'ไทยสร้างไทย' ประกาศเดินหน้า 'โครงการโขง เลย ชี มูล' - 'เพื่อไทย' เตือนรัฐบาลพายุยังไม่หมดง่าย

'ไทยสร้างไทย' ประกาศแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งทั่วประเทศอย่างยั่งยืน เดินหน้า 'โครงการ โขง เลย ชี มูล' วางเป้าหมาย แก้จน สร้างเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนอีสาน - 'เพื่อไทย' เตือนรัฐบาลพายุยังไม่หมดง่าย จี้เร่งแก้ปัญหาช่วยประชาชน แนะแก้ไขน้ำท่วมอีสานระยะยาวต้องใช้ระบบ Polder แบบเนเธอร์แลนด์ คือทำเขื่อนดินด้านที่ติดกับแม่น้ำมูล

เว็บไซต์บ้านเมือง รายงานเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 ว่าคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย แถลงข่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ทั้งระบบทั่วประเทศอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นที่ภาคอีสาน ซึ่งประสบกับน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างรุนแรงทุกปี ทำความเสียหายในด้านเศรษฐกิจมหาศาลทุกปี  ไทยสร้างไทยจึงขอประกาศนโยบายเดินหน้า”โครงการโขง เลย ชี มูล”

คุณหญิงสุดารัตน์ระบุว่า จากการศึกษา พบว่าภาคตะวันออกฉียงเหนือมีพื้นที่ 103.5 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 63.85 ล้านไร่ ปัจจุบันมีพื้นทีชลประทานเพียง 8.69 ล้านไร่ หรือ ประมาณ13.6%เท่านั้น ทำให้เหลือ พื้นที่ทางการเกษตรที่ไม่มีระบบชลประทานมากถึง 55.16ล้านไร่ ทั้งที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่เพาะปลูกสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะ ข้าวหอมมะลิที่ทุ่งกุลา มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา รวมทั้งเป็นภาคที่มีประชากรสูงที่สุด แต่กลับมีระบบชลประทานน้อยที่สุด 

หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ระบุต่อไปว่า โครงการดังกล่าวจะเริ่มต้นที่ปากแม่น้ำเลย บริเวณ ต.เชียงคาน และ ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นแนวผันน้ำโขงอีสาน สู่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล โดยมีเป้าหมายเร่งด่วนในการเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำเดิมที่มีปัญหาน้ำไหลเข้าอ่างฯ น้อย เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนห้วยหลวง และเขื่อนลำปาว พื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกน้อย มีปริมาณน้ำท่าน้อย ฝนทิ้งช่วง มีปัญหาหรือไม่มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติม ได้แก่ พื้นที่ต้นน้ำชี บริเวณ จ. หนองบัวลำภู ขอนแก่น และชัยภูมิ พื้นที่ต้นน้ำมูล บริเวณ จ.นครราชสีมา และบุรีรัมย์ 

โครงการดังกล่าว จะทำให้ระบบคลองส่งน้ำและพื้นที่ชลประทานครอบคลุมทั้งภาคอีสาน 20 จังหวัด 281 อำเภอ เป็นพื้นที่ชลประทาน 31.78 ล้านไร่ คลองสายใหญ่จำนวน 6 สาย ความยาวรวม 2,271 กม. เกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 1.36 ล้านครัวเรือน หรือ 5.39 ล้านคน โดยจะมีการแบ่งโครงการเป็น 4 เฟส 

ปัจจุบันลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้สำหรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยฝนที่ตกลงมาไหลลงแม่น้ำโขงปีละ ประมาณ 36,247 ล้าน ลบ.ม.ดังนั้น การผันน้ำโขง ที่ปากน้ำเลย จะทำให้น้ำท่าในประเทศ ที่ไหลไปยังแม่น้ำโขง สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้อีก ปีละเกือบ3หมื่นล้าน ลบ.ม. 

และยังสามารถเติมน้ำให้กับแหล่งเก็บกักน้ำต่าง ๆ รวมทั้งแม่น้ำในลุ่มน้ำโขงอีสาน-ชี-มูล ไว้ใช้ในฤดูแล้ง ช่วยลดปัญหาภัยแล้ง ความเสี่ยงจากฝนตกล่าช้าและฝนทิ้งช่วง ขณะเดียวกันยังสามารถ เพิ่มระดับเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน และศักยภาพในการใช้น้ำใต้ดินได้อีกด้วย นอกจากนี้ จะช่วยบรรเทาอุทกภัยจากน้ำหลากได้อีกด้วย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้งอย่างยั่งยืน

ด้านนายต่อพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการที่ประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากสามารถผันน้ำโขงมาเป็นน้ำต้นทุนได้โดยแรงโน้มถ่วง และสามารถกระจายน้ำจากคลองส่งน้ำไปยังพื้นที่ชลประทานโดยแรงโน้มถ่วงถึง 14 ล้านไร่ และใช้ระบบสูบน้ำอีก 17.78 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งปกติการพัฒนาน้ำภายในประเทศ พื้นที่ชลประทานส่วนใหญ่จะเป็นสถานีสูบน้ำ แต่โครงการดังกล่าวใช้แรงโน้มถ่วงเป็นหลัก

สำหรับผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร จากเดิมปีละ 87,486 บาท/ครัวเรือน/ปี) เป็น173,158 บาท/ครัวเรือน/ปี เพิ่มขึ้น 85,672 บาท/ครัวเรือน/ปี จากการดำเนินโครงการนี้ ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวอีสาน และลดความยากจนได้ไม่น้อยกว่า 5.39 ล้านคน ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าปีละ 3แสนล้านบาท 

'เพื่อไทย' เตือนรัฐบาลพายุยังไม่หมดง่าย จี้เร่งแก้ปัญหาช่วยประชาชน

2 ต.ค. 2565 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่านายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการช่วยอ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี อย่างยั่งยืน ว่า อ.วารินชำราบดั้งเดิมมีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) เดิมก็ไม่มีคนอยู่ แต่พอจ.อุบลราชธานีเจริญขึ้นผู้คนก็ย้ายออกมาจากเมืองมาอยู่บริเวณนี้มากขึ้นจนกลายเป็นเมือง(บาดาล) หน้าฝนทีไรก็จะจมน้ำ ชาวบ้านก็ยกบ้านให้สูงขึ้น แต่ก็ปรากฏว่า น้ำก็สูงขึ้นทุกปี บางจุดน้ำลึก 3-5 เมตร ซึ่งก็หมายความว่า พื้นที่นี้มันไม่ควรจะเป็นที่อยู่อาศัยต่อไปอีกแล้ว

ตนขอแนะนำว่าถ้าไม่สามารถหาที่ใหม่ย้ายคนออกหรือทำเขื่อนเก็บน้ำ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องก็ไม่น่าจะทำได้ การแก้ไขระยะยาวคงต้องใช้ระบบ Polder แบบประเทศเนเธอร์แลนด์ คือทำเขื่อนดินด้านที่ติดกับแม่น้ำมูล โดยจะต้องเป็นเขื่อนที่มีสันค่อนข้างกว้าง อาจจะถึง 500 เมตรก็เป็นได้ ซึ่งจะทั้งแข็งแรงและมองกลมกลืนกับธรรมชาติ (ญี่ปุ่นตอนนี้ทำแบบนี้แล้ว)

จากนั้นก็ติดตั้งปั๊มขนาดใหญ่ที่เพียงพอจะดูดน้ำออกให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ (ไม่ใช่ดูดจนแห้ง) โครงการที่พูดมาทั้งหมดนี้ ตนคิดว่า ไม่เกิน 2 ปีก็สร้างเสร็จ และใช้งบประมาณไม่ควรจะเกิน 5,000 ล้านบาท แล้วก็จะเป็นโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนได้

ทั้งนี้ ความหวังดีและเป็นห่วงประชาชนซึ่งก็ยากจนอยู่แล้ว เพราะเจอทั้งโควิดมา 3 ปี แล้วยังมาเจอวิกฤติเศรษฐกิจจนเลวร้ายจนสตางค์แทบจะไม่มีเหลือติดบ้าน ซึ่งตนก็เฝ้าติดตามดูการทำงานของนายกฯและคณะอยู่ตลอด ก็ดูไม่เห็นมรรคผลอะไร แต่ตนก็ดีใจว่า ในแวดวงของพรรคเพื่อไทยคิดเรื่องการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจริงจังมาก สุดท้ายขอเตือนว่า พายุยังไม่หมด และถ้าเกิดขึ้นใหม่ น่าจะลงที่ภาคใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงไป ซึ่งคราวนี้จะเป็นพายุที่มีลมแรงมากด้วย โดยขอให้ข้อสังเกตว่า ถ้าพายุลูกใดเกิดในทะเลจีนตอนใต้ (ไม่ใช่ตอนกลางมหาสมุทรแปซิฟิค) พายุลูกนั้นจะเป็นอันตรายเป็นที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท