ธงชัย วินิจจะกูล : เปลี่ยนให้ผ่าน 'นิติอธรรม'

“การเรียกร้องให้ผู้พิพากษาเคารพกฎหมาย อันนี้ตลกนะ” ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เปลี่ยนให้ผ่านนิติอธรรม เปลี่ยนให้ผ่านกระบวนการยุติธรรมไทย” โดย ธงชัย วินิจจะกูล ที่มองลึกเข้าไปยังกระบวนการยุติธรรมของไทย การทำให้สภาวะยกเว้นกลายเป็นสภาวะปกติ และทำให้สภาวะปกติกลายเป็นสภาวะยกเว้น ในสังคมที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมลอยนวลพ้นของรัฐและหน่วยงานความมั่นคงที่มีอำนาจล้นเกิน ทุกองคาพยพของกระบวนการยุติธรรมต้องปรับเปลี่ยน และผลักดันไปสู่การปกครองของกฎหมาย (Rule of Law) ไม่ใช่การปกครองของภาวะยกเว้นทางกฎหมาย

 

30 ก.ย. 2565 เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้จัดงานเสวนาวิชาการ “เปลี่ยนให้ผ่านกระบวนการยุติธรรมไทย” ขึ้นที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ รัชดา ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เปลี่ยนให้ผ่านนิติอธรรม เปลี่ยนให้ผ่านกระบวนการยุติธรรมไทย” โดย ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน

ธงชัย วินิจจะกูล ในการปาฐกถา 

“เปลี่ยนให้ผ่านนิติอธรรม เปลี่ยนให้ผ่านกระบวนการยุติธรรมไทย”

 

ก่อนอื่นธงชัยกล่าวว่า แม้ตนเองจะไม่ใช่นักนิติศาสตร์ที่เรียนรู้และฝึกฝนมาเพื่อเป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย แต่ตนมีความสนใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า เป็นรากฐานของสังคมไทยอย่างไร โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนที่เปลี่ยนไป และใน พ.ศ. 2561 ธงชัยได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนผ่านกฎหมาย

“กฎหมายคือการประมวลความสัมพันธ์ทั้งหลายอย่างเป็นนามธรรมระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง” ธงชัย อธิบาย

กระบวนการยุติธรรมไม่ดี จะโทษใครดี

ข้ออ่อนของนักกฎหมายในประเทศไทยประการหนึ่งคือ การที่ไม่ได้ถูกฝึกมาให้เข้าใจระบบกฎหมายในภาพกว้างภาพรวมหรือวิวัฒนาการของระบบกฎหมาย และปฏิเสธได้ยากว่าทุกวันนี้กระบวนการยุติธรรมมีปัญหาตั้งแต่ต้นไปจนถึงท้ายของกระบวนการ ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ประจักษ์พยานมีอยู่จำนวนมากในสังคม ไม่เพียงฝ่ายเหลืองหรือแดง ซ้ายหรือขวา แต่ทุกฝ่ายล้วนไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรมเท่าใดนัก ถือเป็นวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม       

“ผมคิดว่าปัจจุบันเกิดวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยอย่างหนักหน่วงพอสมควร วิกฤติศรัทธานี้จะมีต่อไปอีกนาน ถ้าหากส่วนต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมยังไม่ขยับตัวอย่างมีนัยสำคัญ” ธงชัย กล่าว

 

กระบวนการยุติธรรมไทยไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีปัญหาเกิดขึ้นในภาคส่วนของตนเองอีกต่อไป ทางที่ดีคนในกระบวนการยุติธรรมควรมาพูดคุยกัน เพื่อสะสางและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยธงชัยตั้งคำถามว่า “จะโทษใครดี”

ปกติเวลามีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมคนเรามักจะโทษอยู่ 2 อย่าง

หนึ่ง คนไม่ดี ผู้ปฏิบัติ ผู้ใช้กฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ดีพอ เป็นการสื่อนัยว่าระบบกฎหมายดี แต่ผู้ใช้กฎหมายไม่ดี

สอง ระบบที่ปรารถนากับระบบที่เป็นอยู่ยังต่างกันมาก

 

“การบอกว่าคนไม่ดีมักจะมีความหมายโดยนัยยะว่ากฎหมายดีอยู่ และระบบกระบวนการยุติธรรมดีอยู่ ความคิดแบบนี้นำไปสู่การหมกมุ่นว่าจะปรับปรุงศีลธรรมและพฤติกรรมของคนอย่างไร ศีลธรรมก็หมายถึงปรับปรุงคุณธรรม พฤติกรรม โดยมากมีความหมายอยู่จำกัดว่าปรับปรุงให้คนไม่คอรัปชั่นและให้คนมีวินัยในสังคมไทยเน้นแค่ประเด็นเหล่านี้

ความคิดทั้งหลายเหล่านี้ที่โทษคน ถือว่าระบบยังดีอยู่ แต่คนไม่ดี” ธงชัย กล่าว

 

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อและคำกล่าวอีกอย่างมักจะบอกว่าปัญหาต่างๆ แก้ได้ด้วยการศึกษา ธงชัย ระบุว่า ทั้งการที่บอกว่าระบบดี คนไม่ดี หรือการศึกษาจะแก้ปัญหาได้ แม้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้ทำให้เห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ในระบบต่างๆ ชัดเจนขึ้น “เพราะปัญหาที่ชัดเจนอยู่ในระบบ แต่การโทษไปที่บุคคลทำให้เราพลาด เรามองไม่เห็นระบบ”

“การโทษทำนองนี้ไม่เข้าใจ และไม่เห็นว่าระบบที่ดีจะสามารถจำกัดความเสียหายที่เกิดจากคนที่เลว และจะสามารถจำกัดบทบาทความเติบโตของคนที่เลวได้ด้วย ในขณะที่ในทางกลับกันระบบที่เลวจะปิดปาก ปิดกั้นคนที่ดีๆ ให้ไม่เติบโต และกลับส่งเสริมคนเลวให้ขึ้นไปมีอำนาจ ระบบเป็นเรื่องสำคัญ การมองข้ามระบบเป็นเรื่องที่มองพลาดอย่างมหันต์” ธงชัย อธิบาย

 

ในช่วง 10 ปีมานี้ ประเทศไทยกำลังกลับไปสู่ระบบที่รอ “นายสั่ง” อย่างเดียว และระบบนี้มีมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ไว้ใจแม้กระทั่งเทคโนแครต ทุกระบบราชการกำลังเป็นระบบที่เส้นสายอุปถัมภ์เติบโตยิ่งกว่ายุคใด “แม้ระบบเผด็จการอย่างยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังไว้ใจเทคโนแครตมากกว่าปัจจุบัน ปัจจุบันเทคโนแครตก็ไม่เอา เอาแต่พวกพ้องเส้นสาย” ธงชัยตั้งคำถามว่า ระบบที่เป็นเช่นนี้ยังจะสามารถโทษไปที่ตัวบุคคลได้อีกหรือ

ระยะหลังเวลาสังคมไม่พอใจคำตัดสินของศาล ก็มักจะโทษไปที่ตัวผู้พิพากษาเป็นรายบุคคล โดยมิได้ถกเถียงหรือขุดลึกลงไปอย่างจริงจังว่า ผู้พิพากษาทั้งหลายอยู่ในระบบที่เป็นปัญหาอย่างไร ธงชัยเชื่อว่าทุกระบบรวมทั้งระบบผู้พิพากษาด้วย เหมือนกับระบบอื่นๆ ที่ผู้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นมนุษย์ปุถุชนที่มีทั้งดีและชั่ว

“ผู้พิพากษาของไทยอาจจะมีความสามารถในการท่องจำตัวบทกฎหมายเก่ง ท่องจำฎีกาเก่ง จนบางคนได้ชื่อเสียงว่าเป็น “ตู้ฎีกาเคลื่อนที่” (แต่สำหรับผมแล้วชื่อเสียงนี้เป็นข้อน่ากังขาน่าวิตกมากกว่าแทนที่จะชมเชย) และก็เก่งในการสอบ แต่ระบบที่ไม่ดี จึงขยายหรือทำให้จุดอ่อน ข้ออ่อน หรือความไม่สามารถของผู้พิพากษาเหล่านี้ปรากฏออกมา” ธงชัย กล่าว

 

ดันแคน แม็กคาร์โก (Duncan McCargo) เคยศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของไทยไว้ในหนังสือเรื่อง “Fighting for Virtue : Justice and Politics in Thailand” ดันแคนบรรยายให้เห็นว่า ผู้พิพากษาไทยไม่มีความสามารถในการจัดการคดีที่ซับซ้อนของโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะคดีการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา “ไม่ใช่เพราะผู้พิพากษาท่านใดเลวเป็นพิเศษ เรื่องมีคนเลวเป็นพิเศษเป็นเรื่องปกติ ทำนองเดียวกันทุกระบบมีคนดีเป็นพิเศษก็เป็นเรื่องปกติ แต่คนส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณกลางๆ ดีบ้าง เลวบ้าง”

หนังสือ “Fighting for Virtue : Justice and Politics in Thailand”

ดันแคนตั้งคำถามว่า ระบบที่ไม่ดีส่งผลทำให้ผู้พิพากษาที่ดำเนินชีวิตปกติประสบปัญหาอย่างไรในการทำงาน พวกเขาคิดและถูกฝึกถูกหล่อหลอมความเป็นนักกฎหมายมาอย่างไร จึงตัดคดีออกมาในทำนองเดียวกัน ภายใต้ระบบการหล่อหลอมและอุดมการณ์เดียวกัน ที่สำคัญดันแคนชี้ให้เห็นว่าผู้พิพากษาไทยไม่มีอิสระในวงการศาลด้วยกันเองมากนัก

การฝึกคนให้เป็นผู้พิพากษามีความคล้ายคลึงกับการฝึกทหารก็ว่าได้

 

“กระบวนการเหล่านี้ (การฝึกและการหล่อหลอมผู้พิพากษา) ไม่เอื้อให้ผู้พิพากษาได้คิดอ่านมีอิสระ หรือใช้สมองเต็มความสามารถอย่างทันโลกทันการเปลี่ยนแปลง กลับหล่อหลอมให้คิดตามกรอบตายตัวและไม่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเมื่ออยู่ในระบบกฎหมายที่ถือความมั่นคงของรัฐเป็นจุดหมายสูงสุด ผู้พิพากษาเหล่านี้จึงตัดสินคดีออกมาอย่างที่ปรากฏหรือได้ยินข่าวอยู่ทุกวันนี้

มีไม่กี่คนที่เต็มไปด้วยอคติ จงเกลียดจงชังทางการเมืองกับเยาวชนเด็กๆ เหล่านั้นเป็นพิเศษ แต่ระบบแบบนี้ผลิตผู้พิพากษาที่คงออกคำตัดสินมาไม่ต่างกันมากนัก ในทางกลับกันก็มีคนใช้ได้ กล้าคิดอย่างเป็นตัวของตัวเองอยู่เช่นกัน แต่คนแบบนั้นก็จะถูกจำกัดบทบาทหรือถูกมองข้าม จนหมดกำลังใจ ทุกสถาบันทุกระบบในกระบวนการยุติธรรม และเลยพ้นกระบวนการยุติธรรมไปในประเทศไทยก็คงไม่ต่างจากระบบสถาบันผู้พิพากษาที่เรากำลังพูดถึง” ธงชัย อธิบาย

 

ธงชัยยกตัวอย่างกรณีอื้อฉาวของสิบตำรวจโทหญิงที่กำลังเกิดขึ้นเป็นเพียงปลาเน่าหนึ่งตัวในบ่อหรือในท้องทะเลซึ่งมีปลาดีๆ เต็มไปหมด หรือเป็นปลาเน่าเพียงตัวเดียวในบ่อที่ถูกเปิดเผยให้เห็นในขณะที่มีปลาเน่าตัวอื่นอีกเต็มไปหมด

