ภาคประชาสังคม ส่งเสียงถึง กทม. ต้องมีคลินิกทำแท้งปลอดภัย หนุนพรรคการเมืองมีนโยบายชัดเจน

  • ทุกวันที่ 28 ก.ย. นานาชาติจัดให้เป็น #วันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล (Safe Abortion Day) เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้สังคมโลกตระหนักต่อสิทธิของผู้หญิงในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย 
  • ในไทยปีนี้มีอีเวนต์ ‘กรุงเทพทำแท้ง’ จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 ก.ย.) ที่ ‘กลุ่มทำทาง’ และภาคีเครือข่ายฯ พร้อมใจส่งเสียงถึง กทม. ผลักดันข้อเสนอให้กรุงเทพฯ มีคลินิกทำแท้งปลอดภัย โดยตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วม ‘รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กับผู้ประสานงานกลุ่มทำทาง’ เห็นตรงกัน เลือกตั้งครั้งหน้า พรรคการเมืองต้องมีนโยบายชัดเจน

28 ก.ย.2565 เนื่องในวันที่ 28 ก.ย. นานาชาติจัดให้เป็น #วันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล (Safe Abortion Day) เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้สังคมโลกตระหนักต่อสิทธิของผู้หญิงในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย สำหรับประเทศไทยนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา เวลา 15.00 - 20.30 น. ที่สวนครูองุ่น ซ.ทองหล่อ 3 (บีทีเอสทองหล่อ) กรุงเทพฯ กลุ่มทำทางและเครือข่ายทำแท้งปลอดภัย จัดกิจกรรม ‘กรุงเทพทำแท้ง’ หรือ Bangkok Abortion เป็นกิจกรรมเสวนาในประเด็น ’ทำแท้งปลอดภัย ไม่ตายนะเธอ’ เพื่อส่งเสียงถึงกรุงเทพมหานคร ให้มีนโยบายสถานพยาบาลภายใต้สังกัดกรุงเทพมหานครจัดบริการการทำแท้งตามเงื่อนไขของกฎหมาย พร้อมแลกเปลี่ยนในประเด็นช่องว่างทางกฎหมาย ข้อท้าทาย ความเป็นไปได้ทั้งเชิงนโยบายและทางปฏิบัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายในงานมีการเสวนาในประเด็นทำแท้งปลอดภัยจากหลากหลายภาคส่วน โดยในช่วงบ่ายมีสปีกเกอร์คนสำคัญจากทั้งภาคประชาสังคม และพรรคการเมือง ได้แก่ อัมพร สุธรรม ผู้มีประสบการณ์ยุติการตั้งครรภ์ นิศารัตน์ จงวิศาล เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาและประสานงานกลุ่มทำทาง ณฐกมล ศิวะศิลป ที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มทำทาง นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และกมธ.เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฏร และ นพ. ธีรวีร์ วีรวรรณ ตัวแทนจาก กทม. ส่วนในช่วงค่ำ มีกิจกรรม Bangkok Abortion Talk เป็นการทอล์คสั้น ๆ จากสปีกเกอร์ในแวดวงนักขับเคลื่อนทางการเมืองและปีกแรงงาน

บาดแผลทางใจ ราคาที่ต้องจ่าย เมื่อตัดสินใจทำแท้ง

จากการเก็บข้อมูลของกลุ่มทำทาง องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี ตั้งแต่เดือน พ.ย. 64 ณฐกมล พบว่า แม้จะมีการแก้กฎหมายที่ก้าวหน้าขึ้นแล้ว แต่เมื่อตัดสินใจทำแท้ง และต้องการเข้าถึงสถานบริการที่ถูกกฎหมาย ประชาชนก็ยังคงเผชิญกับกระบวนการในการรับบริการที่สร้างบาดแผลทางใจ ทั้งการข่มขู่และการหมิ่นประมาทซึ่งหน้าจากเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ

“จะมีกรณีที่เมื่อส่งเอกสารส่งตัวไป แพทย์เห็นเอกสารรายละเอียดของผู้รับบริการคนนั้นว่ายังเป็นนักศึกษาอยู่ แพทย์ก็พูดชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาของผู้รับบริการ แล้วก็พูดทำนองว่าจะให้บอกอาจารย์หรือเปล่าว่ามาทำแท้ง อันนี้คือการข่มขู่ว่าจะเปิดเผยความลับ ซึ่งผิดจรรยาบรรณแพทย์” ที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มทำทาง กล่าว พร้อมทั้งยกตัวอย่างเพิ่มเติม ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ซักประวัติแล้วพบว่าผู้เข้ารับบริการไม่ได้ท้องกับแฟน  “เจ้าหน้าที่ก็พูดว่าถ้าเป็นแบบนี้คือเธอไม่รักนวลสงวนตัวนะ ถ้าเป็นพี่นะ ไม่ใช่แฟน พี่ไม่ให้แตะตัวเลยนะ คนสมัยนี้เค้าเป็นแบบนี้เหรอ นอนกับใครก็ได้”

ณฐกมล กล่าวว่า ความที่หน่วยให้บริการการทำแท้ง กับ หน่วยบริการอัลตร้าซาวด์เป็นคนละที่กัน หากไปอัลตร้าซาวด์เพื่อขอนำผลไปยืนยันยุติการตั้งครรภ์ ก็จะเผชิญกับทัศนคติของเจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายผู้รับบริการอยู่ดี เพราะว่าเจ้าหน้าที่ก็จะค่อนข้างคุ้นชินกับการอัลตร้าซาวด์เพื่อฝากครรภ์มากกว่า

ตัวแทนจากกลุ่มทำทาง กล่าวต่อว่า เมื่อได้ยุติการตั้งครรภ์ ผู้ได้รับบริการฯ ที่แม้ถูกหมิ่นประมาทก็ไม่คิดจะฟ้องร้องหมอ แต่กลับรู้สึกขอบคุณที่ช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบาก เขาเพียงแต่อยากให้เห็นเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องการผ่านพ้นวิกฤตของชีวิต อยากให้คุณหมอให้บริการเขาด้วยความเมตตา ไม่อยากให้ใครต้องมาเจอแบบพวกเขา

เมืองหลวงที่ไม่มีคลินิกทำแท้ง ?

 “เราถูกตีตราตลอดว่าเราทำแท้ง เราเป็นคนบาป เราอยากได้คนที่ทำให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านั้น เหมือนเราได้ชีวิตใหม่” อัมพร ในฐานะผู้หญิงที่เคยทำแท้ง แชร์ประสบการณ์พร้อมขอบคุณ ’กลุ่มทำทาง’ ที่อยู่กับเธอตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ 

นิศารัตน์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานเป็นผู้ให้การปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการทำแท้ง พบว่า มีผู้คนจำนวนมากที่เลือกใช้ยายุติการตั้งครรภ์ (Medabon) ซึ่งต้องขอบคุณการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และสายด่วน 1663 ที่ช่วยตรงนี้ได้มาก ทำให้ผู้ที่ประสบปัญหากล้าใช้ยายุติการตั้งครรภ์มากขึ้น แต่ปัญหาคือกรุงเทพฯ ทั้ง ๆ ที่เป็นเมืองหลวงศูนย์กลางความเจริญ แต่ยังไม่มีสถานพยาบาลสักแห่งเดียวที่สามารถจ่ายยายุติการตั้งครรภ์ได้ 

