กองกำลังต่อต้านเผด็จการพม่าใช้ 'โดรน' ยกระดับปฏิบัติการโจมตี

เกือบ 20 เดือนหลังจากที่กองทัพพม่าก่อการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ท่ามกลางความขัดแย้งที่กำลังตึงเครียดมากขึ้น กลุ่มกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นกลุ่มกองกำลังฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหารในพม่า เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับที่สามารถบังคับระยะไกลได้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับความสามารถในการสู้รบด้วยยุทโธปกรณ์ที่เหนือกว่าของกองทัพพม่า

กองทัพพม่าถือเป็นกองทัพที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่พวกเขาทำรัฐประหารตั้งแต่เดือน ก.พ. ปีที่แล้ว (2564) ส่งผลให้กลุ่มต่อต้านเผด็จการต้องรวมตัวกันจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชนขึ้นเพื่อต่อสู้กับศัตรูที่เป็นกองทัพที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค โดยมีอาวุธเป็นแค่หนังสติ๊กและปืนคาบศิลาหยาบๆ ที่เรียกว่า "Tumee" หรือปืนรุ่นเก่ากว่านั้นในการสู้รบ ซึ่งเป็นอาวุธแบบเดียวกับที่ชาวพม่าเคยใช้สู้รบต่อต้านกลุ่มผู้ล่าอาณานิคมชาวอังกฤษมาก่อนตั้งแต่สมัยราว 140 ปีที่แล้ว และเมื่อเครือข่ายของกลุ่มติดอาวุธเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาก็เริ่มหันมาใช้ทุ่นระเบิดทำมือเพื่อกำจัดรถขนลำเลียงของกองทัพพม่าด้วย

แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ล่าสุดของกองกำลัง PDF คือโดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ ที่นำมาติดอาวุธระเบิดแล้วทิ้งลงใส่ข้าศึกคือกองทัพเผด็จการพม่า แหล่งข่าว PDF ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเรดิโอฟรีเอเชียเบอร์มิสว่า โดรนที่พวกเขาใช้นั้นปลอดภัย, แม่นยำ และอาศัยกำลังพลน้อยในการควบคุมในช่วงที่มีการปะทะกัน

Boh Lin Yaung ประธานองค์กรสนับสนุนคินอู้ (KSO) ในอำเภอคินอู้ของภูมิภาคซะไกง์กล่าวว่า กลุ่มของเขาใช้โดรนที่ปกติแล้วถูกนำมาใช้ในกิจการพลเรือน นำมาอัพเกรดให้สามารถนำมาใช้ทิ้งระเบิดลงบนพื้นที่จำเพาะได้ พอเห็นว่าการใช้โดรนมีข้อได้เปรียบกองกำลังต่อต้านเผด็จการพม่าก็เริ่มซื้อโดรนพวกนี้เข้ามามากขึ้น โดยนำโดรนพลเรือนมาดัดแปลงติดอาวุธระเบิดระดับครึ่งวิสส์ (เทียบได้เป็น 24 ออนซ์หรือประมาณ 680 กรัม) สาเหตุหลักๆ ที่พวกเขาใช้มันเพราะมัน "เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการปะทะกับศัตรู"

Boh Lin Yaung บอกอีกว่าก่อนหน้านี้กลุ่มของพวกเขาพยายามจัดหาอาวุธปืนไรเฟิลอัตโนมัติเพื่อนำมาใช้สู้รบกับเผด็จการทหารที่มีข้อได้เปรียบในแง่อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า มีเสบียงมากกว่า และมีการฝึกรบที่ชำนาญกว่า แต่ก็ตัดสินใจหันมาใช้โดรนแทนเพราะมีราคาที่ต่ำกว่าไรเฟิลอัตโนมัติ

สมาชิกกลุ่ม PDFs ในซะไกง์รายงานว่าพวกเขาประสบความสำเร็จจากการใช้โดรน แต่ก็ยอมรับว่ามันมีความเป็นไปได้ที่โดรนเหล่านี้จะถูกยิงตกจากฟ้า นอกจากนี้กองทัพเผด็จการทหารก็หันมาใช้โดรนลาดตระเวนเพื่อระบุตำแหน่งของพวกเขาแล้วโจมตีพวกเขาด้วยอาวุธหนักและโจมตีทางอากาศยาน

นอกจากนี้โดรนของกลุ่มต่อต้านเผด็จการพม่ายังมีประโยชน์ในแง่สงครามจิตวิทยาในการข่มขวัญข้าศึกได้ด้วย เช่น กรณีในรัฐกะเหรี่ยง Myo Thura Ko เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองของ "หน่วยรบพิเศษงูเห่า" บอกว่า PDF ใช้โดรนมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 แล้ว และการที่โดรนสามารถกำราบศัตรูได้ง่ายนั้นเป็นเพราะว่าศัตรูจะกลัวเมื่อได้ยินเสียงโดรนบิน โดยที่ในรัฐกะเหรี่ยงมีการใช้โดรน 6 ใบพัดที่สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้นด้วย

"พวกโดรนทำการโจมตีทางอากาศได้อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก เทียบกับเครื่องบินของพวกนั้น(เผด็จการทหารพม่า) แล้ว พวกนั้นทิ้งระเบิดเสร็จแล้วก็บินออกไป ในเวลาอื่นๆ ที่เหลือโดรนของพวกเราเป็นฝ่ายครองพื้นที่น่านฟ้า โดรนของพวกเรามีความสามารถในการลาดตระเวนในช่วงกลางคืนด้วย ดังนั้นแล้วมันจึงกลายเป็นฝันร้ายสำหรับกองทัพศัตรู" Myo Thura Ko กล่าว

Ko บอกอีกว่าโดรน 1 เครื่องสามารถติดอาวุธระเบิดได้มากที่สุด 5 ชุด และสามารถลาดตระเวณพื้นที่ได้โดยอาศัยกำลังพลน้อยกว่าการใช้คนลาดตระเวณ

ฝ่ายเผด็จการทหารพม่าก็มีการพยายามโต้ตอบการใช้โดรนเช่นกัน พวกเขาใช้เครื่องรบกวนคลื่นความถี่วิทยุเพื่อป้องกันไม่ให้โดรนของฝ่ายต่อต้านเผด็จการบินอยู่เหนือค่ายทหารของพวกเขา นอกจากนี้ในการแถลงข่าวโดยนายพล Zaw Min Tun เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมาก็มีการระบุว่าทางการได้ติดตั้งปืนต่อต้านโดรนไว้ตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อป้องกันการโจมตี

Thein Tun Oo ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มศึกษายุทธศาสตร์ Thayningha ซึ่งเป็นกลุ่มอดีตเจ้าหน้าที่ทหารบอกว่า PDFs มีข้อจำกัดในเรื่องความสามารถในการใช้โดรนพลเรือนเพื่อโจมตี เพราะพวกเขาต้องอาศัยผู้ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค

Thein Tun Oo บอกว่าโดรนแบบ 6 ใบพัดที่กลุ่มต่อต้านเผด็จการพม่าใช้เป็นโดรนที่เรียกว่า "เฮกซาคอปเตอร์" ที่สามารถแบกน้ำหนักได้มากขึ้น ถูกนำมาดัดแปลงเพื่อให้ใช้ทิ้งระเบิดทางอากาศได้ แต่เมื่อมองจากมุมมองเชิงเทคนิคแล้ว กลไกที่จะทำให้เกิดการทิ้งระเบิดได้นั้นไม่ง่ายเลย ทำให้ Oo มองว่าฝ่ายต่อต้านเผด็จการน่าจะมีผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในเรื่องนี้อยู่แน่ๆ เพราะ Oo เชื่อว่ามัน "ไม่ใช่พัฒนาการปกติ" และเชื่อว่า "มันไม่ใช่อะไรที่พวกเขาทำเองได้"

อย่างไรก็ตามฝ่ายรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ของพม่า ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ตั้งโดยกลุ่มต่อต้านเผด็จการทหารเพื่อเป็นรัฐบาลคู่ขนานและแสดงการไม่ยอมรับต่อรัฐบาลเผด็จการ ก็มีการจัดตั้งหน่วยงานในเรื่องโดรนของตัวเองในชื่อว่า "หน่วยการบินรัฐบาลกลาง" หรือ "Federal Wings" ภายใต้กระทรวงการสื่อสาร, สารสนเทศ และเทคโนโลยี (MOCIT) โดยอาศัยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีชำนาญด้านเทคโนโลยี และในเพจโซเชียลมีเดียของ Federal Wings ก็ระบุว่าหน่วยงานนี้ได้เข้าร่วมปฏิบัติการโดรนในสนามรบด้วย

กระทรวงกลาโหมของ NUG เปิดเผยอีกว่าพวกเขากำลังมองหาแหล่งเงินทุนที่จะทำให้หน่วยปฏิบัติการโจมตีด้วยโดรนสามารถคงอยู่ต่อไปในกองกำลัง PDF ได้

Min Zaw Oo ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันเมียนมาร์เพื่อสันติภาพและความมั่นคงกล่าวว่า เขาประเมินว่าทั้งฝ่ายต่อต้านเผด็จการและฝ่ายเผด็จการทหารพม่าต่างก็จะนำโดรนมาใช้ในการสู้รบมากขึ้นในอนาคต โดยไม่ใช่แค่การใช้ลาดตระเวนแต่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังใช้ในการเคลื่อนย้ายกำลังอาวุธด้วย เรื่องนี้เห็นได้มากขึ้นนับตั้งแต่ที่พม่าเกิดการรัฐประหารในปี 2564 อีกทั้งการที่โดรนเป็นเทคโนโลยีที่แพร่หลายมากขึ้นก็ทำให้บทบาทของโดรนมีความสำคัญมากขึ้นในศึกสงครามสมัยใหม่ด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Drones level playing field for Myanmar’s armed opposition against powerful military, Radio Free Asia, 24-09-2022

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท