการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เกิดขึ้นจากการแสดงออก และในวันเดียวกันนี้ ทางรัฐบาลได้มีการเตรียมการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยที่จะมีผลวันที่ 30 กันยายนนี้ และจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบต่อไปนั้น ทางศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน มีคำถามหรือข้อเรียกร้องเสนอต่อรัฐบาล รัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าเหตุใดถึงให้แอมเนสตี้ เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ โดยไม่มีการท้วงติงใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือรัฐบาล 

ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน เคยยื่นหนังสือร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เมื่อ 17 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมานี้ ถึงเรื่ององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรแอมเนสตี้ เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย ซึ่งก็ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมใดๆ อีกทั้ง แอมเนสตี้ยังปลุกระดมมวลชนเพื่อจัดชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นที่แคลงใจของพวกเราว่า องค์กรแอมเนสตี้นี้ได้อภิสิทธิ์ใดๆ บนผืนแผ่นดินไทย หรือได้ผลประโยชน์ใดจากผืนแผ่นดินไทยนี้ จึงได้จัดระดมมวลชนออกมาเคลื่อนไหวแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอยู่ร่ำไป ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลงไปแล้วก็ตาม แต่การชุมนุมหรือม็อบที่สร้างความวุ่นวายให้กับประเทศชาติบ้านเมืองยังมีการจัดอยู่ และยังคงจัดอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาล หรือรัฐมนตรี รวมถึงฝ่ายความมั่นคงของประเทศตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว 

ทางศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.ก.การชุมนุมต่อไป เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ และพิจารณาบทบาทขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร หรือแอมเนสตี้ ว่าสมควรจะมีองค์กรเช่นนี้ในประเทศไทยต่อไปหรือไม่ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net