Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หนังสั้นสะท้อนสังคมหรือที่สอนคุณธรรมพบเห็นกันมากขึ้นตาม YouTube และ  Facebook ในช่วง 5 ปีมานี้ ซึ่งเป็นการผลิตของหลายเเหล่ง บ้างก็จดทะเบียนเป็นบริษัท บ้างก็เป็น Youtuber หรือเพจที่มีคนติดตามมาก หลายที่อาจยิงโฆษณามาให้เห็นถึงหน้าฟีดเลย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ โดยเนื้อหาหลักแล้ว หนังพวกนี้กลับนำเสนอประเด็นจริยธรรมเพื่อความสะใจที่คนชั่วถูกลงโทษ และยังส่งเสริมเรื่องชนชั้น มากกว่าจะตั้งคำถามกับคุณธรรมจริงๆ และมองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างไป เช่น

(1) สาวสวยแต่งตัวดี มาสมัครงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง เเต่เธอไม่ให้เกียรติคนสวน ด่ายามรักษาความปลอดภัย ดูถูกพนักงานขณะที่นั่งรอสัมภาษณ์ สุดท้ายหนังก็เฉลยว่า แท้จริงแล้วคนสวนคือเจ้าของบริษัท หรืออีกเรื่องก็พูดถึงคนจนแต่งตัวเป็นยามมาสมัครงาน แต่ถูกคนอื่นที่มาสมัครด้วยดูถูกเพราะความยากจน สุดท้าย ผู้จัดการก็รับเขาเข้าทำงาน เพราะดูจากกล้องวงจรปิดก็เห็นพฤติกรรมที่เขาถูกกลั่นแกล้งแต่ยังมีความอดทน หนังจบด้วยการสั่งสอนจริยธรรมเช่น ควรเป็นคนดี ไม่มองคนที่ภายนอก ฯลฯ

ดูผิวเผิน หนังดูเหมือนจะสะท้อนคุณธรรมว่า คนดีย่อมได้ดี ฟ้ามีตาเสมอ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกบริษัทจะทำแบบนั้น อาจไม่มีผู้จัดการคนไหนลงทุนปลอมตัวขั้นนั้นด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยคนดูรู้สึกสะใจกับการที่พวกคนชั่วเหล่านั้นถูกปฏิเสธเข้าทำงาน ในเรื่องนี้ “ตัวละครเอกไม่ใช่แค่หนุ่มยากจนคนนั้น” หากแต่ยังเป็น “เจ้าของบริษัทที่เป็นรวยแต่ทำตัวติดดิน” คนรวยที่ติดดินดูจะได้รับเกียรติและน่าจดจำกว่าคนจนที่ทำตัวติดดิน คือหนังไม่ได้สอนว่า “เราควรมองมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน” แต่สอนว่า “จะทำอะไรให้ระวังหน่อย เพราะคนรวย/เจ้านายอาจปลอมตัวมาสอดส่องในร่างของคนจนข้างถนนก็ได้” มันเป็น “จริยธรรมของการจับจ้อง” มากกว่า “การเคารพ/ให้เกียรติเพื่อนมนุษย์”

(2) ประเด็นความกตัญญูก็คล้ายกัน หลายเรื่องนำเสนออาชีพโสเภณี นักแสดงหนังเกย์ หรือคนทำ Onlyfans เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า เขาจำต้องทำอาชีพแบบนี้เพราะต้องเลี้ยงน้องที่กำลังเรียน พ่อเเม่ที่กำลังป่วยและไม่มีค่ารักษาอยู่ข้างหลัง เหมือนจะสื่อว่า อย่าเพิ่งตัดสินคนพวกนี้ว่าเป็นคนเลว หากแต่เพราะเขากตัญญูต่างหาก และถ้าเลือกได้ เขาก็ไม่มาทำอาชีพพวกนี้หรอก

ประเด็นคือ การนำเสนอในมิตินี้ได้ตัดเหตุผลอื่นๆ ของการทำอาชีพนี้ทิ้งไป นั่นหมายความว่า ถ้าน้องไม่เรียน พ่อแม่ไม่ป่วย เขาไม่มีสิทธิทำอาชีพพวกนี้หรือ และไม่เคยตอบคำถามว่า อาชีพพวกนี้ไม่ดีอย่างไร หนังคุณธรรมแบบไทยจึงเป็นคุณธรรมแบบอนุรักษ์นิยม เชื่อตามจารีต ไม่ได้ตั้งคำถามกับสิ่งนั้นๆ แค่ผลิตซ้ำความเชื่อเก่าๆ มาขาย และทำหน้าที่เป็นศัตรูกับประเด็นเรื่องสิทธิ ไม่มีประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพมาให้พิจารณา มันเลยยากเวลาต้องไปผ่านกฎหมายโสเภณีหรือ พรบ.ชีวิตคู่เป็นต้น 

หนังสะท้อนปัญหาจริยธรรมแบบอนุรักษ์นิยมส่วนบุคคล โดยไม่ตั้งคำถามถึงการบริหารงานของรัฐเชิงโครงสร้าง เช่น ทำไมพวกเรายังต้องยากจนและเงินเดือนน้อย ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่นเกาหลีใต้ ทำงานเท่ากันแต่ได้เดือนละ 50,000 บาท ทำไมน้องเราไม่เรียนฟรี ไม่มีรถโรงเรียนมารับ/ส่งถึงหน้าบ้านแบบที่ดูในหนังฝรั่ง/ญี่ปุ่น ทำไมพ่อแม่เราต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองโดยไม่มีสวัสดิการจากรัฐ ทั้งที่เราก็จ่ายภาษี (ผ่านการซื้อของในชีวิตประจำวัน เป็นต้น) มีแต่ข้าราชการที่ได้สิทธินั้น 

หรือจริงๆ แล้ว คุณธรรม/จริยธรรมแบบไทยๆ มันเป็นได้เเค่เรื่องดราม่า ใช้เสพเพื่อความบันเทิงจากการทำงานหนักในแต่ละวัน เน้นสะใจที่ตัวร้ายต้องรับกรรม เอาไว้แชร์ไปด่า/สอนคนอื่นที่เราเกลียดอย่างอ้อมๆ และปลอบใจตัวเอง/สร้างจินตนาการว่าโลกนี้จะงดงามน่าอยู่ถ้าเทวดาหรือคนรวยปลอมตัวมาช่วยพวกเราในยามลำบาก โดยไม่ต้องตั้งคำถามว่าสิ่งนั้นดี/ไม่ดีจริงไหม ปมปัญหามาจากเรื่องรัฐ/การเมือง สิทธิ/เสรีภาพไหม ?

ถ้าสมมติฐานนี้ถูก ก็ไม่แปลก เวลามีคนใช้สิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์ระบบโครงสร้าง เพื่อให้คนได้มีชีวิตที่ดีขึ้นหรือเข้าถึงสวัสดิการเสมอกัน มักจะถูกด่าว่าไม่มีคุณธรรม ไม่เคารพจารีต เพราะคุณธรรมแบบไทยมักอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับสิทธิเสรีภาพ สิทธิเสรีภาพไม่สามารถนำไปสู่ความดีหรือคุณธรรมได้ เพราะคุณธรรมคือการรักพ่อแม่ ดูแลครอบครัว ซื่อสัตย์สุจริต และก้มหน้าทำงานต่อไป เดี๋ยวผลบุญจะมาช่วยเอง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net