Skip to main content
sharethis

ศาลทหารสืบพยานโจทก์ 4 ปาก กรณีพลทหารวิเชียร เผือกสมถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตในค่ายทหาร ศาลนัดสืบพยานโจทก์ต่อ 23-25 พ.ย. 65 'มูลนิธิผสานวัฒนธรรม' ชวนจับตา 

 

26 ก.ย. 2565 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 – 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี นัดสืบพยานโจทก์ ในคดีดำที่ 41 ก./ 2563 หรือในคดีที่ พลทหารวิเชียร เผือกสม มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/2554 สังกัด ร.151 พัน.3 ถูกเจ้าหน้าที่ทหารรวม 9 คน ร่วมกันซ้อมทรมานจนเสียชีวิตเมื่อ 11 ปีก่อน จากเดิมที่นัดสืบพยาน 6 ปากซึ่งล้วนเป็นประจักษ์พยานในวันเกิดเหตุ อัยการแจ้งว่าในครั้งนี้พยานโจทก์มาเพียง 4 ปาก ได้แก่ พลทหารร่วมรุ่นกับพลทหารวิเชียร ผลัดที่ 1/2554 จำนวน 3 ปาก และพลทหารรุ่นพี่อีก 1 ปาก เนื่องจากพยานอีก 2 ปากติดภารกิจและได้ทำคำร้องต่อศาลขอให้เลื่อนนัดออกไปก่อน ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปเป็นวันที่ 23 – 25 พ.ย. 65 โดยจะสืบพยานโจทก์นัดละ 2 ปาก รวม 6 ปาก เวลา 8.30 น. ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 46

ในการพิจารณาครั้งนี้ จำเลยที่ 1-3 และ 5-9 มาศาล จำเลยที่ 6 เสียชีวิต จำเลยที่ 4 ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกรุงเทพด้วยข้อหาอื่น โดยเรือนจำได้ประสานให้เข้ารับฟังการพิจารณาผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จำเลยที่ 3 ซึ่งได้ให้การรับสารภาพไปก่อนหน้านั้น มาศาลเพียงช่วงเช้าของวันที่ 21 ก.ย. หลังจากนั้นได้แจ้งต่อศาลว่าไม่ติดใจขอรับฟังการพิจารณาในครั้งนี้ ศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลย จึงไม่ได้อยู่ฟังการพิจารณาต่อ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และนักวิจัยเรื่อง “วิสามัญมรณะ” โดย สมชาย ศิลปะรีชากุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับอนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์การพิจารณาคดีในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด โดยศาลได้ให้เหตุผลว่าถึงสถานณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดจึงอนุญาตเข้าฟังได้เพียง 3 คนเท่านั้น

อนึ่ง ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้วเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ยังคงไม่มีความคืบหน้าเรื่องการประกาศใช้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้ พรบ. ดังกล่าวประกาศใช้เป็นกฎหมาย เพื่อทำให้วัฒนธรรมการซ้อมทรมานหมดไปและป้องกันมิให้เกิดการกระทำละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างทารุณเช่นในคดีนี้ได้ อีกทั้งตาม มาตรา 27 ของพ.ร.บ. ดังกล่าวได้กำหนดให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และให้รวมถึงคดีซึ่งผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำความผิดด้วย กล่าวคือ แม้เจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดจะเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหาร คดีเช่นนี้ต้องอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประเพฤติมิชอบมิใช่ศาลทหาร  

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนร่วมกันติตตามนัดสืบพยานโจทก์ครั้งถัดไปในวันที่ 23 – 25 พ.ย. อย่างใกล้ชิด เพื่อจับตาดูว่าศาลทหารจะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวเผือกสม และนำตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงมาลงโทษตามกฎหมายตามสมควรต่อไปได้หรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net