เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานชี้หยุดขายฝันเมกะโปรเจกต์ 'โขง เลย ชี มูล'

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานชี้หยุดขายฝันเมกะโปรเจกต์ 'โขง เลย ชี มูล' ตั้งคำถามแค่ 'โครงการ โขง ชี มูน' เดิม 30 ปียังซ้ำเติมคนลุ่มน้ำไม่พออีกหรือ แนะให้ศึกษาศักยภาพของพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกันที่จะต้องใช้รูปแบบการจัดการน้ำที่ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าถึง เข้าใจ และคุ้มค่าจริงๆ เช่นการจัดการน้ำขนาดเล็ก

2 ต.ค. 2565 นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ให้ความเห็นจากกรณีที่หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และรองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย แถลงข่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ทั้งระบบทั่วประเทศอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นที่ภาคอีสาน ซึ่งประสบกับน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างรุนแรงทุกปี ทำความเสียหายในด้านเศรษฐกิจมหาศาลทุกปี พร้อมประกาศนโยบายเดินหน้า "โครงการโขง เลย ชี มูล" นั้น

สิริศักดิ์มองว่าวาทกรรมที่กล่าวอ้างของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองในประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งหรือการจัดการน้ำแบบยั่งยืนนั้นไม่ควรเพ้อฝันเจนเกินไป เพราะที่ผ่านมา บทเรียนกรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา แม่น้ำมูน เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แม่น้ำชี จากวันนั้นจวบจนวันนี้โครงการ โขง ชี มูน เดินทางมานานกว่า 30 ปี ภาพฝันกับความจริงกลับไม่เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้างไว้ เพราะการรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำ และอำนาจการตัดสินใจทางนโยบายถูกกำหนดอยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจที่ไม่ได้เข้าใจภูมินิเวศ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ทุกพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการประชาชนกลับได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เช่น การถูกอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นฐานบ้านเกิด การสูญเสียที่ดินทำกิน น้ำท่วมขังพื้นที่ทำการเกษตรยาวนาน การสูญเสียอาชีพประมงพื้นบ้าน การพังทลายของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะการหายไปของพันธุ์ปลา พันธุ์พืชท้องถิ่น ดินเค็มแพร่กระจาย ผลกระทบที่เกิดยังทำลายโครงสร้างทางชุมชน ตลอดจนยังทำลายระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรแบบดั่งเดิม ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้สร้างความขมขื่นต่อประชาชนลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูนกันอย่างถ้วนหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่าการจัดการน้ำจากนโยบายขนาดใหญ่ไม่ได้ตอบโจทย์คนอีสานจริง ๆ แต่กลับสร้างปัญหาที่ซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นต่างหาก และกระบวนการแก้ไขปัญหาก็ยังไม่แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม ในขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณพื้นที่การเกษตรริมแม่น้ำชี บริเวณลำน้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำชี บริเวณลำห้วยไหลลงแม่น้ำชี จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร ปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นและสร้างความวิตกกังวลเป็นอย่างมากต่อชาวบ้านลุ่มน้ำชี เนื่องจากน้ำได้เอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรกว่าหมื่นไร่เป็นระยะเวลาเดือนกว่าแล้ว และปริมาณน้ำก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจจะเพิ่มขึ้นและขยายวงกว้างในวันข้างหน้า ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรที่ได้ลงทุนเพาะปลูกยิ่งเป็นการซ้ำเติมวิกฤติปากท้องของชาวนาในลุ่มน้ำชีเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนแม่น้ำมูนหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งพื้นที่การเกษตรและชุมชนถูกน้ำท่วมขยายบริเวณกว้าง ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการน้ำของรัฐผิดพลาดและไร้ประสิทธิภาพ 

สิริศักดิ์ ย้ำว่าฉะนั้นถ้าพรรคการเมืองหรือนักการเมืองจะมาวาดฝันหรือขายฝันเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง เดี๋ยวนี้ชาวบ้านในพื้นที่เขาตามทันและรู้ทันวิธีคิด เพราะบทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมาโดยการขายฝันของนักการเมืองนั้นก็เพียงแค่ชูนโยบายที่ไม่เคยเข้าใจระบบนิเวศน์แต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกัน ผมมีข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและนักการเมือง ดังนี้ 1.ให้กลับมาทบทวนบทเรียนการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่ผ่านมาของโครงการโขง ชี มูน เดิม ว่าส่งผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำขนาดใหนและชาวบ้านยังเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหายังไม่เสร็จ ตลอดจนความไม่คุ้มทุนต่อการดำเนินโครงการ 2.ให้ศึกษาศักยภาพของพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกันที่จะต้องใช้รูปแบบการจัดการน้ำที่ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าถึง เข้าใจ และคุ้มค่าจริงๆ เช่นการจัดการน้ำขนาดเล็ก 3.ให้หยุดวาดฝันเมกะโปรเจกต์โครงการโขง เลย ชี มูน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท