ไอโอของจีนเปลี่ยนไปอย่างไร หลัง ปธ.สภาสหรัฐฯ เยือนไต้หวัน

บทวิเคราะห์ใน The Diplomat ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของจีนที่มุ่งเป้าต่อไต้หวัน ภายหลังการเยือนของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งพบว่าจีนใช้ท่าทีที่ดูคุกคามมากขึ้น รวมถึงใช้วิธีการที่ทำให้ผู้ดูแลโซเชียลมีเดีย ตรวจจับและสั่งลบบัญชีปลอมที่เป็นบ็อตของจีนได้ยากขึ้นด้วย

แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา เข้าพบ ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เมื่อ 3 ส.ค. 65 ที่มา: แฟ้มภาพ/Office of the President (Taiwan)

 

เคนดริค ชาน รองประธานของโครงการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเชิงดิจิทัลของหน่วยงาน LSE IDEAS และ มาริอาห์ ทอร์นตัน นักวิจัยที่เน้นประเด็นนโยบายต่างประเทศของจีนและยุทธศาสตร์ของจีนต่อไต้หวัน เขียนบทความเผยแพร่ใน The Diplomat เมื่อ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของการโฆษณาชวนเชื่อจากทางการจีน หลังจากที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันในแบบที่ถูกมองว่าเป็นการเยือนครั้งประวัติศาสตร์

ในขณะที่การเดือนทางเยือนไต้หวันของเพโลซีจะทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างก้าวร้าวจากจีนแผ่นดินใหญ่ในแบบที่เห็นได้อย่างโจ่งแจ้ง เช่น การซ้อมรบ, การยิงขีปนาวุธในเชิงคุกคามคาบสมุทรไต้หวัน, การใช้วาจาเผ็ดร้อนจากเจ้าหน้าที่ทางการจีนในการวิจารณ์โต้ตอบกรณีนี้ และทำให้เกิดความกังวลว่าจีนจะรุกรานไต้หวันในเร็วๆ นี้หรือไม่ แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกเรื่องหนึ่งที่ก่อตัวอย่างเงียบๆ คือวิธีการใช้ข้อมูลลวงและโฆษณาชวนเชื่อตอบโต้ไต้หวัน

ไต้หวันตกเป็นเป้าหมายการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาเป็นเวลานานแล้ว ในแง่ของการใช้โวหารเชิงสนับสนุนการรวมชาติและการถล่มพื้นที่สื่อในไต้หวันด้วยข่าวบิดเบือนจำนวนมาก การกระทำเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการโฆษณาชวนเชื่อให้ชาวไต้หวันหันมาสนับสนุนการรวมชาติกับจีน และเป็นกุญแจสำคัญของการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า "ยูไนเต็ดฟรอนต์" ซึ่งเป็นการที่จีนพยายามสร้างอิทธิพลต่อกลุ่มภาคประชาสังคมในต่างประเทศให้หันมาช่วยเหลือจีนในการดำเนินเป้าหมายด้านการต่างประเทศของพวกเขา

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงราวเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้อาศัยยูไนเต็ตฟรอนต์ในการเพิ่มปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อมากขึ้น จากการที่ไต้หวันและจีนมีวัฒธรรมที่คล้ายคลึงกัน มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีการใช้ภาษาจีนเช่นเดียวกัน และมีการแลกเปลี่ยนกันในระดับประชาชน ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการจีนอาศัยไต้หวันเป็นแหล่งทดลองการโฆษณาชวนเชื่อสร้างอิทธิพลโดยใช้อาศัยภาษาจีนเป็นหลัก ซึ่งมีการทำเช่นนี้มาเป็นเวลานานแล้ว ทางการจีนพยายามสร้างโฆษณาชวนเชื่อเพื่อทำให้ชาวไต้หวันมีความเชื่อถือต่อรัฐบาลน้อยลงและหันมาส่งเสริมผู้แทนฯ ที่สนับสนุนจีน

โฆษณาชวนเชื่อของจีนถึงขั้นเคยส่งผลให้มีทูตไต้หวัน Su Chii-cherng ฆ่าตัวตายในปี 2561 หลังจากที่เขาต้องเผชิญกับการถูกโจมตีจากสาธารณชนเพราะมีข่าวหลอกจากรัฐบาลจีนมาปั่นหัวผู้คนให้หลงเชื่อ โดยที่การสืบสวนของสื่ออิสระไต้หวันนิวบลูมระบุว่าข่าวหลอกนี้มาจากการแชร์หมุนเวียนต่อๆ กันโดยผู้ใช้งานที่น่าจะเป็นบ็อตของจีน นอกจากนี้ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเกาสง Han Kuo-yu ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้โฆษณาชวนเชื่ออย่างได้ผล

ในช่วงที่มีการระบาดหนักของ COVID-19 พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เคยใช้วิธีการใส่ร้ายป้ายสีเพื่อทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนไต้หวันที่มีต่อรัฐบาลผ่านการใช้ข่าวลือต่างๆ เช่นอ้างว่ารัฐบาลจงใจปล่อยให้มีการระบาดเกิดขึ้นและซ่อนตัวเลขผู้ติด COVID-19 ที่แท้จริง การใช้ข่าวลือเหล่านี้ยังมักจะตามมาด้วยการใช้โวหารในเขิงสนับสนุนการรวมชาติกับจีนไม่ว่าจะเป็นการเรียกประชาชนชาวไต้หวันว่าเป็น "เพื่อนร่วมชาติ" กับจีน และเรียกร้องให้ "ทั้งสองฝั่งช่องแคบไต้หวันควรจะร่วมมือร่วมใจกัน" และอ้างว่าประชาชนของไต้หวันกับจีนเป็นส่วนหนึ่งของ "ครอบครัวเดียวกัน"

การโฆษณาชวนเชื่อที่เปลี่ยนไป

มาจนถึงช่วงเดือนสิงหาคมมีหลักฐานที่ปรากฏให้เห็นว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มใช้ปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อสร้างอิทธิพลในรูปแบบใหม่ที่นักวิจัยมองว่ามีข้อแตกต่าง 3 ประการคือ 1.) มีการส่งสารต่างออกไปจากรูปแบบเดิมมาก 2.) มีการฟื้นตัวเองได้ดีขึ้น เทียบกับความล้มเหลวก่อนหน้านี้ และ 3.) คือการใช้พื้นที่ใหม่ๆ อย่างเว็บแหล่งรวมข่าว หรือพื้นที่เว็บบอร์ดที่ใช้หารือกันอย่าง Reddit

ถึงแม้ว่านี่จะยังเป็นแค่การค้นพบเบื้องต้น แต่ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าการโฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลลวงที่มาจากรัฐบาลจีนได้ผลแค่ไหน และเป็นเรื่องที่ชวนให้ใส่ใจว่ารัฐบาลจีนจะเคลื่อนไหวอย่างไรบ้างในช่วงอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากนี้

สำหรับข้อแรกที่บอกว่าจีนส่งสารด้วยน้ำเสียงต่างออกไปจากรูปแบบเดิมมาก เกิดขึ้นหลังจากการที่เพโลซีเดินทางเยือนไต้หวัน มีบทความภาษาจีนที่ชื่อว่า "เรียกร้องให้ไช่อิงเหวิน กองทัพของเธอและผู้นำทางการเมืองยอมแพ้" เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ผู้ที่เขียนบทความนี้คืออดีตรองผู้อำนวยการของสื่อรัฐบาลจีนพีแอลเอเดลี Chen Xianyi ในบทความดูเหมือนจะต้องการสื่อกับไช่อิงเหวิน ผู้นำไต้หวันและผู้นำรัฐบาลกับผู้นำกองทัพไต้หวัน โดยเน้นเรื่องที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ "ระยะใหม่"

บทความของ Chen Xianyi เริ่มต้นด้วยการบรรยายถึงเหตุการณ์สมมุติที่ว่าถ้าหากเกิดสงครามระหว่างจีนกับไต้หวันจะเป็นอย่างไร โดยมีการนำเสนอภาพสงครามที่ดูน่าหวาดผวา และมีการประกาศว่าเส้นแบ่งพรมแดนทางทะเลระหว่างไต้หวันกับจีนจะไม่เหลืออีกต่อไป อีกทั้งยังขู่ว่าจะสั่งให้มีการปิดกั้นไต้หวันโดยที่ฝ่ายจีนจะเป็นกำหนดเองว่าจะให้มีการสิ้นสุดการปิดกั้นเมื่อไหร่ นักวิจัยมองว่าเมื่อพิจารณาจากบทความนี้แล้วน่าสังเกตว่ามีการเปลี่ยนแปลงน้ำเสียงท่าทีอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่จีนเคยมีบทความว่า "ประชาชนจีนจะไม่สู้รบกับประชาชนจีนด้วยกัน" ซึ่งฟังดูรักสันติมากกว่า

ชาน และทอร์นตัน มองว่าการที่รัฐบาลจีนเปลี่ยนน้ำเสียงท่าทีเช่นนี้เป็นไปพร้อมกับพัฒนาการที่น่าตระหนกมากขึ้นจากรัฐบาลจีน

มีการวิเคราะห์อีกว่าก่อนหน้านี้เวลาที่รัฐบาลจีนนำเสนอภาพวิดีโอเกี่ยวกับกองทัพประชาชนจีนหรือ PLA นั้นมักจะเป็นไปเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อในแบบที่คาดหวังว่าจะมีการแชร์ต่อ, เผยแพร่ส่งเสริม และส่งทอดต่อกันในโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์โดยมีฐานคือกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนที่มักจะถูกเรียกว่า "วูล์ฟวอริเออร์ส" (แปลตรงตัวว่า "นักรบหมาป่า" เป็นฉายาที่มาจากชื่อภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อจีนที่พยายามทำออกมาในรูปแบบภาพยนตร์ฮอลลิวูด) มีงานวิจัยที่วิเคราะห์ว่าเป้าหมายของการโฆษณาชวนเชื่อแบบเดิมนี้ก็เพื่อให้เป็นการส่งอิทธิพลต่อความคิดเห็นของประชาชน

แต่พอหลังการเดินทางเยือนของเพโลซีทางการจีนก็มียุทธศาสตร์เปลี่ยนไป นอกจากเรื่องน้ำเสียงแล้ว ประการที่สองก็คือการฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้นเทียบกับความล้มเหลวเดิม ความล้มเหลวที่ว่านี้มาจากเหตุการณ์เมื่อปี 2563 ที่โซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ทำการลบบัญชีผู้ใช้งาน 23,000 รายเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลใส่ร้ายป้ายสี และต่อมาก็มีการแบนบัญชีผู้ใช้งานอีกกลุ่มหนึ่งอีก 150,000 ราย ซึ่งเป็นบัญชีผู้ใข้งานที่ช่วยผลักดันสร้างกระแสให้กับกลุ่มโฆษณาชวนเชื่อ แต่วิธีการใหม่ของรัฐบาลจีนก็ใช้สร้างบัญชีสำหรับโฆษณาชวนเชื่อและการใส่ร้ายป้ายสีในแบบที่ยากต่อการตรวจจับและถูกลบ และมีความยืดหยุ่นที่ทำให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้น

วิธีการใหม่ที่พวกเขาใช้มีอยู่สองขั้น  ขั้นแรกคือการอัพโหลดเนื้อหาวิดีโอลงบนพื้นที่ๆ บริษัทกูเกิลเป็นเจ้าของอย่าง Youtube ด้วยบัญชีผู้ใช้งานปลอม โดยอาศัยชื่อง่ายๆ หรือไม่ก็ชื่อที่เป็นตัวอักษรเรียงกันไม่มีความหมาย เช่น Araceli Kihn หรือ bshdh snbdg วันที่สร้างบัญชีผู้ใช้งานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเวลาที่ไล่เลี่ยกันและเกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังจากที่เพโลซีเดินทางเยือนไต้หวันแล้ว

ขั้นตอนที่สองที่พวกเขาทำคือการแพร่กระจายลิงค์ของวิดีโอเหล่านี้ผ่านทางช่องทางที่กูเกิลไม่ได้เป็นเจ้าของ เช่น เว็บบอร์ด Reddit ซึ่งเป็นกระดานข่าวที่มีการรวบรวมข่าวสารและมีการชุมชนเพื่อหารือกันในหัวข้อหรือธีมต่างๆ แยกย่อยออกไปเรียกว่า subreddit โดยที่บัญชีผู้ใช้งานปลอมที่สร้างโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นได้อาศัยช่องทางนี้ในการโพสต์เนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อจากยูทูบ ในหมู่บัญชีผู้ใช้งานปลอมเหล่านี้มีทั้งที่ตั้งขึ้นช่วงที่เพโลซีกำลังเยือนไต้หวันและมีบัญชีที่ตั้งขึ้นหลังจากเพโลซีเยือนไต้หวัน เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

จากประการที่ 3 เรื่องการใช้พื้นที่ใหม่ๆ ในการโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มโฆษณาชวนเชื่อในการฟื้นกลับคืนมาได้เร็วขึ้นหลังจากการถูกสกัดกั้นหรือถูกแบนได้ด้วย นักวิจัยระบุว่าการที่พวกเขาใช้พื้นที่ทางอินเทอร์เน็ตจากบริษัทที่ต่างกันแล้วลิงค์เนื้อหาไปหากัน ทำให้การโฆษณาชวนเชื่อคงอยู่ได้นานขึ้นและฟื้นตัวได้ง่ายขึ้นถ้าถูกแบน ต่างจากที่ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยอาศัยทวิตเตอร์เป็นพื้นที่แห่งเดียวทั้งการนำเสนอเนื้อหาและแพร่กระจายเนื้อหา ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกลบทีเดียวจำนวนมากแบบที่เกิดขึ้นในปี 2563

สาเหตุที่การใช้พื้นที่เดียวแบบทวิตเตอร์ในการโฆษณาชวนเชื่อทำให้ถูกลบได้ง่ายกว่านั้น เพราะว่าผู้ดูแลเนื้อหาของเว็บไซต์สามารถหาการเชื่อมโยงขบวนการโฆษณาชวนเชื่อหรือใส่ร้ายป้ายสีได้ด้วยการติดตามการใช้งานของบัญชีผู้ใช้งานปลอมว่าทำอะไรไว้บ้าง ทิ้งร่องรอยอะไรไว้บ้าง (เช่นว่า คอยรีทวีตใคร หรือคอยติดตามใคร) ทำให้การอาศัยพื้นที่นำเสนอและเผยแพร่เนื้อหาของบริษัทที่ต่างกันอย่าง Youtube กับ Reddit ทำให้การเชื่อมโยงและถูกลบทีละจำนวนมากทำได้ยากขึ้น และถ้าหากมีการถูกลบในที่หนึ่งก็จะเป็นแค่ทำให้ห่วงโซ่การโฆษณาชวนเชื่อหยุดชะงักชั่วคราว

อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ขบวนการโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบใหม่มีความแตกต่างไปจากแบบดั้งเดิมคือการที่แบบดั้งเดิมมีการปฏิสัมพันธ์กันมากระหว่างบัญชีผู้ใช้ต่างๆ แต่บัญชีผู้ใช้งานในกลุ่มโฆษณาชวนเชื่อกลุ่มใหม่ใน Youtube ไม่มีการปฏิสัมพันธ์กัน นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่าเพราะพวกเขาต้องการทำตัวให้น่าสงสัยน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และทำให้พวกเขาเล็ดลอดการเป็นที่สังเกตไปได้ รวมถึงเป็นการไม่ทิ้งร่องรอยเอาไว้ ทำให้ตรวจจับประวัติพฤติกรรมการใช้งานได้ยากขึ้น บัญชีผู้ใช้งานเหล่านี้จะเป็นที่พบเห็นได้เมื่อถูกอ้างอิงในพื้นที่กระจายข่าวสารอย่าง Reddit เท่านั้น ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การโฆษณาชวนเชื่อของจีนที่ในอนาคตอาจจะถูกนำมาใช้กับเรื่องอื่นๆ นอกจากประเด็นไต้หวันด้วย

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าบ็อตโฆษณาชวนเชื่อของจีนดูจะระมัดระวังมากขึ้นไม่ให้ถูกตรวจจับหรือถูกลบ แต่ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่ามันทำให้การโฆษณาชวนเชื่อของพวกเขามีความคงเส้นคงวา หรือใช้การได้มากน้อยเพียงใด คำถามแรกคือการโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้มีเป้าหมายคืออะไรกันแน่ ถ้าหากเป้าหมายของพวกเขาคือการสร้างความหวาดกลัวแก่ชาวไต้หวันว่าจะเกิดการรุกรานจากจีน ทำไมวิดีโอของ Chen ถึงใช้สำเนียงหมินหนานหรือจีนฮกเกี้ยน แทนที่จะใช้ภาษาจีนแมนดารินที่เป็นภาษาหลักมากกว่า

คำถามที่สองคือ ถึงแม้จะดูเหมือนว่าเป้าหมายการโฆษณาชวนเชื่อแบบใหม่จากจีนนี้ มีเป้าหมายผู้รับสารคือประชาชนชาวไต้หวัน แต่การใช้พื้นที่อย่าง Reddit ซึ่งมีชาวตะวันตกและกลุ่มคนที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลักเป็นผู้ใช้งานจำนวนมาก การใช้ภาษาจีนหรือภาษาฮกเกี้ยนดูจะส่งผลได้น้อย และ Reddit ก็ไม่ใช่พื้นที่หลักๆ ที่ชาวไต้หวันใช้พูดคุยหารือกัน

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกว่าบัญชีบ็อตของจีนทำการโพสต์วิดีโอลงในพื้นที่ๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาเลยแม้แต่น้อย เช่นโพสต์โฆษณาชวนเชื่อของจีนลงในพื้นที่ subreddit ที่เกี่ยวข้องกับการรับเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ดังนั้นจึงแล้วมันจึงถูกลบโดยระบบอัตโนมัติที่คอยลบเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับชุมชนย่อยของเว็บบอร์ดนั้นๆ เมื่อบัญชีบ็อตถูกลบเนื้อหาพวกเขาก็พากันโพสต์ลงในหน้าโปรไฟล์ Reddit ของตัวเอง ซึ่งเป็นหน้าที่ไม่ค่อยมีใครเข้าไปดู และมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะทำให้เกิดกระแสจากโพสต์เหล่านี้

ชาน และ ทอร์นตัน มองว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นสองทาง หนึ่งคือเป็นเพราะจีนมีขบวนการโฆษณาชวนเชื่อทางออนไลน์แบบไม่คงเส้นคงวา หรือความเป็นได้ที่สองคือ พวกเขาอาจจะแค่พยายามใช้ Youtube กับ Reddit เป็นพื้นที่ทดลองการโฆษณาชวนเชื่อของตัวเองเพื่อปรับปรุงให้มันดีขึ้นในอนาคต ทำให้ชาน และ ทอร์นตัน บอกว่า เรื่องนี้น่าจับตามองเพราะการตั้งข้อสังเกตต่อพัฒนาการของการโฆษณาชวนเชื่อและข่าวลวงจากรัฐบาลจีนต่อไต้หวัน จะทำให้เรามองเห็นและเข้าใจการกระทำคล้ายๆ กันที่อาจจะเกิดขึ้นที่ประเทศอื่นหรือในภูมิภาคอื่นๆ ได้

เรียบเรียงจาก

China’s Changing Disinformation and Propaganda Targeting Taiwan, The Diplomat, 19-09-2022

CONCERNS REGARDING FAKE NEWS ON THE RISE AFTER DIPLOMAT SUICIDE, New Bloom, 09-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท