นักวิชาการประเมินความน่าเชื่อถือระบบยุติธรรม-องค์กรอิสระ จะฉุดรั้งการลงทุนจากต่างประเทศ

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ มองความเสี่ยงวิกฤตการณ์การเมืองเพิ่ม ความไม่แน่นอนทางเมือง ต้นทุนมหาศาลทางเศรษฐกิจและทางสังคมได้เกิดขึ้นแล้วจากคำวินิจฉัยของศาล รธน. กรณีวาระ 8 ปีนายกเกิดการสั่นคลอนต่อความน่าเชื่อถือของระบบความยุติธรรมและองค์กรอิสระ รวมทั้งการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสูงสุด จะฉุดรั้งการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะการลงทุนระยะยาว 


รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ (แฟ้มภาพ)

2 ต.ค. 2565 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนประเมินว่าความเสี่ยงวิกฤตการณ์การเมืองเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในขณะนี้ นอกจากนี้ความไม่แน่นอนทางเมืองและความตึงเครียดทางการเมืองก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย นโยบายสาธารณะต่างๆอาจจะสะดุดและไม่ต่อเนื่องได้ สังคมไหนก็ตามที่ไม่สามารถรักษาระบอบการปกครองโดยกฎหมายได้ ไม่มีนิติธรรม และไม่ยึดถือกฎหมายกติกาสูงสุด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้มีอำนาจ สังคมและเศรษฐกิจนั้นๆจะเกิดความยุ่งยากวุ่นวาย ภาวะไร้ระเบียบและความรุนแรงติดตามมาได้ เพราะผู้คนจะปฏิบัติตามกฎหมายน้อยลงและไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดความเสี่ยงในการใช้วิถีทางนอกกฎหมายมากขึ้น ส่งผลกระทบด้านลบต่อการลงทุนต่างๆ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆของนักลงทุนต่างชาติ ต้นทุนมหาศาลทางเศรษฐกิจและทางสังคมได้เกิดขึ้นแล้วจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรี เกิดการสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของระบบความยุติธรรมและองค์กรอิสระ รวมทั้งการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสูงสุด จะฉุดรั้งการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะการลงทุนระยะยาวขนาดใหญ่ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมาก 

เพราะระบบนิติรัฐนิติธรรม หรือ Rule of Law เป็น Soft Infrastructure เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสถาบันของระบบเศรษฐกิจที่สำคัญมาก การขาดความชอบธรรมทางการเมืองในสายตาของประชาชนส่วนใหญ่ในการกลับเข้ามาทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี ย่อมทำให้ระบบการเมืองไม่มีเสถียรภาพอย่างมาก ทางเดียวในการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง คือ การสร้างประเทศที่ตั้งอยู่บนสถาบันบนฐานของกฎหมายและเหตุผลโดยไม่คำนึงถึงตัวบุคคลและเครือข่ายอุปถัมภ์ การตัดสินคดีต่างๆ แบบหลายมาตรฐาน แสดงถึง ความเสื่อมของระบบยุตธรรมและกระบวนการยุติธรรม ความฉ้อฉลในกระบวนการยุติธรรมจากการตัดสินคดีสำคัญหลายคดีที่ผ่านมาจะเป็นต้นเหตุให้สังคมเสื่อมทรามลงอย่างชัดเจน สะสมความไม่พอใจต่อความไม่เป็นธรรม สะสมความอึดอัดคับข้องใจต่อระบอบอยุติธรรม หากสังคมไม่ร่วมแสวงหาแนวทางในแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนกลับมาศรัทธาต่อระบบและกระบวนการยุติธรรมแล้ว ก็มีความเสี่ยงที่สังคมอาจถลำลึกลงสู่สภาวะไร้ระเบียบและอนาธิปไตยได้ 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ขัดแย้งกับมโนธรรมสำนึกมากๆ ขัดแย้งกับหลักของเหตุผลและความเป็นจริงมากๆ และสวนกระแสกับความถูกต้องชอบธรรมในทัศนะของประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล ต้องมีการวางระบบตรวจสอบและถ่วงดุลเพื่อป้องปรามการใช้อำนาจมิชอบหรือการใช้อำนาจตามใบสั่งของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ เพราะปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทั้งในระบอบการปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จ ระบอบคณาธิปไตย และ ระบอบเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง
  
หากไม่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลต่อการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาแล้ว ประเทศจะถูกสั่นคลอนด้วยวิกฤตการณ์ความชอบธรรมของระบบศาลรัฐธรรมนูญ ระบบรัฐบาล และ นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงที่คาดการณ์ได้ยากว่าจะจบลงอย่างไร สังคมไทยต้องร่วมกันสร้างประชาธิปไตยด้วยการร่างรัฐธรรมนูญและทำให้ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่ยึดโยงกับผู้มีอำนาจ ต้องช่วยกันยุติระบอบการปกครองที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจมาเป็นระบอบการปกครองโดยกฎหมายอย่างแท้จริง ผลักดันให้กองทัพกลับคืนกรมกองอย่างแท้จริงและสถาปนาประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งและหลักนิติธรรม มีตัวอย่างของหลายประเทศในโลกนี้ที่มีความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนานหลายทศวรรษและล้าหลังในการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมือง ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นและยากลำบากเพราะไม่ยึดหลักนิติธรรม ผู้มีอำนาจทางการเมืองอยู่ในอำนาจยาวนานจนก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วยเครือข่ายอุปถัมภ์ การผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพ ความเป็นธรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ระบบการเมืองแบบผูกขาดเกิน 8 ปีจะไม่สามารถตอบสนองต่อพลวัตและความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจภายใต้ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ กระบวนการกำหนดนโยบายก็จะไม่สามารถดึงการมีส่วนร่วมจากคนหลากหลายรุ่นหลากหลายกลุ่มได้ หลังการรัฐประหาร รัฐบาลทหารได้ฉวยใช้วาทกรรมการเมืองเชิงศีลธรรมของ กปปส มาอ้างความชอบธรรมให้การปกครองของตน และ อ้างจะคืนความสุขด้วยความปรองดองสมานฉันท์ แต่การดำเนินการหลายอย่างของรัฐบาลตลอดระยะเวลา 8 ปีมิได้ยืนอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรมและความปรองดองสมานฉันท์ การทุจริตคอร์รัปชันและการละเมิดหลักนิติธรรมเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 8 ปี ผู้เห็นต่างและฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองต่างถูกยัดข้อหาดำเนินคดี และ ซ้ำร้ายยังมีการดึง สถาบันหลัก ของชาติมาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมโดยไม่สนใจว่า จะทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงแห่งชาติในระยะยาวอย่างไร
  
ในระยะสั้น ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองคงจะกดดันให้ ค่าเงินบาท อ่อนค่าลงได้อีก และ ตลาดการเงินน่าจะมีความผันผวนสูง ตลาดหุ้นสามารถปรับฐานลงได้อีกแม้นปัจจัยพื้นฐานบางส่วนจะกระเตื้องขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ ผลกระทบของน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้ภาคเกษตรกรรมเสียหายในวงกว้าง เป็นการซ้ำเติมครัวเรือนเกษตรกรรายได้น้อยที่มีหนี้ครัวเรือนมากให้ประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจยากหนัก จึงขอให้ รัฐบาล รีบดำเนินการออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจด้วยการชดเชยรายได้ ชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วม รวมทั้งพักชำระหนี้ผ่านธนาคารของรัฐเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
 
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าอย่างไรก็ตามวิกฤตการณ์ทางการเมืองจะเบาลงหากสังคมไทยร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง และ ความเคลื่อนไหวต่างๆและดำเนินการต่างๆของบุคคล กลุ่มบุคคลหรือองค์กรใดๆ ก็ตามอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและยึดหลักนิติธรรม การลดความไม่แน่นอนทางการเมืองสามารถทำได้การประกาศเป้าหมายล่วงหน้า ดำเนินการตามนั้นโดยไม่บิดพลิ้ว และยึดถือครรลองประชาธิปไตยและกลไกรัฐสภา 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท