กกต.วางแนวทางหาเสียงเลือกตั้ง 66 ช่วง 180 วันก่อนสภาหมดวาระ

กกต.ออกวิธีหาเสียง ร่วมงานประเพณีได้แต่ต้องไม่ให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ห้ามให้ของช่วยเหลือผู้ประสบภัย ข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองหาเสียงได้แต่ต้องนอกเวลาราชการและไม่ใช้ตำแหน่งช่วยหาเสียง

27 ก.ย.2565 The Reporter รายงานว่าวันนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งออกแนวปฏิบัติในการหาเสียงเลือกตั้งทั้งวิธีการและข้อห้ามในการหาเสียงในช่วง 180 วันก่อนสภาผู้แทนราษฎรจะหมดวาระในวันที่ 23 มี.ค.2566

เลขา กกต.แจงไทม์ไลน์เลือกตั้งเป็นแผนเตรียมพร้อม แต่เขตเลือกตั้งยังต้อรอศาล รธน.วินิจฉัยพ.ร.ป.เลือกตั้ง

แสวง บุญมุญมี เลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่าระเบียบของ กกต.นี้ออกมาเพื่อให้พรรคการเมืองปฏิบัติด้วยความเท่าเทียมกันหาเสียงด้วยมาตรฐานเดียวกัน โดยเกณฑ์จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนแรก ของพรรคการเมืองผู้สมัคร

1. ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถไปร่วมงานประเพณี เช่น งานแต่ง งานบวช งานศพได้ และสามารถมอบพวงหรีดได้ แต่ตั้องไม่ให้เงินหรือทรัพย์สินต่างๆ ยกเว้นเจ้าภาพจัดเตรียมสิ่งของไว้ให้มอบโดยไม่ใช้เงินของผู้สมัครหรือระบุชื่อเป็นประธานในงานโดยผู้สมัครไม่ได้มีการมอบเงินตนเองโดยเจ้าภาพต้องไม่กล่าวชื่อ หมายเลขผู้สมัคร

2. กรณีผู้สมัครงานต้องจัดงานในช่วงดังกล่าว จัดได้เท่าที่จำเป็นแต่ต้องหลีกเลี่ยงงานขนาดใหญ่ที่เข้าข่ายเป็นมหรสพ เพราะอาจเป็นเหตุให้มีการร้องคัดค้านว่าผิดกฎหมายเลือกตั้ง

3. หัวหน้าพรรคการเมืองะ ผู้บริหารพรรค สามารถลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งได้ แต่ห้ามจัดหาหรือนำคนไปช่วยหาเสียงแบบมีค่าตอบแทน

4. ผู้สมัครและพรรคการเมืองสามารถหาเสียงในสถานที่ต่างๆ แต่ต้องได้ขออนุญาตเจ้าของสถานที่ก่อน

5. ผู้สมัครและพรรคการเมืองไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่างๆ เช่น เหตุอัคคีภัยหรือโรคระบาด

6. การปิดแผ่นป้ายเลือกตั้ง โดยวิธีการ ขนาด จำนวนและสถานที่ เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้งครั้งล่าสุด ส่วนแผ่นป้ายที่ติดไว้ก่อนแล้วต้องแก้ไขตาม

7. การหาเสียงให้ปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561

ส่วนที่สอง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่

1. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ เช่น ออกรายการวิทยุโทรทัศน์ แต่ห้ามใช้ตำแหน่งกระทำการหาเสียงเลือกตั้งให้ตนเองและผู้อื่น

2. สามารถไปร่วมงานประเพณีต่างๆ แต่ห้ามให้เงินหรือทรัพย์สิน กรณีเจ้าภาพจัดของไว้ให้มอบในงานโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้มอบเงินสาามารถทำได้ แต่เจ้าภาพจะประกาศชื่อหาเสียงให้ไม่ได้

3. สามารถหาเสียงให้ตนเองและผู้สมัครคนอื่นได้นอกเวลาราชการ แต่ต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยไม่ชอบ

4. ส.ส.และกรรมาธิการทำหน้าที่ตนเองได้ตามปกติ

ส่วนที่สาม หน่วยงานรัฐ ได้แก่

1. ดำเนินหน้าที่ได้ตามปกติ เช่น ประชุมสัมมนา ประกวดแข่งขัน งานเทศกาลประเพณี ให้พนักงานในสังกัดสนับสนุนการเลือกตั้ง ส.ส.

2. ข้าราชการและลูกจ้างทุกระดับ วางตัวเป็นกลางทางการเมือง

3. ในช่วงตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. จนถึงวันเลือกตั้ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพนักงานให้ทำเท่าที่จำเป็น

4. ข้าราชการส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น สนับสนุนสถานที่ปิดป้ายประกาศหาเสียง

5. ทำเอกสารของรัฐมนตรี ปฏิทินที่มีรูปรัฐมนตรีต้องทำในนามหน่วยงาน ระวังไม่ให้เข้าข่ายหาเสียงเลือกตั้ง

6. การทำป้ายต้อนรับ ข้าราชการที่มาปฏิบัติหน้าที่ ต้องระวังไม่ให้เข้าข่ายผิดกฎของการเลือกตั้ง ส่วนรัฐมนตรีไม่สามารทำป้ายขอบคุณได้ เพราะอาจขัด มติ ครม.ที่วางตัวเป็นกลางทางการเมือง

แนวการจัดทำป้ายประกาศหาเสียงต้องมีลักษณะดังนี้

1. เป็นแนวตั้ง 30×42 ซม.หรือขนาด A3

2. มีขนาดไม่เกิน 130×275 ซม.

3. ระบุชื่อนามสกุลของผู้ว่าจ้าง จำนวนที่ผลิต และผู้ผลิตอย่างชัดเจน

4. การติดแผ่นป้ายที่พรรคการเมือง ติดได้ 1 แผ่น ขนาด 400×750 ซม.

5. พรรคการเมืองต้องเก็บรักษาเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้ยื่นในบัญชีรายรับและรายจ่าย ส่วนสติ๊กเกอร์สามารถทำได้ แต่ให้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท