ข่าวลือรัฐประหารในจีน: ความขัดแย้งของการเมืองแบบ Factions 

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ข่าวลือการรัฐประหารในประเทศจีนไม่ใช่เพียงแค่ข่าวลือหรือข่าวปล่อยธรรมดา หากแต่เป็นข่าวที่เกิดขึ้นจากความตึงเครียดทางการเมืองของการเมืองแบบกลุ่มการเมือง (Factions) ของสังคมการเมืองจีน ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมา หากมีข่าวลือที่เกิดจากความตึงเครียดระหว่างกลุ่มการเมืองก็มักจะมีความเปลี่ยนแปลงจริงเกิดขึ้นเสมอ

การต่อรอง/ต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มการเมืองในสังคมจีนมีพลวัตตลอดมา ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การขึ้นมามีอำนาจของ  กลุ่มเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ถูกเรียกกันว่า “กลุ่มการเมืองเซี่ยงไฮ้” ( Shanghai Gang) ซึ่งในช่วงนั้นได้รับการสนับสนุนกลุ่มการเมืองสำคัญกลุ่มหนึ่งได้แก่กลุ่มสันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์จีน ( the Chinese Communist Youth League (CCYL)) เมื่อได้เอาชนะกลุ่มของ จ้าว จื่อหยาง และ หู ย่าวปัง ในกรณีเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ใน ปี 1989. เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ประสานรอยแยกการแย่งชิงอำนาจใน “กลุ่มการเมืองเซี่ยงไฮ้” ด้วยการตั้งเจียง เจ๋อหมิน ขึ้นมามีอำนาจ เพราะ เจียง เจ๋อหมิน ซึ่งเป็นคนเซียงไฮ้ และเป็นคนที่มีลักษณะประนีประนอมสูง ให้ขึ้นมาประคับประคองกลุ่มของตน ซึ่งทำให้การประสานความขัดแย้งให้ดำรงอยู่ในสภาวะที่ทุกคนในกลุ่มและกลุ่มอื่นๆ รับกันได้

การถ่ายโอนอำนาจในกลุ่มเซียงไฮ้ในระยะต่อมาเป็นความพยายามที่จะเชื่อมสันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์จีนให้แน่นแฟ้นมากขึ้น เติ้ง เสี่ยวผิง จึงเลือกคนหนุ่ม หู จิ่นเทา ซึ่งเคยเป็นเลขาธิการของสันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลานั้นขึ้นมามีอำนาจ หู จิ่นเทา ได้ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก และมีแนวทางการสร้าง “ประชาธิปไตย” ให้ก้าวหน้าขึ้นพร้อมๆ กับการทำให้รัฐขยายตัวทางการบริการและควบคุมไปอย่างกว้างขวาง

การครองอำนาจของกลุ่มการเมืองเซี่ยงไฮ้และกลุ่มสันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์จีน ดำเนินต่อมาเนื่องมา หู จิ่นเทาและกลุ่ม ได้ตัดสินใจเลือก สี จิ้นผิง ขึ้นมาครองอำนาจเพื่อสืบทอดอำนาจของกลุ่ม แต่อย่างไรก็ตาม การครองอำนาจต่อเนื่องมาได้เริ่มทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองขึ้นในสองระดับ ได้แก่ในระหว่างกลุ่มการเมืองอื่น และภายในกลุ่มการเมืองเซี่ยงไฮ้เอง ซึ่งความไม่พอใจสูงมากขึ้น เมื่อมีการเลือกตั้งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ “โปลิตบูโร” โดยเฉพาะคณะกรรมการชุดที่ 19 

กลุ่มการเมืองอื่นๆ ไม่พอใจเพราะกลุ่มการเมืองเซี่ยงไฮ้ที่ครองอำนาจมานาน ได้จำกัดคนที่จะขึ้นมาสู่ตำแหน่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ “โปลิตบูโร” โดยเฉพาะคณะกรรมการชุดที่ 19 ในปี 2017 มีที่มาหลักมาจากกลุ่มเซี่ยงไฮ้ ขณะเดียวกัน การประชุมคณะกรรมการกลางชุดดังกล่าว ( ชุดที่ 19 ) ครั้งที่ 16 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้แสดงให้เห็นว่ามีกระบวนการทางการเมืองที่จะสืบทอดอำนาจของสี จิ้นผิงต่อไปอีกยาวนาน และน่าจะไม่มีการถ่ายโอนอำนาจ/เปิดโอกาสให้แก่คนอื่นในกลุ่มการเมืองเซี่ยงไฮ้ขึ้นมามีอำนาจได้ขณะเดียวกันก็จะเป็นการปิดโอกาสของกลุ่มการเมืองอื่นโดยสิ้นเชิง

การครองอำนาจยาวนานของกลุ่มการเมืองเซี่ยงไฮ้ทำให้กลุ่มขยายตัวออกไปมากขึ้น ซึ่งต้องการการจัดสรรอำนาจให้แก่กลุ่มย่อยต่างๆ อย่างลงตัว แต่สี จิ้นผิง ที่ครองอำนาจมานานพอสมควรได้ก่อกำเนิดกลุ่มการเมืองกลุ่มใหม่ภายในกลุ่มเซี่ยงไฮ้ เรียกกันโดยทั่วไปว่า “กลุ่มของสี” ( Xi Gang) และได้ขยายอิทธิพลและบทบาทของกลุ่มของสีออกไปอย่างกว้างขวาง อันก่อให้เกิดความไม่พอใจและความอึดอัดในกลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม

ข่าวลือการรัฐประหารนี้ จึงอาจจะไม่ได้ปรากฏเป็นการรัฐประหารแบบที่เห็นทั่วๆ ไป หากแต่อาจจะแสดงออกในหลายลักษณะ ซึ่งยังไม่อาจคาดเดาได้ แต่ที่แน่ชัด คือ ข่าวลือรัฐประหารนี้เป็นผลมาจากความตึงเครียดทางการเมืองอันเกิดจากการเมืองแบบกลุ่มการเมืองที่ไม่สามารถจ้ดสรรอำนาจให้ลงตัวได้

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท