จับตา สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ รอพบ ‘ประวิตร’ ร้องบังคับใช้ ม.57 ห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน  

จับตา สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประเทศไทย รอพบ ‘ประวิตร’ ที่ทำเนียบ ดันข้อเสนอบังคับใช้ พ.ร.ก.การประมง ม. 57 ห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน เพิ่มทรัพยากรทางทะเล และความมั่นคงทางอาหาร 

 

28 ก.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. ปิยะ เทศแย้ม ประธานสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประเทศไทย และเพื่อนร่วมอาชีพ ปักหลักบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อรอเดินขบวนเข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาล หลังวานนี้ (27 ก.ย.) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัด 

ปิยะ ชาวประมงพื้นบ้านวัย 51 ปี ยืนยันว่าจะขอเข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการ​นโยบายประมงแห่งชาติ เพื่อเสนอให้นำมาตรา 57 ว่าด้วยการห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อนขึ้นเรือประมง เข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการเร่งด่วน​ ของ​คณะกรรมการ​นโยบายประมงแห่งชาติ​ ที่จะมีการประชุมในทำเนียบรัฐบาล​วันที่​ 30 ก.ย. 2565​

สำหรับ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 มาตรา 57 กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดนำสัตว์น้ำ หรือจับสัตว์น้ำที่เล็กกว่าประกาศกำหนดของรัฐมนตรีขึ้นเรือประมง ซึ่งผู้ที่จะเป็นคนกำหนดขนาดสัตว์น้ำที่สามารถจับได้คือรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะผ่านไป 7 ปี กลับยังไม่มีการบังคับใช้ในทางปฏิบัติ

ปิยะ เทศแย้ม ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ระบุว่า อำนาจของ พ.ร.ก.อยู่ที่รัฐมนตรี ดังนั้น รัฐมนตรีควรสั่งการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้แล้วว่า สัตว์น้ำแต่ละชนิดควรมีขนาดเท่าไร ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิชาการ และผู้บริโภคเองมีความเห็นสัตว์น้ำควรมีโอกาสเกิดลูกก่อนสัก 1 ครั้ง และค่อยจับ

ปิยะ กล่าวถึงข้อดีของมาตรานี้ว่า การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนส่งผลให้ปลา และทรัพยากรทางทะเล ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากรัฐบาลมีการประกาศใช้ มาตรา 57 เขาเชื่อว่าเราจะมีสัตว์น้ำทดแทนที่จับเท่าไรก็ไม่มีวันหมด  เพราะถ้าขนาดไม่เหมาะสม คนก็ต้องปล่อยไปให้ปลาเติบโต เมื่อไรที่ปลาขนาดเหมาะสม ก็สามารถจับได้ ซึ่งการจับปลาตัวใหญ่ก็ได้ราคาดีกว่าจับลูกปลาไปขาย

ประธานสมาพันธ์ฯ ระบุต่อว่า ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้เช่นกัน เนื่องจากคนที่อยู่ห่างไกลทะเล หรือคนที่ชอบกินอาหารทะเล จะได้บริโภคในราคาที่เหมาะสม ไม่แพงจนเกินไป เพราะสัตว์น้ำในทะเลมีจำนวนเยอะ และนี่คือสิ่งที่สะท้อนความมั่นคงทางอาหารในประเทศไทย 

“สิ่งสำคัญที่สุดก็คือว่าคนที่เกิดก่อน มีสิทธิทำประมง แต่ไม่มีสิทธิทำลายสัตว์น้ำอนาคต เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ยังไม่ได้เกิด หรือเกิดในรอบหน้าได้ใช้ทรัพยากรตัวนี้” ชาวประมง วัย 51 ปี กล่าว

ปิยะ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากรอมาประมาณ 90 วันแล้วหลังเดินทางมายื่นหนังสือที่รัฐสภาแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการผลักดันกฎหมาย พวกเขาจึงขอยื่นหนังสือพบ พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานนโยบายการประมงแห่งชาติ ที่ทำเนียบวันนี่  เนื่องจากต้องการนำเสนอข้อมูลอีกด้านที่กรมประมงไม่เคยชี้แจง แต่ถ้าไม่ได้เข้าพบรักษาการนายกฯ กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจะขอเปิดเผยข้อมูลกับสาธารณชนให้ทราบโดยทั่วกัน

“ยังไงเราก็ทำหนังสือไปแล้ว ขอพบวันที่ 28 ส่วนให้พบหรือไม่ เวลาตรงกันหรือไม่ เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่ตัดสินใจ เราก็จะรอคำตอบ ทิศทางการบริหารประเทศนี้เป็นอย่างไร หรือว่าคำพูดที่ว่าไม่ปล่อยใครไว้ข้างหลังเป็นแค่ ‘วาทกรรม’” ปิยะ กล่าว 

สำหรับการรณรงค์ของกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพประมงพื้นบ้าน เริ่มเมื่อ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา มีชาวประมงพื้นบ้านเดินทางมาปักหลักที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐมนตรีมีการบังคับใช้มาตรา 57 อย่างจริงจัง 

ต่อมา เมื่อ 27 ก.ย. 2565 ชาวประมงพื้นบ้านมาร่วมรณรงค์ถือป้ายเรียกร้อง รมว.กระทรวงเกษตรฯ ให้มีการผลักดันมาตรา 57 พ.ร.ก.การประมง ที่หน้าอาคาร 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ 8.00-9.30 น. รวม 90 นาที ก่อนที่ต่อมา เมื่อเวลา 15.00 น. ชาวประมงพื้นบ้านเดินขบวนไปที่หน้าทำเนียบ แต่ถูกตำรวจสกัดไม่ให้เข้าพื้นที่ 

สำหรับปิยะ เทศแย้ม ชาวประมงจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งในแกนนำขบวนเรือประมง ภาคีทวงคืนน้ำพริกปลาทู ล่องเรือจากทะเลอ่าวไทย เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐสภา แยกเกียกกาย ในข้อเรียกร้องเดียวกัน โดยมีธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รับมอบหนังสือในขณะนั้น

เลขาฯ รมว.กระทรวงเกษตรฯ กล่าวหลังรับหนังสือว่า กฎหมายตัวนี้ยังออกไม่ได้เลย เพราะต้องรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติม และหลังจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ มีการสั่งการให้กรมประมงจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ  

จนกระทั่งเมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา กรมประมงมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 22 จังหวัดริมชายฝั่งทะเล และมีการประเมินว่าถ้ามีการกำหนดขนาดสัตว์น้ำตามมาตรา 57 ชาวประมงจะปฏิบัติตามได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวประมงพาณิชย์มีการคัดค้านโดยระบุว่าไม่สามารถทำตามได้ ขณะที่ฝั่งชาวประมงพื้นบ้าน วิจารณ์ว่า เวทีรับฟังความเห็นดังกล่าวไม่ได้สะท้อนเสียงของชาวประมงอย่างแท้จริง เนื่องจากสัดส่วนผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นมีจำนวนประมงพาณิชย์มากกว่าชาวประมงพื้นบ้าน 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท