Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษายกฟ้อง “ทิวากร วิถีตน” ในความผิดคดีมาตรา 112 จากกรณีใส่เสื้อยืดที่มีข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ชี้ หลักฐานโจทก์ไม่สามารถยืนยันได้ว่า จำเลยดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย องค์พระมหากษัตริย์

 

29 ก.ย. 2565 ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษายกฟ้อง “ทิวากร วิถีตน” ในความผิดคดีมาตรา 112 จากกรณีที่เขาใส่เสื้อยืดเขียนข้อความว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” พร้อมทั้งเขียนข้อความลงบนเฟซบุ๊ก

สำนักข่าว The Isaander รายงานว่า ตอนหนึ่งของคำพิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่นตัดสินว่า “หลักฐานโจทก์ ไม่สามารถยืนยันได้ว่า จำเลยดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย องค์พระมหากษัตริย์”

ขณะที่ทิวากร ระบุว่า “แปลกใจเหมือนกัน เพราะผมคิดว่า ผมโดนแน่ ถือว่าเหนือความคาดหมาย นี่ เมตตาจริงหรือเปล่าเนี่ย”

คดีนี้เกิดจากการที่เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2563 ทิวากรใส่เสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ที่สั่งซื้อมา ไปไร่และไปเดินตลาด ซึ่งเจ้าตัวระบุว่า ไม่มีใครต่อว่าหรือทักท้วงเสื้อตัวนี้แม้แต่คนเดียว จนกระทั่งเขาถ่ายรูปตัวเองใส่เสื้อดังกล่าวลงบนเฟซบุ๊ก โดยเขียนคำอธิบายระบุว่า “หมดศรัทธา ไม่ได้แปลว่า ล้มเจ้า หมดศรัทธา มันคือความรู้สึกที่อยู่ในใจ ที่มีต่ออะไรสักอย่าง ในทำนองเดียวกับ หมดรัก, หมดเยื่อใย, หมดใจ, หมดความไว้ใจ” ทำให้มีคนมาแสดงความเห็นจำนวนมาก และวันที่ 19 มิ.ย. 2563  มีเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน. 2 นายเดินทางไปที่บ้านของเขา โน้มน้าวให้เลิกใส่เสื้อยืดดังกล่าว ก่อนที่ต่อมาทิวากรจะถูกฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และ พรบ.คอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ ทิวากรยังเคยถูกนำตัวส่งไปอยู่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์นานกว่าครึ่งเดือน นอกจากนี้ ทิวากรยังถูกดำเนินคดีมาตรา 116 อีกหนึ่งคดี จากการสร้างแคมเปญบนเว็บไซต์ change.org เพื่อชวนคนมาร่วมลงชื่อและลงประชามติว่า จะคงไว้หรือยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย

 

สรุปคำพิพากษาคดีใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว”

จากการสังเกตการณ์คดีของ iLaw ระบุว่า ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษายกฟ้องทิวากรในทุกข้อกล่าวหา ทั้งกระทำความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวม 3 กรรม โดยการกระทำความผิดกรรมแรกเขายังถูกฟ้องในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ด้วย การโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก 2 กรรม และการโพสต์ภาพตัวเองสวมเสื้อสกรีนข้อความ "เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” หนึ่งกรรม 

ทิวากรเดินทางมาที่ห้องพิจารณา 9 ศาลจังหวัดขอนแก่นก่อนเวลา 9.00 น. โดยสวมเสื้อยืดสีแดงมีหมายเลข 112 เวลา 9.30 น. ศาลจังหวัดขอนแก่นเริ่มอ่านคำพิพากษาซึ่งพอสรุปความได้ว่า

พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยโพสต์รูปภาพและข้อความตามฟ้องบนเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยตั้งค่าเป็นสาธารณะที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปดูได้

โจทก์มีพยาน เช่น พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตย์ เบิกความว่าตนเองกับพวก พบรูปภาพและข้อความดังกล่าวจึงรายงานผู้บังคับบัญชา จากนั้นผู้บังคับบัญชามอบหมายให้พ.ต.ท.สุรัตน์ ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย

ในความเห็นของพ.ต.ท.สุรัตน์ การที่จำเลยสวมเสื้อพิมพ์ข้อความตามฟ้องและโพสต์ภาพลงในเฟซบุ๊กพร้อมเชิญชวนบุคคลอื่นให้สวมเสื้อดังกล่าว อาจทำให้มีบุคคลมาแสดงความคิดเห็นในลักษณะดูหมิ่นและหรือกระทำการละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริ และที่จำเลยโพสต์ข้อความตามฟ้องอีกสองข้อความ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า พระมหากษัตริย์ก้าวล่วงในการใช้อำนาจ พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจที่จะยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่มีอำนาจที่จะปล่อยตัวแกนนำได้ การปล่อยตัวแกนนำเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนหรือศาล

นอกจากนั้นโจทก์มีวิไลวรรณ สมโสภณ อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย เบิกความว่าข้อความของจำเลยเป็นการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อตัววิไลวรรณอ่านแล้ว ทราบว่าจำเลยมุ่งถึงองค์พระมหากษัตริย์ และมีพ.อ.เชาวลิต แสงคํา กอ.รมน. จังหวัดขอนแก่น เบิกความว่าจำเลยมุ่งโพสต์ข้อความถึงองค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 และลดความน่าเชื่อถือของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ส่วนอำนาจปล่อยตัวแกนนําไม่ใช่อํานาจของพระมหากษัตริย์ แต่เป็นอำนาจของกระบวนการยุติธรรม

โจทก์ยังมีผศ.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ มาเบิกความว่า ข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” คําว่า “สถาบันกษัตริย์” มีความหมาย 2 อย่าง คือหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน และอีกความหมายหนึ่งหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันและในอดีต ซึ่งรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย

คําว่า “หมดศรัทธา” หมายถึง เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่สิ่งที่ดีงาม เลวทราม การที่บอกว่าไม่ศรัทธา แสดงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่แย่มาก ซึ่งเป็นการกระทําที่ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดจะละเมิดพระมหากษัตริย์มิได้ ในความเห็นของอานนท์ การสวมเสื้อแสดงต่อสาธารณะและการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลยเป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์หรือหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

พิเคราะห์แล้วนอกจากพยานโจทก์ปากผศ.อานนท์ไม่มีพยานโจทก์ปากอื่นใดเบิกความว่าภาพและข้อความตามฟ้องจะชักชวนให้คนรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งเมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยลงทั้งหมด ก็ไม่ปรากฎให้เห็นเป็นเช่นนั้น

ส่วนรูปภาพและข้อความดังกล่าวจะเป็นข้อความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือไม่นั้น ข้อความที่จำเลยโพสต์ไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความหรือผู้ถูกดูหมิ่น ในลักษณะที่เป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงบุคคลโดยตรง การใส่ความหรือการดูหมิ่นนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

เมื่อข้อความและรูปภาพของจำเลยเป็นการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งผศ.อานนท์ ก็เบิกความยืนยันว่า สถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทํางานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราชโองการ ประกาศสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลายพระองค์ การที่จำเลยโพสต์ภาพและข้อความตามฟ้องโดยไม่ได้ระบุถึงการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ให้รู้ได้โดยแน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง จึงไม่เข้าข่ายการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พิพากษายกฟ้อง

หลังฟังคำพิพากษา ทิวากรกล่าวว่า “ผมคิดว่าผมคงโดนลงว่าผิดแน่ๆ แต่คำพิพากษาออกมาก็แปลกใจเหมือนกัน ถือว่าเหนือความคาดหมาย” ก่อนหน้านี้ทิวากรเคยประกาศว่าเขาจะไม่ขอประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์หากศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก เพื่อให้สังคมได้เห็นถึงความเลวร้ายของการใช้กฎหมายฉบับนี้

ขณะที่พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความของทิวากรให้ความเห็นว่าคำพิพากษาในคดีนี้เป็นความปกติที่ควรจะเป็นในคดี มาตรา 112 “คำพิพากษาครั้งนี้ เป็นการกลับสู่ความปกติอย่างที่ศาลควรจะพิพากษาในคดี ม. 112 เราในฐานะคนเรียนกฎหมายก็ต้องการแค่นี้ คิดว่าศาลน่าจะใช้ความกล้าหาญพอสมควรในการตัดสินคดีนี้ แต่เชื่อว่า อัยการจะอุทธรณ์คดีแน่”

 

 

มีการเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนของ สรุปคำพิพากษาคดีใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” จาก iLaw วัน 29 ก.ย. 2565 เวลา 14.37 น. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net