ประท้วงอิหร่าน: จากการขัดขืน 'ตำรวจศีลธรรม' สู่การแข็งข้อต่อ 'เผด็จการเบ็ดเสร็จ'

นักวิชาการอิหร่านพูดถึงการประท้วงใหญ่ภายหลัง 'สายตรวจจริยธรรม' ลงโทษสตรีที่ไม่สวมฮิญาบจนเสียชีวิต ทั้งในเรื่องที่มาของการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของสตรีอิหร่านด้วยการตัดผม ที่ถูกระบุว่าเป็นการแสดงความโกรธในระดับอยู่เหนือพลังอำนาจกดขี่ ซึ่งสะท้อนมาจากวรรณกรรมยุคโบราณของเปอร์เซีย รวมถึงมุมมองสตรีนิยม เมื่อตำรวจศีลธรรมทำหน้าที่ควบคุมเนื้อตัวร่างกายผู้หญิงมีส่วนเกี่ยวโยงกับระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ

ผู้ประท้วงหลังตำรวจศีลธรรมทำร้ายสตรีที่ไม่สวมฮิญาบจนเสียชีวิตที่ Keshavrz Boulvard ที่เตหะราน, อิหร่าน เมื่อ 19 กันยายน 2565 ที่มา: Wikipedia

 

การประท้วงในอิหร่านดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางเดือนที่แล้ว เป็นการประท้วงที่เกิดขึ้นเองทั่วประเทศอย่างไร้แกนนำ หลังจากที่มีช่าวว่า เจ้าหน้าที่ทางการทำการลงโทษหญิงอายุ 22 ปี มาห์ซา อามีนี จนเสียชีวิต เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่อามีนีถูกจับกุมโดยตำรวจ "สายตรวจจริยธรรม" ของอิหร่านที่คอยจับกุมผู้หญิงที่พวกเขาอ้างว่าละเมิดกฎหมายแบบเทวนิยมซึ่งบังคับให้ผู้หญิงต้องสวมฮิญาบ

เหตุการณ์ประท้วงในครั้งนี้เป็นหนึ่งในการประท้วงที่เกิดขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ปีที่แล้ว (2564) จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีประเด็นในหลายเรื่องที่ผู้ประท้วงไม่พอใจรัฐบาลนั้น มีตั้งแต่เรื่องวิกฤตทรัพยากรน้ำในประเทศ การสร้างเขื่อนแบบไม่ได้ศึกษาผลกระทบ วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศของอิหร่าน ความไม่พอใจในเรื่องคุณภาพชีวิต ไปจนถึงการประท้วงต่อต้านการใช้อำนาจของรัฐบาลที่มีผู้นำสูงสุดคืออยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี

การเสียชีวิตของ มาห์ซา อามีนี เป็นสิ่งที่จุดชนวนให้เกิดการประท้วงล่าสุด การประท้วงเริ่มต้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการเสียชีวิตของเธอ โดยมีผู้ชุมนุมเริ่มต้นชุมนุมประท้วงที่โรงพยาบาลที่ประกาศว่าอามินีเสียชีวิต ต่อมาการประท้วงก็เริ่มลามไปยังที่อื่นๆ เริ่มจากเมืองบ้านเกิดของอามินีเองในจังหวัดเคิร์ดดิสถาน ไปจนถึงเมืองอื่นๆ มากกว่า 40 เมือง รวมถึงในกรุงเตหะรานเองด้วย

พอถึงวันที่ 19 ก.ย. รัฐบาลอิหร่านก็ได้โต้ตอบการประท้วงด้วยการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตในระดับภูมิภาค และต่อมาก็มีการปิดกั้นในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นการปิดกั้นโซเชียลมีเดียในระดับประเทศ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ประท้วงส่งผลให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 83 ราย ซึ่งเป็นตัวเลลขจากรายงานข่าวขององค์กรอิหร่านฮิวแมนไรท์ ขณะที่สื่อรัฐบาลอิหร่านระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 41 ราย และมีผู้ถูกจับกุมหลายร้อยราย

ในที่ประท้วงมีการแสดงความโกรธแค้นและตะโกนสาปแช่งเผด็จการรวมถึงผู้นำอาลี คาเมเนอี และมีกลุ่มผู้หญิงที่ประท้วงด้วยการถอดฮิญาบของตัวเองออก และบางส่วนก็มีการเผาฮิญาบ

ซีเอ็นเอ็นนำเสนอภาพการประท้วงในอีกมุมหนึ่งของเหยื่อผู้ประสบความรุนแรง คือหญิงชาวอิหร่านซึ่งเป็นพี่สาวของจาวาด เฮย์ดารี ผู้ที่ถูกยิงเสียชีวิตในการชุมนุม เธอใช้กรรไกรตัดผมของตัวเองออกมา ตะโกนเรียกร้องความยุติธรรมพร้อมกับโยนผมของตัวเองไปที่โลงศพของน้องชายเธอ

ภาพการประท้วงดังกล่าวนี้ทำให้ผู้หญิงจากทั่วโลกไม่ว่าจะในตะวันออกกลาง, ยุโรป และ สหรัฐฯ ต่างก็แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับหญิงอิหร่านในการประท้วง ซึ่งบางคนแสดงออกด้วยการกระทำแบบเดียวกับเฮย์ดารี คือการตัดผมของตัวเองในที่สาธารณะหรือในตอนที่กำลังถ่ายวิดีโอ

หญิงชาวอิหร่านซึ่งเป็นพี่สาวของจาวาด เฮย์ดารี ผู้ที่ถูกยิงเสียชีวิตในการชุมนุมที่อิหร่าน ใช้กรรไกรตัดผมของตัวเองเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับน้องชายที่เสียชีวิต ที่มา: Twitter/1500tasvir_en

ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการตัดผมประท้วง

สำหรับผู้หญิงอิหร่านเองแล้ว การตัดผมของตัวเองเป็นการประท้วงที่ชวนให้สะเทือนอารมณ์ เพราะผมของพวกเธอเป็นสัญลักษณ์ของความงามที่ถูกทำให้ต้องปิดซ่อนไว้โดยคำสั่งของรัฐบาลอิหร่าน

หญิงชาวอิหร่านที่ทำงานเป็นวิศวกรเคมีอาศัยอยู่ในอิตาลี เฟเซห์ อัฟชาน เป็นหนึ่งในผู้ที่ทำการประท้วงด้วยการโกนหัวตัวเอง กล่าวว่า "พวกเราต้องการแสดงให้พวกเขารู้ว่าพวกเราไม่สนใจมาตรฐานหรือนิยามความงามของพวกเขา หรือเรื่องที่ว่าพวกเขาคิดว่าพวกเราควรจะมีรูปลักษณ์แบบใด ... มันแสดงให้เห็นว่าพวกเราโกรธ"

อัฟชาน บอกอีกว่า "ในวรรณกรรมของพวกเรา(อิหร่าน) การตัดผมเป็นสัญลักษณ์ของการไว้ทุกข์ และบางครั้งก็เป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง ... ถ้าพวกเราตัดผมของเราเพื่อแสดงออกว่าพวกเราโกรธได้ พวกเราก็จะทำมัน"

หนึ่งในวรรณกรรมที่ว่านี้คือ "ชอฮ์นอเม" (Shahnameh) ซึ่งเป็นโคลงมหากาพย์อายุ 1,000 ปี ของเปอร์เซียเขียนโดยเฟอร์โดวซี เป็นวรรณกรรมที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในอิหร่าน และนับเป็นวรรณกรรมภาษาเปอร์เซียที่มีความสำคัญ ในวรรณกรรมเรื่องนี้มีฉากของการตัดผมเพื่อสื่อถึงการการไว้ทุกข์ คือฉากที่วีรชนชื่อสิยาวาชถูกสังหาร ภรรยาของเขาคือฟารานกิสและผู้ติดตามของเธอได้ตัดผมเมื่อประท้วงความอยุติธรรม

แต่ทว่าในวัฒนธรรมเปอร์เซียซึ่งเป็นชนชาติที่มาดั้งเดิมของอิหร่าน การที่ผู้หญิงตัดผมตัวเองยังสื่อถึงอย่างอื่นได้ด้วย ชารา อาตาชี นักเขียนและนักแปลจากเวลส์ระบุว่า การที่ผู้หญิงตัดผมตัวเองในประเพณีของเปอร์เซียนั้นยังหมายถึงการที่พวกเรามีพลังความโกรธเกรี้ยวอยู่เหนือกว่าพลังอำนาจของผู้กดขี่ด้วย เรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรม

ในแง่นี้การประท้วงด้วยการตัดผมตัวเองเพื่อแสดงความเจ็บปวดอัดอั้นมีมาตั้งแต่ในวัฒนธรรมโบราณ เช่นในมหากาพย์กิลกาเมช (Epic of Gilgamesh) ที่มีอายุ 3,500 ปี จากอารยธรรมเมโสโปเตเมีย (ปัจจุบันคืออิรัก) ซึ่งนับเป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดที่ส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมใกล้เคียงกับภูมิภาคนั้น

ชีมา บาเบอี นักกิจกรรมอิหร่านที่อาศัยในเบลเยี่ยมเคยถูกตำรวจศีลธรรมอิหร่านจับกุมมาก่อนเมื่อปี 2561 จากการที่เธอถอดฮิญาบตัวเองออกเพื่อแสดงการประท้วง บาเบอีกล่าวว่าสำหรับชาวอิหร่านแล้วการตัดผมมีความหมายในทางประวัติศาสตร์ จากการที่ผู้หญิงมักจะตัดผมเพื่อแสดงกาารไว้ทุกข์หรือแสดงความโกรธเมื่อสูญเสียญาติของตัวเองไป การทำเช่นนี้เพื่อประท้วงให้กับมาห์ซาผู้ถูกตำรวจโบยจนเสียชีวิตและต่อผู้หญิงรายอื่นๆ ที่ถูกกระทำจึงนับเป็นการแสดงออกเชิงถึงความเศร้าเสียใจจากการเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปพร้อมๆ กับการประท้วงคนที่สังหารประชาชนของพวกเรา

การประท้วงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในอิหร่าน

ลักษณะของการประท้วงในครั้งนี้ทำให้สื่อ Gzero วิเคราะห์ว่ามันเป็นการประท้วงที่ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมาในอิหร่าน การประท้วงต่อต้านรัฐบาลอิหร่านก่อนหน้านี้มักจะมาจากเรื่องความไม่พอใจทางเศรษฐกิจที่ทับซ้อนกับความไม่พอใจทางการเมือง เช่น การประท้วงใหญ่เมื่อปี 2562 ในเรื่องที่มีการขึ้นราคาเชื้อเพลิงและเรื่องปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ จนกระทั่งรัฐบาลใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงจนทำให้ถูกเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ "พฤศจิกานองเลือด"

แต่สิ่งที่จุดชนวนการประท้วงในครั้งล่าสุดนี้คือความรู้สึกเป็นพี่น้องกันของผู้หญิงที่รู้สึกถูกกดขี่ข่มเหงโดยน้ำมือของตำรวจศีลธรรมของอิหร่าน ทำให้ผู้หญิงเป็นผู้นำการประท้วงครั้งล่าสุดนี้ ในการประท้วงมีกลุ่มผู้หญิงจากทุกช่วงวัยที่เสี่ยงชีวิตตัวเองทำการฉีกฮิญาบออกแล้วก็เผาเพื่อแสดงการแข็งข้อต่อผู้นำสูงสุดของออิหร่าน

แน่นอนว่าในการประท้วงมีกลุ่มคนที่ไม่พอใจรัฐบาลในแง่อื่นๆ รวมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเรื่องความไม่พอใจทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ในช่วงระหว่างปี 2555-2563 รายได้ต่อหัวของชาวอิหร่านลดลงร้อยละ 68 และมีครอบครัวชาวอิหร่านราวร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

ขณะเดียวกัน ฮามิด ดาบาชี ศาสตราจารย์ด้านอิหร่านศึกษาและวรรณกรรมเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียก็ได้กล่าวไว้ว่าถึงแม้จะมีเรื่องเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเสริมอีกเรื่องหนึ่ง แต่กลุ่มผู้ที่เริ่มต้นลุกฮืออย่างจริงจังในครั้งนี้มาจากกลุ่มผู้หญิงอิหร่านที่มีการศึกษาและมีความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอก พวกเธอรวมกลุ่มกันเพราะต่างก็เกลียดชังระบบที่บีบบังคับให้พวกเธอต้องแต่งกายตามที่รัฐกำหนด กลายเป็นขบวนการประท้วงที่ไม่มีผู้นำตายตัว

อย่างไตก็ตามดาบาชีก็บอกว่าการที่ขบวนการไม่มีผู้นำไม่ได้เป็นเรื่องแย่เสมอไป ดาบาชีมองว่าตั้งแต่ในอดีตจนถึงตอนนี้ "พวกเรามีผู้นำมากเกินไป" ด้วยซ้ำ ก่อนหน้านี้การปฏิวัติอาจจะต้องการวีรบุรุษผู้กล้าแบบมหากาพย์ แต่นั่นเป็นเรื่องที่ชวนให้ไขว้เขว ในพลวัติการเคลื่อนไหวปัจจุบันนั้นมีความเลื่อนไหลกว่ามาก เพราะเมื่อมีการถ่ายเทคุณลักษณะต่างๆ ของขบวนการในรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตย

ถึงแม้ว่ารูปแบบการประท้วงเช่นนี้จะทำให้คาดเดาทิศทางตามมาได้ยาก แต่ ดาบาชี ก็มองว่ามันจะไม่มีการล่าถอยอีกต่อไป ถึงแม้ว่าชาวอิหร่านจะเผชิญกับความรุนแรงจากกองกำลังผสมบาซิจของรัฐบาลอิหร่าน แต่การเคลื่อนไหวของประชาชนในครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในเส้นแบ่งความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นรัฐชาติของอิหร่านกับรัฐบาลอิหร่าน ในตอนนี้รัฐบาลอิหร่านพยายามทำตัวหลบอยู่ในมุม ถ้าหากว่าการประท้วงประสบสำเร็จไปไกลกว่านี้ได้ คือทำให้ไม่มีกฎสั่งให้สวมฮิญาบอีกต่อไป มันก็จะส่งผลสะเทือนต่อความเป็นสาธารณรัฐอิสลามของอิหร่านไปด้วย

 

จากการประท้วงอำนาจที่กดขี่ผู้หญิง ไปสู่การประท้วงอำนาจเบ็ดเสร็จ

นาสริน โซทูเดห์ ทนายความสิทธิมนุษยชนผู้ที่ว่าความให้จำเลยหญิงอิหร่านมาเป็นเวลาหลายปีและเคยถูกลงโทษจำคุก 38 ปี และเฆี่ยนตี 148 ครั้ง เพียงเพราะงานทนายความของเธอ เธอให้สัมภาษณ์ต่อสื่อไทม์ในช่วงที่ได้รับการพักโทษด้วยเหตุผลด้านการแพทย์เกี่ยวกับการประท้วงล่าสุดว่า การที่รัฐบาลลงโทษผู้หญิงครั้งแล้วครั้งเล่าในเรื่องฝ่าฝืนกฎศีลธรรมของอิหร่าน มันเป็นการกระทำย่ำยีต่อเนื้อตัวร่างกายและการแต่งกายของผู้หญิง ซึ่งโซทูเดย์มองว่ามันยังนับเป็นการข่มขืนและการล่วงละเมิดต่อผู้หญิงในแง่อื่นๆ ได้ด้วย

"พวกนั้นเฆี่ยนตีคุณ ทำร้ายพวกคุณ และทำให้พวกคุณเป็นแผลฟกช้ำดำเขียว เสร็จแล้วก็ห่อตัวคุณไว้ในผ้าคลุมอีกครั้งเพื่อปกปิดความเสียหายที่พวกเขากระทำต่อคุณ" โซทูเดย์กล่าว

โซทูเดย์กล่าวอีกว่าการที่ชาวอิหร่านพูดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ฮิญาบเท่านั้นพวกเขาหมายความว่า พวกเขากำลังประท้วงต่อระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จทั้งระบอบที่แฝงฝังอยู่ในชีวิตประจำวัน แล้วผู้คนก็ไม่ได้ต้องการให้มีการประทานเสรีภาพให้จากเบื้องบนอะไรเช่นนั้นแต่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบทั้งระบอบไม่มีการกลับไปในอดีตอีกต่อไป ทำให้การประท้วงใหญ่ในครั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่อาจจะขั้นเปลี่ยนแปลงระบอบของอิหร่าน นอกจากนี้ยังมีเรื่องข่าวลือเกี่ยวกับผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาตอลเลาะห์ อาลี โคเมเนอี อยู่ด้วย แต่ก็ยังไม่ชัดเจนนัก

โซทูเดย์กล่าวอีกว่า "ในการปฏิวัติในครั้งนี้ ผู้คนควรจะเป็นห่วงเรื่องความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐบาล ไม่ใช่กังวลว่าจะเกิดจากฝีมือประชาชน" โซทูเดย์ให้เหตุผลว่า เพราะสิ่งที่ผู้หญิงอิหร่านทำก็แค่การแข็งขืนต่อตำรวจศีลธรรมด้วยการถอดฮิญาบออกต่อหน้าพวกเขาและเผาเพื่อประท้วงเท่านั้น มันนับเป็นการกระทำที่สันติปราศจากความรุนแรงอย่างแน่นอนในมุมมองของเธอ

เรียบเรียงจาก

Grief, protest and power: Why Iranian women are cutting their hair, CNN, 28-09-2022

Why Iran’s protests are different this time, GZero, 30-09-2022

Why Iran's Leading Women's Rights Defender Thinks the Protesters Could Topple the Regime, Time, 29-08-2022

Iran Protests; at Least 83 Killed by Security Forces, Iranhr, 29-09-2022

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Masha Amini Protests, Wikipedia

Mahsa Amini protests, Wikipedia

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท