#ทวงคืนน้ำพริกปลาทู บทสะท้อนการแก้ปัญหาประมงที่ (ไม่) ไปไหนของรัฐบาลไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลายคนคงทราบกันดี เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (EU) เรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งนับว่าเป็นการเตือนให้รัฐไทยเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมประมง ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานในเรือประมง หรือความไม่เท่าเทียมระหว่างกลุ่มชาวประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ซึ่งกลุ่มหลังมักเข้าไม่ถึงสิทธิเท่าที่ควร  

หลังจากนั้นรัฐไทยได้เร่งแก้ปัญหาจากการได้รับใบเหลือง เห็นได้ชัด คือ การประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรการประมงในรูปแบบใหม่ ซึ่งถือเป็น “ยาแรง” ที่ส่งผลกระทบต่อชาวประมงในวงกว้าง หลังจากนั้นในช่วงปี 2562 ถึงแม้สหภาพยุโรปได้มีมติปลดใบเหลือง IUU ที่ให้กับประเทศไทย แต่ปัญหาในภาคการประมงของไทยกลับไม่ได้หายไปและยังคงเห็นได้ชัดจากการเรียกร้องของชาวประมง โดยเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้าน 

“การเดินทางไกล 1,079 กิโลเมตร เพื่อทวงคืนน้ำพริกปลาทู” คือ ชื่อหนังสือบันทึกเรื่องราวของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยที่เดินทางโดยใช้เรือประมงจากจังหวัดปัตตานีจนถึงกรุงเทพมหานครเพื่อกดดันให้รัฐบังคับใช้มาตรา 57 ของ พระราชกำหนดการประมง 2558 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกำหนดขนาดสัตว์น้ำที่ชาวประมงสามารถจับได้ โดยข้อเรียกร้องมุ่งประเด็นไปที่ให้รัฐบังคับใช้มาตรา 57 เพื่อกำหนดขนาดสัตว์น้ำบางชนิด โดย “ปลาทู” เป็นหนึ่งในนั้น 
    
#ทวงคืนน้ำพริกปลาทู จึงกลายเป็นสัญลักษณ์สำหรับการต่อสู้ของสมาคมสมาพันธ์ฯ ในช่วงเวลานี้ ซึ่งต้องการปกป้องการจับปลาทูขนาดเล็กที่ยังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (หรือวัยที่ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้) กล่าวในอีกแง่หนึ่งชาวประมงพื้นบ้านไม่เพียงปกป้องอาชีพตนเองเท่านั้น แต่ยังพยายามต่อสู้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้ทรัพยากร ซึ่งสะท้อนว่าทุกควรมีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะอยู่ในสถานะใด 

ทว่า สาเหตุของที่ทำให้สัตว์น้ำลดลงยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง บางกลุ่มเชื่อว่าเกิดจากการจับสัตว์น้ำของเรือประมงพาณิชย์ที่เน้นปริมาณการจับมากกว่าการจับแบบยั่งยืน หรือจับสัตว์น้ำที่ยังไม่ได้ขนาด บางกลุ่มเชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพอากาศ และอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และยังมีบางกลุ่มที่เชื่อว่าเกิดผลกระทบจากการทำอุตสาหกรรมอย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อถกเถียงที่กำลังเกิดขึ้น อย่างเข้มข้น ชาวประมงพื้นบ้านยังคงได้รับผลกระทบเนื่องจากทรัพยากรลดลงอย่างต่อเนื่องและการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐ ถึงแม้ที่ผ่านมารัฐไทยมักนำเสนอว่าสถานการณ์ประมงของประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะได้รับการการปลดใบเหลือจากสหภาพยุโรป เพราะการปลดใบเหลืองไม่ได้แสดงให้เห็นว่าปัญหาทางด้านการประมงในประเทศจะหมดไป  นอกจากนี้ หากใครติดตามสถานการณ์ด้านการประมงไทยในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา จะพบว่ามีการเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐรับข้อเสนอจากชาวประมงบ่อยครั้ง

อนึ่ง เนื้อหาในบทความนี้เป็นเพียงข้อสังเกตของผู้เขียนที่มีต่อการแก้ไขปัญหาทางด้านการประมงของรัฐไทยที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่ไปไหน 

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็น “คนนอก” ซึ่งเฝ้าดูสถานการณ์ด้านการประมงของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและได้เห็นภาพเจ้าหน้าที่รัฐสกัดไม่ให้ตัวแทนของเครือข่ายสมาคมสมาพันธ์ฯ เข้าไปหาผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งอยู่ในทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามข้อเสนอ สะท้อนว่าการจัดการทรัพยากรการประมงของรัฐ นอกจากจะไร้ประสิทธิภาพ ยังไม่เปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นธรรม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท