ทนายชี้ คำพิพากษายกฟ้อง 'ประยุทธ์' ปมออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่สามารถเป็นบรรทัดฐานสิทธิ-เสรีภาพของประชาชน

หลังศาลเเพ่งยกฟ้อง 'พล.อ.ประยุทธ์ - พวก' กรณีถูกผู้ชุมนุมฟ้องคดีออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชี้เป็นการใช้อำนาจรักษาความมั่นคงของรัฐ ไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุ ทนายมองศาลเน้นความมั่นคงเป็นหลัก และโควิดเป็นรอง รวมทั้งไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานของประชาชนในการใช้สิทธิและเสรีภาพ พร้อมระบุยังต้องมีการอุทธรณ์และฎีกาต่อไป 

28 ก.ย.2565 จากเมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก พิพากษายกฟ้อง ในคดีที่นักกิจกรรมและนักศึกษา รวม 7 คน ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ช่วงระหว่างวันที่ 15-22 ต.ค. 2563 โดยที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงดังกล่าวเป็นการประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสาเหตุในการประกาศเพียงพอ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจในการสลายการชุมนุม ประกาศปิดสถานที่และระบบขนส่งมวลชน จับกุมประชาชน สื่อมวลชน และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงห้ามการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน

คดีดังกล่าวเมื่อ 22 ต.ค. 2563 ศาลแพ่งมีคำสั่งรับฟ้องคดีที่นิสิตนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 คนเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรณีละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็น และขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

สุทธิเกียรติ คชโส ทนายความฝ่ายโจทก์ ระบุว่าสาระสำคัญของคำร้องมีอยู่สองส่วน ส่วนแรกคือการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม. และประกาศของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ว่าชอบหรือไม่ และส่วนที่สองคือการเรียกค่าเสียหาย

ในส่วนของการออกประกาศ ศาลบอกว่าเนื่องจากมีประชาชนออกมาชุมนุมและมีการกระทำต่อขบวนเสด็จ และยังมีเหตุการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศอยู่แล้ว ศาลจึงเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะกระทบกับความมั่นคง จึงมีการออกประกาศดังกล่าวซึ่งเป็นเหตุที่ออกได้ และต่อมา ประกาศดังกล่าวก็ถูกยกเลิกในวันที่ 22 ต.ค. ซึ่งมีเวลาใช้งานเป็นระยะเวลาสั้นๆ จึงถือว่ามีความเหมาะสมและใช้เท่าที่จำเป็นแล้ว

ในส่วนของประกาศคำสั่ง ผบ.ตร. เป็นการออกคำสั่งที่สอดคล้องกับประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่งมีระยะเวลาบังคับใช้ชั่วคราวและใช้เท่าที่จำเป็น และเมื่อเหตุการณ์ยุติลง มีการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง คำสั่งดังกล่าวก็มีการยกเลิกไปตาม ศาลวินิจฉัยว่าไม่มีเหตุเพียงพอให้เพิกถอนตามฟ้อง

ในส่วนของค่าสินไหม ศาลระบุว่ามาตรา 9 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ประกาศใช้ทั่วประเทศได้กำหนดเงื่อนไขหลายประการ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงใน กทม. เป็นการใช้เหตุผลอยู่ในเงื่อนไขของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ประกาศได้ โจทก์ก็ยังสามารถใช้สิทธิ เสรีภาพได้ และไม่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

การประกาศของ ผบ.ตร. ที่ปิดกั้นเส้นทางเดินทาง ปิดถนน ห้ามใช้รถไฟฟ้าในบางสถานี ศาลเห็นว่าการประกาศนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับโจทก์ทั้งเจ็ดคน แต่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป การไม่ให้ใช้การขนส่งสาธารณะไม่ได้กระทบกับการชุมนุม เพราะการชุมนุมก็สามารถกระทำได้ การที่รถไฟฟ้าหยุดการให้บริการนั้นก็เป็นเพียงในบางสถานีเท่านั้น อาจจะไม่สะดวกในการเดินทางบ้าง แต่ก็ยังสามารถเดินทางด้วยเส้นทางอื่นหรือวิธีการอื่นได้ ในส่วนที่มีคำสั่งให้ตรวจสอบสื่อ ก็เป็นการตรวจสอบเฉพาะรายการบางรายการ แม้ต่อมากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จะขอให้ระงับการดำเนินการสื่อจำนวนหนึ่ง แต่ศาลก็ยกคำร้อง จึงไม่ได้เป็นการละเมิดอะไร

ในด้านความเสียหายทางร่างกายและสุขอนามัย ที่โจทก์ที่หนึ่งบอกว่าโดนจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติงานโดยกลั่นแกล้ง ต่อมาศาลดุสิตยกฟ้อง จึงไม่มีการละเมิดในส่วนการแจ้งข้อกล่าวหา ส่วนโจทก์ที่ 2-7 ศาลเห็นว่าไม่มีความเสียหายชัดเจน บางคนไม่ได้โดนน้ำฉีด แต่โดนละอองน้ำ ซึ่งเมื่อล้างน้ำแล้ว อาการก็สามารถทุเลาและหายได้ในวันต่อไป ศาลจึงไม่ได้มองว่ามีความร้ายแรงถึงขั้นที่จะเรียกค่าเสียหายได้ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการฉีดน้ำ ก็ดำเนินการไปตามที่กฎหมายกำหนด มีการปฏิบัติตามขั้นตอนของคู่มือตำรวจตามหลักสิทธิมนุษยชน และเครื่องมือที่ใช้ก็สอดคล้องกับคู่มือและขั้นตอนปฏิบัติแล้ว และการอ้างว่ามีอาการหวาดผลาจากการสลายการชุมนุม ศาลมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลเกินกว่าเหตุ

สุทธิเกียรติมองว่า การพิพากษาในวันนี้ ศาลวินิจฉัยโดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงเป็นหลัก และเรื่องโควิด-19 เป็นเรื่องรอง คำพิพากษาในวันนี้ไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานของประชาชนในการใช้สิทธิและเสรีภาพ แต่เป็นบรรทัดฐานกับรัฐในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงในลักษณะนี้อีกโดยการใช้เหตุผลเดิม คำพิพากษาในวันนี้ยังมีความหมายว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในวันนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย

ทนายโจทก์ระบุว่าคำพิพากษาวันนี้มาจากศาลชั้นต้น ยังต้องมีการอุทธรณ์และฎีกาต่อไป โดยตามกฎหมายจะสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในหนึ่งเดือน แต่ก็ต้องดูสถานการณ์ก่อนว่าจะได้ยื่นอุทธรณ์วันไหน เพราะต้องรอคำพิพากษาที่เป็นทางการก่อน

ต่อคำถามว่าผู้พิพากษาคดีในวันนี้มีการปรึกษากับผู้บริหารศาลก่อนจะอ่านคำพิพากษาหรือไม่นั้น สุทธิเกียรติตอบว่า วันนี้ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังค์ตามปกติ คดีวันนี้ถือว่าเป็นคดีสำคัญ เพราะผู้ถูกฟ้องเป็นนายกรัฐมนตรี โดยหลักแล้ว ร่างคำพิพากษาที่ศาลเอามาอ่านจะถูกเสนอต่อรองอธิบดีก่อนเพื่อให้แก้ข้อความที่ยังผิดอยู่ ซึ่งก็เป็นข้อความเล็กๆ น้อยๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท