เสวนา 'โลกที่เหมาะสมสำหรับ #เด็กหญิง ควรเป็นแบบไหน?' หวังอยากเห็นสังคมที่เด็กหญิงเติบโตได้อย่างเสรี

วงสนทนาบนแอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์ 'โลกที่เหมาะสมสำหรับ #เด็กหญิง ควรเป็นแบบไหน?' ระบุเด็กหญิงมัก 'ไม่ได้รับโอกาสทางสังคม-การศึกษา-ความยุติธรรม-บริการด้านสุขภาพ' หวังอยากเห็นสังคมที่เด็กผู้หญิงสามารถเติบโตได้อย่างเสรี ปราศจากพันธนาการทางมายาคติ และมีพื้นที่ปลอดภัยที่จะใช้ชีวิตได้โดยปราศจากความหวาดกลัว


ที่มาภาพประกอบ: UNICEF/UN0603348/Filipov

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 ครป. ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย จัดวงสนทนาบนแอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์ เนื่องในโอกาสวันเด็กหญิงสากล (ซึ่งตรงกับวันที่ 11 ต.ค. ของทุกปี) ในหัวข้อ “โลกที่เหมาะสมสำหรับ #เด็กหญิง ควรเป็นแบบไหน?” โดยมีผู้สนทนาประกอบด้วย นลินรัตน์ ตู้ทับทิม หรือเอิน นักกิจกรรมเจ้าของประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน, วรางคณา มุทุมล ผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์และคุณภาพโครงการ มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย (Save the Children Thailand) ชวนพูดคุยสนทนาโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 

วรางคณา มุทุมล ผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์และคุณภาพโครงการ มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย (Save the Children Thailand) ไขข้อสงสัยเพิ่มเติมว่าทำไมต้องมีวันเด็กหญิงสากล ทำไมไม่มีวันเกี่ยวกับเพศชายบ้าง (ในส่วนนี้วรภัทรได้อธิบายไว้ในตอนหลังว่า จริงๆเรามีวันบุรุษสากลด้วย แต่พอมีแล้วกลับกลายเป็นการตอกย้ำมาตาคติสังคมชายเป็นใหญ่) โดยเล่าว่าวันเด็กหญิงสากล (International Day of the Girl Child หรือ IDG) เกิดจากการทำงานและสำรวจโดยองค์การระหว่างประเทศหลายๆองค์การ หนึ่งในนั้นมี Plan International แล้วเห็นว่าถ้าแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์หรือประสบปัญหาต่างๆ ได้พบว่าเด็กผู้หญิงเป็นกลุ่มหลักๆ ที่ไม่ได้รับโอกาสทางสังคม การศึกษา ถูกกีดกันจากการเข้าถึงความยุติธรรม บริการด้านสุขภาพ รวมถึงการที่สังคมขาดการรับรู้ได้ยินเสียงของเด็กผู้หญิงในหลายๆ พื้นที่ ทำให้มีการเรียกร้องให้สประชาชาติได้รับรู้ว่าในความไม่เท่าเทียมทางสังคมนั้น มีเรื่องเหตุแห่งเพศสภาพเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะกับเด็กผู้หญิง

มีข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เด็กผู้หญิงในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญในปัจจุบันที่ค่อนข้างรุนแรง ตัวอย่างเช่น การที่เด็กหญิงที่ถูกบังคับเข้าสู่การแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี จากรายงานขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เมื่อปี ค.ศ. 2019 พบว่าเฉพาะในประเทศไทยก็มีจำนวนถึง 20% ขณะที่เทียบกับเด็กผู้ชายที่มีเพียงแค่ 9% โดยเรื่องเศรษฐกิจสังคม ที่มองว่าเด็กผู้หญิงเป็นเสมือนทรัพย์สินสมบัติของครอบครัวที่สามารถถูกนำไปแลกเพื่อผลตอบแทนบางอย่างได้ ทั้งยังเป็นการปลดเปลื้องภาระของครอบครัวที่ต้องดูแลเด็กหญิงคนนั้น โดยการให้เข้าสู่การแต่งงานเพื่อเปลี่ยนผ่านเป็นสมบัติของครอบครัวอื่น โดยเด็กที่ถูกบังคับเข้าสู่การแต่งงาน ซึ่งในนี้รวมไปถึงเด็กหญิงที่ถูกบังคับแต่งงานโดยไม่ได้เข้าสู่การจดทะเบียนสมรสด้วยแล้วนั้น พบว่าส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของศาสนา จารีตของบางกลุ่มชนด้วย เมื่อลงรายละเอียดพบว่าเรื่องนี้มีปรากฏมากกับเด็กหญิงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และมีในกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มทางภาคเหนือด้วย 

ทั้งเด็กหญิงตั้งครรภ์ในช่วงวัยเด็ก-เยาวชนนั้น เมื่อดูอัตราส่วนก็พบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันกับเรื่องการถูกบังคับแต่งงานด้วย นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งของเด็กผู้หญิงที่ถูกบังคับเข้าสู่การแต่งงาน ก็มาจากการมีความสัมพันธ์กับเพื่อนชาย แม้อาจจะยังไม่มีเพศสัมพันธ์กัน แต่ก็ถูกตีตราแล้วว่าเป็นการเสียความบริสุทธิ์ นำมาสู่ความอับอยของครอบครัว จึงนำมาสู่การกดดันให้เด็กหญิงต้องแต่งงานกับอีกฝ่ายแล้ว ทั้งหมดนี้คือปัญหาเรื่องการขาดสิทธิอำนาจในเนื้อตัวร่างกายและเสรีภาพทางเพศของเด็กผู้หญิง 

นอกจากนี้สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศที่เกิดกับเด็กหญิง ก็มีข้อมูลว่า มีถึง 1 ใน 4 ที่เด็กหญิงได้รับความรุนแรงทางเพศทางวาจาและทางกาย รวมถึงการข่มขืน เมื่อเทียบกับในเด็กผู้ชายที่มีอัตราส่วนอยู่ที่ 1 ใน 9 และยังมีข้อมูลอีกว่าเด็กหญิงถึง 45% ที่ถูกกดทับด้วยความเชื่อว่าเด็กหญิงไม่ควรมีโอกาสทำงานนอกบ้าน ควรต้องทำหน้าที่แม่ เป็นแม่บ้านดูแลสามีและลูก ซึ่งส่งผลต่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กหญิงในระดับอุดมศึกษาโดย เฉพาะในการเรียนสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้วย 

ทั้งนี้วรางคณาได้สรุปว่าสิ่งสำคัญในการสร้างโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็กหญิงนั้น เรื่องสำคัญคือเด็กผู้หญิงต้องมี Voice หรือการมีสิทธิมีเสียงที่จะแสดงออกสิ่งที่ตนเผชิญแล้วสังคมต้องรับฟัง นำไปสู่การรับรองสิทธิ มี Choices หรือการมีทางเลือกในชีวิตอย่างเสรีทุกๆ ด้าน มีสิทธิที่จะเลือกหนทาง โอกาสในชีวิตของตนเองอย่างที่ตนใฝ่ฝันต้องการและ Promise หรือเป็นสัญญาร่วมระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ได้ตกลงร่วมกันที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กผู้หญิง ซึ่ง 3 อย่างที่ว่ามานี้ เป็นสิ่งที่ทาง Save the Children International ได้ทำเป็นกิจกรรมโครงการอยู่ในภูมิภาคเอเชีย

นลินรัตน์ ตู้ทับทิม หรือ “เอิน” นักกิจกรรมผู้ออกมาเปิดเผยประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน ก็ได้เริ่มต้นพูดคุยโดยเสริมประเด็นเรื่องวันเด็กหญิงสากลในปีนี้ที่ชูประเด็นเรื่องโอกาสการเข้าถึงข้อมูลในโลกดิจิตัล ด้วยการบอกเล่าประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่การถูกคนส่งรูปอวัยวะเพศชายเข้ามาทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทั้งหลังจากช่วงปี 2563 ที่ตนออกมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับขบวนการคนรุ่นใหม่ โดยได้ชูป้ายกลางที่ชุมนุมว่าตนถูกล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนนั้น ตนก็เผชิญตั้งแต่การถูกด้อยค่าบนโลกออนไลน์ ด้วยคำพูดประมาณว่า น่าอายแทนพ่อแม่ จนถึงในเชิงข่มขู่ว่า ถ้ารู้ว่าตนอยู่ไหนจะจับลากไปรุมโทรม มีทั้งคนทักแชท หาเบอร์โทรศัพท์ของตนเพื่อโทรมาด่าทอ รวมถึงการที่สื่อไปขุดคุ้ยเรื่องการที่ตนถ่ายแบบเซ็กซี่ด้วยอีก ทั้งนี้เป็นผลจากสังคมที่ทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องพูดไม่ได้ แล้วยิ่งเมื่อถูกปนด้วยอคติทางวัฒนธรรม รวมไปถึงอคติทางการเมือง ก็ยิ่งทำให้ตนต้องเผชิญภาวการณ์ถูกคุกคามบนออนไลน์รุนแรงขึ้นด้วย 

ส่วนบนโลกจริง การคุกคามทางเพศที่ตนเผชิญนั้น นอกจากในโรงเรียนอย่างที่ตนได้ออกมาเปิดหน้าพูดเรื่องนี้ตามที่สังคมรับรู้แล้ว ตนก็ยังเคยเผชิญการถูกลวนลามโดยตำรวจในสถานีตำรวจด้วย ทั้งยังมีเรื่องของการที่ตนรู้สึกถูกคุกคามผ่านทางคำพูดจากคนรอบๆ ตัว รวมถึงในครอบครัวเครือญาติที่พูดโดยความไม่ตั้งใจ ด้วยคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่พูดกันได้ อย่างเช่นการพูดถึงเรื่องที่ตนมีหน้าอกใหญ่มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งผู้พูดไม่ได้มีความรู้ความตระหนักว่ามันคือการคุกคาม และตนก็ลำบากใจในการที่จะพูดว่าตนรู้สึกไม่ดีกับการหยอกล้อแบบนี้ 

นอกจากนี้เอินยังได้พูดถึงเรื่องความคาดหวังของสังคมที่มีต่อเด็กผู้หญิงด้วยชุดความคิดว่าผู้หญิงจะต้องเก่งทางด้านศิลปะมากกว่าทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งสำหรับตนนั้น จริงอยู่ว่าตนเองก็ถนัดทางด้านนี้จริงๆ ถนัดด้านเกี่ยวกับการถ่ายแบบ รวมถึงการทำคอนเทนต์ต่างๆ แต่ตนก็รู้สึกว่ามันไม่ถูกต้องกับการที่คนจะคิดว่า ที่ตนทำสิ่งเหล่านี้ได้ดี เพราะว่าตนเป็น “ผู้หญิง” เราควรที่จะก้าวข้ามมายาคติที่คิดว่า โลกมีเพศชายเป็นเพศที่แข็ง เพศหญิงอ่อนแอกว่าผู้ชาย รวมถึงเรื่องของการที่คิดว่าเพศชายจะต้องทำงานบางสายได้ดีกว่าเพศหญิง เพศหญิงจะต้องเก่งเรื่องเย็บปักถักร้อย งานบ้านงานเรือน หรืองานที่ใช้ความเป็นศิลป์ และการที่ตนเกิดมาในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่ค่อนข้างมีฐานะ มีธุรกิจเป็นของตนเอง ตนก็ต้องเผชิญแรงกดดันในเรื่องความสามารถที่จะดูแลธุรกิจของครอบครัวได้อีกด้วย 

ทั้งนี้เมื่อถามถึงว่าโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็กหญิงควรเป็นอย่างไร เอินได้ตอบว่า ตนอยากเห็นสังคมที่เด็กผู้หญิงสามารถเติบโตได้อย่างเสรี ปราศจากพันธนาการทางมายาคติ การกดดันคาดหวังที่จะต้องพิสูจน์ตัวเองในเรื่องความสามารถแบบที่สังคม ครอบครัวคิดว่าเด็กผู้หญิงจะต้องเป็นอย่างไรตามกรอบมายาคติต่างๆ ที่สำคัญคือ ควรมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กผู้หญิงที่จะใช้ชีวิตได้โดยปราศจากความหวาดกลัว ทั้งในเรื่องเพศและการใช้ชีวิต 
    
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท