'ชาวกะเบอะดิน' ชนะครั้งแรก หลังศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว 'คดีเหมืองแร่อมก๋อย'

ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว กรณีเหมืองแร่อมก๋อย จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หลังประชาชนชาวกะเบอะดินที่จะได้รับผลกระทบรวมทั้งหมด 6 หมู่บ้าน จำนวน 50 คน ร่วมกันยื่นฟ้องเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เหมืองแร่อมก๋อยต่อศาล เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 นับเป็นชัยชนะแรกของชาวกะเบอะดินที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่อมก๋อยมานาน 3 ปี

1 ต.ค. 2565 เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพจ “กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์” รายงานว่า ประชาชนในพื้นที่กะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับหนังสือจากศาลปกครองเชียงใหม่ ลงวันที่ 23 ก.ย. 2565 มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวกรณีการทำเหมืองแร่อมก๋อย จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทเจ้าของโครงการเหมืองแร่ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ในระหว่างการพิจารณาคดี

หลังเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 ประชาชนชาวกะเบอะดินที่จะได้รับผลกระทบรวมทั้งหมด 6 หมู่บ้าน จำนวน 50 คน ร่วมกันยื่นฟ้องเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เหมืองแร่อมก๋อยต่อศาลปกครอง จังหวังเชียงใหม่ โดยยื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ต่อศาลปกครองเชียงใหม่เป็นคดีหมายเลขดำ ส.1/2565  เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ของเหมืองถ่านหินอมก๋อย บ้านกะเบอะดิน เนื่องจากชาวบ้านมีความกังวลว่าเหมืองถ่านหินจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกะเบอะดิน

ต่อมาในวันที่ 18 พ.ค. 2565 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งรับฟ้องในคดีนี้ ถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกของศาลปกครอง เชียงใหม่ ในพ.ศ. 2565

การฟ้องครั้งนี้เป็นการคัดค้านความถูกต้องของรายงาน EIA ของบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด เจ้าของโครงการเหมืองแร่ ชาวกะเบอะดินขอให้ศาลเพิกถอนรายงาน EIA ฉบับนี้ และดำเนินการจัดทำ EIA ฉบับใหม่ขึ้น ภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง เนื่องจากรายงาน EIA ฉบับดังกล่าว เจ้าของโครงการเหมืองแร่และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้จัดทำขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งยังมีข้อมูลพิรุธหลายประการ EIA ฉบับดังกล่าวไม่ครอบคลุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในหลายประเด็นที่ชาวกะเบอะดินมีความกังวล ถ้าหากโครงการยังเดินหน้าต่อไปจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิโดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิการใช้ทรัพยากร รวมถึงสิทธิการมีอากาศสะอาดหายใจและสิทธิการเข้าถึงน้ำสะอาด

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) สรุปย่อคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวศาลปกครองเชียงใหม่ คดีฟ้องเพิกถอนมติเห็นชอบรายงาน EIA เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ไว้ดังนี้
1. รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการเหมืองแร่ถ่านหิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2543 น่าจะไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น และมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ที่เห็นชอบรายงาน EIA น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายในการใช้ดุลพินิจ

2. ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีว่า ปัจจุบันบริษัทเจ้าของโครงการได้นำรายงาน EIA ดังกล่าวไปดำเนินการยื่นขอประทานบัตรต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองแร่ตามกฎหมายแล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งหากในระหว่างการพิจารณาของศาล เจ้าหน้าที่ได้ออกประทานบัตรการทำเหมืองแร่ถ่านหินให้แก่บริษัทเจ้าของโครงการ ย่อมส่งผลทำให้สามารถเข้าดำเนินโครงการทำเหมืองแร่ถ่านหินตามที่ได้รับอนุญาตได้ กรณีจึงเห็นว่าหากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่เห็นชอบรายงาน EIA มีผลใช้บังคับต่อไปในระหว่างพิจารณาคดี อาจทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบและประชาชนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ซึ่งความเสียหายที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น มักส่งผลกระทบรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน แม้ต่อมาภายหลังศาลจะพิพากษาเพิกถอนมติเห็นชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าวตามคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบ ก็ไม่อาจแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบได้รับจากการบังคับตามผลของคำสั่งทางปกครองนั้นในระหว่างพิจารณาคดีให้หมดไปได้โดยสิ้นเชิง กรณีจึงถือเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง

3. การมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองมิได้เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีแต่อย่างใด

คดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกของปี ชาวบ้านกะเบอะดินร่วมฟ้องเพิกถอน EIA เหมืองแร่อมก๋อยต่อศาลปกครอง

ย้อนกลับไป ชาวบ้านกะเบอะดินและชาวอมก๋อยยืนยันหนักแน่นถึงจุดยืน “ไม่ต้องการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย” มาตลอด 3 ปี โดยคนในพื้นที่ซึ่งเป็นคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ได้พยายามต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่อมก๋อยนับแต่ตั้งรู้ว่าจะมีการทำเหมืองในพื้นที่ หลังบริษัทเจ้าของโครงการเหมืองแร่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองตามคำประทานบัตรที่ 1/2543 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2553 บนพื้นที่ 284 ไร่ 30 ตาราวา ภายในชุมชน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท