เปิดคำวินิจฉัย 3 ตุลาการศาล รธน. เสียงข้างน้อย ชี้ ‘ประยุทธ์’ เป็นนายกครบ 8 ปีตั้งแต่ 24 ส.ค. 65

  • ‘คำต่อคำ’ เปิดคำวินิจฉัยของ ‘นครินทร์ เมฆไตรรัตน์’ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย ชี้ความเป็นนายกฯ ของประยุทธ์ สิ้นสุดวันที่ 24 ส.ค. 2565 และเป็นรักษาการนายกฯ ไม่ได้ คงเจตนารมณ์กันผูกขาดอำนาจ 
  • 'นภดล' ชี้ 'ประยุทธ์' นั่งนายกครบระยะเวลา 8 ปีแล้ว โดยตีความตามบทเฉพาะกาล ม.264 ที่ให้เป็นนายกฯ ต่อเนื่อง ดังนั้น ต้องนับต่อเนื่องตั้งแต่วันได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งแรกวันที่ 24 ส.ค.57 ขณะที่ ‘ทวีเกียรติ’ ชี้ เป็นนายกฯครบ 8 ปีตั้งแต่ 24 ส.ค.65 เช่นกัน

 

สืบเนื่องจากเมื่อ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยเสียงข้างมากด้วยคะแนน 6:3 ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือผู้ถูกร้อง ให้เริ่มนับวาระนายกฯ ตามวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 หรือ 6 เม.ย. 2560 จึงให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับไปปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ตามเดิม

สำหรับมติ 6 ต่อ 3 เสียงนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก 6 คน ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และ 6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน

ส่วนอีก 3 เสียงข้างน้อย ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์​ เมฆไตรรัตน์ 2.นายทวีเกียรติ​ มีนะกนิษฐ์ และ 3.นาย​นภดล เทพพิทักษ์ 

5 ต.ค. 2565 หลายสื่อรายงานตรงกันวันนี้ (5 ต.ค.) เช่น เนชั่น มติชน ไทยโพสต์ วอยซ์ทีวี และโพสต์ทูเดย์ นำคำวินิจฉัยอีก 1 ใน 3 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยมาเผยแพร่ คือ ‘นครินทร์ เมฆไตรรัตน์’ โดยนครินทร์ จัดทำคำวินิจฉัยจำนวน 9 หน้ากระดาษ โดยระบุดังนี้

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

เจตนารมย์ รธน. กันผูกขาดอำนาจ ห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ความเห็นและข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกสารประกอบ ฟังได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ผู้ถูกร้อง) ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 19 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 25 สิงหาคม 2557 โดยผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเรื่อยมา จนได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 และต่อมาเมื่อมีรัฐสภาชุดแรกได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ลงมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ซึ่งผู้ถูกร้องได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ได้กำหนดเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวและเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง โดยวรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 (6) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 171” 

วรรคสอง บัญญัติว่า “นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย”

วรรคสาม บัญญัติว่า “ให้นำความในมาตรา 82 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (4) หรือ (5) หรือวรรคสอง โดยอนุโลม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการ การเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย” 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ได้กำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยบัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่งนั้น เนื่องจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการมุ่งควบคุมอำนาจของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้า ฝ่ายบริหาร อันเป็นคุณค่าของรัฐธรรมนูญซึ่งมีความสำคัญไม่ต่างจากการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยแต่อย่างใด โดยอำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจบริหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดของปวงชนชาวไทย 

กล่าวคือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งดังกล่าวย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน ยกตัวอย่างเช่น มีอำนาจในการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศอันเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดิน มีอำนาจในการบังคับการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตลอดจนมีอำนาจในการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น

ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารอันเป็นอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นระยะเวลานานจนมีลักษณะเป็นการผูกขาดอำนาจดังกล่าว อาจก่อให้เกิดปัญหาหรือวิกฤตทางการเมืองที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประโยชน์ของประชาชน ประโยชน์สาธารณะ ระบอบการปกครอง และการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เนื่องจากการผูกขาดอำนาจดังกล่าว อาจก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการใช้อำนาจโดยไร้ธรรมาภิบาล รวมไปถึงปัญหาการผูกขาดในทางเศรษฐกิจ โดยปัญหาดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานาน

นอกจากนี้ การผูกขาดอำนาจดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดการสะสมอำนาจอยู่ที่ตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง แต่เพียงผู้เดียวหรือแต่เพียงกลุ่มเดียว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเมืองการปกครองของประเทศไทยตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจดังกล่าวโดยไร้ธรรมาภิบาลหรือมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ในการบั่นทอนและทำลายกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ อันเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา กล่าวคือ การใช้อำนาจดังกล่าวแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนใช้อำนาจดังกล่าวในการทำลายระบบถ่วงดุลอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายตุลาการ ทั้งนี้ หากไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจจากทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ หรือการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจดังกล่าวเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลทำให้การปกครองในระบบรัฐสภา ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยเสื่อมถอย จนอาจมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 

ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงมีเจตนารมณ์ในการป้องกันปัญหาหรือวิกฤต ทางการเมืองดังกล่าว โดยมาตรา 158 วรรคสี่ ได้กำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยกำหนดให้บุคคลจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันแล้วเกินกว่าแปดปีมิได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง อันเป็นมาตรการจากัดการผูกขาดและการใช้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายบริหารโดยไม่เป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของการตรวจสอบในระบบรัฐสภา ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการการจำกัดวาระและระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของหัวหน้าฝ่ายบริหารซึ่งเป็นกลไกของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม 

ดังนั้น บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงไม่ได้มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล หากแต่เป็นการกำหนดเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการมุ่งควบคุมอำนาจของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ หากรัฐธรรมนูญไม่ป้องกันการผูกขาดอำนาจดังกล่าว อาจก่อให้เกิดปัญหาซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประโยชน์ของประชาชน ประโยชน์สาธารณะ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมไปถึงระบอบการปกครองของประเทศไทย อย่างมีนัยสำคัญ

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการป้องกันการผูกขาดอำนาจบริหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดของปวงชนชาวไทยในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยกำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคล มิได้มีการบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ หากแต่ได้มีการบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเนื่องมาจากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้มีการบัญญัติบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในลักษณะที่แปลกใหม่และแตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งและระบบ ฃพรรคการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ระบบรัฐสภาของประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ผิดแผกแตกต่างไปจากระบบรัฐสภาแบบเวสมินสเตอร์ (Westminster system) อย่างสิ้นเชิง อันเป็นผลทำให้ดุลความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารปรากฏในลักษณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจน้อยลงในเชิงเปรียบเทียบ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังส่งผลทำให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในลำดับที่หนึ่งของระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองมีฐานะสำคัญละม้ายไปทางผู้ได้รับเลือกตั้งในระบบประธานาธิบดีมากกว่าการเลือกหัวหน้าฝ่ายบริหารในระบบรัฐสภาแบบเดิมซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงได้พยายามแก้ไขผลกระทบจากระบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองดังกล่าวที่นำมาสู่การมีฝ่ายบริหารที่มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก อันส่งผลทำให้กลไกการตรวจสอบในระบบรัฐสภาไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 171 วรรคสี่ บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้” เพื่อวางเงื่อนไขให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกินสองวาระหรือแปดปี ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลเกี่ยวกับการจำกัดวาระ หรือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม อันเป็นการสร้างหลักประกันว่าการปกครองในระบบรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลครอบงำพรรคการเมืองฝ่ายบริหารซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดอำนาจดังกล่าว ภายใต้ความมุ่งหมายเดียวกันนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยังคงหลักการดังกล่าวไว้ โดยได้เพิ่มเติมหลักการเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลามากยิ่งขึ้น 

นับรวมนายกฯ ก่อน รธน.ปี 60 

กล่าวคือ การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วจะเกินแปดปีมิได้ โดยได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว อันเป็นการตอกย้ำความสำคัญของเจตนารมณ์ดังกล่าวที่มีอยู่ตลอดมานับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยเจตนารมณ์ดังกล่าวได้ผ่านการรับรองจากปวงชนชาวไทยผ่านการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพุทธศักราช 2560 อันมีลักษณะเป็นการยอมรับหลักการดังกล่าวโดยมติมหาชน 

ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า

“ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม” 

และวรรคสอง บัญญัติว่า “รัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แล้ว ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สาหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ยกเว้น (6) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และต้องพ้น จากตำแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3) และ (4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ การดำเนินการตามมาตรา 184 (1)”

จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทเฉพาะกาลเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารเป็นไปโดยไม่สะดุดหยุดลง มีผลให้สถานะความเป็นรัฐมนตรีของบุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งภายใต้หลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีความสมบูรณ์โดยต่อเนื่อง โดยวรรคสองได้กำหนดเหตุที่ทำให้รัฐมนตรีดังกล่าวต้องพ้นจากตำแหน่ง ดังนั้น นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จึงถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ โดยการพ้นจากตำแหน่งย่อมเป็นไปตาม ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 264 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้มาตรา 170 ยกเว้น (3) และ (4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดาเนินการตามมาตรา 184 (1) เท่านั้น แต่ทั้งนี้ มาตรา 264 วรรคสอง มิได้บัญญัติยกเว้นกรณีตามมาตรา 170 วรรคสอง กล่าวคือ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลาแปดปีตามมาตรา 158 วรรคสี่ แต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง รวมไปถึงการที่เจตนารมณ์ดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบจากปวงชนชาวไทย และบทบัญญัติมาตรา 264 ประกอบกันแล้ว เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจบริหารในทางการเมืองยาวนานจนเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุของวิกฤตทางการเมืองเช่นที่เคยปรากฏมาแล้ว ย่อมต้องถือเป็นหลักปฏิบัติทั่วไปว่า แม้บุคคลใดจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มิได้มีที่มาตามวิธีการของรัฐธรรมนูญนี้ หรือไม่ว่าจะมีที่มาจากกระบวนการเข้าสู่อำนาจฝ่ายบริหารในลักษณะใด แต่บุคคลนั้นได้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ถูกรับรองการดำรงตำแหน่งโดยรัฐธรรมนูญนี้เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารเป็นไปโดยต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดลง จึงต้องนับรวมเป็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ 

ความเป็นนายกของประยุทธ์ สิ้นสุดลง เมื่อ 24 ส.ค. 65

ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกร้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 19 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 โดยผู้ถูกร้องเข้าใช้อำนาจบริหารในการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญเรื่อยมาจนได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 และต่อมาเมื่อมีรัฐสภาชุดแรกได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง ให้ผู้ถูกร้อง เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องเรื่อยมานับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยการดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้สิ้นสุดหรือขาดตอนแต่อย่างใด ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันแล้วเป็นระยะเวลาเกินกว่าแปดปี ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ แล้ว ความเป็นรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงนับแต่เมื่อใด

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม กำหนดให้นำความในมาตรา 82 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (4) หรือ (5) หรือวรรคสอง โดยอนุโลม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ ดังนั้น จึงต้องนำรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดลงของความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องโดยอนุโลมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ... ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิก ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้น ได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง” 

ทั้งนี้ บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นบทบัญญัติว่าด้วย การพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยมิได้กำหนดให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกนำมาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดลงของความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องโดยอนุโลม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม 

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง นับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้ เมื่อความเป็นรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 158 วรรคสี่ นับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ความสิ้นสุดลงดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) ที่บัญญัติว่า “รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 ...”

ไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อหลังพ้นตำแหน่ง

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า เมื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ แล้ว ผู้ถูกร้องจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้ หรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 (2) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร (3) คณะรัฐมนตรีลาออก (4) พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144” และมาตรา 168 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) (2) หรือ (3) ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เว้นแต่ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) เพราะเหตุขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 หรือมาตรา 160 (4) หรือ (5) นายกรัฐมนตรีจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ (2) ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (4) คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้” โดยมาตรา 160 บัญญัติว่า “รัฐมนตรีต้อง ... (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ...” และมาตรา 98 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (1) ติดยาเสพติดให้โทษ (2) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ (4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (1) (2) หรือ (4) (5) อยู่ระหว่างถูกระงับ การใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (6) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล (7) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (8) เคยถูกสั่งให้พ้น จากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ (9) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (10) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิด ฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน (11) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริต ในการเลือกตั้ง (12) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง (13) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (14) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี (15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ (16) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่ง ในองค์กรอิสระ (17) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (18) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม” เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) จึงมิใช่กรณีที่ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 167 (1) เพราะเหตุขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 หรือมาตรา 160 (4) หรือ (5) แต่ทั้งนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาแปดปี จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบถ้วน ตามกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ดังนั้น เมื่อความเป็นรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 158 วรรคสี่ ผู้ถูกร้องจึงไม่อาจอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่งได้

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ วันที่ 24 สิงหาคม 2565 และผู้ถูกร้องไม่อาจอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่งได้

 

'นภดล' ชี้ 'ประยุทธ์' นั่งนายกครบระยะเวลา 8 ปีแล้ว โดยตีความตามบทเฉพาะกาล ม.264 ที่ให้เป็นนายกฯ ต่อเนื่อง  ต้องนับต่อเนื่องตั้งแต่วันได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ครั้งแรกวันที่ 24 ส.ค.57

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นภดล เทพพิทักษ์ อีกหนึ่งตุลาการเสียงข้างน้อย ที่เห็นว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลง เนื่องจากต้องนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 โดยคำวินิจฉัยดังกล่าวมีสาระสำคัญระบุว่า

ข้อพิจารณาที่ว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 อยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่

รัฐธรรมนูญ มาตรา 264 เป็นบทเฉพาะกาล วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่....” วรรคสอง บัญญัติว่า “รัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แล้ว ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ยกเว้น (6) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3)และ (4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98(12) (13) (14) และ (15)และยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 184 (1)" กรณีนี้ไม่ปรากฏว่ามีการยกเว้นมาตรา 158 วรรคสี่ และไม่ปรากฏบทบัญญัติอื่นใดในรัฐธรรมนูญที่ยกเว้นมิให้ใช้บังคับมาตรา 158 วรรคสี่ แก่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้แต่อย่างใด กล่าวคือ การที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ย่อมเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 วันเป็นความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 มิได้เป็น “การอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป” หรือที่เรียกว่า “นายกรัฐมนตรีรักษาการ” ตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) (2) (3) อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เว้นแต่ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) เพราะเหตุขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 หรือมาตรา 160 (4) หรือ (5) นายกรัฐมนตรีจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ อีกทั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ยังมีหน้าที่และอำนาจบริบูรณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินในฐานะนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ทุกประการ โดยไม่อยู่ในบังคับห้ามกระทำการบางประการเหมือนเช่นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่รักษาการหรืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 169 ดังนั้น การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 158 วรรคสี่ คือ “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้”

ข้อพิจารณาที่ว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯของผู้ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 อยู่ใต้บังคับของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่

เห็นว่า “นายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่ผ่านมาตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2560 ต่างบัญญัติที่มาไว้ในตัวบทแห่งรัฐธรรมนูญทำนองเดียวกันว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารผ่านคณะรัฐมนตรี และทรงพระราชอำนาจแต่งตั้งนายกฯคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนหนึ่งประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหน้าที่บริหารแผ่นดิน ทั้งนี้ หน้าที่และอำนาจของนายกฯและ ครม.ย่อมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ดังนั้น บุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งเป็นนายกฯ ทำหน้าที่ร่วมกับ ครม.ให้ทำหน้าที่บริหารแผ่นดินคือนายกฯ

แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 19 จะบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกฯตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ก็มิได้แตกต่างกับมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติให้ทรงแต่งตั้งจากบุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ และประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ทั้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา

รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ววรคสี่ ได้บัญญัติไว้ทำนองเดียวกันกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 171 วรรคสี่ ที่กำหนดวาระนายกฯห้ามดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี ด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดอำนาจรัฐ ป้องกันการผูกขาดอำนาจทางการเมือง อันอาจนำไปสู่ผลกระทบต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและหลักนิติธรรม อันเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนดังกล่าวมา รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติ “เงื่อนไขทางเวลา” ในการใช้อำนาจบริหารไม่ให้ใช้เกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ได้จำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯให้มีความเข้มงวดและชัดเจนกว่าเดิม จึงกำหนดให้นายกฯจะดำรงตำแหน่ง รวมกัน เกิน 8 ปีมิได้

ทั้งนี้ การนำหลักการจำกัดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกฯมาใช้กับระบอบการปกครองประเทศนับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 171 วรรคสี่ และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ แม้แต่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จะไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯไว้อย่างชัดเจนก็ตาม

แต่เพราะหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะมีเนื้อหาสั้นกะทัดรัด บทบัญญัติและข้อห้ามต่างๆ จึงไม่มีการลงรายละเอียดที่ชัดเจน แต่ก็ปรากฏอยู่ในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้น หรือวินิจฉัยกรณีนั้นเป็นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ประเพณีการปกครองดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้” จึงถือว่าหลักการจำกัดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกฯเกินกว่า 8 ปีมิได้ จึงยังคงดำรงอยู่จนปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ จึงถือเอาระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯตามความเป็นจริง

ดังนั้น แม้บุคคลใดจะเป็นนายกฯที่มิได้มาตามวิธีการของรัฐธรรมนูญนี้ แต่หากโดยความเป็นจริงแล้ว บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นหัวหน้า ครม. เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการใช้อำนาจทางการเมืองในฐานะของฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนายกฯที่่มีที่มาตามรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกฯของบุคคลนั้นในทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงต้องนับรวมเป็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ การดำรงตำแหน่งของนายกฯผู้ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จึงอยู่ในข้อบังคับของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่

สอดคล้องกับบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้มีมติรับรองบันทึกการประชุมดังกล่าวแล้วในคราวประชุมครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11 กันยายน 2561

แต่ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 500 ดังกล่าว ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังได้

ข้อพิจารณาที่ว่า การที่ผู้ถูกร้องเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด หากมีเจตนารมณ์ที่จะให้หมายความรวมไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับอื่นด้วยแล้ว ก็ย่อมต้องบัญญัติไว้เช่นนั้นโดยแจ้งชัด

เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันเกินกว่า 8 ปีมิได้ เป็นเรื่องของการควบคุมอำนาจของฝ่ายบริหาร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นเรื่องการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของบุคคลที่เป็นนายกฯ ไม่ใช่เรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ ถ้าไม่บัญญัติห้ามไว้ย่อมหมายความว่าทำได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าไม่บัญญัติว่าทำได้ ย่อมหมายความว่าทำไม่ได้

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ถูกร้องเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 19 ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ต่อมาผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามนัยของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 264 อันเป็นบทเฉพาะกาลมิให้อำนาจฝ่ายบริหารขาดตอน นับแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้และถือเป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง และต่อมาภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 โดยผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันมานับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ แล้ว

ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

ข้อที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า เมื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ แล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงนับแต่เมื่อใด

เห็นว่า การกำหนดระยะเวลา 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ เริ่มนับแต่วันแรกที่ดำรงตำแหน่ง คือ วันที่ 24 สิงหาคม 2557 และครบกำหนด 8 ปี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ซึ่งสอดคล้องกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง

นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 วันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฎเหตุอันควร สงสัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ วันที่ 24 สิงหาคม 2565 

‘ทวีเกียรติ’ ชี้ ‘ประยุทธ์’ เป็นนายกฯครบ 8 ปีตั้งแต่ 24 ส.ค.65 เช่นกัน

ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อยอีกคน ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ มติชนออนไลน์รายงานไว้ว่า มีคำวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 และครบ 8 ปีไปแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยระบุตอนหนึ่งว่า การที่บ้านเมืองอยู่ได้โดยปกติสุขมีความสงบเรียบร้อย มิใช่เป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมาย แต่เพียงอย่างเดียวซึ่งมีผลต่อการควบคุมพฤติกรรมของบุคคลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากต้องอาศัยสำนึก ที่ดี (good conscience) จริยธรรม (moral) และสิ่งที่พึงประพฤติปฏิบัติ (tradition) ซึ่งมีผลควบคุมพฤติกรรมของบุคคลเป็นส่วนใหญ่ด้วย หลายเรื่องที่แม้ไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดศีลธรรม (not illegal but it is wrong or immoral) ก็ไม่ควรทำ เช่น การพูดเท็จอันเป็นต้นเหตุแห่งการปิดบังหรือบิดเบือน ความจริงทั้งมวล แม้ส่วนใหญ่จะไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ผู้ที่มีจริยธรรมหรือมีจิตสำนึกที่ดีแม้รู้ว่าไม่ผิดกฎหมายก็จะไม่ทำ ยิ่งหากเป็นผู้นำหรือผู้ที่มีตำแหน่งระดับสูงเป็นที่เชื่อถือของประชาชนยิ่งต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมีรากฐานมาจากหลักนิติรัฐย่อมมีขึ้นเพื่อให้นำมาใช้อย่างเป็นกลางและเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ เห็นได้จากพระราชปรารภที่ว่า นับแต่ได้มีการ “…พระราชทานรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา การปกครองของประเทศไทยได้ดำรง เจตนารมณ์ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้ได้มีการยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติมและประกาศใช้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดระเบียบการปกครองได้เหมาะสมหลายครั้ง แต่การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพหรือภาพอื่นเรียบร้อยเพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ

บางครั้งเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือหรือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลบิดเบือนอำนาจหรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชนจนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผลซึ่งจำต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมายและเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม แต่เหตุอีกส่วนเกิดจากกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมืองที่…ให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบบประชาธิปไตยหรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ในยามวิกฤตที่มีรูปแบบและวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล…”

ข้อความตามพระราชบัญญัตินี้มีความมุ่งหมายไปที่ “ผู้ใช้อำนาจ” หรือผู้บริหารที่ “เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง” มิได้มุ่งหมายไปที่ “บุคคลธรรมดา” หรือประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้มีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้บัญญัติกฎหมายให้ประชาชนปฏิบัติก็ดี ฝ่ายบริหาร ผู้มีอำนาจดังกล่าวทั้งหลาย จึงควรประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดให้เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ “จริยธรรมนำกฎหมาย หรือเคร่งครัดตน ผ่อนปรนคนอื่น” มิใช่เคร่งครัดคนอื่น ผ่อนปรนตนเองเพื่อจะได้บรรเทาหรือระงับวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อจริยธรรม กฎหมายและผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายในบ้านเมืองลงได้บ้างอนึ่ง การไม่อดทนที่จะเคารพกติกา เปลี่ยนแปลง “สัญญาประชาคม” อยู่เรื่อยๆ ทำให้คนทั้งหลายขาดศรัทธาในการเคารพสัญญานั้นๆ

ส่วนประเด็นการพิจารณาตามคำวินิจฉัยส่วนตนของนายทวีเกียรติ โดยสรุปว่าเจตนารมณ์ของวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ให้เกิน 8 ปี คือการควบคุมและจำกัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจไม่ให้เกิดการผูกขาดทางการเมือง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการบริหารอำนาจรัฐ ทั้งยังปรากฏว่าบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ให้รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ด้วย โดยไม่มีข้อยกเว้นบัญญัติไว้ “หากไม่ต้องการให้ใช้บังคับก็ควรเขียนยกเว้นไว้ให้ชัด ”

การจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีเพื่อต้องการมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวนานเกินไป ยิ่งอยู่นานก็จะยิ่งสามารถสร้างรากฐานอำนาจไว้กับตนและพวกพ้อง นำไปสู่การผูกขาดอำนาจ ยึดมั่นในตัวบุคคลมากกว่าหลักการประชาธิปไตย อันอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตทางการเมืองได้

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในข้อเท็จจริงและในข้อกฎหมายถูกต้องต่อเนื่องกันมาโดยตลอด และเมื่อมีการเข้าสู่ตำแหน่งโดยชอบอย่างเป็นทางการแล้วและได้มีการใช้อำนาจบริหารประเทศตามความเป็นจริงระยะเวลาหรือวาระการดำรงตำแหน่งจึงต้องเริ่มนับทันที

สำหรับที่มานายกรัฐมนตรีตามเงื่อนไขมาตรา 158 วรรคสองและวรรคสาม ที่ให้มาจากสภาผู้แทนราษฎรนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 263 วรรคแรก ให้สภานิติบัญญัติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างที่ยังไม่มีได้ ซึ่งการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 จึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย

หลักการจำกัดวาระแปดปีของนายกรัฐมนตรีในระบบการเมืองไทยมีประกาศให้รับรู้โดยทั่วไป และมุ่งใช้ต่อเนื่องตั้งแต่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ซึ่งผ่านประชามติเจตจำนงของประชาชน ที่มีมาก่อนรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จึงไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง แต่ยังเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อเท็จจริงปรากฏเป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ก็ได้มีบทบาทและใช้อำนาจหน้าที่บริหารประเทศตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รับเงินเดือนและผลประโยชน์ต่าง ๆ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตลอดจนไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง

“จึงถือว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ถูกร้องทั้งในข้อเท็จจริงและในข้อกฎหมาย ถูกต้องต่อเนื่องกันมาโดยตลอดแล้ว และเมื่อมีการเข้าสู่ตำแหน่งโดยชอบอย่างเป็นทางการแล้ว และได้มีการใช้อำนาจบริหารประเทศตามความเป็นจริง ระยะเวลาหรือวาระการดำรงตำแหน่งจึงต้องเริ่มนับทันที ยิ่งเมื่อรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดระยะเวลาดังกล่าวไว้ ยิ่งแสดงให้เห็นว่า หากมีการดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 8 ปีแล้ว ไม่ต้องการให้ผู้นั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้อีก”

ทวีเกียรติ บันทึกความเห็นส่วนตนไว้ว่า ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 24 สิงหาคม 2565 แต่ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1)

หมายเหตุ : ประชาไทมีการปรับแก้พาดหัว โปรยข่าวและเพิ่มเติมเนื้อหาวันที่ 9 ต.ค.65 เวลา 18.47 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท