Skip to main content
sharethis

'วิโรจน์' หนุน กทม. ชนกระทรวงการคลังขึ้นภาษีที่ดินปลูกกล้วยเลี่ยงภาษี มติชนออนไลน์ระบุแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เบรก ชัชชาติ รีดภาษีที่ดิน 15 เท่า หลัง 'แลนด์ลอร์ด; แสร้งปลูกกล้วย หวั่นลักลั่น ขัดกฎหมาย

28 ก.ย.2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานต่อสื่อมวลชนว่า จากข่าวที่กระทรวงการคลังเบรกชัชชาติขึ้นภาษีที่ดินนายทุนแสร้งปลูกกล้วยเลี่ยงภาษี วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่า กทม. พรรคก้าวไกล ได้ออกมาประกาศพร้อมสนับสนุนแนวคิดของ กทม. ในการขึ้นภาษีที่ดินให้เป็นธรรม

วิโรจน์กล่าวว่า รู้กันอยู่ว่าการปลูกกล้วย ปลูกมะนาว บนพื้นที่ผังเมืองโซนสีแดงเพื่อการพาณิชยกรรมใจกลางเมือง หรือโซนสีม่วงเพื่อการอุตสาหกรรม นั้นมีเจตนาเพื่อหลบเลี่ยงภาษีที่ดินเรื่องแบบนี้ปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะในปี 2566 นี้ กทม. มีประมาณการในการจัดเก็บภาษีที่ดินไว้ต่ำมากเพียงแค่ 7,710 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งๆ ที่ควรจะจัดเก็บได้ 18,000 ล้านบาทนำซ้ำหากนำไปเทียบกับปี 2562 ในสมัยที่ยังเป็นภาษีโรงเรือน ที่จัดเก็บได้ 15,000 ล้านบาท  ภาษีที่ดินที่ กทม. ประมาณการว่าจะจัดเก็บไปในปี 2566 ก็ยังต่ำกว่าปี 2562 เป็นเท่าตัว

“แล้ว กทม. จะเอางบประมาณที่ไหนมาปรับปรุงและพัฒนาระบบระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม จะเอางบที่ไหนมาปรับปรุงทางเท้าถนนหนทาง ความปลอดภัย จะเอางบที่ไหนมาปรับปรุงการจัดเก็บขยะ จะเอางบที่ไหนมาปรับปรุงดูแลสวนสาธารณะ จะเอางบที่ไหนมาส่งเสริมการศึกษาดูแลเด็กๆ”
.
“สถานการณ์ในตอนนี้นายทุนอสังหาริมทรัพย์ที่รวยล้นฟ้า จงใจซอยที่ดินเอาไปปลูกกล้วย กลับจ่ายภาษีที่ดินถูกลง แต่ประชาชนตาดำๆ ในชุมชนดั้งเดิม ที่เช่าที่วัดมาจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัย กลับถูกรีดภาษีที่ดินเพิ่มขึ้นนี่คือความไม่เป็นธรรม ที่เกิดขึ้น” วิโรจน์กล่าว

ส่วนในกรณีที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ออกมาเบรกไม่ยอมให้ผู้ว่าชัชชาติทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยอ้างว่าอาจจะขัดกับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ พ.ศ.2562 วิโรจน์กล่าวว่าไม่ว่าแหล่งข่าวระดับจากกระทรวงการคลังเป็นใคร แต่เรื่องนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ในฐานะ รมว.คลัง จะอ้างว่าไม่รู้ คงจะไม่ได้ และถ้าไปอ่าน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ให้รอบคอบ จะพบว่ากฎหมายฉบับนี้ ได้เขียนนิยามของ "ที่ดินรกร้าง" ไว้ครอบคลุมมาก ไม่ได้หมายความแค่ที่ดินที่ถูกทิ้งร้างเท่านั้น แต่หมายรวมถึง ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามควรแก่สภาพด้วย

“ผมยืนยันว่า สิ่งที่ผู้ว่าชัชชาติกำลังทำอยู่ คือ สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม แต่ความพยายามในการขัดขวางของกระทรวงการคลังต่างหาก ที่อาจเข้าข่ายเป็นการตีความ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ แบบข้างๆ คูๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนอสังหาริมทรัพย์”

“ก็ต้องถามไปยัง รมว.คลัง แบบตรงไปตรงมาว่า รัฐบาลนี้มีนโยบายสนับสนุนให้นายทุนปลูกกล้วยเพื่อหลบเลี่ยงภาษีที่ดินใช่หรือไม่ สรุปแล้วภาษีที่ดิน มีไว้รีดภาษีจากคนจน เพื่อบีบให้คนจนขายที่ดิน ให้กับนายทุน ใช่ไหม”

“ผมยืนยันว่า อ.ชัชชาติ กำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผม และพรรคก้าวไกล พร้อมสนับสนุนผู้ว่าชัชชาติ แบบสุดตัว การที่ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ท่านหนึ่ง ที่มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกมาแสดงท่าทีว่าจะยอมถอยในเรื่องนี้ ผมคิดว่าถอยไม่ได้ครับ ถ้าเจอปัญหาอะไรกับรัฐบาล พรรคก้าวไกลพร้อมเป็นแรงหนุนช่วยชนเรื่องนี้กับกระทรวงการคลังเต็มที่” วิโรจน์กล่าว

โดยมติชนออนไลน์รายงานวันนี้ (28 ก.ย.)โดยอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้พิจารณากรณีกรุงเทพมหานคร(กทม.) จะปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเภทที่ดินเกษตรกรรมแยกย่อยตามโซนผังเมืองรวม ได้แก่ โซนสีแดงที่ดินประเภทพาณิชยกรรม โซนสีน้ำตาลที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก โซนสีม่วงที่ดินประเภทอุตสาหกรรม และโซนสีเม็ดมะปรางที่ดินประเภทคลังสินค้า ในกรณีเจ้าของนำที่ดินมาปลูกกล้วย มะม่วง มะนาว เพื่อให้เข้าเกณฑ์เกษตรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะปรับอัตราเพิ่มจากปัจจุบันเก็บในอัตรา 0.01-0.1% เป็นเก็บเต็มเพดาน 0.15% หรือจากล้านละ 100 บาท เป็นล้านละ 1,500 บาท ในเบื้องต้นน่าจะไม่สามารถดำเนินการได้

เนื่องจากคณะกรรมการฯ มองว่าเป็นการเก็บภาษีประเภทใหม่ อาจจะขัดกับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใน 4 ประเภท ได้แก่ ที่ดินเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย ที่ดินใช้ประโยชน์อื่นๆ และที่ดินรกร้างว่างเปล่า อีกทั้งจะทำให้เกิดความลักลั่นของแต่ละพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตามหาก กทม. ต้องการจะเดินหน้าต่อ ก็สามารถส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เพื่อให้ตีความว่าสามารถทำได้หรือไม่ หรือกทม.จะปรับอัตราจัดเก็บเพิ่มแบบเป็นขั้นบันไดก็ได้ เพราะกฎหมายสามารถให้ท้องถิ่นทำได้อยู่แล้ว เช่น ปัจจุบันเก็บในอัตรา 0.01-0.1% อาจจะปรับเป็น 0.02-0.15% เป็นต้น

เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หากคณะกรรมการฯไม่เห็นด้วยกับโมเดลของกทม. ถือว่าจบ เนื่องจากสิ่งที่ กทม.เสนอนั้น เพื่อต้องการจัดเก็บภาษีที่ดินเฉพาะที่ดินในโซนสีแดงกลางเมืองที่นำมาทำเกษตรกรรม เช่น ปลูกกล้วย เพราะเราคิดว่าเจ้าของที่ดินไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะทำเกษตรจริงๆ และหากจะให้กทม.ปรับอัตราเป็นขั้นบันไดนั้น จะกระทบกับที่ดินเกษตรกรรมทั้งหมด รวมถึงคนที่ทำเกษตรกรรมจริงๆ ด้วย ซึ่งกทม.คงจะปรับแบบนั้นไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net