Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ดังที่เป็นข่าวไปทั่วโลก จากการตายของ มาห์ซา อามินี หญิงชาวเคิร์ดในอิหร่านวัยเพียง 22 ปี หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศีลธรรมของอิหร่านจับกุมตัวขึ้นรถตู้ไปสถานีตำรวจเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 เพราะเธอสวมฮิญาบปกคลุมศีรษะไม่มิดชิดมากพอ เมื่อออกไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะ (เข้าใจว่าจับเพื่อนเธอไปด้วย) แต่ยังไม่ทันได้ไปถึงสถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องนำเธอไปส่งโรงพยาบาลต่อมาอีกสองวันเธอเสียชีวิต โดยตำรวจให้การว่าเธอเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวฉับพลัน มีการแสดงคลิปจากกล้องวงจรปิดช่วงสั้นๆเห็นเธอเป็นลมล้มลงขณะที่ตำรวจวัฒนธรรมเดินเข้าไปจับกุมตัว และอีกคลิปหนึ่งที่ระเบียงของสถานที่แห่งหนึ่ง   ข่าวบางสำนักรายงานว่ามีพยานเห็นว่ามีการใช้กำลังความรุนแรงกับเธอในรถตู้โดยจ้าหน้าที่ที่นำตัวเธอไปนั้นใช้กระบองตีหัวเธอ และทำร้ายร่างกาย สื่อไม่ได้เสนอข่าวทันที และไม่ได้ชันสูตรศพในทันทีเช่นกัน

แน่นอนว่าครอบครัวของเธอไม่พอใจ และเสียใจอย่างยิ่ง เมื่อเป็นข่าวสื่อสารต่อๆกันในสื่อ social ทำให้เป็นกระแสไปทั่วประเทศและทั่วโลกอย่างรวดเร็ว มีการโยงไปถึงผู้ฉวยโอกาสทางการเมืองในประเทศอิหร่าน และกล่าวหาว่ามหาอำนาจหนุนหลังผู้ประท้วง ผู้ที่สนับสนุนรัสเซียในสงครามยูเครนขณะนี้ย่อมต้องสงสัยการปลุกปั่นของอเมริกาในเรื่องนี้ไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผสมผสานมั่วๆกันไปบ้าง แต่ในทางคดีมีข้อสังเกตหลายประการที่ผู้เขียนอยากหยิบยกขึ้นมาด้วยความเคารพในศาสนาอิสลาม มิได้หลบหลู่ประเพณีวัฒนธรรมดังนี้

1)  ผู้เขียนเห็นด้วยกับทุกท่านว่าเรื่องนี้ต้องทำการสอบสวนอย่างอิสระ โปร่งใส โดยคนกลาง เพื่อหาผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาลงโทษ ควรมีการใช้นิติวิทยาศาสตร์เข้าช่วยในการพิสูจน์ศพ  และการเก็บพยานหลักฐานควรมาจากหน่วยงานมากกว่า 1 องค์กร  ไม่ปล่อยให้ตำรวจตรวจสอบตำรวจกันเองอยู่ฝ่ายเดียว

2) ให้ความสำคัญต่อคำให้การของครอบครัวที่ยืนยันว่า อามินี เป็นคนแข็งแรง ไม่ได้มีโรคภัย หรือประวัติทางการแพทย์ที่ร้ายแรงมาก่อน  การชันสูตรบาดแผลที่ปรากฏที่ศีรษะว่าเป็นแผลใหม่หรือแผลเก่าก็กระทำได้ไม่ยาก

3) หากมีพยานเห็นการกระทำในรถตู้จริง ควรมีการคุ้มครองพยาน เพื่อทำให้การเป็นไปอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา ปราศจากการข่มขู่ หรืออิทธิพลใดๆ

4) เปิดกล้องวงจรปิดดูภาพทั้งหมด ไม่ใช่ภาพเคลื่อนไหวเฉพาะช่วงหนึ่งช่วงใดสั้นๆเท่านั้น ตามคำร้องขอของบิดาผู้เสียชีวิต

5) อิหร่านปกครองด้วยกฎหมายชารีอะห์ ที่อาจจะมีการตีความที่แตกต่างจากประเทศอื่น ต้องดูว่ามีการกำหนดเรื่องการคลุมฮีญาบเคร่งครัดเพียงใด ปกติการทำผิดกฎหมายศาสนาดังกล่าวเป็นเพียงการตักเตือน ไม่ถึงกับทุบตี ทรมาน หรือทำให้เสียชีวิต

6) เหล่าบรรดาผู้ที่ด่วนสรุปหรือเชื่อว่าเป็นการเสียชีวิตด้วยหัวใจล้มเหลวฉับพลัน หรือต้องการให้เรื่องนี้จบแบบผ่านๆไป ควรให้ความเป็นธรรมกับผู้สูญเสีย  เปิดใจกว้าง เพื่อให้มีการเรียนรู้ในสังคม และหากมีเจ้าหน้าที่ทำผิดจริงก็ต้องลงโทษ ทำการเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย จะได้ไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้อีก

7) ควรมีการทบทวนเรื่อง “ตำรวจวัฒนธรรม” และมีการปฏิรูปกฎหมาย เปรียบเทียบวิธีการปฏิบัติในหมู่ประเทศที่เป็นมุสลิมด้วยกันว่าการบังคับใช้กฎหมายซารีอะห์ ควรอยู่ในระดับใด ยืดหยุ่นได้หรือไม่ และไม่ควรให้อำนาจตำรวจจับกุมผู้หญิงได้ตามอำเภอใจ หรือจับกุมโดยไม่ต้องขอหมายเรียก และหมายจับเหมือนกฎหมายทั่วไป หรือให้มีอัยการตรวจสอบถ่วงดุลการสอบสวนกรณีร้ายแรง หรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเหมือนประเทศมุสลิมก้าวหน้าอื่นๆ กรณีนี้เป็นความผิดส่วนบุคคล ไม่ใช่ความผิดละเมิดผู้อื่น เจตนามุ่งเน้นที่การจับผิดพฤติกรรมผู้หญิงเป็นหลัก

8) จากการพูดคุยกับนักวิชาการหญิงมุสลิมในไทย ทราบว่าการรุกฮือประท้วงเรื่องนี้ เกิดจากความอัดอั้นตันใจจากหลายเหตุการณ์ที่ผู้หญิงอิหร่านรู้สึกถูกกดขี่มานาน ล่าสุดคือกรณีผู้หญิงที่สร้างภาพยนตร์เสนอเรื่องราวของอิหร่านสร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลจนเธอต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ กับทนายความหญิงอิหร่านที่ถูกคุมขัง และเรื่องสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ที่หญิงจำนวนมากมิอาจทนได้

9) การประท้วงครั้งใหญ่เช่นนี้เกิดขึ้นได้ไม่ยากในสังคมที่มีสื่อออนไลน์หลายช่องทาง และเกิดขึ้นได้จากทั้งสองฝ่ายเสมอ  (ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล) โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการปลุกปั่นจากมหาอำนาจ ดังเช่นการชุมนุมของ นปช. กปปส.นับล้านคน ที่เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทย บวกกับกระแส Feminist ที่มีอยู่แล้วทั่วโลก ส่วนการเมืองท้องถิ่นเข้าแทรกแซงผสมโรงด้วยหรือไม่ มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น 

ดังนั้นต้องขจัดเหตุแห่งทุกข์ โดยปรับเปลี่ยนพัฒนาในเรื่องความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ทบทวนกฎหมาย ประเพณีวัฒนธรรมที่อาจจะไม่เหมาะสมกับคนยุคใหม่ที่ผู้หญิงต้องออกไปทำงาน มีภาระให้รับผิดชอบมากขึ้น และอาศัยความคล่องตัวในการพึ่งตนเองอีกด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net