นอกจากเรื่องสถานพยาบาล ผู้ให้การปรึกษากลุ่มทำทาง ยังกล่าวเสริมในเรื่องทัศนคติที่ถือเป็นกำแพงสูงที่กั้นไม่ให้ผู้คนเข้ารับบริการการทำแท้งได้อย่างปลอดภัย ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่เรื้อรังยาวนานมาเป็นเวลาสิบ ๆ ปี พร้อมตั้งคำถามว่าเหตุใดอคติของผู้ให้บริการจึงมาลิดรอนสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้รับบริการ ทั้งนี้ไม่ใช่แค่หมอหรือโรงพยาบาล แต่หมายถึงทัศนคติของทุกคนรอบ ๆ ตัว “ถ้าจะขอเงินค่ารถกับเพื่อนแล้วเพื่อนรู้ว่าเราจะไปทำแท้ง เขาก็คงไม่อยากให้หรือเปล่า ทุกคนไม่มีใครอยากเป็นสะพานบาป ตนอยากจะบอกว่า ทุกที่ที่คุณเห็นคนเดินผ่านไปมา ตามบ้านร้านตลาด ทุกที่มีคนที่ได้รับชีวิตใหม่จากการทำแท้ง แต่เขาอาจจะไม่ได้มายืนพูดอยู่ตรงนี้ให้คุณเห็น”

นอกจากนิศารัตน์จะมีบทบาทเป็นผู้ให้การปรึกษากลุ่มทำทางแล้ว อีกหนึ่งบทบาทของเธอคือตัวแทนจากพรรคสามัญชน โดยกล่าวทิ้งท้ายว่า “วันนี้รู้สึกดีใจมาก ที่มีเจ้าหน้าที่จากกทม.มารับเรื่อง ขอฝากข้อเสนอเพิ่มเติมไปยังกทม. ขอให้มีที่สถานบริการที่สามารถจ่ายยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ พร้อมระบบการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และระบบส่งต่อผู้ป่วยเพื่อดูแลสุขภาพในกรณีที่การทำแท้งนั้นยังไม่สมบูรณ์” 

ข้อท้าทายหลังจากแก้ไขกฎหมายทำแท้ง ช่องว่างของสิทธิประโยชน์ - อายุครรภ์ที่รอไม่ได้ - เจตจำนงค์ของภาคการเมืองที่ไม่ปรากฎ

นพ.นิธิวัชร์ มองข้อท้าทายในแง่ช่องว่างของสิทธิประโยชน์ โดยกล่าวว่า สปสช. จัดสรรงบประมาณยุติการตั้งครรภ์ให้ผู้หญิงไทย โดยจ่ายค่าบริการให้ 3,000 บาท และค่าอัลตราซาวด์ก็สามารถเบิกได้จำนวน 400 บาท อย่างไรก็ดี ตนมองว่า กฎหมายและเงินไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง เพราะยังมีเรื่องทัศนคติของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นอีกอุปสรรค

“มันต้องไปอัลตราซาวด์เพื่อดูอายุครรภ์ ทีนี้การทำแท้งกับการอัลตราซาวด์มันใช้หน่วยงานคนละหน่วยกัน ก็จะต้องมีการประสานงาน ส่งต่อข้อมูลกัน พอเป็นเรื่องของการทำแท้ง หมอก็อาจจะกลัว ไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของสะพานบาป”

ตัวแทนจากสปสช. กล่าวเสริมว่า การทำแท้งไม่ควรเป็นความผิดอาญา พร้อมเปรียบเทียบ ‘การท้องไม่พร้อม’ ว่าคล้ายกับ ‘โรคหวัดทางสูติกรรม’ กล่าวคือการที่รัฐจัดสรรบริการทำแท้งภายใต้กรอบของกฎหมายจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้หญิงเกิดอันตรายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย โดยยกตัวอย่างประเทศกัมพูชา ใช้แค่ขาหยั่งกับเครื่องดูดสูญญากาศ ซึ่งพยาบาลก็สามารถทำได้ที่อนามัย

“แต่ด้วยความที่ สปสช. ให้บริการแค่คนไทย ทำให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นกลุ่มที่ตกหล่นจากสิทธิประโยชน์ ยังไม่รวมขั้นตอนการเบิกจ่ายยุ่งยาก อาจเป็นเพราะรัฐธรรมนูญของเราด้วยที่ ใช้คำว่า ‘สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย’ ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพของมนุษย์แบบสากล” ตัวแทนจากสปสช. กล่าวทิ้งท้าย

ส่วนณัฐวุฒิ มองข้อท้าทายในแง่การปฏิบัติใช้กฎหมายและเจตจำนงค์ของภาคการเมือง โดยกล่าวว่า แม้ยังมีช่องว่างทางกฎหมาย แต่เรามาไกลเกินกว่าจะแพ้ โดยเล่าถึงประสบการณ์การทำงานภาคประชาสังคมด้านสิทธิเด็กทำให้ตนเห็นปัญหาเรื่องอายุครรภ์ที่รอไม่ได้ ย้ำจุดยืนสิทธิในการทำแท้งคือสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย

“เด็กหญิงอายุ 14 ถูกล่วงละเมิดทางเพศมา เราก็ประสานว่าทำอย่างไรเขาถึงจะเข้าถึงการทำแท้งได้ แต่พนักงานอัยการบอกว่าต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งถ้ารอถึงตอนนั้น เด็กคนนี้ก็จะคลอดแล้วหรือเปล่า” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว รวมทั้งทิ้งท้ายด้วยการกล่าวย้ำความสำคัญของเจตจำนงค์ของภาคเมืองว่า เท่าที่เห็น ยังไม่มี ส.ส.คนไหน ที่กล้าพูดเรื่องทำแท้งเสรี เลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าพรรคการเมืองใดที่ไม่มีความชัดเจนในประเด็นการทำแท้งปลอดภัย ประชาชนก็ไม่ควรเลือก

ในช่วงค่ำ มีกิจกรรม Bangkok Abortion Talk เป็นการทอล์คสั้น ๆ จากสปีกเกอร์ในแวดวงนักขับเคลื่อนทางการเมืองและปีกแรงงาน

รุ้ง - บุ้ง - ใบปอ หนุนทำแท้งปลอดภัย ยึดหลักประชาธิปไตย ให้ผู้ประสบปัญหาเลือกวิธีแก้ด้วยตัวเอง

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง กล่าวว่า ในประเด็นการทำแท้งนั้นมีข้อถกเถียงแตกออกเป็น 2 ฝั่ง แต่ที่สังเกตเห็นก็คือจุดร่วมของทั้งสองฝ่ายที่อยากให้การทำแท้งมันน้อยลงและปลอดภัย สังคมประชาธิปไตยต้องเคารพเสียงคนส่วนใหญ่และฟังเสียงคนส่วนน้อยด้วย แม้ตนไม่ใช่ผู้ประสบปัญหาแต่มีจุดยืนสนับสนุนทำแท้งปลอดภัย เพราะมองว่าควรให้ผู้ประสบปัญหาเลือกวิธีแก้ด้วยตัวเอง ในเมื่อเพศหญิงต้องถูกตีตราอยู่เสมอว่าเป็นฆาตกรหรือแม่ใจยักษ์ ทำไมเพศชายที่เป็นฝั่งที่เอาอสุจิเข้าไป ไม่เห็นจะถูกตราหน้าเช่นนั้นบ้าง

ส่วนเนติพร เสน่ห์สังคม และ ณัฐนิช ดวงมุสิกข์ หรือ บุ้งและใบปอ 2 นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง อัดคลิปวีดิโอร่วมแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการทำแท้งปลอดภัย เนื่องจากติดเงื่อนไขการใส่กำไล EM จึงไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้

เนติพร เสน่ห์สังคม และ ณัฐนิช ดวงมุสิกข์ หรือ บุ้งและใบปอ 2 นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง

ปีกแรงงานชวนมอง การทำแท้ง เป็น สิทธิของแรงงาน 

ธนพร วิจันทร์ นักสหภาพแรงงานจากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ชวนมองการทำแท้งเป็นสิทธิของแรงงาน เนื่องจากการลาคลอดทำให้นายจ้างไม่ได้ผลผลิต ลูกจ้างหญิงถ้าท้องแล้วจะทำงานไม่ได้จึงต้องแอบไปทำแท้งที่คลินิกตามซอย เพื่อให้ได้ทำงานต่อ ดังนั้นตนจึงสนับสนุนสิทธิในการทำแท้งเพราะจะช่วยให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ถ้ามีลูก 1 คน รัฐบาลก็ไม่มีรัฐสวัสดิการอะไรให้พวกเรา ลูกออกมาก็เป็นปัญหาสังคมอีก ใครจะมาเลี้ยงลูกเรา ก็ต้องส่งลูกกลับบ้านนอก ปัญหาสังคมมันตามมาอีกเยอะ เราจึงต้องพูดเรื่องทำแท้งให้ได้ทั่วประเทศไทย พูดให้ได้เหมือนข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” นักสหภาพแรงงานกล่าวปิดท้าย

ธนพร วิจันทร์ นักสหภาพแรงงานจากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

สอดคล้องกันกับความเห็นของ เลย์ ตัวแทนแรงงานข้ามชาติจากสมาคมพราว สะท้อนว่า แรงงานข้ามชาติเผชิญความเปราะบางที่มากกว่าคนไทย อุปสรรคในการเข้าถึงบริการมีตั้งแต่กำแพงภาษา ความหวาดกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ และการถูกกดทับทางเศรษฐกิจ ตนเป็นแรงงานที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อนแรงงานเคยมาเล่าให้ฟังว่าสั่งยามาทานแล้วตกเลือดในห้อง ไม่รู้จักเบอร์ฉุกเฉิน แรงงานที่มาประเทศต้นทางเขาติดหนี้ติดสินอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว ถ้ามาเมืองไทยแล้วท้องอีก ก็ไม่ได้ทำงาน แล้วจะอยู่อย่างไร 

ขณะที่ ชนฐิตา ไกรศรีกุล นักวิจัยจากจากสถาบันแรงงานเพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ที่กล่าวว่า ใครจะอยากมีลูกในยุคที่ค่าครองชีพแพง ค่าแรงถูก ถ้าอยากทำแท้งฟรีก็ต้องแหกกีไปทำที่สิงห์บุรี เพราะว่ากรุงเทพฯ ยังไม่มีให้ทำ นอกจากนี้นักวิจัยด้านแรงงานยังตั้งข้อสังเกตถึงวลียอดฮิตของชาวเน็ตที่ว่า ‘มีแม่เมื่อพร้อม’ ว่ามักถูกใช้เพื่อเบลมผู้หญิงที่เลี้ยงลูกได้ไม่ดี แต่ไม่มีการเบลมผู้ชายในลักษณะเดียวกันแต่อย่างใด

LQBTIQN++ กับ ‘การทำแท้งปลอดภัย’ เกี่ยวข้องกันอย่างไร

เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ จากกลุ่มเควียร์ไรออท (Queer Riot) ชวนมองประเด็นการทำแท้งในมุมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยกล่าวว่า ระบบโครงสร้างสังคมที่คนที่ได้รับสิทธิและโอกาสมากที่สุดคือคนที่มีเพศกำเนิดชาย ผู้หญิงเองก็ถูกกดทับให้เป็นลำดับชั้นรองลงมา แต่สำหรับ LGBT ที่มีวิถีที่แตกต่างจากชายหญิง อย่างเรานั้นไม่ถูกยอมรับเลยทั้งในเชิงกฎหมายและการมีตัวตน จึงส่งผลให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อเข้าไม่ถึงสิทธิทำแท้งปลอดภัย พร้อมยกตัวอย่าง ในกรณีของ ‘ชายข้ามเพศ’

“เราจะเห็นข่าวต่างประเทศรายงานว่า ‘ชายข้ามเพศท้องได้’ แต่ในเมืองไทย มีการเข้าถึงข้อมูลในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนว่าชายข้ามเพศสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ หรือในกรณีชายข้ามเพศที่ได้รับฮอร์โมนก็อาจจะมีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์”

“ในกรณีที่ไปหาหมอ หมอบอก คุณแมนอย่างงี้ คุณท้องได้ไง คุณไปทำอะไรมา หรือจะหันไปหาคนรอบข้าง เพื่อนก็เข้าใจว่าเขาเป็นทอม แต่เพื่อนไม่เข้าใจว่าเขาสามารถมีเพศสัมพันธ์กับชายได้ ตั้งท้องได้ ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศได้ แล้วเขาจะหันไปหาสังคมรอบข้างได้ไหม”

“เป็นคนข้ามเพศก็ถูกตัดสินแล้วว่าบาป พอผสมกับเรื่องทำแท้งก็กลายเป็นบาปซ้อนบาป ผิดปกติ วิปริตซ้ำซ้อน สำหรับคนข้ามเพศที่ตั้งครรภ์ได้ เจอความรุนแรงหลายระดับ ตั้งแต่ระดับของการทำร้ายร่างกาย-จิตใจ ไปจนถึงความคิดความเชื่อของสังคม” ตัวแทนจากกลุ่มเควียร์ไรออทกล่าวสรุป

‘สิทธิทำแท้งปลอดภัย’ ความจำเป็นของคนจนเมือง

นุชนารถ แท่นทอง นักเคลื่อนไหวจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวถึง ความจำเป็นของสิทธิทำแท้งปลอดภัยสำหรับคนจนเมือง โดยเล่าประสบการณ์ในอดีตของตน ในฐานะวัยรุ่นที่เคยอาศัยในชุมชนแออัดและเผชิญปัญหา ‘ท้องไม่พร้อม’ 

“ถ้าพูดเรื่องการทำแท้งกับคนจนเมือง พูดเลยว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสังคมมักจะตีตราคนสลัมว่าไม่ติดยา ก็ท้องไม่พร้อม เดี๋ยวม.1 ม.2 มันก็มีผัว มีลูกมาให้พ่อแม่มันเลี้ยง

“เมื่อก่อนเราท้อง โดยที่เราไม่พร้อมเหมือนกัน ตอนนั้นเรารู้สึกกลัว ในสมัยนั้นพ่อแม่ก็ไม่ยอมรับ คนในชุมชนยิ่งไม่ยอมรับใหญ่ ก็เลยซื้อขับเลือดมากินเอง แต่กินไป 1 สัปดาห์ก็เหมือนจะไม่ได้ผล เลยตัดสินใจบอกแม่ ปรากฎว่าแม่รู้ก่อนแล้ว เพราะแม่ได้ยินข่าวจากคนในชุมชน แค่รอให้เรามาบอกด้วยตัวเอง ตอนนั้นแม่ไม่พูดอะไร แต่ลางานเพื่อพาเราไปทำแท้ง เราประทับใจแม่เรามาก แม่บอกว่าแม่ไม่ถามหรอกว่าใครเป็นพ่อเด็ก เพราะว่าแม่เคยเงี่ยนมาก่อน คำนี้ไม่ได้หยาบนะคะ แต่มันคือเรื่องจริง”

นักเคลื่อนไหวในประเด็นที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง กล่าวว่า เด็กในชุมชนแออัดที่ท้องไม่พร้อมนั้นไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถปรึกษาใครได้ เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะท้อง บางคนถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมาด้วยซ้ำ ซึ่งก็มีเคสให้เห็นอยู่ทุกวัน

“คนชอบพูดว่าการทำแท้งมันบาป เราขอถามหน่อย แต่ถ้าเด็กเกิดมาแล้ว คุณไม่มีปัญญาเลี้ยงให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งนั้นไม่บาปกว่าหรือ” ตัวแทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาคกล่าวทิ้งท้าย    

อนึ่ง 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ให้คำปรึกษาก่อนยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 และจะมีผลหลังจากนี้ 30 วันนับแต่วันประกาศ โดยวางแนวปฏิบัติ รองรับมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดให้ หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่หญิงนั้นต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้หญิงนั้นได้รับข้อมูลที่รอบด้านก่อนการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท