Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมด้วยหลายองค์กร จัดขบวนรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล ย้ำจุดยืน 'การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน' พร้อมเดินขบวนจากลานคนเมืองไปทำเนียบฯ ด้านชัชชาติ ร่วมปราศรัย ย้ำแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน   

 

3 ต.ค. 2565 สำนักข่าวราษฎร ไลฟ์ถ่ายทอดสดเมื่อเวลา 7.53 น. ที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ติดตามการทำกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล (ตรงกับวันจันทร์แรกเดือน ต.ค. ของทุกปี) จัดโดยองค์กรภาคประชาสังคมหลายเครือข่าย เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และอื่นๆ เพื่อตอกย้ำแนวคิดที่อยู่อาศัยคือสิทธิพื้นฐานของประชาชน เรียกร้องเรื่องที่ดินทำกิน และเข้าถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคอย่างเท่าเทียม 

'ชัชชาติ' มองแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ต้องร่วมมือ

ต่อมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ๋ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เดินทางมาร่วมทักทายประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม และกล่าวปราศรัยถึงความสำคัญของการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ถือเป็นพื้นฐานหลักของชีวิต จะทำให้ลูกมีการเรียน และมีงานมีการทำ แต่ภาคเศรษฐกิจก็ไม่เอื้อเฟื้อเรา ดังนั้น หน่วยงานรัฐควรช่วยจัดการให้ประชาชนเข้าถึงได้ทุกคนอย่างเท่าเทียม 

ชัชชาติ มองว่า ทั้งภาครัฐ และประชาชน ต้องช่วยดูแลกันและกัน ภาครัฐช่วยตามกรอบอำนาจทำให้ประชาชนเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่สร้างภาระ และต้องเริ่มจากประชาชนเองด้วย เช่น การอดออม และยกตัวอย่างกรณีนโยบายบ้านมั่นคง 

"ต้องช่วยกันตามระเบียบ ผมว่าก็คือหลักการ และผมว่านโยบายของเราไม่มีอะไรซับซ้อน ก็อยากให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีบ้านที่มั่นคง ลูกมีโรงเรียนที่ไปได้อย่างสม่ำเสมอ มีอาชีพมีงานการทำที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" ชัชชาติ ระบุ พร้อมกล่าวว่าถ้าทำตามระเบียบและหลักการ กทม. พร้อมช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด 

'ไร้บ้าน ไม่ไร้สิทธิ์'

ชัชชาติ กล่าวถึงปัญหาคนไร้บ้านเป็นปัญหาที่สำคัญ แต่ไร้บ้าน ต้องไม่ไร้สิทธิ์ และโอกาส ผู้ว่าฯ กทม. ระบุด้วยว่า คนไร้บ้านเหมือนกับคนไทยทุกคนที่มีสิทธิ และทางหน่วยงานรัฐต้องทำให้เขากลับมายืนหยัดและไปสู่สถาพปกติ

"เราไม่ได้มาหาเสียง เรามาแก้ปัญหาให้ประชาชนตามกรอบที่มี เราไม่ใช่เจ้าของที่ดิน แต่เราดูแลที่ดินสาธารณะแทนประชาชนทั้งประเทศ ...ต้องช่วยกัน ถ้าเราช่วยกัน เราร่วมมือกัน เราไม่ทะเลาะกัน เชื่อว่าเราจะหาทางออกเรื่องที่อยู่อาศัยเพื่อทุกคน" ผู้ว่าฯ กทม. ทิ้งท้าย

ต่อมา เวลา 9.00 น. เพจเฟซบุ๊ก ‘เครือข่าย สลัม ๔ ภาค’ เผยว่า ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบเอกสารลงนามอนุมัติใช้ที่ดินสาธารณะ เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนบึงลำไผ่ และเขตมีนบุรี  โดยมีผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน

เวลา 9.50-10.00 น. ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค แถลงเจตนารมณ์การทำงานด้านที่อยู่อาศัย ภายใต้หัวข้อรณรงค์ “สิทธิที่อยู่อาศัย ต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนเข้าถึงได้” และมอบสัญลักษณ์การรณรงค์ให้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้แทนองค์การสหประชาชาติ

เวลา 9.37 น. ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ลานคนเมือง หน้าศาลากลางกรุงเทพฯ หลังเก่า ประชาชนจำนวนมาก รวมตัว ก่อนเดินขบวนไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ไว้อาลัยประชาธิปไตย ย้ำจุดยืนร่าง รธน.โดย ปชช.-ปิดสวิตช์ ส.ว.

ระหว่างการเดิน จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานพีมูฟ ปราศรัยกล่าวว่า ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะมีการทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เป็นเวลา 15 นาที 

เวลา 9.56 น. ประชาชนนำป้ายผ้าไปชูที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปรากฏข้อความต่างๆ เช่น "ไว้อาลัยรัฐธรรมนูญเผด็จการ" "ส.ว.ไม่มีสิทธิ์เลือกนายกฯ" และ "ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชน"

บรรยากาศการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

นอกจากนี้ มีการวางพวงหรีด และดอกไม้จันทน์หน้าอนุสาวรีย์ประช่ธิปไตย เพื่อไว้อาลัยให้รัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6:3 นับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มต้นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 หรือ 6 เม.ย. 2560

จำนงค์ หนูพันธ์ กล่าวว่า เขาไม่ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับ 'มีชัย ฤชุพันธุ์' อีกต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เอื้อประโยชน์ให้ 3 ป. (ประวิตร ประยุทธ์ และอนุพงษ์) และเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี 

จำนงค์ วิจารณ์เรื่องศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้นายกฯ ประยุทธ์ ไปต่อ การบริหารงานของรัฐบาลที่บอกว่าคนจนจะหมดไปจากประเทศ แต่คนจนกลับเยอะขึ้น และประเด็นอื่นๆ 

เวลา 10.10 น. ประชาชนเดินขบวนต่อไปที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงคมนาคม โดยแยกเป็น 2 ขบวน 

เวลา 10.27 น. ประชาชนเดินทางถึงกระทรวง พม. โดยแกนนำปราศรัยระบุว่า เหตุที่มา พม. เนื่องจากกระทรวง พม. เป็นหน่วยงานที่ดูแลคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และกลุ่มเปราะบาง จึงต้องการมาคุย และยื่นข้อเสนอในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน และอยากมาร่วมฉลองครบรอบ 20 ปี ของกระทรวง พม.

'แหม่ม' นุชนารถ แท่นทอง ผู้ประสานงานจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุว่า วันนี้จะมีการเชิญตัวแทนกรรมการบริหารวันที่อยู่อาศัยสากลเข้าไปร่วมประชุมกับ พม. แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครลงมาประสาน 

จำนงค์ หนูพันธ์ ระบุว่า เขาเรียกร้องให้มีการถอน พ.ร.บ.ต่อต้านการรวมกลุ่มที่อยู่การดูแล จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.ออกไปด้วย เขาระบุต่อว่าถ้าไม่มีตัวแทนมาคุย กลุ่มประชาชนที่มารณรงค์ จะอยู่ไปเรื่อยๆ

เวลา 11.30 น. เลขานุการ รัฐมนตรีกระทรวง พม. เป็นตัวแทนของจุติ ไกรฤกษ์ มาตอบคำถามประชาชน เลขาฯ เผยว่า จุติ ไกรฤกษ์ ติดประชุมทำให้ไม่สามารถมาหาประชาชนได้ 

เวลา 12.37 น. ขบวนประชาชนจาก พม. เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลโดยใช้เส้นทางจากถนนกรุงเกษม ไปที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และไปที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกตำรวจสกัดโดยใช้รั้วเหล็กกั้นผูกกับลวดสลิง 

เวลา 13.30 น. สื่อ 'The Reporters' รายงานวันนี้ (3 ต.ค.) ขบวนประชาชนรณรงค์วันที่อยู่อาศัยสากล เดินทางจากกระทรวงคมนาคม มาสมทบกับขบวนประชาชนที่เดินมาจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก่อนที่ในเวลาต่อมา จำนงค์ หนูพันธ์ ปราศรัยบนรถเครื่องเสียง กดดันให้เจ้าหน้าที่เปิดทางให้ขบวนรณรงค์เดินไปที่ทำเนียบรัฐบาลได้ 

อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่เจรจาระบุว่าอนุญาตให้ประชาชนใช้เส้นทางคู่ขนานฝั่งโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ เพียงช่องทางเดียว แต่ทางแกนนำระบุว่าไม่เห็นด้วย พร้อมถามข้อสงสัยว่า ทำไมถึงเปิดให้ประชาชนเดินผ่านต่อไปไม่ได้

จนกระทั่งเวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่อนุญาตให้เครือข่ายสลัม 4 ภาค เดินโดยใช้ช่องทางถนนริมซ้ายสุด และปักหลักบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนินนอก บริเวณตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ประตู 5 เท่านั้น 

The Reporters รายงานว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาค จะส่งตัวแทนร่วมประชุมกับ 'อนุชา นาคาศัย' รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามข้อเสนอของเครือข่ายสลัม 4 ภาค หลังจากนายอนุชา กลับจากปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดชัยนาท 

จี้ 'คมนาคม' ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ดิน-ระบบราง

ทั้งนี้ ในเวลาเดียวกับที่ขบวนประชาชนรณรงค์ที่อยู่อาศัยสากลแยกไปที่ พม. มีขบวนประชาชนอีกขบวนแยกไปยื่นข้อเรียกร้องที่กระทรวงคมนาคม 

สำนักข่าว The Reporters รายงานวันนี้ (3 ต.ค.) เวลา 10.00 น. เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) เดินเท้าจากลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) มาที่หน้ากระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนินนอก เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ดินและระบบราง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง รางคู่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีชุมชนริมทางรถไฟกว่า 35 จังหวัด 346 ชุมชน 27,096 หลังคาเรือน ได้รับผลกระทบ

อนุสรณ์ แดงบุหงา ชาวบ้านริมทางรถไฟเพชรบุรี ซอย 5 กล่าวกับ The Reporters ว่า มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 100 หลังคาเรือน และมีชาวบ้านบางส่วนต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอย่างเร่งด่วน เพราะพื้นที่บ้านเป็นบริเวณวางแนวท่อก๊าซ 500 เมตร อีกจำนวนหนึ่งถูกหมายศาลขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง โดยที่ผ่านมาชุมชนมีการพูดคุยกับตัวแทนจาก รฟท.เพื่อขอเช่าพื้นที่ และขอให้จัดหาที่พักอาศัยชั่วคราว ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะย้ายไปอยู่ที่อาคารพักอาศัย 8 ชั้น บริเวณซอยหมอเหล็ง แต่ปัจจุบันเรื่องยังไม่คืบหน้า 

สมศักดิ์ บุญมาเลิศ ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเผยถึงความมุ่งหมายที่เดินทางมายังกระทรวงคมนาคมว่า จะมาติดตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินรถของ รฟท.ที่ต้องการให้ปลดล็อก 61 ชุมชน เพื่อให้เช่าที่ดินได้ เพราะสิทธิที่อยู่อาศัยถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net