คำถามนี้จะไม่ถูกตอบ หากไม่มีการสืบสาวลงไปยังระบบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวนี้ ทั้งระบบเส้นสายในตำรวจ ทหาร รัฐสภา หน่วยงานความมั่นคง ที่เป็นช่องทางหากินของคนในระบบ ธงชัยมองว่า การโยนความผิดหรือโยนบาปไปให้สิบตำรวจโทหญิงรับไว้คนเดียวเป็นแบบแผนที่นักอนุรักษ์นิยมทั้งโลกใช้ปกป้องระบบ โดยบอกว่าระบบไม่ได้มีปัญหา แล้วไปโทษที่ตัวบุคคล

ส่วนประเด็นช่องว่างระหว่างระบบที่ปรารถนากับระบบที่เป็นจริง หลายคนอาจมีความคิดเช่นนี้ แต่คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า “จะทำให้ความต่างหรือช่องว่างลดน้อยลงได้อย่างไร” คนที่พยายามตอบคำถามนี้มักมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเป็นเรื่องทางเทคนิค ผิวเผินเล็กน้อย และมักจะคิดว่าสามารถจัดการแก้ไขได้ด้วยการปรับปรุงเชิงเทคนิค ทำให้มีนักนิติศาสตร์และนักรัฐประศาสนศาสตร์จำนวนมากได้รับทุนจากกระทรวง เพื่อทำให้วิจัยหาวิธีการปรับปรุงทางเทคนิคที่จะทำให้ระบบราชการดีขึ้นได้อย่างไร โดยมองข้ามการสะสางปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในระบบ

“คำถามจึงมีอยู่ว่าเราเข้าใจระบบซึ่งผุพัง หรือเป็นปัญหาโดยพื้นฐานมากน้อยสักแค่ไหน หากเราไม่เข้าใจและมัวพอใจกับการแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ ที่ผิวเผิน โรคเรื้อรังที่สมควรได้รับการผ่าตัด ก็อาจจะลุกลามกลายเป็นอันตรายต่อชีวิตของประเทศนี้ได้” ธงชัย กล่าว

 

ท่ามกลางปัญหามากมายที่มีอยู่ในระบบยุติธรรม บางอย่างเป็นปัญหาเรื้อรังมานับร้อยปี เช่น ปัญหาที่งานของตำรวจ อัยการ ศาล ล้นมือ ทำให้ความยุติธรรมล่าช้า หรือปัญหาเส้นสายที่ทำให้สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน เป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นไม่แพ้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ หากกล่าวในภาพรวมกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งของไทยอาจอยู่ในสภาพที่ไม่แย่นัก แต่ทางอาญากลับมีปัญหามาก ทั้งความล้าสมัยของการจัดเก็บข้อมูลและกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สะท้อนว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยยังไปไม่ทันโลก ยกตัวอย่างเช่น การนำแผนประกอบที่ต้องพาผู้ต้องหาไปแสดงละครถ่ายรูปออกข่าว เป็นการปฏิบัติที่มากับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสมัยอาณานิคมที่แทบทั้งโลกเลิกใช้ไปแล้ว เนื่องจากเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และตัดสินไปล่วงหน้าว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิด โดยที่ยังไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาคดี

อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของไทยจะมีหลายอย่าง แต่ธงชัยขอหยิบยกมาพูดเพียงปัญหาเดียว คือ ปัญหาในเชิงระบบของกฎหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และเป็นปัญหาในระดับรากของระบบที่ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาในกระบวนการยุติธรรมอีกมากมาย “ต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นอิสระจากหน่วยงานความมั่นคง และต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมเลิกเสพติดการใช้กฎหมายเกินกว่าอำนาจปกติ”

การศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้เข้าใจระบบที่เป็นอยู่อย่างลงลึกถึงรากมากกว่าความบกพร่องทางเทคนิคที่ผิวเผิน

 

ความเข้าใจผิด : การปฏิรูปกฎหมายสยามให้เป็นแบบสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5

มีความเข้าใจผิดสองประการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกฎหมายสยามให้เป็นแบบสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้แก่

หนึ่ง การสร้างระบบประมวลกฎหมายที่มีมาตรฐาน เท่ากับเป็นการวางรากฐานระบบกฎหมายตามหลักนิติธรรมแล้ว

สอง การมีตุลาการที่เป็นระบบระเบียบ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งประเทศ เท่ากับว่าหลักนิติธรรมหรือกระบวนการยุติธรรมได้รับการสถาปนาเรียบร้อยแล้ว

ธงชัยชี้ว่า ความเข้าใจผิดสองประการนี้เป็นองค์ประกอบที่ทำให้สังคมเข้าใจผิดไปว่า การปฏิรูปกฎหมายสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เท่ากับสยามได้เริ่มต้นระบบกฎหมายที่เรียกว่า “หลักนิติธรรม” (Rule of law) ตามแนวทางของต่างประเทศแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 คือการทำให้ระบบกฎหมายและระบบการพิจารณาคดีเป็นสมัยใหม่ขึ้นเท่านั้น

“มีระบบเผด็จการอำนาจนิยมอีกมากมายหลายประเทศที่ปกครองด้วยกฎหมายที่เป็นระบบระเบียบ และมีสถาบันตุลาการที่เป็นระบบระเบียบเช่นกัน คุณจะเรียกว่าระบบเผด็จการเหล่านั้นเป็น Rule of law เหรอ นั้นเท่ากับว่าสองประการนี้เป็นดัชนีที่ชี้ถึงวิวัฒนาการหรือวุฒิภาวะของ Rule of law สองประการนี้โดนๆ ไม่พอ เราเข้าใจกันผิด” ธงชัย กล่าว

มรดกกฎหมายของระบบกฎหมายใหม่สมัยใหม่ที่สร้างขึ้นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อค้ำจุนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังมีผลในระบบกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างมากจนถึงปัจจุบัน ในความเห็นของธงชัยมี 2 ประการ ได้แก่

1. การผลิตบุคลากรในวิชาชีพทางกฎหมาย รวมทั้งผู้พิพากษา “อย่างเร่งด่วน” ตามความจำเป็นของยุคสมัย

“ซึ่งหมายถึงการผลิตเร็ว สำเร็จรูป เพื่อรองรับระบบใหม่ที่กำลังสร้างขึ้น เอาเข้าจริงเป็นการผลิตอย่างที่โลกอาณานิคมเขาใช้ในประเทศอาณานิคมทั้งหลาย เพราะการผลิตผู้พิพากษาและบุคลากรทางกฎหมายในโลกอาณานิคมเขาผลิตแบบแดกด่วน ผลิตแบบมาม่าไวไว เพื่อเอาไปใช้งาน ไม่จำเป็นต้องผลิตนักนิติศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องผลิตคนที่เข้าใจ jurisprudence

” ธงชัย อธิบาย

 

ผู้พิพากษากลายเป็นคนที่มีความสามารถทางเทคนิคทางกฎหมาย วิเคราะห์องค์ประกอบของมาตรากฎหมาย วิเคราะห์องค์ประกอบของความผิด หรือกรณีที่เกิดขึ้น และสามารถจับลงกล่องให้ได้เรียบร้อยว่าจะตัดสินอย่างไร

ผู้พิพากษาไทยจึงต้องมีความเข้าใจในแนวการพิพากษาที่มาก่อนทั้งระบบ common law และ civil law เนื่องจากในการตัดสินคดีตามจริงประเทศไทยใช้ทั้งสองระบบ ในการตัดสินคดีผู้พิพากษาต้องรู้ตัวบทกฎหมายและคำพิพากษาที่มีมาก่อนหน้า ธงชัยมองว่า วิธีการเช่นนี้ไม่ได้พัฒนาและปรับหลักกฎหมายให้สอดคล้องกับความเป็นไปในสังคมของสยาม ความจำเป็นเมื่อร้อยปีก่อนเรียกร้องให้ต้องผลิตผู้พิพากษาและบุคลากรทางกฎหมายแบบนั้น ที่สำคัญการผลิตผู้พิพากษาเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นในปัจจุบัน และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นยิ่งเห็นความแตกต่าง

“ยิ่งคุณมีระบบสนามเล็ก สนามจิ๋ว มีการเรียนลัดวงจรของคนมีเส้นสาย คนมีอภิสิทธิ์ ผมขอพูดแค่นี้ พวกคุณรู้กันอยู่ว่าหมายถึงอะไร การผลิตผู้พิพากษาในระบบเช่นนี้ยิ่งทำให้ตื้นและขาดความรอบรู้เข้าไปใหญ่” ธงชัย กล่าว

ธงชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า การเรียนนิติศาสตร์ในประเทศไทยถูกบงการและถูกกำหนดทิศทางโดยสถาบันวิชาชีพ ได้แก่ ผู้พิพากษา และการสอบเนติบัณฑิต ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้สังคมไทยฝึกนักกฎหมายหรือผู้พิพากษาออกมาเช่นนี้ “ทั้งหมดนี้ เป็นมรดกของการปฏิรูปกฎหมายสมัยรัชกาลที่ 5”

“โรงเรียนกฎหมาย การสอบผู้พิพากษา และการสอบเนฯ อาจจะสอดคล้องกับความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในยุคนั้น แต่การเปลี่ยนแปลงที่น้อยมากใน 100 กว่าปีที่ผ่านมา ควรจะเป็นสัญญาณให้เราตกใจคิดแล้วว่าล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับยุคปัจจุบันหรือเปล่า เรากำลังผลิตบุคลากรในแบบเดิมซึ่งรับมือกับความเป็นจริงของปัจจุบันได้หรือ” ธงชัย กล่าว

 

2. ท่าทีของรัฐต่อกฎหมาย : รัฐที่ปฏิรูประบบกฎหมายสมัยใหม่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถืออว่าตนเป็นองค์ประธานของกฎหมาย เป็นผู้สถาปนากฎหมายเพื่อใช้ปกครองราษฎร แต่ไม่ใช่รัฐที่อยู่ใต้กฎหมายเหมือนกับราษฎร ความสัมพันธ์ของรัฐกับกฎหมายเช่นนี้เป็นท่าทีทำนองเดียวกับพระธรรมศาสตร์สมัยพระเวท ไม่มีข้อไหนที่ระบุถึงการกำจัดการใช้อำนาจของรัฐ เพราะรัฐเป็นผู้สถาปนากฎหมาย

“ระบบ Rule of Law มีสาระสำคัญอย่างยิ่งซึ่งสังคมไทยไม่มีก็คือ เป็นระบบกฎหมายที่ต้องจำกัดการใช้อำนาจของรัฐไม่ให้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สิทธิในทรัพย์สิน และสิทธิเสรีภาพของประชาชน สุดท้ายแล้วรัฐยังต้องมีอำนาจอยู่ดี เป็นระบบที่ต้องหาจุดลงตัว และจำกัดไม่ให้รัฐมายุ่งกับสิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะสิทธิในทรัพย์สินและสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป ระบบทำนองนี้ในประเทศไทยอ่อนแอมาแต่เริ่ม” ธงชัย อธิบาย

 

รัฐจึงเป็นผู้ใช้กฎหมายต่อราษฎร สถานะของรัฐต่อกฎหมาย จึงเป็นรัฐที่มีอภิสิทธิ์ (prerogative state) ทางกฎหมาย สถานะทางกฎหมายเช่นนี้เองเป็นพื้นฐานของรัฐอำนาจนิยมที่ถือว่าตนเป็นองค์ประธานของกฎหมาย เป็นผู้สถาปนากฎหมายเพื่อใช้ปกครองราษฎร เมื่อสิ้นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์พัฒนาการของระบบกฎหมายไทยมิได้เข้ารูปเข้ารอยสู่การเป็นระบบที่กฎหมายเป็นใหญ่ หรือ Rule of Law ตามหลักหรือมาตรฐานที่ควรจะเป็นอย่างในอารยประเทศ

แต่ทว่ากลับเป็นระบบกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่นักกฎหมายเรียกกันว่า “สภาวะยกเว้น” หรือสภาวะฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงของรัฐนับตั้งแต่หลัง 2475 เป็นต้นมา

“สภาวะฉุกเฉินคำนี้ไม่ใช่แค่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างที่เราใช้กัน แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นแค่รูปธรรมหนึ่งของสภาวะยกเว้น ยังมีกฎหมายอีกหลายแบบ ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐมาก” ธงชัย อธิบาย

 

มาตรการสารพัดที่ทำให้สภาวะยกเว้นหรือสภาวะฉุกเฉินเหล่านั้นกลายเป็นสภาวะปกติทั่วไป (The Normalization of the State of Exception) ของระบบกฎหมายไทย “ทำให้การใช้ระบบกฎหมายที่ควรจะเป็นข้อยกเว้นกลายเป็นเรื่องปกติ และทำให้การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในภาวะปกติกลายเป็นข้อยกเว้น”

ธงชัยอธิบายว่า สภาวะยกเว้นในศัพท์ทางกฎหมาย หมายถึงการหยุดใช้กฎหมายปกติ หยุดกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ตัวอย่างเช่น กฎอัยการศึก หรือให้อำนาจศาลทหารตัดสินคดีพลเรือน ฯลฯ ให้อำนาจแก่รัฐและทหารมากเกินกว่าปกติ มักเกิดขึ้นในภาวะวิกฤตหรือภัยธรรมชาติ แต่ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทยคือเมื่อเกิดวิกฤตทางการเมือง “โดยเฉพาะเกิดวิกฤตที่รัฐหรือกองทัพเองเป็นคู่กรณีเอง”

รัฐในที่นี้มิได้หมายถึงเพียงรัฐบาล แต่มีความหมายกว้างกว่ารัฐบาลและไม่ตายตัว เพราะรวมถึงสถาบันและกลไกสำคัญๆ ที่ใช้อำนาจรัฐในการบริหารปกครองและใช้กฎหมายต่อประชาชน บทบาทของกลไกต่างๆ ของรัฐในแง่ความมั่นคงจะมีมากหรือน้อย ปรับเปลี่ยนไปได้ตามระยะเวลาที่แตกต่างกันในประวัติศาสตร์การเมือง

 

สภาวะยกเว้นตามกฎหมายเช่นนี้มีในทุกระบบกฎหมายของทุกประเทศ แต่ในระบบกฎหมายเป็นใหญ่ (Rule of Law) สภาวะยกเว้นเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และเกิดขึ้นในเวลาสั้นสั้น หรือในพื้นที่ที่จำกัด สำคัญที่สุดก็คือรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดที่จะอนุมัติหรือยกเลิกสภาวะยกเว้น เป็นผู้กำหนดว่ารัฐบาลและทหารควรมีอำนาจเพิ่มเพียงใด ไม่ใช่ให้รัฐบาล กองทัพ หรือสถาบันอื่นใดมีอำนาจในการนี้เหนือไปกว่ารัฐสภา

 

“สภาวะยกเว้นซึ่งสำคัญที่สุดในประเทศไทย ซึ่งในประเทศอื่นเท่าที่ผมรู้จัก เขาไม่ยอมให้มีอภิสิทธิ์อันสุดท้ายในการที่รัฐและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงจะปลอดจากความผิดหรือลอยนวลพ้นผิด ตรงกันข้ามประเทศ Authoritarian หรือประเทศที่มีด้านที่ให้อภิสิทธิ์กับรัฐมากสักหน่อย ส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ มีมิติที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐมากกว่าประเทศในแทบตะวันตก แต่ประเทศเหล่านั้นถ้าหากมีการใช้อำนาจไปในทางฉ้อฉล โทษหนักกว่าปกติ

ในประเทศไทยรัฐและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้รับอภิสิทธิ์ปลอดจากความผิด ลอยนวลพ้นผิด ทั้งในระดับรัฐธรรมนูญ ระดับประกาศรัฐประหาร หรือใน พ.ร.บ.ป้องกันความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 ซึ่งเป็นมรดกเดียวหรือสืบทอดข้อนี้มาตรงกับการกระทำผิดคอมมิวนิสต์ ซึ่งใช้ตั้งแต่ปี 2495 จนถึง 2543

70 ปีที่ผ่านมา รัฐและหน่วยงานความมั่นคงมีอภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิดเกือบตลอดเวลา” ธงชัย อธิบาย

 

ธงชัย ระบุว่า รัฐไทยมีความกังวลต่อความมั่นคง มองเห็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงเต็มไปหมด จนมีอาการหมกมุ่น กับความมั่นคงหรือวิตกต่อความมั่นคงเกินเหตุ แม้จะมีภัยที่คุกคามต่อความมั่นคงจริงบางกรณี แต่ภัยหลายอย่างรัฐมีความกังวลไปเอง และมีภัยหลายอย่างที่ถูกผลิตขึ้นอยู่เป็นประจำโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาความมั่นคงเอง

“เพราะคุณไม่ผลิตความไม่มั่นคง ไม่ผลิตภัยคุกคาม คุณก็ไม่มีเหตุผลที่จะดำรงอยู่ ไม่มีเหตุผลที่จะต้องได้อำนาจขนาดนั้น และไม่มีเหตุผลที่จะได้รับผลประโยชน์ งบประมาณมากมายขนาดที่เป็นอยู่ ดังนั้นเขาจึงต้องผลิตภัยคุกคาม หรืออันตรายต่อความมั่นคงอยู่เป็นประจำ” ธงชัย กล่าว

 

หลายคนในหน่วยงานความมั่นคงอาจจะทำโดยอุดมการณ์และเพื่อผลประโยชน์ของหน่วยงานเหล่านั้น ทั้งที่เป็นผลประโยชน์ทางวัตถุจำนวนมหาศาลอย่างที่เป็นอยู่ ที่สำคัญเพื่ออำนาจ

ภัยต่อความมั่นคงจะมีลักษณะเปลี่ยนไปตามบริบททางประวัติศาสตร์การเมือง ทั้งภัยที่เกิดจริง ภัยที่คิดไปเอง และภัยที่ผลิตขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง มีนิยาม ลักษณะ และวาทกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตามความวิตกต่อความมั่นคงในช่วงต่างแบบต่างๆ ได้แก่

1) ช่วงหลัง 2475

2) ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

3) 3 ทศวรรษของสงครามเย็น

4) ภัยต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

“ทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้สภาวะยกเว้นกลายเป็นสภาวะปกติ และทำให้การใช้กฎหมายในภาวะปกติกลายเป็นข้อยกเว้น การอ้างความมั่นคงเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับรัฐและหน่วยงานความมั่นคงที่จะใช้เพื่อขยายอำนาจและอภิสิทธิ์ทางกฎหมายของตน” ธงชัย กล่าว

 

ธงชัย ย้ำว่า การเข้าใจเรื่องสภาวะยกเว้น การทำให้สภาวะยกเว้นกลายเป็นสภาวะปกติ จะเข้าใจไม่ได้เลย โดยไม่ศึกษาหรือเข้าใจเรื่อง “อะไรคือสิ่งที่รัฐไทยเรียกว่าภัยต่อความมั่นคง” หน่วยงานความมั่นคงและรัฐได้แปรเหตุผลเรื่องความมั่นคงให้กลายเป็นอภิสิทธิ์ทางกฎหมาย องค์ประกอบและภาวะเช่นนี้มิได้มีเพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศในโลกที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ เรียกว่าเป็นการปกครองด้วยกฎหมายของอำนาจนิยม (Authoritarian rule by law)

“ขอสรุปตรงนี้ครั้งว่า การปกครองด้วยกฎหมายของอำนาจนิยมในประเทศไทย ได้ก่อให้ระบบกฎหมายที่มีคุณสมบัติสำคัญก็คือเป็นการปกครองด้วยข้อยกเว้นทางกฎหมาย ทำให้สภาวะยกเว้นทางกฎหมายกลายเป็นสภาวะปกติ” ธงชัย กล่าว

 

สภาวะยกเว้นกลายเป็นสภาวะปกติ

ธงชัยแยกให้เห็นว่า ข้อยกเว้นทางกฎหมายของไทยที่ทำให้สภาวะยกเว้นกลายเป็นเรื่องปกติ มีอยู่ด้วยกัน 4 แบบ

1. การใช้กฎอัยการศึกและกฎหมายภาวะฉุกเฉิน ในประเทศที่ Rule of Law เข้มแข็ง ภาวะนี้จะเกิดขึ้นแค่เพียงช่วงเวลาไม่นาน และรัฐสภาเป็นผู้กำหนดอำนาจที่มากเกินกว่าปกติของรัฐหรือกองทัพ รวมทั้งสั่งยกเลิกอำนาจพิเศษนั้นได้

2. รัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้รัฐมีอำนาจในภาวะยกเว้นที่ค่อนข้างคลุมเครือแต่กว้างขวางเกินไป และยังมีข้อยกเว้นในหลายมาตราให้งดบังคับใช้ในยามเกิดภัยต่อความมั่นคง ข้อยกเว้นทำนองนี้มีอยู่มากมายในรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งในหมวดสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ซึ่งถือกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนดีที่สุดกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่น แต่ในความเป็นจริงกลับยอมให้รัฐอ้างความมั่นคง เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพได้ตามข้อยกเว้นในหลายมาตรา

ธงชัย กล่าวว่า ในประเทศ Rule of Law จะไม่ยอมให้เรื่องเช่นนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญจะประกันสิทธิเสรีภาพ แล้วพิจารณาว่าควรมีสภาวะยกเว้นตามกฎหมายอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งจะไม่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะที่ประเทศไทยให้อำนาจในภาวะยกเว้นไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรง

 

3. ประเทศไทยมีกฎหมายความมั่นคงในภาวะปกติที่ให้อำนาจแก่รัฐและฝ่ายความมั่นคงอย่างล้นเหลือ เช่น พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ที่ใช้จนถึงพ.ศ. 2543 และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เท่ากับว่าในช่วงเวลา 70 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ความมั่นคงในภาวะปกติที่ให้แก่รัฐและฝ่ายความมั่นคง และให้อำนาจอภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิดแก่หน่วยงานความมั่นคงด้วย โดยในข้อ 3 นี้เป็นการให้อำนาจรัฐและฝ่ายความมั่นคงใช้อำนาจได้หาก “เชื่อว่า” จะมีการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคง “ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกที่ให้อำนาจกับความผิดที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่ากำลังจะเกิดขึ้น”

4. ข้อยกเว้นในกฎหมายธรรมดาจำนวนมากที่มีสาระสำคัญไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคง แต่มีผลให้รัฐและหน่วยงานความมั่นคงสามารถใช้อำนาจแทรกแซงการบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นได้ เช่น พ.ร.บ. การพิมพ์, พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร, พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล หรือ พ.ร.บ. ป่าไม้ เป็นต้น กฎหมายระดับพระราชบัญญัติของไทยมักจะมีคำว่า “เว้นแต่” รวมไปถึงกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน อาทิ รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ฯลฯ โดยเป็นการเว้นแต่เพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถือเป็นการเอาข้อยกเว้นทางกฎหมายมาให้อำนาจแก่รัฐและหน่วยงานความมั่นคง และเป็นการทำให้กฎหมายที่ควรอยู่ในภาวะยกเลิกกลายเป็นกฎหมายในภาวะปกติ

จากนั้น ธงชัยอธิบายต่อไปว่า ความมั่นคงของชาติกลายเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เป็นเหตุผลแห่งรัฐ (Raison d'être) เท่ากับว่า “รัฐดำรงอยู่เพื่อการดำรงอยู่ของรัฐ” กฎหมายไทยกำลังอยู่ภายใต้เหตุผลเช่นนี้ ที่สำคัญกว่าสิทธิ เสรีภาพ และชีวิตปกติของประชาชน ดังนั้นเพื่อความมั่นคงของรัฐจึงอนุญาตให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ละเมิดความเป็นส่วนตัว ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนได้

“ความมั่นคงกลายเป็นจิตวิญญาณของกระบวนการยุติธรรมไปด้วย กลายเป็นวัฒนธรรมทางกฎหมาย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย ในความเห็นผมทุกองคาพยพ รวมทั้งผู้พิพากษาและผู้เชื่อว่ารวมทั้งอัยการเช่นกัน” ธงชัย กล่าว

 

ระบบกฎหมายเช่นนี้ในระยะยาวเกือบหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมาก่อให้เกิดสถาบันและวัฒนธรรมทางกฎหมายที่สอดคล้องกัน กลายเป็นกระบวนการอยุติธรรมครบวงจร ความมั่นคงของชาติกลายเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เป็นเหตุผลแห่งรัฐ (Raison d'être) เท่ากับว่า “รัฐดำรงอยู่เพื่อการดำรงอยู่ของรัฐ” สำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพและชีวิตปกติของประชาชน ดังนั้นเพื่อข้ออ้างนี้จึงอนุญาตให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ละเมิดความเป็นส่วนตัว ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ความมั่นคงกลายเป็นวิญญาณของกระบวนการยุติธรรมไปด้วย กลายเป็นวัฒนธรรมกฎหมาย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายของทุกองคาพยพในการระบบยุติธรรมรวมทั้งผู้พิพากษาด้วย

ต่อมา ธงชัยเปรียบเทียบให้เห็นว่าสภาวะยกเว้นสร้างความไม่สมเหตุสมผลและไม่ถูกต้องเพียงใด โดยยกตัวอย่างจากกรณีของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงสารพัดทั้งทหารตำรวจ ระดับกองบัญชาการ จนถึงกรมกองยังคงเป็นผู้ควบคุมคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ในประเทศไทยราว 50 เปอร์เซ็นต์ มาเกินกว่าครึ่งศตวรรษ ด้วยข้ออ้างเพื่อความมั่นคง จนคนในสังคมรู้สึกว่าเป็นสิ่งปกติไปแล้ว เอกชนบางเจ้าต้องมาเช่าเวลาออกอากาศจากกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง

“รัฐและหน่วยงานความมั่นคงคุมคลื่นเหล่านี้หมด ด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคง คุณคิดว่าปัจจุบันยังมีความจำเป็น ความมั่นคงขนาดนั้นเหรอ คุณเห็นหรือเปล่าว่าการควบคุมคลื่นวิทยุโทรทัศน์เหล่านั้นคือช่องทางทำมาหากิน หรือเราจะปฏิเสธ” ธงชัย กล่าว

 

ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงเช่นนี้กลายเป็นแหล่งทำมาหากินอย่างเห็นได้ชัดของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง ความจำเป็นที่อาจจะเคยมีอยู่จริง กลายเป็นแค่การผลิตภัยคุกคามขึ้นมาเพื่อการทำมาหากินของหน่วยงานความมั่นคงและนายทหารที่กลายเป็นเจ้าขุนมูลนายในระบบศักดินาใหม่แค่นั้นเอง การให้อำนาจกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงควบคุมคลื่นวิทยุและโทรทัศน์อาจกระทำได้ในจังหวะเวลาที่มีภัยความมั่นคงเกิดขึ้นจริง แต่ต้องมีการกำหนดระยะเวลา และต้องกำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้อนุมัติเท่านั้น นอกเหนือจากเวลานั้นควรให้เป็นเรื่องของเอกชน

“ทุกวันนี้เราอยู่กับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่จิตวิญญาณห่วงแต่เรื่องความมั่นคงได้ซึมเข้าไปอยู่ในทุกองคาพยพของกระบวนการยุติธรรมไปเรียบร้อยแล้ว” ธงชัย กล่าว

 

ทุกวันนี้มีหลายเรื่องที่หน่วยงานความมั่นคงแผ่ขยายปีกแห่งอำนาจของตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น เรื่องป่าไม้ที่ดิน ฯลฯ 

“ความไม่มั่นคงทั้งหลายเหล่านี้ถูกผลิตขึ้น เป็นกำมะลอ เพื่ออำนาจและเพื่อการทำมาหากิน สภาวะยกเว้นทางกฎหมายก็เช่นกันจะจริงสักกี่ส่วน หรือเป็นกำมะลอเกือบทั้งนั้น เพื่ออภิสิทธิ์ทางกฎหมาย” ธงชัย กล่าว

ในเวลาเดียวกันหน่วยงานและเหตุผลเรื่องความมั่นคง ทำให้รัฐและหน่วยงานของรัฐสามารถมีอำนาจเหนือกฎหมายเกินกว่ากฎหมายปกติหลายต่อหลายครั้ง และภาวะไม่ปกติในบางท้องที่เกิดขึ้นแทบตลอดเวลาแทบทั้งชีวิตของคนบางรุ่น คนในสังคมมักจะได้ยินข่าวอยู่เสมอว่าหน่วยงานความมั่นคงใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมทางโดยตรงโดยอ้อม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ล้วนหวั่นเกรง หวาดกลัว สยบยอม ต่อการแทรกแซงของหน่วยงานความมั่นคง

“ผมขอเดาว่า หลายคนในวิชาชีพเหล่านี้ รวมทั้งอัยการด้วย หวาดกลัว หวั่นเกรง สยบยอม ต่อการแทรกแซงของหน่วยงานความมั่นคง ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมหลายคนเกรงใจ กลัว ยินยอมพร้อมใจ หรือบางคนสมรู้ร่วมคิดกับหน่วยงานความมั่นคงเหล่านี้ ใช้อำนาจเกินกว่ากฎหมายในภาวะปกติ ทั้งๆ ที่การกระทำเหล่านี้ทำลายกระบวนการยุติธรรม ทำลายความอิสระของผู้พิพากษา” ธงชัย กล่าว

ประการสุดท้าย ธงชัยกล่าวว่า สังคมไทยควรโวยวาย เรียกร้อง และผลักดัน ให้ยุติอภิสิทธิ์ของรัฐและหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่มีอารยประเทศในโลกยอมให้ คือ อภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิด ในระบบกฎหมายไทย ถ้าจุดมุ่งหมายคือการสถาปนาระบอบการปกครองที่กฎหมายเป็นใหญ่ (Rule of Law) ที่ทุกคนอยู่ใต้กฎหมายด้วยกันทั้งสิ้น เพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มานานแล้ว ดังนั้น สังคมไทยจึงต้องยุติรัฐแบบอภิสิทธิ์ชนิดนี้ ไม่ว่าอภิสิทธิ์นั้นจะให้กับรัฐบาลฝ่ายบริหาร หรือหน่วยงานความมั่นคง ต้องมีภัยคุกคามที่เป็นจริงเท่านั้นรัฐถึงสามารถมีอภิสิทธิ์ได้ชั่วขณะหนึ่ง รวมถึงภัยคุกคามนั้นต้องมิได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อให้หน่วยงานความมั่นคงทำมาหากิน หรือใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลผิดหลักกฎหมายจนเป็นปกติ “และอนุญาตให้เขาลอยนวลพ้นผิดล่วงหน้าไว้ก่อนอย่างที่เป็นอยู่”

“มันไม่ใช่ปัญหาทั้งหมดของกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นเหมือนช้างตัวเบ้อเริ่ม big elephant in the room ของกระบวนการยุติธรรมที่เราไม่ค่อยกล้าที่จะพูดถึงกัน” ธงชัย กล่าว

 

ถ้าหากจุดมุ่งหมายที่สังคมคือต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ และ Rule of Law เนื่องจากปัญหาในกระบวนการยุติธรรมและอภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิดร้อยกันจนเป็นโซ่ที่คล้อยคล้องเกี่ยวพันกันจนหาจุดเริ่มต้นไม่พบ ทั้งอัยการ ศาล หรือคณะนิติศาสตร์ มีปัญหาในทุกจุด ธงชัยเสนอแนวทางที่จะหยุดยั้งการใช้อำนาจที่ล้นเกิน กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว ของห่วงโซ่ที่ฝังรากลึกของปัญหาไว้ใน 2 ประการ ได้แก่

1. ยุติอภิสิทธิ์ของหน่วยงานความมั่นคงในระบบกฎหมาย ที่อนุญาตให้หน่วยงานความมั่นคงและการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ต้องยุติอภิสิทธิ์ลอยนวลพ้นผิด

2. ยุติบทบัญญัติทางกฎหมายทั้งหลายที่ทำให้สภาวะยกเว้นกลายเป็นสภาวะปกติ ต้องทำให้สภาวะยกเว้นเป็นสภาวะยกเว้น

 

แม้ทั้ง 2 ข้อนี้จะไม่ได้แก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด แต่จะสามารถช่วยคลายห่วงโซ่ของปัญหาลงได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้รูปร่างเห็นของปัญหาที่ชัดเจนขึ้น เพื่อหาทางปลดล็อคให้กระบวนการยุติธรรมไทยได้รับอิสระ สังคมไทยต้องเอาช้างตัวเบ้อเริ่มออกจากกระบวนการยุติธรรมให้ได้

“การเรียกร้องให้ผู้พิพากษาเคารพกฎหมาย อันนี้ตลกนะ แต่ในความเห็นผมเป็นเรื่องจริง การเรียกร้องให้ผู้พิพากษาเคารพกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญมากในขณะนี้ ไม่ใช่อ้างเอาภาวะยกเว้นกันพร่ำเพรื่อ จนถึงการตรวจสอบทบทวนการอบรมหล่อหลอมผู้พิพากษา วัฒนธรรมผู้พิพากษา

การทบทวนวงการอัยการเองว่า มีส่วนแค่ไหนในการปล่อยเรื่องนี้ผ่านไป หลายคดีไม่ควรถูกสั่งฟ้อง อัยการทำอีท่าไหนถึงปล่อยขึ้นไปได้” ธงชัย กล่าว

 

แม้กระทั่งปลายทางของกระบวนการยุติธรรมที่ดูเหมือนจะไม่มีผลต่อการใช้กฎหมายอย่างราชทัณฑ์ก็สำคัญ ธงชัยพบว่า ผู้ต้องหาในคดี ม.112 นับจากพ.ศ. 2549 และหลังรัฐประหารพ.ศ. 2557 เป็นต้นมา มีสัดส่วนการรับสารภาพมากกว่าผู้ต้องหาคดี ม.112 ก่อนหน้านี้ เมื่อไปสอบถามผู้ต้องหาพบคำตอบว่า ผู้ต้องหาในคดี ม.112 ก่อนหน้านี้ได้ประกันตัว และมีจำนวนน้อยมากที่ต้องเข้าคุก ขณะที่ผู้ต้องหาในคดี ม.112 นับจากพ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่ไม่ได้ประกัน ต้องติดคุก

“เหตุผลที่พวกเขารับสารภาพ คือรู้ว่านอกจากติดคุกระหว่างการประกันแล้ว มีสิทธิถูกตัดสินผิดสูงด้วย การตัดสินซึ่งไม่คงเส้นคงวา ตามใจผู้พิพากษา หรือผิดหลักกฎหมายที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะติดคุกเพราะถือว่าผิดอยู่สูง จึงยอมติดคุก รีบรับสารภาพในเวลารวดเร็ว เพื่อลดระยะเวลาการติดคุก เหตุผลสำคัญจึงได้แก่การติดคุก ทำให้พวกเขารับสารภาพ เป็น false confession ประเภทหนึ่ง สังคมไทยไม่เคยโวยวายเรื่องนี้เลย” ธงชัย กล่าว

 

ทุกองคาพยพของกระบวนการยุติธรรมต้องปรับเปลี่ยน และไม่ใช่แค่เพียงการปรับปรุงทางเทคนิค แต่ต้องผลักดันไปสู่การปกครองของกฎหมาย (Rule of Law) ไม่ใช่การปกครองของภาวะยกเว้นทางกฎหมาย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท