ศาสนากับความเป็นมนุษย์ : แพรรี่และภิกษุณีปลาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กรณีดราม่าไลฟ์ขายสบู่น้ำมนต์ โดยบอกสรรพคุณว่าสามารถชำระล้างอวิชชาต่าง ๆ และเสริมโชคลาภดวงชะตาของภิกษุณีสุทัสสนาหรือหมอปลาย ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในโลกโซเชียล ที่น่าสนใจคือความเห็นของ “แพรรี่” (อดีตพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ) ผมขอแยกเป็นประเด็นๆ ดังนี้

 

1. ปัญหาการไม่เคารพความหลากหลายทางศาสนา และไม่เคารพเสรีภาพทางศาสนา เห็นได้จากแพรรี่เขียนว่า

” ในความเห็นของดิฉัน ต่อให้ภิกษุณีปลาย จะไม่ได้อยู่ในสังกัดหรือความดูแลของคณะสงฆ์ไทย แต่ท่านก็ถือว่า เป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา ค่ะ เมื่อเป็นแบบนี้ ดิฉันคิดว่า ถ้าท่านอยากจะทำธุรกิจหรือค้าขายอะไรโดยอาศัยความเชื่อ ท่านควรทำอย่างตรงไปตรงมานะคะ…คือดิฉันอยากให้ท่านทำในฐานะของฆารวาสค่ะ ของหมอปลาย พรายกระซิบ หรืออะไร ก็ว่ากันไป แต่ไม่ใช่ในฐานะของภิกษุณี ของนักบวชในพระพุทธศาสนา… (ตัวหนาเน้นโดยผม)

(อ่านความเห็นแพรรี่ทั้งหมดที่นี่https://www.facebook.com/HKS2017/photos/a.159623231265543/1287397198488135/)

 

ประเด็นนี้ภิกษุณีปลายอธิบายว่า

 

“ ...ยอมรับว่าไลฟ์ขายสบู่จริง ที่ประเทศศรีลังกา โดยเหตุผลที่ทำ เนื่องจากก่อนจะบวชเป็นภิกษุณี ได้เป็นแม่ชีมาก่อน ตอนไปดูวัดที่ศรีลังกา ประเทศยังไม่เกิดวิกฤต ทำให้ไม่คิดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเยอะ ซึ่งหลังประเทศล่มสลาย ไม่มีอาหารกิน ไม่มีรถ ไม่มีน้ำมัน ความหวังเดียวของภิกษุและภิกษุณีที่นั่นคือหมอปลาย ที่มาบวชเป็นภิกษุณีให้ช่วยเหลือ โดยภิกษุและภิกษุณีที่ศรีลังกา ไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนพระไทย พระที่นั้นเป็นผู้ให้ไม่ใช่ผู้ขอ พระสามารถเป็น ส.ส.ได้ สู้เพื่อปากท้องของประชาชน เมื่อประเทศลำบาก ประชาชนไม่มีที่พึ่ง วัดจึงเป็นที่พึ่งเดียวของประชาชน

...ตอนไปอยู่วัดที่ศรีลังกา ลำบากมาก ไม่มีอาหารฉัน ต้องไปขุดมันสำปะหลังกิน ไฟฟ้าดับหลายชั่วโมง จึงปรึกษาเจ้าอาวาสซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ว่า วัดที่ประเทศไทย มีการขายวัตถุมงคล เพื่อหาเงินบำรุงศาสนา ตนจึงคิดนำสบู่มาขาย ซึ่งเป็นของที่มีมา 10 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทำ เจ้าอาวาสก็อนุญาต เพื่อจะได้นำเงินมาช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤต ซึ่งทุกครั้งที่ไลฟ์ขายสบู่ ไม่ได้บังคับให้ซื้อ ไม่ได้ให้ช่วยฟรี มีของแลกเปลี่ยน ขายสบู่ก้อนละ 129 บาท ไม่ใช่ 199 บาทตามข่าว ” (ตัวหนาเน้นโดยผม)

 

(ที่มา https://www.facebook.com/MorningNewsTV3/photos/a.400074023363190/5930073167029887/)

 

คำอธิบายของภิกษุณีปลายทำให้เห็นความแตกต่างและหลากหลายของพุทธศาสนา แม้ศรีลังกาจะเป็นเถรวาทเช่นกันกับพุทธไทย แต่วิถีชีวิตของพระก็ต่างจากไทย พระศรีลังกามีสิทธิเลือกตั้ง เล่นการเมือง ตั้งพรรคการเมืองได้ เป็น ส.ส.ได้ เป็นผู้ให้ ไม่ใช่ผู้ขอ สู้เพื่อปากท้องประชาชน

ที่สำคัญภิกษุณีปลายได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว เธอทำตามกฎพุทธศาสนานิกายของเธอ อีกอย่างก็เป็นจริงว่าพระไทยเองก็หารายได้จาก “วัตถุมงคล” มายาวนาน นี่ไม่ใช่ไสยศาสตร์เลยหรือ ทำไมสบู่น้ำมนต์เป็นแค่ไสยศาสตร์ มีความหมายเชิงวัตถุมงคลไม่ได้ ขายสบู่น้ำมนต์เป็นธุรกิจที่นักบวชพุทธทำไม่ได้ แต่พระไทยขายวัตถุมงคลไม่ใช่ธุรกิจงั้นหรือ กูรูพุทธไทยทำไมปล่อยให้พระไทยใช้ “สถานะนักบวชพุทธ” ทำธุรกิจวัตถุมงคลพาณิชย์มายาวนาน จะตอบคำถามนี้อย่างไร

นอกจากคำอธิบายของภิกษุณีปลายจะให้ภาพความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา หรือชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนาแต่ละกลุ่ม แต่ละนิกายมีวัตรปฏิบัติ กฎกติกาต่างกันแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการยืนยันที่สอดคล้องกับหลัก “เสรีภาพทางศาสนา” (freedom of religion) ด้วยว่า “ทุกครั้งที่ไลฟ์ขายสบู่ ไม่ได้บังคับให้ซื้อ ไม่ได้ให้ช่วยฟรี มีของแลกเปลี่ยน” แปลว่าเป็นเสรีภาพที่ใครจะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ ซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ ไม่ใช่การหลอกลวงที่ผิดกฎหมาย

ประเด็นคือ เสรีภาพทางศาสนาไม่ใช่แค่ใครจะเลือกถือศาสนาใดๆ ก็ได้ หรือไม่ถือศาสนาก็ได้เท่านั้น หากยังรวมถึงการเลือกความเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนากระแสหลัก เช่น ศาสนาผี ศาสนาชนเผ่าต่างๆ ความเชื่อเชิงไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ที่ไม่เป็นการทำอันตรายต่อคนอื่นด้วย

ประเด็นนี้กูรูพุทธอาจแย้งว่า เราไม่มีเสรีภาพตีความคำสอนได้ตามอำเภอใจ หรือไม่มีเสรีภาพเลือกปฏิบัติผิดหลักคำสอน ผิดสถานะนักบวชได้ แต่หลักเสรีภาพทางศาสนาอนุญาตให้เราทำได้ ตราบที่เราไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น อีกทั้งข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก็บอกเราว่า การปราบปรามคนคิดต่างในนามปกป้องความบริสุทธิ์ถูกต้องของศาสนานั้นรุนแรงและโหดร้าย และการอ้างเรื่องปกป้องรักษาความบริสุทธิ์ถูกต้องทางศาสนาแบบยึดหลักคำสอนดั้งเดิมตามคัมภีร์อย่างเคร่งครัด ตามทัศนะแบบมูลฐานนิยม (fundamentalism) มักเป็นข้ออ้างที่ใช้กำกัด ลดทอน และกีดกันเสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพทางความคิดเห็น และการแสดงออกมายาวนาน

ดังนั้น ใครก็ตามจะอ้างเหตุผลเรื่องทำผิดหลักศาสนาที่แท้ ผิดสถานะของนักบวชเพื่อละเมิดหรือกีดกันเสรีภาพทางศาสนาไม่ได้ ถ้าอ้างว่าใช้สถานะนักบวชพุทธขายสบู่น้ำมนต์ไม่ได้ ต้องสึกมาเป็นฆราวาสถึงขายได้ หาก “ไม่เลือกปฏิบัติ” ก็น่าจะอ้างเหตุผลเดียวกันนี้เรียกร้องให้พระไทยจำนวนมากสึก เพราะปลุกเสก และขาย หรือหารายได้จากธุรกิจวัตถุมงคลพาณิชย์กันมายาวนานแล้ว โดยเฉพาะพระสายที่ป่าวประกาศว่า “ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ” ตามหลักพุทธที่แท้จริง

อันที่จริงอะไรคือความเหมาะสม-ไม่เหมาะสมกับสถานะนักบวชพุทธ ไม่ใช่เรื่องตัดสินได้ง่ายๆ พระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปองก็ถูกชาวพุทธอีกฝ่ายตัดสินว่าทำอะไรไม่เหมาะกับสถานะนักบวชมาแล้ว โดยอ้างธรรมวินัยในไตรปิฎกเล่มเดียวกัน แล้วใครบ้างล่ะที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามธรรมวินัยที่กล่าวอ้างได้สมบูรณ์แบบจริง

ที่น่าเศร้าคือ ตอนที่สอง พส. ถูกเล่นงานด้วยข้อกล่าวหาแบบมูลฐานนิยมว่า ทำตัวไม่เหมาะสมกับสถานะนักบวชพุทธ มีคนจำนวนไม่น้อยออกมาปกป้อง “เสรีภาพทางศาสนา” และ “เสรีภาพในการแสดงออก” ของสอง พส. แต่ตอนนี้แพรรี่กลับอ้างเรื่องความไม่เหมาะสมกับสถานะนักบวช ด้วยมุมมองแบบมูลฐานนิยมอย่างไม่เคารพเสรีภาพทางศาสนาของภิกษุณีปลาย

 

ข้อเท็จจริงที่เราพึงตระหนักร่วมกันคือ การละเมิดหรือกีดกันเสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพวิจารณ์เจ้า และอื่นๆ ไม่ได้มาจากอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว แต่อาจมาจากความเชื่อ จารีตประเพณี วัฒนธรรมทางสังคม ความคิดของปราชญ์ ปัญญาชน คนดัง เซเลบด้านต่างๆ ที่มีอิทธิพลชี้นำกระแสสังคมในทิศทางที่เบี่ยงเบนไปจากความเข้าใจ การเห็นคุณค่า และการมีสามัญสำนึกเคารพและปกป้องเสรีภาพ

 

2. ปัญหาการคิดแทนและสั่งสอนคนอื่นบนความเชื่อส่วนตัวของตนเอง เช่นที่แพรรี่เขียนว่า
 

” ในความเห็นของดิฉัน การที่ท่านตัดสินใจออกบวชแล้ว นั่นควรหมายความว่า ท่านมีศรัทธาต่อพุทธศาสนาจริงๆ ต่อคำสอนที่มุ่งเน้นเรื่องการใช้สติปัญญาในการดับทุกข์ ท่านควรประพฤติตนตามหลักการข้อนี้ และสอนคนอื่นที่มีความนับถือในตัวท่านด้วย”
 

ที่จริงแล้วแต่ละคนบวชด้วยเหตุผลที่ต่างกัน เราไม่ทราบว่าตอนไพรวัลย์บวชเณรได้คิดถึง “คำสอนที่มุ่งเน้นเรื่องการใช้สติปัญญาในการดับทุกข์ “ หรือไม่อย่างไร หรือต้องการบวชเรียนตามประเพณี ในระยะเวลา 18 พรรษา พระมหาไพรวัลย์ได้เรียนรู้คำสอนเรื่องดับทุกข์ ก็อาจเป็นไปได้ว่าเขาอาจตีความคำสอนปรับใช้กับการดับทุกข์ในแบบของเขา เช่นเดียวกัน ภิกษุณีปลายก็อาจตีความได้เช่นกันว่า การขายสบู่ในเชิงวัตถุมงคล ก็เพื่อนำรายได้ไปบรรเทาทุกข์ของเพื่อนภิกษุณีและพระภิกษุชาวศรีลังกา เหมือนที่หลวงพ่อคูณขายวัตถุมงคลหารายได้สร้างโรงพยาบาลช่วยประชาชน เป็นต้น

ดังนั้น เรื่องการใช้สติปัญญาดับทุกข์ อันเป็นความเชื่อเชิงอุดมคติ จึงไม่ควรจะมีใครทำตัวเป็น “ตำรวจศาสนา” หรือ “ตำรวจศีลธรรม” กระทั่งทำตัวเป็น “ตำรวจทางจิตวิญญาณ” เที่ยวชี้นิ้วพิพากษาว่า ใครควรมีศรัทธาแบบไหน เดินตามหลักศีลธรรมตรงปกตามคัมภีร์แค่ไหน หรือมุ่งใช้สติปัญญาในการดับทุกข์จริงหรือไม่ และควรจะสอนคนอื่นอย่างไร

การก้าวล่วงไปแนะนำสั่งสอนหรือตัดสินศรัทธา ซึ่งเป็น “ความเชื่อส่วนบุคคล” อันอยู่ในขอบเขตของ “เสรีภาพปัจเจกบุคคล” (individual liberty) โดยที่เจ้าตัวเขาใช้เสรีภาพนั้นอย่างไม่ได้ละเมิดสิทธิ์ใคร ในมุมมองแบบเสรีนิยมโลกวิสัยถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เหมือนกับการที่เราไม่ควรบุลลี่หรือเหยียดตัวตนทางเพศของคนอื่นนั่นเอง

 

3. ปัญหาการใช้วาทกรรมด้อยค่าความเชื่อของคนอื่น เช่นที่แพรรี่เขียนว่า
 

” ศาสนาไม่ได้เป็นสถานที่ชุบตัว ผ้าเหลืองไม่ได้มีไว้สำหรับเป็นเครื่องหมายทางการค้า หรือเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ใครใช้ประกอบอาชีพนะคะ ...ท่านควรต้องเลือกค่ะ ถ้าจะขายของก็ควรออกมา ไม่ควรใช้สถานะนักบวชแสวงหาลาภปัจจัยในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ถ้ามีท่านศรัทธาในพระพุทธศาสนาจริงๆ ท่านก็ควรทิ้งวิถีแห่งไสยศาสตร์หรือแม้แต่ความเป็นแม่ค้าที่ท่านทำนะคะ... “
แน่ใจนะครับว่า ตลอด 18 พรรษา พระมหาไพรวัลย์ไม่ได้ใช้ศาสนาเป็นสถานที่ “ชุบตัว” หรือไม่ได้ใช้ผ้าเหลืองสร้างความเชื่อถือในการประกอบอาชีพ เป็น “พระแท้” มุ่งขัดเกลากิเลสสู่ความพ้นทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น

แต่ข้อเท็จจริงคือ เป็นเรื่องปกติที่นักบวชชายไทยทั้งบวชเรียนเพื่อสึกมาทำงาน บวชได้ยศช้างขุนนางพระ รับเงินนิตยภัตจากภาษีประชาชน มีอำนาจทางกฎหมาย บางคนมีเงินฝากเป็นร้อยล้าน บางคนใช้ผ้าเหลืองสร้างความเชื่อถือในการเป็นนักพูดตลก มีเงินซื้อที่ดินส่วนตัวเป็นร้อยไร่ พระไทยทั้งปลุกเสกวัตถุมงคล เจิมป้าย สวดผี และ ฯลฯ นี่คือปฏิปทาเพื่อความพ้นทุกข์อย่างไรหรือ นี่ไม่ใช่ “นักบวชเป็นอาชีพ” แบบหนึ่งดอกหรือ
 

ที่จริงแล้ว ตามนบรรทัดฐานของโลกสมัยใหม่ การบวช ผ้าเหลือง หรือพื้นที่ของนักบวชเป็น "พื้นที่ทางวัฒนธรรม" และเป็น "สิทธิทางวัฒนธรรม" แบบหนึ่ง เราโฟกัสไม่ได้ดอกว่าทุกคนต้องบวชเพื่อความพ้นทุกข์ นั่นเป็นสิทธิที่แต่ละคนจะเลือก
 

หากจะตัดสินภิกษุณีปลายด้วยตรรกะ “เป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา” โดยไม่พิจารณา “บริบท” ที่ต่างกันมาก เช่น ภิกษุณีปลายอยู่ในนิกายเถรวาทที่บวชภิกษุณีได้ เถรวาทไทยบวชไม่ได้ ตรรกะเช่นนี้ก็ใช้ได้ครอบจักรวาล ถ้าใครอ้างตรรกะนี้อย่าง “คงเส้นคงวา” (consistency) พระเกย์ญี่ปุ่นไม่ควรประกอบอาชีพช่างแต่งหน้า เพราะเป็น “นักบวชในพระพุทธศาสนา” เช่นกัน แม้จะต่างนิกาย แต่เราจะไปอ้างแบบนี้ตัดสินพระญี่ปุ่นตามภาพข้างล่างนี้ไม่ได้อยู่แล้ว

(ที่มาภาพและข้อความ https://www.facebook.com/thepeoplecoofficial/photos/a.1040280776144446/1667145396791311)

วิธีการเผยแพร่ศาสนาของพระญี่ปุ่นมีหลากหลาย ทั้งเปิดบาร์เหล้าให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตแก่คนที่มานั่งดื่ม ใช้ดนตรี และบทเพลงประกอบการภาวนา และอื่นๆ ขณะที่พระไทยอาจใช้วัตถุมงคลดึงคนเข้าหาคำสอน หรือหารายได้ แล้วทำไมภิกษุณีปลายทำไม่ได้ การบรรเทาความทุกข์มีหลายแบบ ดังที่พระโคโดะ นิชิมูระกล่าวว่า

“ ฉันผ่านช่วงเวลาที่รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าไปแล้ว ในฐานะพระและช่างแต่งหน้า ฉันต้องการช่วยเหลือ LGBTQ ในการตามหาความหมายของชีวิต มันเป็นวิธีช่วยเหลือสองทาง ซึ่งทั้งสองทางมาจากสิ่งเดียวกัน -หัวใจของฉัน ”

การแต่งหน้าเป็นสุนทรียศาสตร์แบบหนึ่ง และใช้ช่วยคนบางกลุ่มตามหาความหมายของชีวิตได้ นี่คืออิสรภาพในการตีความศาสนา 

ผมคิดว่าศาสนาในโลกสมัยใหม่ไม่มีทางจะเป็นแบบศาสนาดั้งเดิมเหมือนเมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว ที่จริงศาสนาเริ่มเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่หลังยุคพระศาสดาแล้ว ใครยังละเมอเพ้อพกว่า “พุทธราชาชาตินิยม” ของไทยในปัจจุบันเป็นพุทธแท้และดั้งเดิมนับว่าหลอนตัวเองอย่างหาที่สุดมิได้ 

ที่จริงแล้วถ้าศาสนาจะมีข้อดีต่อ “ความเป็นมนุษย์” ในโลกสมัยใหม่ แรกสุดเลยศาสนาต้องเป็นพื้นที่ให้มนุษย์ซื่อสัตย์ต่อ "ตัวตน" ของตัวเองให้ได้ก่อน แล้วเขาจะไม่กลายเป็นนักบวชที่หลอกตัวเองและลวงโลก เป็นนักบวชที่ซื่อสัตย์ต่อตัวตนของตัวเองให้ได้ก่อน ค่อยไปพูดถึงเรื่องการปล่อยวาง หรือความพ้นทุกข์

ในมุมมองของผมแพรรี่อาจดูว่าก้าวหน้าในแง่การแสดงออกที่เป็นตัวของตัวเองตามตัวตนทางเพศ ซึ่งเป็นการยืนยัน “เสรีภาพปัจเจกบุคคล” แต่ทัศนะทางศาสนาของเขากลับเป็นทัศนะ “อนุรักษ์นิยมแบบพุทธไทย” เขาใช้มุมมองแบบ “ศาสนาชายเป็นใหญ่” ในการตัดสินถูก-ผิด ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ เขารู้อยู่แล้วว่าการสังคายนาครั้งแรกที่ก่อกำเนิดลัทธิเถรวาทนั้น ไม่มีภิกษุณีเข้าร่วมในการสังคายนาด้วย และศาสนาแบบชายเป็นใหญ่นั่นเองที่กล่อมเกลาให้พระมหาไพรวัลย์แสดงบทบาทแบบ “ชายแท้” มาถึง 18 พรรษา เพื่อดำรงสถานภาพและชื่อเสียงตามบรรทัดฐานพุทธไทย

แน่นอน นั่นอาจเป็นความสมัครใจหรือไม่ถูกบังคับ แต่ถ้าเราเชื่อใน “เสรีภาพปัจเจกบุคคล” อย่างจริงใจ เราก็จะคิดและทำอะไรแบบไม่ย้อนแย้ง เหมือนพระเกย์ญี่ปุ่นที่ซื่อตรง เคารพตัวตนที่แท้ของตนเองและยังมีแรงบันดาลใจช่วยเหลือเพื่อน LGBTQ+ ให้มีความเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าศาสนาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นเปิดกว้างร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้เสรีภาพนั้นมา ซึ่งพื้นฐานที่ดีอย่างหนึ่งคือ การแยกศาสนาจากรัฐในญี่ปุ่นทำให้มีเสรีภาพตีความคำสอนศาสนาได้แตกต่างและหลากหลาย ทำให้มนุษย์ไม่ได้เป็นเพียง “มนุษย์เครื่องมือ” ที่ถูกกระทำให้เคลื่อนไหวไปตามกลไกคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของศาสนาเท่านั้น แต่กลับเป็นการตีความคำสอนที่เป็นแก่นแท้ของศาสนามารับใช้ความเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างและหลากหลาย 

ดังนั้น การภาวนาเพื่อให้เข้าใจความหมายของชีวิต อาจผ่านพิธีชงชา วาดภาพ ฝึกเขียนบทกวี เล่นดนตรี ร้องเพลง ศิลปะการแต่งหน้าและอื่นๆ นี่คือศาสนารับใช้ความเป็นมนุษย์ ผมอ่านความเห็นของภิกษุณีปลายและพระเกย์ญี่ปุ่นแล้วรู้สึกได้ถึง “ความเป็นมนุษย์” มากกว่า

อย่างน้อย ภิกษุณีปลายยังนึกถึงความทุกข์ของพระสงฆ์ ภิกษุณี และเข้าใจความทุกข์ยากของประชาชนชาวศรีลังกาท่ามกลางความพังของประเทศและเศรษฐกิจ แต่น้ำใจ น้ำมิตรจากกูรูพุทธศาสนาไทย ทั้งพระและฆราวาส คือการให้ “คำสั่งสอน” และบอกให้ “เลิกทำ” เช่นนั้น ด้วย “ความปรารถนาดี” ที่แสนจะแห้งแล้งและเหี้ยมหินในนามการปกป้องหลักคำสอนที่แท้ตรงปกในไตรปิฎก และภาพลักษณ์อันหมดจดสูงส่งของนักบวชผู้  “ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ” ในจินตนาการแบบพุทธเถรวาทไทย!
 

 

ที่มาภาพ: https://thethaiger.com/th/news/671716/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท