Skip to main content
sharethis

เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์แล้วที่มีเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ในอิหร่าน ชนวนเหตุคือการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของหญิงสาวชาวเคิร์ด หลังจากที่ถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมโทษฐานไม่สวมฮิญาบ ส่งผลให้เกิดการประท้วงและก่อจลาจลทั่วประเทศ สถานการณ์ลุกลามบานปลาย มีรายงานผู้เสียชีวิตล่าสุดเฉียด 60 คน ในขณะที่เตหะรานโวยท่าทีชาติตะวันตกว่า แทรกแซง-สนับสนุนผู้ชุมนุม

27 ก.ย. 2565 สถานการณ์การประท้วงในอิหร่านลุกลามบานปลายในหลายเมืองทั่วประเทศ จนเรียกได้ว่าเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 3 ปีของอิหร่าน สืบเนื่องจากการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของ มาห์ซา อะมินี หญิงสาวชาวเคิร์ดวัย 22 ปี ซึ่งถูกตำรวจศีลธรรมควบคุมตัวในกรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา โทษฐานไม่สวมผ้าคลุมศีรษะ หรือฮิญาบ ในที่สาธารณะ ซึ่งถือว่าผิดระเบียบการแต่งกายของหญิงอิหร่าน 

สำนักข่าวออนไลน์เวิร์คพ้อยท์ทูเดย์ รายงานโดยอ้างอิงจากสำนักข่าว IRNA ของทางการอิหร่านว่า กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้พยายามสลายชุมนุม ด้วยการยิงกระสุนยาง และแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชนเพื่อควบคุมสถานการณ์ สำนักข่าวเดอะสแตนดาร์ด รายงานยอดผู้เสียชีวิตล่าสุด โดยอ้างอิงจากรายงานจากองค์กรสิทธิมนุษยชนอิหร่าน (Iran Human Rights: IHR) ระบุว่าเมื่อเย็นวันที่ 25 ก.ย. ยอดรวมผู้เสียชีวิตล่าสุดอยู่ที่อย่างน้อย 57 คน แต่ตั้งข้อสังเกตว่าการปิดกั้นระบบอินเทอร์เน็ตของทางการอิหร่านทำให้การยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตทำได้ยากขึ้น  

สำนักข่าววีเอโอไทย รายงานโดยอ้างอิงจากสำนักข่าวเอเอฟพีว่า สตรีชาวอิหร่านหลายคนตัดผมตัวเองในที่สาธารณะ หรือจุดไฟเผาผ้าคลุมผมบนท้องถนน เพื่อแสดงการต่อต้านการควบคุมจำกัดเสรีภาพของสตรี ขณะที่ผู้ร่วมประท้วงต่างตะโกนขับไล่เผด็จการ และเรียกร้องให้ผู้นำสูงสุดของอิหร่านวัย 83 ปี อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนนี ลาออกจากตำแหน่ง

การประท้วงไม่เพียงลุกลามบานปลายหลายเมืองในอิหร่านเท่านั้น หากแต่จุดกระแสไปในชุมชนอิหร่านทั่วโลก ชาวอิหร่านในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก รวมตัวกันชุมนุมประท้วงรัฐบาลเตหะรานด้วยเช่นกัน ทั้งที่ในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน กรีซ แคนาดา โดยผู้ประท้วงสตรีหลายรายได้ตัดผมของตนเองและเผาฮิญาบ พร้องทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลอิหร่านยกเลิกการใช้กฎหมายที่เข้มงวดในการจำกัดเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะต่อสตรี

สำนักข่าววีโอเอไทย รายงานโดยอ้างอิงจากสำนักข่าวเอเอฟพีว่า การประท้วงในอิหร่านลุกลามไปเป็นความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลอิหร่านกับชาติตะวันตก เมื่อเยอรมนีเรียกตัวทูตอิหร่านประจำกรุงเบอร์ลินเข้าพบ และก่อนหน้านี้หนึ่งวัน อิหร่านเรียกตัวเอกอัครราชทูตอังกฤษและนอร์เวย์เข้าพบเพื่อยื่นหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการเช่นกัน โดยระบุว่าทั้งสองประเทศแทรกแซงกิจการของอิหร่านและมีการรายงานข่าวที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลกรุงเตหะราน โดยเมื่อวันอาทิตย์ โจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป มีแถลงการณ์ประณามรัฐบาลอิหร่าน โดยชี้ว่า "การใช้กำลังอย่างกว้างขวางและไม่เหมาะสมต่อผู้ประท้วงอย่างสันติ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่อาจยอมรับได้" และว่า "อียูจะพิจารณาทางเลือกทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อจัดการกับเหตุการณ์สังหาร มาห์ซา อะมินี และการกระทำของรัฐบาลอิหร่านต่อบรรดาผู้ประท้วง" เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวที่การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สดุดีบรรดาผู้ประท้วงในอิหร่าน และว่า "อเมริกายืนเคียงข้างประชาชนและสตรีผู้กล้าหาญของอิหร่าน ผู้ซึ่งชุมนุมแสดงจุดยืนเพื่อรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net