'กรีนพีซ' ชี้ 'CP' ครองแชมป์ผู้ผลิตแบรนด์ในประเทศที่พบขยะพลาสติกมากที่สุดช่วง 5 ปี

'กรีนพีซ' ชี้ 'CP' ครองแชมป์ผู้ผลิตแบรนด์ในประเทศที่พบขยะพลาสติกมากที่สุดจาก Brand Audit ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เรียกร้องให้นำหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตมาใช้

กรีนพีซ ประเทศไทยแจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 กรีนพีซ ประเทศไทย มอบรางวัล Top 5 Corporate Plastic Polluters หรือผู้ก่อมลพิษพลาสติกสูงสุด 5 อันดับแรก จากการเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) ตั้งแต่ปี 2561-2565 ให้แก่แบรนด์ในประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group), ดัชมิลล์, โอสถสภา, เสริมสุข และสิงห์ คอร์เปอเรชั่น พร้อมเรียกร้องให้ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าในไทยตั้งเป้าลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลงทุนในระบบเก็บพลาสติกหลังการใช้งานกลับคืน การใช้ซ้ำ และรีฟิลโดยใช้ภาชนะใช้ซ้ำ ตลอดจนสนับสนุนกรอบกฎหมายที่ใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต(Extended Producer Responsibility หรือ EPR) ในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย

การมอบรางวัล Top 5 Corporate Plastic Polluters จัดขึ้นในงาน Reuse Revolution ลด (พลาสติก) ให้กระหน่ำ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยอาสาสมัครกรีนพีซแต่งตัวเป็นตัวแทนบริษัทขึ้นเวทีรับรางวัล พร้อมถ่ายภาพกับผลงานศิลปะ “Wire Puller” ที่ทำมาจากขยะพลาสติกของแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งบางส่วนถูกเก็บรวบรวมในสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์ ถ้วยรางวัล Corporate Plastic Polluters นี้จะถูกจัดแสดงในงานนิทรรศการ ร่วมกับข้อมูลขยะพลาสติกที่พบในสิ่งแวดล้อม จำแนกตามเจ้าของแบรนด์สินค้า และประเภทขยะพลาสติก เพื่อสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงที่พบในสิ่งแวดล้อมว่ามีแบรนด์ใดบ้างที่มีภาระรับผิดชอบต่อมลพิษพลาสติกที่มาจากผลิตภัณฑ์ของตน

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการลดมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “ความรับผิดชอบของผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องพูดถึงในตอนนี้ มลพิษพลาสติกนับวันยิ่งทวีคูณ โดยเฉพาะมลพิษพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจากบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มซึ่งมีการผลิตและใช้เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน บรรจุภัณฑ์เหล่านี้บางส่วนหลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบนิเวศและชุมชนโดยรอบ กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายและการจัดการปลายทางของหน่วยงานรัฐท้องถิ่น เทศบาล หรือชุมชน ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกรอบกฎหมายที่ใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) ดังนั้น ทั้งผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์จึงไม่มีภาระรับผิดชอบต่อขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ตนเองหลังใช้งาน  การป้องกันมลพิษพลาสติกต้องทำที่ต้นทาง เริ่มจากการที่ผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าลดใช้พลาสติก มิเช่นนั้นแล้ว เราจะไม่สามารถต่อกรกับมลพิษพลาสติกได้เลย”

การตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม (Brand Audit) เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการเก็บสำรวจขยะพลาสติกจากหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2561-2565 โดยอาสาสมัครกรีนพีซและเครือข่ายต่าง ๆ เป็นผู้เก็บขยะและรวบรวมข้อมูลจาก 13 พื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ หาดวอนนภา จ.ชลบุรี, ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่, แหลมสนอ่อน จ.สงขลา, กรุงเทพมหานคร, บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ, จ.เชียงราย, จ.ชุมพร, หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, เกาะเสม็ด จ.ระยอง, เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี, จ.ระยอง, หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี, และเกาะสีชัง จ.ชลบุรี พบว่า ขยะพลาสติกทั้งสิ้น 46,929 ชิ้น โดยขยะที่ตกค้างเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกในรูปของบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 32,884 ชิ้น ซึ่งคิดเป็น 70% ของขยะพลาสติกทั้งหมด รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน อาทิ ซองผงซักฟอก ท่อพลาสติก ถุงพลาสติกหูหิ้ว และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านต่าง ๆ ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 6,831 ชิ้น ขณะที่อันดับสาม คือ พลาสติกอื่น ๆ ที่ไม่มีหมวดหมู่ เช่น เศษพลาสติกเป็นชิ้น ๆ อุปกรณ์สื่อสาร 3,357 ชิ้น 

ทั้งนี้ ขยะพลาสติกดังกล่าวเป็นของบริษัทเจ้าของแบรนด์สินค้า 766 บริษัท แบรนด์สินค้า 2,005 แบรนด์ นับรวมทั้งแบรนด์จากบริษัทข้ามชาติกับบริษัทในประเทศ 3 อันดับแรก คือ โคคา-โคล่า เป๊ปซี่โค และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ลักษณะผลิตภัณฑ์ที่พบมากที่สุด คือ บรรจุภัณฑ์อาหาร ขวด ฝาขวด ฉลาก และหลอด เป็นต้น 

“การเก็บรวบรวมข้อมูลขยะพลาสติกที่พบในสิ่งแวดล้อมนี้เกิดจากการรวมตัวของอาสาสมัคร และเครือข่ายต่าง ๆ ที่ต้องการขับเคลื่อนการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกในระดับใหญ่ เราหวังว่าข้อมูลที่รวบรวมมานี้จะช่วยระบุต้นทางของขยะพลาสติกที่พบในสิ่งแวดล้อม และบริษัท รวมถึงเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ จะต้องเริ่มต้นลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งตลอดห่วงโซ่การผลิต” พิชามญชุ์กล่าวสรุป

ผลการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลมีดังนี้

  • ในช่วงเวลา 5 ปี แบรนด์ในประเทศที่พบขยะพลาสติกมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ เครือเจริญโภคภัณฑ์, ดัชมิลล์, โอสถสภา, เสริมสุข, และสิงห์ คอร์เปอร์เรชั่น ตามลำดับ
  • ในช่วงเวลา 5 ปี แบรนด์ข้ามชาติที่พบขยะพลาสติกมากสุด 5 อันดับแรกคือ โคคา-โคล่า, เป๊ปซี่โค, เนสท์เล่, ยูนิลีเวอร์, และอาเจไทย ตามลำดับ
  • ในช่วงเวลา 5 ปี แบรนด์ต่างชาติและแบรนด์ในประเทศที่พบขยะพลาสติกมากที่สุด 4 อันดับแรก คือ โคคา-โคล่า, เป๊ปซี่โค, เครือเจริญโภคภัณฑ์ และดัชมิลล์ ตามลำดับ
  • เมื่อพิจารณาเป็นรายปี พบขยะพลาสติกจากเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในปี 2562 และเมื่อรวมข้อมูลทั้ง 5 ปี พบขยะพลาสติกจากเครือเจริญโภคภัณฑ์มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในประเภทแบรนด์สัญชาติไทย
  • ดัชมิลล์เป็นแบรนด์สัญชาติไทยที่พบขยะพลาสติกมากที่สุดเป็นอันดับ 1ในปี 2561 และปี 2563 ส่วนเสริมสุข พบขยะพลาสติกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในปี 2564 และ 2565
  • พบขยะพลาสติกจากเสริมสุข ผู้ผลิตแบรนด์สินค้าน้ำดื่มคริสตัล, เครื่องดื่ม 100พลัส, เอส, และจับใจ มากที่สุดใน 10 อันดับแรก ตลอดทั้ง 5 ปี โดยอยู่ในอันดับ 10 ในปี 2561, อันดับ 8 ในปี 2562, อันดับ 10 ในปี 2563 และอันดับ 1 ในปี 2564 กับ 2565
  • พบขยะพลาสติกจากโอสถสภา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อยู่ใน 5 อันดับแรกใน 3 ปีแรก ที่เก็บขยะในพื้นที่หาดวอนนภา จ.ชลบุรี, ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่, แหลมสนอ่อน จ.สงขลา และพบอีกครั้งในปี 2565 ในพื้นที่หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี, เกาะสีชัง จ.ชลบุรี, บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ และไม่พบขยะพลาสติกจากแบรนด์สินค้าของโอสถสภาในปี 2564 แบรนด์สินค้าภายใต้โอสถสภาที่พบคือ คาลพิส แลคโตะ, เบบี้ มายด์, ทเวลพลัส และโฟมใต้ฝาของลิโพ, เอ็ม150, เอ็มสปอร์ต และซี-วิต
  • พบขยะพลาสติกจากกลุ่มธุรกิจทีซีพี ผู้ผลิตเครื่องดื่มยี่ห้อกระทิงแดงใน 10 อันดับแรกตลอด 5 ปี ในพื้นที่หาดวอนนภา, เชียงใหม่, สงขลา, หาดเจ้าหลาว, เกาะสีชัง, บางกะเจ้า ยกเว้นในปี 2564 

กิจกรรม Reuse Revolution ลด(พลาสติก)ให้กระหน่ำ จะจัดขึ้นจนถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ที่ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผู้สนใจสามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายในงานมีกิจกรรมเวิร์กชอปลดขยะ นิทรรศการ From Shelves to the Oceans จากชั้นวางขายสู่ใต้ทะเล ที่ผู้เข้าชมสามารถเรียนรู้ที่มาของขยะพลาสติก งานศิลปะจัดวาง “Wire Puller” หรือ “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ขนาดสูง 6 เมตร ที่สร้างสรรค์โดยศิลปิน WISHULADA และทำมาจากขยะพลาสติก และภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ผลิต รวมถึงปัญหาขยะนำเข้าในประเทศไทย สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ LINK https://act.gp/plastic-revolution-event 

หมายเหตุ:

  • ดาวน์โหลดรายงานผลการตรวจสอบแบรนด์ (Brand Audit) จากขยะพลาสติกในประเทศไทย ปี 2561-2565 ได้ที่ https://act.gp/brand-audit-report-2022 
  • ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ที่ act.gp/plastic-pollution-cp
  • ผู้ที่สนใจเข้าร่วมเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก เพื่อรวบรวมข้อมูลพลาสติกที่พบในสิ่งแวดล้อม สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://act.gp/ba-information
  • มลพิษพลาสติก ใครกันต้องรับผิดชอบ https://plasticfreefuture.greenpeace.or.th 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท