เผด็จการไม่อาจทำให้ชาติเจริญ อย่าสับสนระหว่างจีนกับอินเดีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ท่านสงสัยไหม ทำไมประเทศอินเดียที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก กลับยากจนเหลือเกิน ในขณะที่จีนซึ่งถือเป็นประเทศเผด็จการ กลับร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เมื่อก่อนก็จนเหมือนอินเดีย

ในเชิงทฤษฎี เราเชื่อว่าประชาธิปไตยจะทำให้เกิดความเท่าเทียม ความโปร่งใส ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนได้รับการพัฒนามากขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าประเทศมีเผด็จการทรราช ก็จะทำให้ประชาชนยากไร้ เพราะทรัพยากรต่างๆ ถูกกักเก็บไว้ที่ชนชั้นนำเป็นสำคัญ แต่ทำไมกรณีนี้จึงแตกต่างกันอย่างชัดเจนในกรณีอินเดียและจีน หรือว่าเผด็จการจะดีกว่าประชาธิปไตยกันแน่

การวัดความเป็นประชาธิปไตยมากหรือน้อยอาจจะเกิดความสับสนขึ้นได้ เพราะประชาธิปไตยก็แล้วแต่การตีความ จีนและประเทศสังคมนิยมทั้งหลายก็ถือตนเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยรวมศูนย์หรือเป็นเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพที่ตามทฤษฎีถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในขณะที่อินเดียที่ว่าเป็นประชาธิปไตยนั้น จะเป็นแต่ในนามหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป ดังนั้นการวัดความเป็นประชาธิปไตยอาจจะยากในที่นี้จึงใช้ตัววัดประชาธิปไตยที่ความโปร่งใส

อันที่จริงสามัญสำนึกของคนเรานั้นถูกต้องแล้ว ประเทศที่มีประชาธิปไตยต่ำแสดงออกด้วยความโปร่งใสน้อยก็มักมีรายได้น้อย เช่น (เรียงตามลำดับอักษร) กัมพูชา กีนี กีนีบิสเซา คองโก,สป คองโก,สาธารณรัฐ คีร์กิสถาน แคเมอรูน โคโมรอส ชาด ซิมบับเว ซูดาน ซูดานใต้ โซมาเลีย ทาจีกิสถาน นิการากัว ไนจีเรีย บังคลาเทศ ปากีสถาน มอริทาเนีย เมียนมา ยูกันดา เยเมน อาฟกานิสถาน อีริเทีย อุสเบกิสถาน แองโกลา ฮอนดูรัส และไฮติ เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ทั้งจนและไม่เป็นประชาธิปไตย (ขาดความโปร่งใส)

ในทางตรงกันข้ามประเทศที่โปร่งใสซึ่งถือว่ามีประชาธิปไตยจึงเป็นเช่นนี้ ก็มักเป็นประเทศที่ร่ำรวย มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูง ได้แก่ (เรียงตามลำดับอักษร) เกาหลีใต้ แคนาดา ชิลี เซเชลส์ ญี่ปุ่น เดนมาร์ก ไต้หวัน นอรเวย์ นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม โปรตุเกส ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ ยูเออี เยอรมนี ลักเซมเบอร์ก ลิทัวเนีย สเปน สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ออสเตรีย อังกฤษ อุรักวัย เอสโตเนีย ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ และฮ่องกง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามก็มีบางประเทศที่มีความโปร่งใสน้อยแต่มีรายได้สูงมาก เช่น กาตาร์ คาซักสถาน คูเวต เตอร์กเมนิสถาน ตูรกี บาห์เรน ปานามา เม็กซิโก รัสเซีย ลิเบีย เลบานอน เวเนซูเอล่า อิรัก และอิหร่าน เป็นต้น ทั้งนี้คงเป็นเพราะการผลิตน้ำมันขายหรืออื่นใด ส่วนบางประเทศก็มีความโปร่งใสสูง แต่รายได้ต่ำมาก ด้วยอาจเป็นเพราะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรอันจำกัด เช่น กานา เซเนกัล โซโลมอนไอแลนด์ ติมอร์เลสเต บูร์กินาฟาโซ เบนิน มาลาวี รวันดา เลซูทู และ วานาตู เป็นต้น

ในการนี้ใช้การวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงตัวแปรระหว่างความโปร่งใส (แสดงว่ามีประชาธิปไตยจริง) ซึ่งมาจาก Corruption Perception Index (CPI) ซึ่งมีการจัดทำขึ้นทุกปี กับรายได้ประชาชาติต่อหัว (ยิ่งสูงยิ่งรวย) จาก World Population Review เพื่อที่จะดูว่าตัวแปรทั้งสองตัวมีความสัมพันธ์กันในทางใดหรือไม่ ถ้าไม่มีความสัมพันธ์กันเลย ก็แสดงว่าทั้งสองตัวแปรนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ถ้ามีความสัมพันธ์ เป็นความสัมพันธ์กันในทางใด เป็นแบบยิ่งโปร่งใส ยิ่งรวย หรือแบบยิ่งโปร่งใส ยิ่งจน นั่นเอง

ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงตัวแปรนี้ใช้ตัวแปรทั้งสองจากประเทศต่างๆ 121 ประเทศที่มีข้อมูลครบทั้งตัวแปรความโปร่งใส และตัวแปรรายได้ประชาชาติต่อหัว โดยเอาประเทศที่มีลักษณะผ่าเหล่าผ่ากอ (Outliers) ออก เช่น ประเทศที่มีความโปร่งใสสูงแต่ยากจน ซึ่งอาจเป็นเพราะมีทรัพยากรอันจำกัด กับประเทศที่ไม่ค่อยโปร่งใสแต่ร่ำรวย เช่น ประเทศส่งออกน้ำมัน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลที่วิเคราะห์ไม่มีความเบี่ยงเบนมากจนเกินไป

ผลการวิเคราะห์พบว่ามีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรที่ชัดเจนระหว่างตัวแปรทั้งสองในลักษณะที่ว่า ประเทศที่ยิ่งยากจน ยิ่งมีความโปร่งใสต่ำ หรือประเทศที่มีความโปร่งใสต่ำ มักยากจน ส่วนประเทศที่มีความโปร่งใสสูงขึ้นเรื่อยๆ มักจะเป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ร่ำรวย 30-40 อันดับแรกๆ นั้น มักมีความโปร่งใสมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เป็นไปตามสูตรดังนี้:
   = y = 3.8994*(x^2.2059)
   = รายได้ประชาชาติต่อหัว = 3.8994*(ระดับความโปร่งใส ยกกำลัง 2.2059)

ทั้งนี้โดยมีค่า R-Squared หรือค่าความผันแปรของตัวแปรตอบสนองที่สามารถอธิบายได้มีอยู่ในตัวแบบเชิงเส้นนี้ กี่เปอร์เซ็นต์ โดยอยู่ที่ 0.8683 หรือ 87% หรือใกล้เคียง 100% แสดงว่าสูตรนี้มีความน่าเชื่อถือสูง ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ประชาชนย่อมมีรายได้ดีกว่าประเทศที่มีประชาธิปไตยในระดับที่ต่ำกว่า หรืออีกนัยหนึ่งประเทศที่ร่ำรวยมักเป็นประเทศประชาธิปไตยในเชิงเปรียบเทียบนั่นเอง

เมื่อมาดูเฉพาะไทย จีนและอินเดีย จะพบว่าประเทศไทยมีขนาดเล็กมาก โดยอินเดียมีขนาดใหญ่กว่าไทย 6 เท่า และจีนมีขนาดใหญ่กว่าไทยถึง 18 เท่า ส่วนประชากรไทยก็น้อยโดยทั้งอินเดียและจีนมีขนาดประชากรถึง 20 เท่าของไทย ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงความหนาแน่นของประชากร ไทยอินเดียจึงมีความหนาแน่นกว่าไทยและจีนเป็นอย่างมาก โดยไทยมีความหนาแน่นเพียง 136 คนต่อตารางกิโลเมตร จีนมี 467 คน ส่วนจีนมีเพียง 151 คน

ในด้านความโปร่งใสหรือความเป็นประชาธิปไตย ไทยต่ำสุดคือได้ 35 จาก 100 คะแนน อินเดียได้ 40 คะแนน และจีนได้สูงถึง 45 คะแนน จะว่าจีนไม่เป็นประชาธิปไตยเสียเลยก็คงไม่ได้ ในด้านรายได้ประชาชาติต่อหัว 

ไทยสูงสุดคือ 18,236 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี จีนก็ใกล้เคียงกันคือ 17,192 เหรียญสหรัฐ ส่วนอินเดียต่ำสุดคือ 6,461 เหรียญสหรัฐ ถ้าใช้สูตรคำนวณข้างต้นจะพบว่า

1. ไทยที่มีคะแนนความโปร่งใสอยู่ที่ 35 ควรมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียง 8,947 เหรียญสหรัฐ แต่ไทยกลับมีรายได้สูงกว่าถึง 1 เท่าตัว ทั้งนี้แม้ระบบการเมืองไทยจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ผลิตภาพของภาคเอกชนเข้มแข็งมาก

2. อินเดียน่าจะมีรายได้ 12,210 เหรียญสหรัฐตามคะแนนความโปร่งใสซึ่งสูงกว่าความเป็นจริงที่ได้เพียง 6,461 เหรียญ ทั้งนี้อินเดียมีประชากรมากแต่พื้นที่น้อย ทรัพยากรจึงอาจไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร ทำให้ยากจนซ้ำซากมานาน อีกทั้งยังมีการแบ่งชนชั้นวรรณะอีกต่างหาก

3. มีเพียงจีนที่ตัวเลขออกมาใกล้เคียงกัน บางท่านอาจมองว่าจีนได้ดีเพราะระบบเผด็จการ แต่คงเป็นเพราะผลิตภาพที่สูงเด่นของภาคเอกชนต่างหาก

บางท่านอาจยังสงสัยว่าทั้งจีนและอินเดียต่างเคยเป็นประเทศยากจนมาด้วยกัน ระบบเผด็จการทำให้จีนรุ่งเรืองขึ้นหรือไม่ สังคมอินเดียที่ยากจนมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลที่มีขอทานมากมายอยู่แล้ว แต่ทั้งคนจีนและอินเดียก็ถูกส่งออกเป็นแรงงานไปหลายประเทศทั่วโลกทดแทนทาสผิวดำ อันที่จริงการอพยพของคนจีนก็ปกติเหมือนคนต่างชาติอื่นที่มาทำการค้าขายหรืออย่างกรณี เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว <3> แต่การอพยพครั้งใหญ่ของจีนเกิดขึ้นก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะทุพภิกขภัยนั่นเอง

จีนรุ่งเรืองขึ้นมาเพราะการลงทุนจากต่างประเทศตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อ 40 ปีก่อน เพราะมีแรงงานราคาสุดถูก จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ และที่สำคัญจีนได้ (ขโมย) นำเทคโนโลยีของต่างประเทศมาพัฒนาต่อ (ต่างจากไทยที่มีรถไฟมาตั้งแต่ปี 2439 แต่ยังผลิตหัวรถจักรเองไม่ได้) จนหลายอย่างกลายเป็นเทคโนโลยีของจีนเอง ในทางตรงกันข้ามหลายประเทศเจริญขึ้นเพราะเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย เช่น เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เมียนมา (ก่อนรัฐประหารล่าสุด)

อย่าเข้าใจผิดว่าในยุคเผด็จการ ได้มีการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อประเทศชาติ มากอสไม่ได้สร้างนครหลวงเกซอน และย่านธุรกิจมาคาติ ทรราชซูฮาร์โตก็แค่พัฒนาตามพันธกิจเดิมที่เคยวางไว้ ผู้เขียนเคยไปสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงมะนิลามา และเคยสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงจาการ์ตา ผู้เขียนไปสำรวจที่กรุงมะนิลาและไปบรรยายที่นั่นมาหลายรอบ รวมทั้งที่กรุงจาการ์ตาที่ผู้เขียนเคยไปทำงานให้กับธนาคารโลกในโครงการสาธารณูปโภค และในโครงการที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย จึงขออนุญาตแบ่งปันข้อเท็จจริงเชิงเปรียบเทียบกับไทยเรา

เกซอนซิตี้
ที่ฟิลิปปินส์ เขาเคยสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่แทนที่กรุงมะนิลามาแล้ว ชื่อว่า “เกซอนซิตี้” (Quezon City) โดยเป็นนครหลวงในช่วงปี 2491-2516 มีการก่อสร้างอาคารรัฐสภา กระทรวงและสำนักงานของทางราชการส่วนกลางทั้งหลายมาตั้งอยู่รวมกันในนครหลวงแห่งใหม่นี้ ทั้งนี้สาเหตุที่ย้ายเมืองหลวงเพราะกรุงมะนิลา “เน่า” เต็มทน ผู้บริหารจึงรู้สึกว่า "เกินเยียวยา" สร้างใหม่ดีกว่า ไทยเราก็ทำศูนย์ราชการ เช่นที่แจ้งวัฒนะ แต่ก็ทำได้ “โหลยโท่ย” จริงๆ เพราะพื้นที่ก็เล็ก สร้างก็จำกัด ดูเหมือนไม่ได้มีการรวมศูนย์ราชการจริง ๆ เลย

อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ผิดพลาดเป็นอย่างมาก เพราะปรากฏว่าในภายหลังทั้งกรุงมะนิลาและกรุงเกซอนซิตี้กลับเชื่อมต่อกันเพราะห่างกันเพียง 17 กิโลเมตรเท่านั้น ภายหลังเกซอนซิตี้จึงกลายเป็นเพียงเทศบาลหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของ Metro Manila หรือ “กรุงมะนิลาและปริมณฑล” ข้อนี้เป็นการชี้ชัดอย่างหนึ่งว่า การย้าย/สร้างเมืองหลวงใหม่ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราอาจย้ายศูนย์ราชการออกไปได้ แต่ก็อยู่แบบค่อนข้างโดดเดี่ยว เช่น กรุงวอชิงตัน กรุงแคนบรา กรุงบราซิเลีย หรือกรุงเนปยีดอ เป็นต้น แต่เมืองหลวงทางเศรษฐกิจยังอยู่ยั้งยืนยงอยู่ที่เดิม เช่น ย่างกุ้ง นิวยอร์ก ซิดนีย์ เซาเปาโล เป็นต้น

คือหลายคนอาจเข้าใจว่าอดีต “กรุงเกซอนซิตี้” สร้างในสมัยมาร์กอส แต่ความจริงมาร์กอสมาเป็นประธานาธิบดีในปี 2508 จึงไม่ได้มีส่วนในการสร้างเมืองนี้ขึ้นมาแต่อย่างใด เผด็จการไม่ได้มาสร้าง แต่มา "กิน"! แต่มาร์กอสก็เป็นผู้ที่เลิกสถานะเมืองหลวงของเกซอนซิตี้ และให้มีสถานะเป็นเพียงเทศบาลหนึ่งในนครหลวงแห่งนี้ การมีเทศบาลหลายแห่งใน “กรุงมะนิลาและปริมณฑล” นี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นแง่ดีที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจ แต่ละเทศบาลดูแลปัญหาได้ใกล้ชิด แต่ในด้านแง่ลบก็คือทำให้ขาดการประสานงานกัน

แต่ที่แน่ๆ สำหรับกรุงเทพมหานครก็คือ เราควรมีการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขต หรือแม้แต่หัวหน้าฝ่ายการศึกษา ฝ่ายเทศกิจ ฯลฯ ก็ควรให้มีการเลือกตั้ง ให้ข้าราชการเป็นแค่มือไม้หรือเครื่องมือสนองนโยบายของผู้แทนของประชาชน และควรให้มีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ในอาเซียนมีเพียงไทย บรูไนและเมียนมาที่ไม่มีภาษีนี้) มาบริหารราชการให้สนองความต้องการของประชาชนจริงๆ 

มาคาติ
ฟิลิปปินส์มีหลายสิ่งที่เจริญกว่าไทย เช่น เขาเคยจัดแข่งชกมวยชิงแชมป์โลกระหว่างโจ ฟราเซียกับโมฮัมหมัด อาลี ที่เกซอนซิตี้เมื่อปี 2518 มาแล้ว นอกจากนี้ฟิลิปปินส์ยังมีย่านธุรกิจชั้นนำใจกลางเมืองชื่อว่าเมืองมาคาติ (Makati) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรุงมะนิลา ถือเป็นศูนย์รวมสถาบันการเงิน ธุรกิจชั้นนำ อาคารสวยและสูงใหญ่มากมายที่สร้างและเจริญมาก่อนกรุงเทพมหานครเสียอีก ในกรุงเทพมหานครของเราก็คงมีแต่ย่านสีลม สุรวงศ์ สาทร เป็นต้น แต่ย่านสีลม หรือแม้แต่ย่านค้าปลีกเช่น สยาม-ชิดลม-เพลินจิต ก็เป็นย่านที่เกิดขึ้นเองตามยถากรรม ไม่ได้ผ่านการวางแผนอย่างเป็นกระบวนการเช่นในกรณีของมะนิลา

ย่านอะยาลา (Ayala) ในใจกลางเมืองมากาตีซึ่งเป็นเสมือนย่านวอลสตรีทหรือศูนย์กลางการเงินของนิวยอร์กนั้น แต่เดิมเป็นสนามบินเก่า เขาไม่เอาไปทำสวนสาธารณะแบบที่เรากำลังรณรงค์ให้เอาที่รถไฟมักกะสันไปทำสวน (ทำไมไม่รณรงค์เอาที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารหรือที่ดินบรรทัดทองจุฬาฯ ไปทำสวนบ้างก็ไม่รู้) มากาติจึงเป็นศูนย์รวมความเจริญ อาคารขนาดใหญ่เช่นธนาคารกรุงเทพย่านสีลมที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2525 นั้น ในย่านมากาติ เขามีมาก่อนนับสิบปีแล้ว

ย่านมากาติ มีการตัดถนนหนทาง วางผังเมืองอย่างสวยงาม บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยจัดได้ว่าการวางผังเมืองที่นี่ได้ผลเป็นอย่างดี ถ้าจะเดินเล่นในมะนิลาในยามวิกาล มากาติถือเป็นย่านที่เดินได้ แต่ถ้าไปในเขตเทศบาลมะนิลาที่เป็นเมืองหลวงเก่า ก็ไม่สามารถเดินได้ พูดมาถึงตรงนี้หลายท่านอาจเข้าใจผิดว่ามาร์กอสเป็นผู้สร้างเมืองมากาติ แต่แท้จริงเขาพัฒนามาก่อนสมัยมาร์กอสแล้ว แต่มากาติก็เป็นศูนย์รวมสำคัญของการเดินขบวนขับไล่มาร์กอส

จาการ์ตาหลังซูฮาร์โต
จาการ์ตาเป็นอีกนครหลวงหนึ่งที่เคยเจริญยิ่งใหญ่กว่าเรามาก แต่มาชะลอไปในช่วงประธานาธิบดีซูฮาร์โต แต่อันที่จริงในยุคต้นของซูฮาร์โตก็มีการพัฒนาทางหลวงพิเศษขึ้นมากมายเช่นกัน แต่เป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องมาจากยุคของซูการ์โนที่เป็นประธานาธิบดีคนแรก และเป็นคนที่ถูกซูฮาร์โตจับไปขังในเมืองโบโกร์ ซึ่งเป็นเมืองบริวารหนึ่งของกรุงจาการ์ตา และเสียชีวิตเนื่องจากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีเพียงพอ

ศูนย์ธุรกิจใหม่ของกรุงจาการ์ตา ณ ถนนนายพลสุเดอแมน (Jend. Sudirman) และ ถนนราซูนาซาอิด (H.R. Rasuna Said) ก็เติบโตขึ้นมาอย่างจริงจังหลังจากการโค่นอำนาจของจอมเผด็จการซูฮาร์โตหลังปี 2541 แล้ว โดยเฉพาะในช่วง 7-8 ปีหลังมานี้ ราคาสำนักงานพุ่งสูงขึ้นสูงนับเท่าตัว อันเป็นผลพวงจากการตื่นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อินโดนีเซียกลายเป็น "ยักษ์ที่เพิ่งตื่นจากหลับ" หลังจากสลบไสลไปหลายสิบปีภายใต้อำนาจเผด็จการซูฮาร์โตนั่นเอง

รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจโก วีโดโด (Joko Widodo) ซึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อ 9 กรกฎาคม ปีที่แล้ว กำลังคึกคักอย่างยิ่ง การลงทุนไหลบ่าเข้าประเทศเป็นอย่างมาก ส่วนในฟากประเทศฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 ที่ครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2553 จากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากเช่นกัน ก็ยังเป็นที่นิยมของประชาชน แต่ขณะนี้มีข่าวว่าคนรอบข้างของท่านประธานาธิบดีอาจมีกลิ่นโกงโชยมาแล้ว ซึ่งก็คงต้องดูกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ก็คือประเทศมักจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ส่วนในยุคเผด็จการ ประเทศมักถดถอยเพราะการโกงโดยไร้การตรวจสอบนั่นเอง

ยุคเผด็จการคือยุคมืดที่ไม่มีการตรวจสอบและจบลงด้วยการโกงมหาศาล ทำร้ายชาติต่างหาก ในประวัติศาสตร์ไม่มีอัศวินม้าขาวไหนที่เหาะมาโดยไมได้รับฉันทามติของประชาชน อย่าลืมประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าเรา ยังจัดเลือกตั้งได้โดยไม่หาว่าคนเขาถูกซื้อเสียง และไม่มีใครกล้าขัดขวาง

 

อ้างอิง
Corruption Perception Index. https://www.transparency.org/en/cpi/2021  
GDP Per Capita. World Population Review. https://worldpopulationreview.com/country-rankings/gdp-per-capita-by-country  
โปรดดู https://bit.ly/3TFtYJM
UNESCO. The Overseas Chinese: A long history. https://en.unesco.org/courier/2021-4/overseas-chinese-long-history
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท