Skip to main content
sharethis

วงเสวนา “เยาวชนกับกัญชา” หนุนมติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ จี้รัฐเร่งออกมาตรการควบคุมในภาวะสุญญากาศยังไม่มี พ.ร.บ.ควบคุม ชงห้ามการเข้าถึงของเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามโฆษณา-ส่งเสริมการขาย ห้ามขายออนไลน์และตู้อัตโนมัติ หวั่นเด็กเยาวชนเป็นเหยื่อ สังคมโดยรวมเสียหาย ด้าน สคล.แนะใช้บทเรียน กม.เหล้า-ยาสูบ อุดช่องว่าง พ.ร.บ.กัญชา สกัดพ่อค้าหัวใสใช้โลโก้เสมือนทำโฆษณา วอนตั้งกองทุนเยียวยาคนได้รับผลกระทบ  

28 ก.ย.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชนภาคเหนือ  เครือข่ายเยาวชนพิษณุโลก (Young Phitsanulok Forum)  ร่วมกับ สภาเด็กและเยาวชน องค์กรด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จัดเวทีเสวนา “เยาวชนกับกัญชา…แนวโน้มปัญหาและแนวทางแก้ไข” หลังปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติด และยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุม โดยมี ประสิทธิชัย หนูนวล กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ....ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ร่วมเสวนา

สิทธิพงษ์ พุ่มจันทร์ ผู้ประสานงาน Young Phitsanulok Forum กล่าวว่า หลังมีการปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นสภาวะสุญญากาศ ทำให้เยาวชนที่ยังไม่เข้าใจ แล้วไปทดลองใช้กัญชา รวมถึงการได้รับโดยบังเอิญจากการรับประทานอาหารซึ่งไม่มีทางรู้ปริมาณสาร THC เลย ทั้งนี้การที่เด็กและเยาวชนยังไม่ได้รู้จริงเกี่ยยวกับประโยชน์และโทษของกัญชา แต่ไปซื้อหามาใช้เอง เสี่ยงเกิดผลกระทบต่อตนเองและสังคม ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องควรเร่งออกกฎหมายมควบคุม  

ประสิทธิชัย หนูนวล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.กัญชา สภาผู้แทนฯ กล่าวว่า กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้นยังต้องมีการควบคุมอย่างเข้าใจ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่ กมธ.ยกร่างมานั้นมีการการควบคุมดูแลเชิงระบบตั้งแต่กระบวนการปลูก การขาย การสกัด การแปรรูป การคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ฝ่าฝืนมีบทลงโทษ แต่ปรากฎว่าเมื่อมีการเสนอเข้าวาระการประชุมสภากลับถูก ส.ส. ตีกลับให้ไปทำมาพิจารณาเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการเสนอเข้าไปใหม่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ หากยังไม่พิจารณากันก็จะทำให้สังคมไทยไม่มีกฎหมายมาบังคับใช้อีกนาน กลายเป็นสุญญากาศที่ก่อผลกระทบหลายด้าน และที่น่ากังวลขณะนี้คือการเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกัญชาด้านเดียว คือด้านที่อันตราย ทั้งๆ ที่มีข้อมูลการวิจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศว่าช่วยรักษาโรคได้ ดังนั้นต้องมีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชาที่ถูกต้องด้วย

พรพรรณ ทับแสง ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชนภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า ขสย. ให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบของกัญชาต่อเด็ก เยาวชน จึงต้องการให้ข้อมูลทั้งด้านดีและข้อเสีย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการบางอย่างออกมาบังคับเพื่อควบคุมภาวะสุญญากาศเช่นนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีมติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565 โดยในข้อ 6 ระบุว่าระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ ขอให้มีมาตรการควบคุม ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีซื้อ ขาย แจก ครอบครอง บริโภคและใช้กัญชา ยกเว้นการใช้ทางการแพทย์ ห้ามโฆษณา เชิญชวน จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย สร้างความเข้าใจที่ไม่เหมาะสม หรือนําเด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ และให้สถานศึกษาทุกระดับเพิ่มความเข้มงวดกับนักเรียน และกำหนดมาตรการด้านการป้องกันที่เหมาะสมและสอดคล้องกับระเบียบของทางกระทรวงศึกษาธิการ และเครือข่ายเราขอเสนอเพิ่มเติมเรื่องการห้ามขายออนไลน์ ขายผ่านตู้อัตโนมัติด้วย

ขณะที่ ธีระ วัชรปราณี ผจก.เครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า ตามที่อ้างว่าได้นำบทเรียนของกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์และยาสูบ มายกร่างกฎหมายควบคุมกัญชานั้น ต้องประเมินบริบทว่าใครคือผู้นำทางธุรกิจและได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีนี้ เพราะจะมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพการควบคุม ดังตัวอย่างของกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ ที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองทั้งหน้าฉากหลังฉาก หรือกรณีบริษัทข้ามชาติที่จะได้ประโยชน์เป็นกลุ่มไหน เพราะนักธุรกิจเมื่อได้ลงทุนแล้วเขามุ่งหวังกำไรและอะไรที่เป็นข้อห้ามทางกฎหมายจะหาทางเลี่ยง เช่น การเลี่ยงใช้น้ำโซดาโฆษณาแทนเบียร์ ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ได้มีมาตรการป้องกันไว้หรือไม่ และหากเป้าประสงค์การเปิดเสรีกัญชาคือเพื่อการแพทย์ ทำไม กรรมาธิการไม่เทียบเคียงกฎหมายอาหารและยา ซึ่งจะมีบทเรียนที่ตรงกว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า อีกทั้ง เมื่อรัฐได้เปิดเสรีแล้ว จะเอางบประมาณจากไหนมาเตรียมการรักษาผู้ป่วยผู้ได้รับผลกระทบ จึงควรมีกระบวนการช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟูด้วยการเก็บภาษีเข้ากองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากกัญชาด้วย

นอกจากนั้น จุดอ่อนของการควบคุมแอลกอฮอล์และบุหรี่ คือการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ทราบว่าได้ประเมินรอบด้านหรือไม่ว่าจะไม่ซ้ำรอยปัญหา กฎหมายออกมาแล้วต้องมีความศักดิ์สิทธิ์ บังคับใช้ได้จริง ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการดำเนินการสอบสวนเอาผิดได้ เพราะที่ผ่านมาต้องไปร้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีภาระงานเยอะมากการดำเนินการล่าช้า และสุดท้ายต้องกำหนดให้มีตัวชี้วัดให้หน่วยงานรับผิดชอบในการควบคุมกัญชาด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net