สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 24-30 ก.ย. 2565

ชี้ตลาดงานอาเซียนไร้สัญญาณ 'ลาออกครั้งใหญ่' หลังโควิด

"กระแสการลาออกระลอกใหญ่" หรือ “The Great Resignation” ที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงช่วงที่สถานการณ์คลี่คลายและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว องค์กรจำนวนมากโดยเฉพาะในฝั่งตะวันตกเผชิญปัญหาที่พนักงานจำนวนมากลาออกจากงานจนนำไปสู่ปัญหาในการทำธุรกิจ

แม้ว่ากระแสการลาออกระลอกใหญ่จะยังไม่ปรากฏชัดในอาเซียนแต่ก็เป็นคำถามที่น่าสนใจว่าในจะเกิดปรากฏการณ์ลักษณะเดียวกันหรือไม่ เพราะหากเกิด The Great Resignation ขึ้นย่อมส่งผลกระทบไม่เพียงแต่กับองค์กร แต่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้ด้วย

"โรเบิร์ต วอลเทอร์ส" บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับมืออาชีพที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเปิดเผยรายงานการสำรวจเรื่องกระแสการลาออกครั้งใหญ่ในอาเซียนว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน โดย ได้เก็บข้อมูลจากพนักงาน 2,600 คน จากและฝ่ายดูแลการสรรหาบุคลากรในบริษัทต่างๆกว่า 1,100 แห่งใน 6 ประเทศทั่วอาเซียน ได้แก่ อินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์สประจำประเทศไทย กล่าวว่าจากผลสำรวจพบภายหลังจากการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 กระแสการลาออกระลอกใหญ่อาจไม่เกิดขึ้นจริงในอาเซียน เนื่องจากพบว่าพนักงานต่างให้ความสำคัญกับความมั่นคงของงานในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน โดยมากกว่าครึ่งหรือประมาณ 59% ให้ข้อมูลว่ารู้สึกไม่สบายใจที่จะลาออกโดยที่ยังไม่สามารถหางานใหม่ได้ และ 81% ของผู้ที่คิดที่จะลาออกยินดีที่จะเปลี่ยนใจหากเงื่อนไขที่บริษัทเดิมที่ตนทำงานอยู่ตรงกับความต้องการ

ทั้งนี้จากผลการสำรวจยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าในช่วงที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 พนักงานกว่า 79% เคยคิดเรื่องการลาออกหรือเปลี่ยนงาน แต่ในปัจจุบันพนักงานส่วนใหญ่ประมาณ 42% ยังทำงานอยู่ที่เดิม โดยมาเลเซียมีสัดส่วนของพนักงานที่คิดลาออกสูงที่สุดในปีที่ผ่านมา คือที่ 82% รองลงมาคือสิงคโปร์ 80% และไทย 80% โดยพนักงานกว่า 50% ในไทยที่ตอบแบบสอบถามว่ามีความคิดที่จะลาออก แต่ในปัจจุบันยังคงทำงานอยู่ที่เดิม

อย่างไรก็ตามพบว่ามีพนักงาน 43% กำลังมองหางานใหม่และมีความมั่นใจในตลาดงานที่เปิดกว้างขึ้น โดยเงื่อนไขที่พนักงานจะพิจารณาการทำงานในการย้ายงานใหม่นอกจากเรื่องค่าตอบแทน และสวัสดิการ คือเงื่อนไขที่เกี่ยวกับคุณค่าของการทำงาน นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งองค์กรที่สามารออกแบบในเรื่องนี้ได้ดีก็สามารถที่จะทำให้พนักงานเปลี่ยนใจยังทำงานอยู่ในที่เดิมได้

ปุณยนุช กล่าวต่อว่าการจ้างพนักงานใหม่ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งพบว่า 76% ของบริษัทประสบปัญหาดังกล่าวในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีช่องว่างในการรับรู้เกี่ยวกับความพยายามของบริษัทในการรักษาพนักงานไว้ เนื่องจาก 40% ของพนักงานไม่ได้รู้สึกว่าบริษัทจะมีมาตรการในการสร้างความผูกพันและใส่ใจในข้อกังวลต่างๆของพนักงาน แม้ว่าบริษัทจะพยายามทำในเรื่องสวัสดิการและค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นก็ตาม

สำหรับภาพรวมของประเทศไทยพบว่าโอกาสที่จะเกิดการลาออกใหญ่ของพนักงานยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน โดยพบว่าแม้จะมีความคิดที่จะลาออก 80% แต่กว่า 50% ไม่ได้ลาออกจากที่ทำงานเดิม โดยเหตุผลหลัก กว่า 58% พนักงานยังไม่เจองานใหม่ที่เหมาะสมกับตนเองและเส้นทางอาชีพในอนาคต รองลงมา 58% ยังไม่มั่นใจที่จะลาออกหากยังไม่มีงานที่ใหม่รองรับ โอกาสในสายวิชาชีพของตนมีจำกัด 32% ยังคงกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในที่ทำงานใหม่ 24%

ทั้งนี้แม้พนักงานจะยังตัดสินใจทำงานในที่ทำงานเดิมแต่ก็ได้มีการค้นพบความสำคัญของการรักษาบาลานซ์ระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงานในช่วงที่เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดย 83% มองว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ กว่า 67% ให้ความสำคัญกับเวลาครอบครัวครัวและเพื่อนฝูง 58% ให้ความสำคัญกับสุขภาพและจิตใจที่สงบ และ 51% ให้ความสำคัญกับ คุณค่าในงาน การได้รับอิสระในงาน และความสำเร็จในอาชีพการงาน

อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงแนวโน้มที่มีต่อมุมมองตลาดงานและความต้องการเปลี่ยนงานในปี 2566 พนักงานถึง 78% ที่มีความมั่นใจเกี่ยวกับโอกาสในการทำงานที่ใหม่ตามตลาดงานที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ที่บางตำแหน่งงานยังขาดแคลนโดยเฉพาะในตำแหน่งงานด้านดิจิทัล ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ขณะที่ 75% ของพนักงานกำลังมองหางานใหม่ โดยเงื่อนไขของการเลือกสถานที่ทำงานจากการสำรวจพบว่าการมีนโยบายทำงานแบบผสมผสาน และยืดหยุ่น จากทำงานที่มีคุณค่า การเพิ่มเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง รวมทั้งการเปลี่ยนขอบเขตงานและหน้าที่ความรับผิดชอบ นอจากนั้นยังให้ความสำคัญเรื่องของแบรนด์ดิ้ง และวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละบริษัทด้วย

“ตลาดการจ้างงานจะมีการแข่งขันสูงกว่าที่เคยเป็นมา มองหากลยุทธ์การสรรหาที่มากกว่าการเสนอค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดี และมีนำเสนอแนวทางใหม่ในการสร้างความผูกพันพนักงาน นอกจากนี้ การสร้างแบรนด์นายจ้างที่ยอดเยี่ยมยังคงต้องดำเนินต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้สมัครได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทแล้ว” ปุณยนุช กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 30/9/2565

ก.แรงงาน กระชับความร่วมมือ รมว.สาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ญี่ปุ่น เจรจาขยายตลาดแรงงาน

29 ก.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าพบนายคาโตะ คัทซึโนบุ (Mr. KATO Katsunobu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ญี่ปุ่น เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ และขอบคุณที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น ได้ให้การสนับสนุนกระทรวงแรงงานในด้านต่าง ๆ และทั้งสองฝ่ายยินดีจะสนับสนุนภารกิจที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ณ ห้องรับรองกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ญี่ปุ่น

นายสุชาติกล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีสำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว ทำหน้าที่ขยายตลาดแรงงานและคุ้มครองแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ญี่ปุ่น

ในวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ญี่ปุ่น เปิดโอกาสให้เข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ญี่ปุ่น ที่ได้ดำเนินการตามความตกลงด้านแรงงาน ได้แก่ บันทึกความร่วมมือโครงการฝึกปฏิบัติงานทางเทคนิคในญี่ปุ่น และบันทึกความร่วมมือด้านข้อมูลพื้นฐานเพื่อการจัดระบบและการพำนักของแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ

รวมทั้งขอบคุณที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการร่วมกันพัฒนาทักษะแรงงานไทย การขยายตลาดแรงงานไทยในญี่ปุ่น โดยกระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นยินดีที่กระทรวงแรงงานของไทยจะสนับสนุนให้มีคนไทยเข้าไปฝึกงานและทำงานในสาขาทักษะเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีความพร้อมในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมในสาขาที่ญี่ปุ่นมีความต้องการ

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายสำคัญที่จะส่งเสริมให้แรงงานไทยมีโอกาสทำงานในต่างประเทศมากขึ้น ในส่วนของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2564 มีแรงงานไทยแจ้งความประสงค์จะมาทำงานที่ญี่ปุ่นจำนวน 3,867 คน มากเป็นอันดับ 4 รองจากอิสราเอล เกาหลีใต้ และไต้หวัน

แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นเป็นตลาดสำคัญที่แรงงานไทยต้องการจะมาทำงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานมีความพร้อมที่จะขยายตลาดแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่น ทั้งการพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้มีคุณสมบัติทั้งทักษะอาชีพและภาษาตามที่ญี่ปุ่นกำหนด

นายสุชาติกล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานมาตรฐานแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ญี่ปุ่น ที่ให้ความคุ้มครองแรงงานไทยในประเทศญี่ปุ่น ในเรื่องการให้คำปรึกษาการช่วยเหลือและตรวจเยี่ยมผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคและแรงงานไทย ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นที่ดูแลแรงงานไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือในการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการจัดทำความตกลงประกันสังคม ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือให้สามารถดำเนินการสำเร็จลุล่วงอันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกันตนต่อไปด้วย

นายคาโตะ คัทซึโนบุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ญี่ปุ่น กล่าวว่า ในนามรัฐบาลญี่ปุ่นขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของไทยและคณะที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะกระชับความร่วมมือด้านแรงงานในวันนี้ แรงงานไทยมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่น

เนื่องจากปัจจุบันมีคนไทยมาฝึกปฏิบัติงานทางเทคนิคและมีแรงงานไทยเดินทางมาทำงานในประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ส่วนประเด็นข้อหารือต่าง ๆ ในวันนี้จะได้ประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 29/9/2565

ราชกิจจาฯ ประกาศข้อบัญญัติกรุงเทพฯ "แจกโบนัส" ให้ขรก.-ลูกจ้าง 4 กลุ่ม

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง การให้เงินรางวัลประจำปีแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 ลงนามโดย "นายชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

โดยที่เป็นการสมควรตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยการให้เงินรางวัลประจำปีแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 และมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ

กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร จึงตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ1 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้เรียกว่า"ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การให้เงินรางวัลประจำปีแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565"

ข้อ 2 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การให้เงินรางวัลประจำปีแก่ลูกจ้างกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2557

บรรดาข้อบัญญัติ ข้อบังคับ กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอื่นใดซึ่งขัดหรือแย้งในส่วนที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ได้ตราไว้แล้ว ให้ใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้แทน

ข้อ 4 ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้

"เงินรางวัลประจำปี" หมายความว่า เงินที่กรุงเทพมหานครเบิกจ่ายให้เป็นค่าตอบแทนแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร โดยพิจารณาจากผลการปฏิบัติราชการในรอบปีของปีงบประมาณนั้น

"หน่วยงาน" หมายความว่า หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร และส่วนราชการตามประกาศกรุงเทพมหานครว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการภายในหน่วยงานและการกำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร

"ข้าราชการกรุงเทพมหานคร" หมายความว่า ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญและข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานครตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร

"ลูกจ้างกรุงเทพมหานคร" หมายความว่า ลูกจ้างกรุงเทพมหานครตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร

ข้อ 5 กรุงเทพมหานครอาจจัดให้มีเงินรางวัลประจำปีแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานคร และลูกจ้างกรุงเทพมหานคร โดยต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารงานบุคคลและงบประมาณ รายจ่ายประจำปีประกอบด้วย ทั้งนี้ ต้องไม่เกินอัตราตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคล ส่วนท้องถิ่นกำหนด

ข้อ 6 การจัดสรรเงินรางวัลประจำปี ให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานครแต่งตั้ง

ข้อ 7 การจัดสรรเงินรางวัลประจำปี ให้จัดกลุ่มข้าราชการกรุงเทพมหานครและลูกจ้าง กรุงเทพมหานครเป็น 4 กลุ่ม โดยกำหนดค่าน้ำหนักการจ่ายเงินรางวัล ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ประเภทบริหาร ระดับต้นและระดับสูง ประเภทอำนวยการ ระดับต้นและระดับสูง ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญและระดับทรงคุณวุฒิ ประเภททั่วไป ระดับทักษะพิเศษ และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร วิทยฐานะเชี่ยวชาญและวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ให้ได้รับค่าน้ำหนักการจ่ายเงินรางวัลไม่เกินกึ่งหนึ่ง ของอัตราเงินเดือนที่ได้รับ

กลุ่มที่ 2 ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ประเภทวิชาการ ระดับช านาญการพิเศษ ประเภททั่วไป ระดับอาวุโส และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร วิทยฐานะ ชำนาญการพิเศษ ให้ได้รับค่าน้ำหนักการจ่ายเงินรางวัลไม่เกินหนึ่งเท่าของอัตราเงินเดือนที่ได้รับ

กลุ่มที่ 3 ข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการและ ระดับชำนาญการ ประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงานและระดับชำนาญงาน ข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษากรุงเทพมหานคร วิทยฐานะชำนาญการ ครูและครูผู้ช่วย ให้ได้รับค่าน้ำหนักการจ่ายเงินรางวัล ไม่เกินหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราเงินเดือนที่ได้รับ

กลุ่มที่ 4 ลูกจ้างกรุงเทพมหานครทุกประเภท ให้ได้รับค่าน้ำหนักการจ่ายเงินรางวัลไม่ต่ำกว่า หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของอัตราค่าจ้างที่ได้รับ การกำหนดค่าน้ำหนักการจ่ายเงินรางวัลของแต่ละกลุ่มให้คำนึงถึงมาตรฐานและความเป็นธรรม ของข้าราชการกรุงเทพมหานครและลูกจ้างกรุงเทพมหานครด้วย โดยการพิจารณากำหนดค่าน้ำหนัก การจ่ายเงินรางวัลให้ถือความเห็นของคณะกรรมการตามข้อ 6 เป็นที่ยุติ

ข้อ 8 หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และการเบิกจ่ายเงินรางวัลประจำปีให้แก่ข้าราชการ กรุงเทพมหานครและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร ตามข้อ5 ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานครกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(1) การจัดสรรเงินรางวัลประจำปีจะต้องคำนึงถึงผลการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ ทั้งในระดับหน่วยงานและระดับบุคคล โดยจะต้องมีเกณฑ์ตัวชี้วัดที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

(2) มีกลไกให้ความเป็นธรรมในการตรวจสอบความถูกต้องของการจัดสรรเงินรางวัลประจ าปี ให้แก่ข้าราชการกรุงเทพมหานครและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร

(3) ระยะเวลาการปฏิบัติราชการขั้นต่ำของข้าราชการกรุงเทพมหานครและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร ที่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลประจำปี

ข้อ 9 การเบิกจ่ายตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ ให้หน่วยงานเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณ รายจ่ายประจำปี ทั้งนี้ ให้ถือปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ คำสั่งของกรุงเทพมหานคร

ข้อ 10 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรักษาการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ และให้มี อำนาจออกข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้

ประกาศ ณ วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2565

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ที่มา: TNN, 29/9/2565

เปิด e-Service ระบบสิทธิคนพิการ ม.35 ใช้บริการได้ถึง 31 ธ.ค. 2565

28 ก.ย. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ยกระดับการให้บริการประชาชนผ่านบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ รับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีดิจิทัล แพลตฟอร์ม ควบคู่กับการขจัดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการสร้างโอกาสที่เท่าเทียม ให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ สามารถเข้าถึงโอกาส มีงาน มีรายได้ พึ่งพาตนเองได้ตามศักยภาพ ตามนโยบาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน

โดยล่าสุดกรมการจัดหางานได้เปิดให้บริการระบบการให้สิทธิและขอรับสิทธิสำหรับผู้พิการตามมาตรา 35 ผ่านเว็บไซต์ e-service.doe.go.th ซึ่งเป็นศูนย์รวมบริการออนไลน์ทุกระบบของกรมการจัดหางาน อาทิ ระบบไทยมีงานทำ ให้บริการสำหรับผู้ต้องการหางานทำ หรือนายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการหาคนทำงาน ระบบขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงาน และระบบจัดหางานต่างประเทศ โดยนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและคนพิการที่ประสงค์จะใช้สิทธิตามมาตรา 35 สามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2565

“ระบบ e-Service การให้สิทธิและขอรับสิทธิสำหรับผู้พิการตามมาตรา 35 จะช่วยให้ทั้งนายจ้าง/สถานประกอบการและผู้พิการ สามารถแจ้งการให้และรับสิทธิได้สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อมาติดต่อราชการ สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ตลอด 24 ชม. ไม่เว้นวันหยุดราชการ และยังป้องกันปัญหาการขอรับสิทธิซ้ำซ้อน ด้วยระบบการจับคู่ (matching)

โดยผู้พิการที่ขอรับสิทธิ สามารถเลือกประเภทสิทธิที่ต้องการขอรับในระบบ และนายจ้าง/สถานประกอบการ เลือกให้สิทธิกับผู้พิการที่มีความประสงค์รับสิทธิในประเภทสิทธิตรงกันได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 35 กำหนดให้นายจ้าง/สถานประกอบการ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ประสงค์จะจ้างงานคนพิการ และไม่ประสงค์ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถเลือกให้สิทธิตามมาตรา 35 แทนได้ โดยมูลค่าของสัญญาต้องไม่น้อยว่า 114,245 บาทต่อปี แบ่งเป็น 7 ประเภทสิทธิ โดยต้องขออนุญาตจากกรมการจัดหางานก่อนดำเนินการ ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคมของแต่ละปี ได้แก่ 1.การให้สัมปทาน 2.จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ 3.จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือ จ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ 4.ฝึกงาน 5.จัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก 6.ล่ามภาษามือ 7.การให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ

“การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐมาช่วยจะทำให้เกิดความสะดวกแก่นายจ้าง สถานประกอบการ และผู้พิการ ในส่วนภาครัฐก็สามารถให้บริการประชาชนและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งสำหรับนายจ้าง สถานประกอบการที่ต้องการให้สิทธิ และผู้พิการที่ต้องการขอรับสิทธิหากไม่สามารถดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เพื่อช่วยดำเนินการได้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 28/9/2565

แรงงานไทยในสวีเดนร้อง เก็บเบอร์รี่ไม่ได้เงินตอบแทน ขณะบริษัทนายหน้าบอกทำทุกอย่างตามเงื่อนไข

ไม่ได้รับเงินเดือน และได้หนี้สินติดตัวกลับบ้าน คือปัญหาที่แรงงานไทยหลายสิบคนในประเทศสวีเดนเผชิญ หลังจากมาทำงานเก็บเบอร์รี่ตั้งแต่เดือน ก.ค. อย่างไรก็ดี บริษัทนายหน้าหางานของแรงงานกลุ่มนี้ย้ำ ทำทุกอย่างตามเงื่อนไข

ล่าสุด ทางสหภาพแรงงานในสวีเดนได้พูดคุยกับบริษัทนายจ้างแล้ว โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด และแรงงานไทยที่เห็นว่าตนไม่ได้รับค่าจ้างตามเงื่อนไขสามารถร้องเรียนกรมจัดหางานได้

ในเบื้องต้น แรงงานกลุ่มนี้ติดต่อขอความช่วยเหลือไปที่ จิตรา คชเดช นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน และผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM ซึ่งอาศัยอยู่ในสวีเดน จิตราเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่าแรงงานหลายสิบคน มีกำหนดเดินทางกลับไทยวันที่ 28 ก.ย. นี้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับความชัดเจนเรื่องค่าตอบแทนจากนายจ้างแต่อย่างใด

ที่มา: BBC Thai, 29/9/2565

อนุมัติงบกลาง 986 ล้าน หนุนค่าตอบแทนบุคลากรการแพทย์-สธ.เพิ่มเติม

27 ก.ย.2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ 2 รายการ ประกอบด้วย

1) งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น วงเงิน 986.452 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขกลุ่มต่างๆ ที่สนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วในช่วงเดือน ต.ค. 64 - มิ.ย. 65 และได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 65 วงเงิน 12,123.109 ล้านบาท แต่ไม่เพียงพอ จึงได้จัดสรรงบกลาง เพิ่มเติมในครั้งนี้

สำหรับโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ และได้รับการจัดสรรงบเพิ่มเติมในครั้งนี้มี 5 โครงการ ประกอบด้วย

1. โครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่:กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

2. โครงการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด19 ของกรมการแพทย์

3. โครงการจ่ายค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานบริการรองรับผู้ป่วยโควิด19 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

4. โครงการจ่ายค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานบริการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 ของกรมสุขภาพจิต

5. โครงการสนับสนุนการจัดบริหารทางการแพทย์และสาธารณสุขรองรับการระบาดของโควิด19 ของกรมอนามัย

2) งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 365.681 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโรคโควิด19 สำหรับหน่วยบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2565

ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีขึ้นตามลำดับแต่กระทรวงสาธารณสุขมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมพร้อมในการรับมือและป้องกันโรคโควิด-19 ที่อาจยังมีการระบาดในระดับคลัสเตอร์ขนาดเล็ก ปานกลางหรือใหญ่ให้อยู่ภายใต้การควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องจัดหายารักษาโควิด-19 ให้ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในในทุกระดับ

โดยในเดือน มี.ค. 65 กระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรงบประมาณงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 1,795.71 ล้านบาท

เพื่อดำเนินการจัดซื้อยารักษาโควิด-19 และดำเนินการเบิกจ่ายเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่เพียงพอจึงได้จัดทำโครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 สำหรับหน่วยบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และขอรับสนับสนุน เงินงบประมาณ 365.681 ล้านบาทข้างต้น

สำหรับวงเงินงบประมาณ 356.681 ล้านบาท จะจัดซื้อยารักษาโควิดประกอบด้วย การจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ 25.739 ล้านเม็ด วงเงินรวม 355.031 ล้านบาท ยาโมลนูพิราเวียร์ 1.03 ล้านเม็ด วงเงิน 10.493 ล้านบาท และยาเรมเดซิเวียร์ 1,220 ขวด วงเงิน 156,648 บาท

ที่มา: Thai PBS, 27/9/2565

ปธ.สมานฉันท์แรงงานไทย ชี้ค่าแรงขึ้น 5% บะหมี่ฯ ขึ้น 20%

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2565 ที่ห้องประชุมมูลนิธิอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ คณะหลอมรวมประชาชน นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา และกลุ่มประเทศไทยต้องมาก่อน จัดงานเสวนา “นับหนึ่งประเทศไทย ด้วยอธิปไตยของปวงชน หลัง 30 กันยายน”

เมื่อเวลา 14.00 น. นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวเสวนาว่า การมาร่วมกันในวันนี้ตนเชื่อว่าทุกคนมีเป้าหมาย ส่วนหลังวันที่ 30 กันยายนจะเป็นอย่างไรนั้นมันก็คิดได้ทั้งสองทาง ทั้งทางบวกและทางลบ แต่ตนคิดว่าระยะเวลาที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีมานั้น ไม่ได้มีเรื่องโกรธหรือเกลียดเป็นการส่วนตัว เพียงแต่เราคือคนส่วนใหญ่ของสังคม ถูกชนชั้นปกครองหลายยุคหลายสมัยกระทำการจนทำให้พวกตนลำบากมากในขณะนี้

“จากสิ่งที่เราพยายามเรียกร้อง เสรีภาพ ภารดรภาพ เสมอภาค ซึ่งเป็นหลักการใหญ่ของประชาธิปไตย แต่ในทางความเป็นจริงเราไม่เคยสัมผัสได้ถึงสิ่งเรานั้น หรืออาจะสัมผัสได้เพียงชั่วคราว ชั่ววูบ และท้ายที่สุดเราก็ต้องมาเริ่มกันใหม่ จนถึงสถานการณ์วันนี้ตนคิดว่าจากระบบการเมืองการปกครอง ที่ปกครองประเทศนี้มาอย่างยาวนานก็แจ่มชัดว่าประเทศนี้เป็นประเทศทุนเสรีนิยมผูกขาดโดยทุนกลุ่มใหญ่ชัดเจนมาก ดังนั้น คิดว่าสิ่งที่ชัดเจนและตอกย้ำมากคือระยะเวลาในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันประชาชนยากลำบากมาก ก่อนมาที่นี่ได้พูดคุยกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มเกษตรกรถึงเรื่องทิศทางของประเทศไทยและอนาคตของลูกหลานที่จะเติบโตในวันข้างหน้า พวกเราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพูดและทำในสิ่งที่คิดว่าคนอื่นกระทำไม่ถูกต้องและย่ำยีต่อเรา ในวันนี้นั้นทรัพย์ในดิน สินในน้ำถูกยึดครองโดยกลุ่มทุนทั้งหมดภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล อดีตที่ผ่านมาก็ใช่แต่วันนี้มันหนักกว่านั้น รัฐบาลไม่ทำอะไรเลย นั่งวางเฉยโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลบอกว่าเป็นพรรคร่วมไม่สามารถก้าวล่วงได้ ผู้แทนทั้งหลายบอกว่าจะทำหน้าที่เพื่อประชาชนแต่ท้ายที่สุดบอกว่าเป็นเรื่องของพรรคอื่นไม่อยากยุ่งเกี่ยวเพราะเสียมารยาททางการเมือง” นายสาวิทย์กล่าว

ในตอนหนึ่งนายสาวิทย์ กล่าวว่า การขึ้นค่าจ้างที่เพิ่งประกาศล่าสุด 354 บาท ขึ้นจาก 336 บาท ขึ้นมา 5-6% ใยขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นจากราคาจากเดิมถึง 20% เพราะไม่ได้สนใจชีวิตของพี่น้องประชาชนปล่อยให้จนต่อไปเพื่อจะได้ปกครองง่าย และสุดท้ายก็กู้เงินมาแจกตามบัตรสวัสดิการต่างๆ วันนี้พวกเราจนจนได้ประกาศนียบัตร โดยที่รัฐบาลนั่งภูมิใจที่มีคนขึ้นทะเบียนคนจนได้ 15 ล้านคน

“นี่คือความเหลื่อมล้ำจนทำให้ประเทศไทยวันนี้จากระยะเวลาการบริหารประเทศมา ความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก ดังนั้นแน่นอนที่สุด สิ่งที่กำหนดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นอยู่ที่การเมือง เราอยู่ในภาวะที่ต้องดิ้นรนขวนขวายเลี้ยงตัว ระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้เลยทำให้สังคมในวันนี้ปั่นป่วน ความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก ถ้าเราจะปล่อยให้ประเทศเป็นแบบนี้ต่อไปคงยาก ดังนั้นผมคิดว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาประชาชนจึงจำเป็นที่จะต้องหาแนวทางที่เป็นวิธีคิดหรือสร้างอธิปไตยของประชาชนขึ้นมา แน่นอนที่สุดว่ามันไม่ได้ง่าย แต่ถ้าเราละทิ้งมัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เราก็จะหายไป เพราะฉะนั้น การต่อสู้ในครั้งนี้หรือครั้งต่อๆไปหรือที่แล้วมาทั้งหมด ผมเชื่อว่าเราต่อสู้เพื่อปกป้องอนาคตของตัวเองและลูกหลานของเราที่จะเกิดมาในวันครั้งหน้า” นายสาวิทย์ กล่าว

นายสาวิทย์ กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าการขับเคลื่อนต่อจากนี้ไปเป็นเรื่องสำคัญและมีเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น การเคลื่อนไหวก็มีความเห็นต่างอยู่ก็ต้องยอมรับ แต่วันนี้คณะหลอมรวมประชาชนก็ยังยืนหยัดต่อสู้อยู่ ตนคิดว่าในมิตินี้คนจ้องอยู่ว่าการขับเคลื่อนในครั้งนี้มันมีทิศทางอย่างไร ซึ่งตนมองว่าคณะหลอมรวมประชาชนตั้งตนได้ถูกที่เริ่มจากปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน นี่คืออธิปไตย ถ้าเราคิดว่าเราถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพไปเราก็ต้องทวงคืนกลับมา จะเร็วหรือช้าอยู่ที่พลังของพี่น้องประชาชนทั้งหมด

ที่มา: มติชนออนไลน์, 26/9/2565

ก.แรงงาน รับสมัครชายไทยไปทำงานภาคเกษตรที่อิสราเอล ผ่านโครงการ TIC

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานจะเปิดรับสมัครและคัดเลือกคนหางานเพื่อไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย – อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน” (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC) ครั้งที่ 17 ตำแหน่งคนงานภาคเกษตร (เพศชาย) ทางเว็บไซต์ toea.doe.go.th ระหว่างวันที่ 26 ก.ย. – 5 ต.ค. 2565 เงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือ ประมาณ 56,946 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ วันที่ 21 ก.ย. 2565) มีระยะเวลาการจ้างงานตามสัญญาจ้าง 2 ปี ต่อได้ไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน โดยจะต้องมีประสบการณ์ทำงานภาคการเกษตร

“แรงงานไทยเป็นที่ต้องการของนายจ้างอิสราเอลมาโดยตลอด แม้ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ยังคงต้องการแรงงานไทยไปทำงานเกษตร เพราะคนไทยทำงานได้ดี มีทักษะ และความรับผิดชอบ ซึ่งกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแรงงานไทยให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศมาอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสมีงานทำ มีรายได้ ได้ รับประสบการณ์และทักษะจากการทำงานในต่างประเทศมาต่อยอดพัฒนาตนเอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติคนหางานเพื่อไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือไทย – อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน” (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC) ครั้งที่ 17 มีดังนี้

1.เพศชาย สัญชาติไทย

2.พ้นภาระการรับราชการทหาร

3.อายุ 23 – 39 ปี (เกิดระหว่างวันที่ 26 ก.ย. 2526 –วันที่ 5 ต.ค. 2542)

4.ไม่มีประวัติอาชญากรรม ประวัติการใช้ยาเสพติด และติดแอลกอฮอล์

5.ไม่เคยทำงานในประเทศอิสราเอล ไม่มีคู่สมรส บุตร หรือบิดาและมารดาพำนักอยู่ในประเทศอิสราเอล

6.สุขภาพแข็งแรง ตาไม่บอดสี ไม่เป็นโรคติดต่อ ไม่เสพสารเสพติด หรือเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

7.ต้องมีประสบการณ์ทำงานภาคการเกษตร

นายไพโรจน์ กล่าวว่า การรับสมัครในครั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยวิธีรัฐจัดส่ง ผู้สมัครไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการสมัคร เว้นแต่ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางไปทำงานในรัฐอิสราเอล ในกรณีที่ได้รับการคัดเลือก โดยมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินประมาณ 71,020 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน) แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง เช่น ค่าธรรมเนียมการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมค่าธรรมเนียมการขอรับหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเที่ยวเดียวจากประเทศไทยไปยังอิสราเอล ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด เป็นต้น และ 2.ค่าใช้จ่ายหลังจากเดินทางไปถึงตามกฎหมายแห่งรัฐอิสราเอล

ทั้งนี้ หากมีผู้แอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้ได้รับการคัดเลือกเพื่อไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอลได้ โปรดอย่าหลงเชื่อ แต่ขอให้แจ้งและตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 26/9/2565

เปิดฝึกอบรมไรเดอร์ สร้างอาชีพ มีงานทำ เพิ่มรายได้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดฝึกอบรมโครงการส่งเสริมอาชีพผู้ประกอบอาชีพผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในการขนส่งสินค้าหลักสูตร "การจัดส่งสินค้าด้วยรถจักรยานยนต์" โดยมี หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบุรี เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องลีลาวดี ชั้น 2 อาคาร 10 วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของท่านพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน และผู้ได้รับผลกระทบทางอาชีพจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างยิ่ง จึงมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานดูแลให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น ด้านการจัดหางาน ด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ด้านหลักประกันความมั่นคงในชีวิต รวมทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพ ให้เหมาะสมกับความต้องการตลาดแรงงาน สร้างโอกาสการมีงานทำ มีรายได้

สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานเพชรบุรีจัดขึ้นเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์ในการขนส่งสินค้า(Rider) ให้แก่ผู้สนใจเข้าฝึกอบรม จึงเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพจากธุรกิจให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ซึ่งเติบโตมากในยุคปัจจุบัน สามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริม เพื่อสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 26/9/2565

'Shopee' ปรับใหญ่ทั่วภูมิภาค หั่นพนักงานในไทยลง ชี้ 'ปรับ' เพื่อ 'ไปต่อ'

แหล่งข่าวภายในบริษัท ช้อปปี้ ประเทศไทย (Shopee) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า Shopee กำลังมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ทั่วภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดยุทธศาสตร์หลัก ที่จะมีปรับโครงสร้างให้องค์กรมีความคล่องตัว และสามารถสร้างการเติบโตในระยะยาวได้ด้วยตัวเอง

โดยจะมีการปรับลดพนักงานในไทยลงใน "จำนวนเปอร์เซ็นต์เป็นตัวเลขหลักเดียว" ซึ่งยืนยันว่า การปรับลดพนักงานครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานโดยภาพรวมของบริษัท

“ในบริษัทได้มีการทาวน์ฮอลล์ พนักงานรวม ชี้แจงถึงการปรับแผนดำเนินงานของ Shopee ซึ่งจะมีผลกระทบกับพนักงานบางส่วน ซึ่งรวมถึงพนักงานในไทย โดยในไทย จะมีการปรับลดพนักงานลงคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ตัวเลขหลักเดียว ซึ่งผู้บริหารให้เหตุผลว่า เป็นการปรับขนาดทีมลง และอยู่ในแผนงานของ Shopee ในภูมิภาคนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการปรับลดพนักงานที่อินโดนีเซียลง การปรับครั้งนี้ เพื่อให้ช้อปปี้ดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และไปต่อได้”

แหล่งข่าว ยืนยันว่า การลดพนักงานลงครั้งนี้ จะไม่กระทบถึงภาพรวมการดำเนินงานของ Shopee ในประเทศไทยอย่างไร ทุกอย่างยังคงเดินหน้าต่อ โดยปัจจุบัน Shopee มีพนักงานในไทยราว 1 พันคน

แหล่งข่าว กล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน ตลาดอีคอมเมิร์ซมีการแข่งขันกันดุเดือด การปรับทีมให้มีความคล่องตัว จึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ความสำคัญกับการทำกำไรในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ Shopee ไปอยู่ในจุดที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้

“ Shopee ต้องปรับรูปแบบ รัดเข็มขัด ต้องให้ self sufficient เป็นการปรับรูปแบบโครงสร้างองค์กรใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพให้มีระบบนิเวศน์ที่แข็งแกร่งในระยะยาว แต่ยืนยันว่า การดำเนินงานหลัก จะไม่รับผลกระทบ และประเทศไทย ยังคงเป็นตลาดยุทธศาสตร์หลักของ Shopee และจะไม่ยุบหน่วยงาน หรือบริการใดๆ ลง เพราะมั่นใจว่า ธุรกิจของช้อปปี้ ยังไปได้ต่ออย่างมั่นคง และยั่งยืน การปรับครั้งนี้ เพื่อเป็นการวางแผนการเติบโตในระยะยาว” แหล่งข่าว กล่าว

จากข้อมูลใน creden data ระบุว่า ช้อปปี้ ประเทศไทย มีรายได้รวม ปี 2564 ที่ 13,322,184,294 บาท เติบโตปีต่อปีที่ 129.19% แต่มีตัวเลขขาดทุนอยู่ที่ 4,972,561,566 บาท

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 26/9/2565

ผลสำรวจพฤติกรรมคนไทย "แอปสั่งอาหาร-สินค้าออนไลน์" ลดพนักงาน หลายเจ้าปิดตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์หลัง HappyFresh แพลตฟอร์มซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ (e-Grocery) ได้ประกาศปิดตัวลงหลังจากทำตลาดในประเทศไทยมากว่า 7 ปี หรือ แอปสั่งอาหาร ShopeeFood , Foodpanda ก็กำลังขาดทุนและต้องลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงาน และอาจสื่อให้เห็นพฤติกรรมของคนไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

ในช่วงก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มซื้อสินค้าออนไลน์ , ช็อปปิ้งออนไลน์ หรือ การสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่ เป็นที่นิยมในประเทศไทยเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จึงมีบริษัทหรือสตาร์ทอัปเข้ามาสนใจลงทุนในประเทศไทย แต่ในขณะนี้มีสัญญาณบางอย่างที่ทำให้แพลตฟอร์มอาจต้องปรับตัวครั้งใหญ่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้พูดถึง Food Delivery ว่ามีสัญญาณชะลอตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ดัชนีชี้วัดปริมาณการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ในช่วงครึ่งแรกปี 2565 อาจจะให้ภาพที่ไม่เร่งตัวเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2564 เท่าใดนัก แต่คงจะขยายตัวได้ราว 19% จากปัจจัยเรื่องฐานที่ต่ำในช่วงปีก่อน โดยในช่วงต้นปี 2565 เริ่มปรากฏสัญญาณที่สะท้อนถึงการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในด้านความถี่ ราคา และประเภทอาหารที่สั่ง

ซึ่งหากมองต่อไปในช่วงข้างหน้า ซึ่งมีผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้ามาเพิ่มเติม ทำให้ไม่เพียงแต่ต้นทุนธุรกิจจะขยับสูงขึ้นโดยที่การปรับราคาอาหารคงทำได้จำกัด แรงกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ยังอาจส่งผลกระทบต่อการใช้บริการ และยอดคำสั่งซื้อของผู้บริโภค ยกตัวอย่างเคส Happy Fresh ที่ได้ประกาศปิดตัวลงในประเทศไทย ซึ่งหากย้อนดูตัวเลขรายได้ เราก็จะพบยอดตัวเลขที่แม้จะมีรายได้สูง แต่บริษัทขาดทุนหลายร้อยล้านบาท

ปี 2562 มีรายได้รวม 299 ล้านบาท ขาดทุน 74.5 ล้านบาท

ปี 2563 มีรายได้รวม 336 ล้านบาท ขาดทุน 76.7 ล้านบาท

ปี 2564 มีรายได้รวม 300 ล้านบาท ขาดทุน 166 ล้านบาท

ซึ่งคู่แข่งในตลาด e-Grocery ที่เป็นการฝากซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตได้มีทั้ง GrabMart , pandamart , LINEMAN Mart , freshket หรือแบรนด์อื่นๆอีกมากที่เร่งกันทำการตลาดซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ โดยตัวซุปเปอร์มาร์เก็ตเองก็พยายามทำแอปพลิเคชั่นของตัวเองและทำการส่งสินค้าเพื่อบริการลูกค้าด้วย

ดังนั้น Happy Fresh จึงมีคู่แข่งที่หนาแน่นรอบตัว อีกทั้งยังเจอพิษเศรษฐกิจจากโรคระบาดและสงครามรัสเซีย ยูเครน อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งต้นทุนที่สูงขึ้น อัตราการสั่งซื้อลดน้อยลงเนื่องจากรายได้ที่เท่าเดิม แต่ค่าครองชีพสูงขึ้น

สัญญานนี้ได้ทำให้เห็นว่าคนไทย ยังคงมีพฤติกรรมในการสั่งซื้ออาหาร , ซื้อของซุปเปอร์มาร์เก็ตด้วยตัวเองอยู่ และมีส่วนน้อยที่เลือกใช้แอปพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ แม้ HappyFresh จะโชว์จุดเด่นด้านการเลือกซื้ออาหารที่ใส่ใจรายละเอียด แต่ด้วยความไม่คุ้นเคยที่จะต้องไปซื้อด้วยตัวเอง ก็ยังต้องรอเวลาที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยให้เข้าใจถึงความสะดวกสบายของการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม

ย้อนกลับมาดูที่แอปพลิเคชั่นสั่งอาหารอย่าง ShopeeFood และ ShopeePay เราได้เห็นการปลดพนักงานไปกว่า 50% เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน ไม่นานมานี้ เนื่องด้วยการขาดทุนรวมของค่าขนส่งและการตลาดที่ทุ่มเทโปรโมชั่นเพื่อเอาใจลูกค้า นั่นเป็นตัวเลขกว่า 810 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.8 หมื่นล้านบาท

แอปฯสั่งอาหารคู่แข่งอย่าง Foodpanda ก็ได้ปลดพนักงานเพื่อหวังลดภาระค่าใช้จ่าย เช่นกัน และนี่อาจทำให้เห็นว่าแพลตฟอร์มต่างๆ เริ่มทยอยที่จะมีรายได้ลดตัวลงเนื่องจากพฤติกรรมของคนไทยที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ได้เผยว่า ความถี่ในการสั่งอาหารจากแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารต่อเดือนเฉลี่ยปรับลดลงมาเป็น 5 ครั้งต่อเดือน จาก 6 ครั้งต่อเดือน ในช่วงก่อนหน้าที่มีมาตรการควบคุมการระบาด เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนกลับไปใช้บริการนั่งทานในร้านและซื้อกลับหลังการเปิดให้กิจกรรมต่างๆ ดำเนินการได้มากขึ้น รวมถึงมาตรการรัฐได้หมดลง

สังเกตได้จาก Grab , Robinhood ต้องเสริมโปรโมชั่นมากขึ้นและศึกสงครามของฟู้ดเดลิเวอรี่ครั้งนี้อาจต้องใช้ทุนมหาศาลในการสนับสนุนร้านค้าและลูกค้าด้วยโปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คนละครึ่ง หรือการซื้อแพ็คเกจโปรโมชั่นต่างๆที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการซื้อทั่วไป

เมื่อมองมาที่ใกล้ตัว พ่อค้าหรือแม่ค้าที่กำลังขายสินค้าหรืออาหารผ่านแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่และช่องทางออนไลน์ต่างๆ อาจต้องหันมาขายแบบออฟไลน์หรือหน้าร้านมากขึ้น แม้ช่องทางออนไลน์จะรวดเร็วและสะดวกกว่าก็จริง แต่อาหารหรือสินค้าบางอย่างที่ผู้คนคุ้นเคย เช่น ทานอาหารที่ร้าน , เสื้อผ้าสามารถลองได้ที่ร้าน ก็อาจกลับมาเป็นเหมือนเดิม เนื่องจากมาตรการควบคุมผ่อนคลายลงแล้วขณะนี้

ที่มา: Spring News, 24/9/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท