Skip to main content
sharethis

สปสช. กทม. กรมการแพทย์ รพ.รัฐ-เอกชน หารือจัดระบบดูแลประชาชนสิทธิบัตรทองหลังยกเลิกสัญญา 9 รพ.เอกชน หาหน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่ม ประกาศ 10 ต.ค. 2565 ให้ประชาชนสิทธิว่างจาก 9 รพ.เอกชนเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิแห่งใหม่ได้ พร้อมหา รพ.รับส่งต่อมาเพิ่ม หลัง รพ.แต่ละสังกัดมารับดูแลช่วง 3 เดือนนี้  

2 ต.ค. 2565 ทีมสื่อ สปสช. แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ พร้อมทั้งโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประชุมการจัดระบบบริการสาธารณสุขเพื่อดูแลประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) ที่มีโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ และรับส่งต่อทั่วไป  

ตามที่ สปสช.ได้มีการยกเลิกสัญญาการให้บริการปฐมภูมิ ประจำ และรับส่งต่อทั่วไปกับโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยเป็นไปตามข้อกฎหมายจากปัญหาการเบิกจ่ายค่าบริการไม่ถูกต้อง นั้น พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับ นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และ พญ.ปิยะธิดา หาญสมบูรณ์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ได้ข้อสรุปว่า ในส่วนของการหาหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำแห่งใหม่ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญา รพ.เอกชน 9 แห่ง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไปจะกลายเป็นสิทธิว่าง ได้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการใหม่นั้น สปสช.และสำนักอนามัย จะร่วมจัดทำบัญชีเครือข่ายหน่วยบริการให้ประชากรสิทธิว่างเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยศูนย์บริการสาธารณสุข ยินดีเป็นหน่วยบริการประจำ โดยขอให้ สปสช.จัดหาคลินิกชุมชนอบอุ่นมาเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่มเติมเพื่อดูแลประชาชน และได้กำหนดให้ประชาชนเริ่มลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำแห่งใหม่ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป  

ทั้งนี้ สปสช.จะจัดทำบัญชีเครือข่ายหน่วยบริการให้ประชาชนได้เลือก โดยสามารถเข้าไปดูรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ สปสช. http://mscup.nhso.go.th/mastercup/ เพื่อเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำแห่งใหม่ของตน หรือโทร.สอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งจะระบุหน่วยบริการใกล้บ้านให้ประชาชนเลือกลงทะเบียนได้ หรือดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. และไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso ได้เช่นกัน  

พญ.ลลิตยา กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดหาหน่วยบริการแห่งใหม่มาเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อนั้น การหารือในวันนี้ ได้ข้อสรุปว่าในช่วงระยะเวลา 3 เดือนต่อจากนี้ ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.มเหสักข์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เลิดสินและ รพ.ตากสินแทน, ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมีรพ.กล้วยน้ำไท เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เจริญกรุงประชารักษ์แทน, ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.บางนา 1 เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.เดอะซีพลัสแทน, ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.นวมินทร์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.นพรัตน์ราชธานีแทน, ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.เพชรเวช เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.คลองตันและ รพ.กลางแทน, ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.ประชาพัฒน์ เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.ไอเอ็มเอช ธนบุรี แทน, ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.แพทย์ปัญญา เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.สิรินธร รพ.ราชวิถี รพ.กลาง และ รพ.เดอะซีพลัส แทน, ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เคยมี รพ.บางมด เป็น รพ.รับส่งต่อ จะเปลี่ยนเป็น รพ.ราชพิพัฒน์แทน 

“สำหรับ รพ.รับส่งต่อนั้น ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนต่อจาก สปสช.จะหา รพ.รับส่งต่อแห่งใหม่มาเพิ่มอีก เพื่อดูแลผู้มีสิทธิบัตรทอง และจะประกาศให้ทราบอีกครั้ง” พญ.ลลิตยา กล่าวและว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับยาและตรวจติดตามอาการต่อเนื่องนั้น สามารถไปรับยาและรับการรักษาได้ตามที่สถานพยาบาลที่ สปสช.ได้แจ้งให้ทราบแล้ว โดยดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th นอกจากนั้นผู้ป่วยที่มีนัดรักษาตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไปที่ รพ.กล้วยน้ำไท รพ.ประชาพัฒน์ และ รพ.บางมด ยังคงไปรับการรักษาได้เหมือนเดิมจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565 โดยทั้ง 3 รพ.ยินดีรับดูแลผู้ป่วยต่อในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net