ธร ปีติดล : บัตรคนจนที่ยังแก้จนไม่ได้

‘บัตรคนจน’ ยังห่างไกลจากคำว่าประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำ ผลจาก Exclusion Error และขนาดที่เล็กมาก นักเศรษฐศาสตร์เสนอให้เน้นกลุ่มเร่งด่วน 3 กลุ่ม คิดเรื่องแก้ความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น หลังรัฐประหาร 2557 ทำระบบสวัสดิการไทยชะงักงัน

  • นโยบายบัตรคนจนมี Exclusion Error หรือกลุ่มตกหล่นสูงถึงร้อยละ 50 ทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพในทางเศรษฐศาสตร์ อีกทั้งด้วยจำนวนเงินที่น้อยมากจึงไม่ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ถือบัตร และไม่ช่วยให้ลดความเหลื่อมล้ำ
  • มีข้อค้นพบว่าถ้าประเทศใช้จ่ายกับระบบสวัสดิการมากในภาพรวมจะลดความเหลื่อมล้ำได้มากกว่าประเทศที่ใช้จ่ายน้อย ขนาดของรายจ่ายด้านสวัสดิการจึงมีความสำคัญกว่ารูปแบบสวัสดิการว่าควรเป็นแบบเน้นถ้วนหน้าหรือแบบเน้นเฉพาะเจาะจง
  • หลังปี 2540 สวัสดิการในประเทศไทยขยายตัวค่อนข้างดี กระทั่งกระแสความขัดแย้งทางการเมืองและรัฐประหารปี 2557 สวัสดิการเกิดภาวะการชะงักงันและเสียโมเมนตัมในการกำหนดนโยบาย ถูกโจมตีว่าสิ้นเปลือง แล้วหันมาเน้นนโยบายแบบที่ให้เฉพาะกับคนจนมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลลบต่อโอกาสการขยายตัวของระบบสวัสดิการในประเทศไทย
  • ธรเสนอว่า 3 กลุ่มเร่งด่วนที่รัฐควรจัดสวัสดิการให้เป็นอันดับแรกคือกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และแรงงานนอกระบบ ขณะที่ Universal Basic Income หรือรายได้พื้นฐานถ้วนหน้ายังไม่ใช่ความจำเป็นที่ต้องทำในเวลานี้
  • แม้ว่าระบบสวัสดิการที่ดีย่อมช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ยังมีอีกหลายมิติที่ต้องคิดคำนึงและแก้ไขไปพร้อมๆ กัน เช่น การกระจายทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ การแก้ไขผลตอบแทนระหว่างเจ้าของทุนกับแรงงานที่ต่างกันมาก เป็นต้น แต่อุปสรรคที่แท้จริงอยู่ที่ฝั่งผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายยังคิดเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำน้อยเกินไป

 

ธร ปีติดล

ช่วงที่ผ่านมา นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือที่เรียกกันติดปากว่า บัตรคนจน ถูกนำมาปัดฝุ่นลงทะเบียนเพิ่มกันอีกครั้ง เมื่อการเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามาย่อมไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

ละเรื่องการเมืองเอาไว้ แล้วมาดูกันแบบเศรษฐศาสตร์ ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้คะแนนที่ 6 เต็ม

10 เท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการที่ทำให้ประสิทธิภาพต่ำ ความผิดพลาดสูง ขนาดเล็กเกินกว่าจะเกิดผลบวก และไม่ได้คิดคำนึงเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ

ธรไม่ได้วิพากษ์โดยไร้ข้อเสนอ เขาเห็นว่ามีเรื่องเร่งด่วนด้านสวัสดิการที่รัฐควรทำก่อน ส่วน Universal Basic Income หรือรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าที่เริ่มมีการเรียกร้องกันมากขึ้นยังหาใช่ความจำเป็นในเวลานี้

บัตรคนจนได้ 6 เต็ม 10 Exclusion Error สูง

ถ้าจะต้องให้คะแนนนโยบายบัตรคนจนคงจำเป็นต้องแบ่งเป็นด้านๆ ไปตามเป้าหมาย ธรอธิบายว่าเนื่องจากกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ดำเนินนโยบายนี้ก็อาจมีเป้าหมายอื่นๆ ประกอบการทำนโยบายนี้ที่ต่างจากคนที่มองนโยบายนี้ในฐานะนโยบายสวัสดิการเป็นหลัก

“ต้องบอกก่อนว่าอันนี้มองจากมุมของคนที่มองเป้าหมายนโยบายนี้เป็นเรื่องสวัสดิการ ถ้าให้ประเมินก็อาจจะให้สัก 6 เต็ม 10 แต่ทั้งนี้ผมคิดว่ากระทรวงการคลังอาจวางเป้าหมายของนโยบายนี้ไว้อีกแบบหนึ่งด้วย เป็นเรื่องการทำฐานข้อมูลที่ยึดโยงอยู่กับการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ในขณะที่ถ้ามองเป้าหมายของนโยบายเป็นเรื่องการพัฒนาระบบสวัสดิการ มันก็ยังมีปัญหาเยอะ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องคนจนที่ตกหล่นไป จะเห็นได้ชัดว่าถึงแม้จะเห็นปัญหาในแง่มุมนี้มานานพอสมควรแล้ว แต่กลับเป็นปัญหาที่ไม่ได้ถูกหยิบมาคุยถึงเพื่อแก้ไขเท่าที่ควร ซึ่งอันนี้น่าเสียดายสำหรับคนที่บริหารจัดการนโยบาย”

เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าที่ผ่านมานโยบายบัตรคนจนจะถูกขับเคลื่อนทุกครั้งเมื่อใกล้เลือกตั้ง ในขณะที่การดำเนินการยังไม่ได้มุ่งไปที่การจัดการจุดอ่อนของนโยบายนี้โดยเฉพาะเรื่องการตกหล่นของผู้ที่ควรได้รับสิทธิ

“ดูเหมือนเขาจะกลัวมากกว่ากับเรื่องที่เรียกว่า Inclusion Error คือคนที่ไม่ควรได้แล้วไปได้รับ ทั้งที่ในทางสวัสดิการ พอยิ่งพยายามแก้เรื่องนี้ก็หมายความว่ามันมีแนวโน้มจะเกิด Exclusion Error (กลุ่มตกหล่นหรือกลุ่มที่ควรได้แต่ถูกกันออกไปและไม่ได้รับ) มากขึ้นตามไป ในขณะเดียวกันผมคิดว่าเขายังไม่ได้ให้น้ำหนักกับ Exclusion Error เท่าที่ควรจะเป็น

“จริงๆ ทางกระทรวงการคลังวางแผนปรับปรุงนโยบายมาตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด แต่เวลาผ่านมาก็ยังเป็นเป้าเดิม คือเขากลัวเรื่อง Inclusion Error ก็เลยเอาเกณฑ์คัดกรองในระดับครอบครัวใส่เข้ามาเพิ่ม ตอนนี้จะเห็นว่ามีเกณฑ์การคัดกรองผู้ที่จะได้รับสวัสดิการเพิ่มเป็น 2 ชั้น เกณฑ์แรกเป็นเกณฑ์ระดับบุคคล ทีนี้ผ่านเกณฑ์บุคคลไม่พอ ต้องผ่านเกณฑ์ครอบครัวด้วย คือเอารายได้และทรัพย์สินครอบครัวกี่คนๆ เอามาหารเฉลี่ย แล้วก็ดูว่าหารเฉลี่ยแล้วยังผ่านเกณฑ์อยู่หรือเปล่าด้วย และด้วยว่าตอนนี้มันมีการกรอง 2 ชั้น ซึ่งโดยพื้นฐานก็คือพยายามจะแก้ Inclusion Error ส่วนตัวผมมองว่ามันก็เสี่ยงที่ Exclusion Error จะเกิดเพิ่ม ลองจินตนาการดูว่าหากมีคนในครอบครัวที่เราไม่ได้ยุ่งเกี่ยวด้วยมากแล้ว และเขาไปมีฐานะดีขึ้นกว่าเรามาก แต่ว่าเรายังเอาเขาเข้าค่ามาหารค่าเฉลี่ยเป็นของครอบครัว แล้วเอาไปคัดกรองคนอื่นๆ ในครอบครัวออกจากสวัสดิการอีก ผมเกรงว่าถ้าในการคัดกรองขั้นตอนเป็นแบบนี้ คือต้องผ่านเกณฑ์ระดับบุคคลก่อนแล้วมาคัดด้วยเกณฑ์ระดับครอบครัวอีกครั้ง จะกลายเป็นเกิดแต่การคัดคนออกเพิ่มอย่างเดียว”

ขนาดที่มากพอยกระดับคุณภาพชีวิตสำคัญกว่ารูปแบบ

บัตรคนจนเป็นสวัสดิการแบบเฉพาะเจาะจงที่คนจน (poverty-targeting) ซึ่งจากการศึกษาของธรพบว่า ในหลายประเทศการใช้นโยบายสวัสดิการแบบเฉพาะเจาะจงที่คนจนมากขึ้น เชื่อมโยงกับเส้นทางที่ระบบสวัสดิการทั้งระบบเกิดการหดตัว อย่างไรก็ตาม ธรระบุว่าต้องระวังด้วยว่าในความเป็นจริงแล้วเรายังไม่สามารถแปะป้ายได้ง่ายๆ ว่าประเทศไหนเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้าหรือเฉพาะเจาะจง เนื่องจากนโยบายสวัสดิการแบ่งแยกย่อยไปสู่เป้าหมายแต่ละกลุ่มในลักษณะที่ผสมผสานรูปแบบกันได้

สำหรับประเทศที่เน้นใช้สวัสดิการแบบเจาะจงที่คนจนอย่างสหราชอาณาจักร ถือเป็นตัวอย่างของรูปแบบสวัสดิการแบบเสรีนิยม มีวิธีคิดพื้นฐานว่าหน้าที่ของระบบสวัสดิการคือการผลักคนที่ล้มเหลวจากระบบตลาดให้กลับไปอยู่ในระบบตลาดได้ เพราะฉะนั้นคนยากจนคือคนที่จะได้รับสวัสดิการเพื่อให้กลับไปดิ้นรนด้วยตนเองต่อได้ในระบบตลาด และเมื่อกลับสู่ระบบตลาดได้ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับสวัสดิการต่อ สวัสดิการลักษณะนี้มีบทบาทมากขึ้นในสมัยมาร์กาเรต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ช่วงทศวรรษ 1980

“ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นกับสหราชอาณาจักรเรียกว่า Paradox of Redistribution ก็คือเวลาเขาให้สวัสดิการเฉพาะเจาะจงกับคนจนมากขึ้น แม้มันเหมือนจะเป็นการกระจายทรัพยากรไปที่คนจนโดยตรง แต่มันกลับเสี่ยงจะไปขยายวิธีคิดในสังคมที่ทำให้ระบบสวัสดิการทั้งหมดหดตัวไปด้วย เนื่องจากแรงสนับสนุนสวัสดิการในภาพใหญ่จะลดลง เมื่อคนหันไปคิดว่าสวัสดิการเป็นเรื่องเฉพาะการช่วยคนจน ยิ่งในสภาพที่สังคมกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจหรืออยู่ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีนัก สวัสดิการให้กับคนจนก็มักจะถูกโจมตีเยอะขึ้น ว่าสิ้นเปลือง เป็นสวัสดิการที่รั่วไหล

“สังคมก็มักจะหันไปมุ่งหาพวกคนกลุ่มที่ไม่ควรได้สวัสดิการ มุ่งโจมตีกลุ่มที่ถูกตีตราเป็นพวก Undeserved กลายเป็นว่าด้วยมุมมองแบบนี้สวัสดิการมันก็เข้าสู่เส้นทางของการหดตัวได้ง่าย ฉะนั้นเวลาใช้ targeting หนักขึ้น เลยกลายเป็นว่าแรงหนุนของระบบมักจะหายและแรงต้านก็เยอะขึ้น สวัสดิการมันก็หดตัว พอหดตัวปุ๊บกลายเป็นว่าผลสุดท้ายทำให้ศักยภาพการลดความเหลื่อมล้ำแย่ลงแทนที่จะดีขึ้น

“ต้องบอกก่อนนิดหนึ่งว่าจริงๆ แล้วที่อธิบายมานี้มันเป็นเชิงกระบวนการเมื่อมีการปรับสวัสดิการเป็นแบบเฉพาะเจาะจงเยอะขึ้นในเส้นทางการพัฒนาการระบบสวัสดิการกลับเสี่ยงที่จะได้ผลที่ไม่พึงปรารถนาเท่าไหร่ ทั้งนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญจากข้อสังเกตนี้คือ ถ้าอยากให้สวัสดิการส่งผลช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ สำคัญที่สุดเลยคือเรื่องขนาดของระบบ ซึ่งสำคัญกว่าเรื่องรูปแบบด้วยซ้ำ”

เขาขยายความว่าจากงานศึกษาระบบสวัสดิการในระดับสากล มีข้อค้นพบที่น่าสนใจว่าถ้าประเทศใช้จ่ายกับระบบสวัสดิการมากในภาพรวม ผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำก็จะสูงกว่าประเทศที่ใช้จ่ายน้อย ประเด็นนี้สำคัญกว่าประเด็นว่าจะสวัสดิการจะเป็นแบบเน้นถ้วนหน้าหรือแบบเน้นเฉพาะเจาะจง กล่าวคือในกรณีบางประเทศอาจจะมีนโยบายสวัสดิการแบบเจาะจงมีบทบาทสำคัญในระบบก็ได้ แต่จำนวนเงินที่ลงไปให้แก่กลุ่มเป้าหมายจะต้องมากพอที่จะไปยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำได้ และจะต้องมีวิธีทำให้เส้นทางของระบบไม่เข้าสู่การหดตัวในระยะยาว

อาจส่งผลลบต่อการขยายตัวของระบบสวัสดิการในอนาคต

ถ้าเช่นนั้น บัตรคนจนกำลังทำให้สวัสดิการของไทยหดตัวลงหรือไม่

ธรกล่าวว่าย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงหลังปี 2540 จะพบว่าสวัสดิการในประเทศไทยเคยมีการขยายค่อนข้างดี จวบจนกระทั่งกระแสความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงและรัฐประหารรอบล่าสุดจึงเกิดภาวะการชะงักงันและเสียโมเมนตัมในการกำหนดนโยบาย นโยบายสวัสดิการที่เคยขยายตัวถูกโจมตีอยู่บ่อยครั้งว่าสิ้นเปลืองแล้วมีการหันมาเน้นใช้นโยบายแบบที่ให้เฉพาะกับคนจนมากขึ้น แม้จะยังเร็วไปที่จะระบุผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ก็สร้างความกังวลได้ว่าวิธีคิดที่เข้ามามีบทบาทมากเป็นการจัดการสวัสดิการในแบบเสรีนิยมที่คล้ายกับในสหราชอาณาจักร ซึ่งก็อาจส่งผลลบต่อโอกาสการขยายตัวของระบบสวัสดิการในประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม ธรไม่ได้กำลังสรุปแบบง่ายๆ ว่าควรยกเลิกสวัสดิการแบบเจาะจงมาเป็นแบบถ้วนหน้าให้หมด เขาชี้ให้เห็นว่าในต่างประเทศก็มีสวัสดิการลักษณะนี้เป็นส่วนประกอบ โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การบริหารจัดการและการจัดวางนโยบายแบบนี้ให้เหมาะสม ซึ่งหากจะกล่าวถึงบัตรคนจนเป็นการเฉพาะ ปัญหาสำคัญอันดับแรกที่ต้องแก้ไขให้ได้คือ Exclusion Error ข้อมูลจากงานวิจัยของศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CRISP) พบว่าความผิดพลาดในลักษณะตกหล่นนี้สูงถึงมากกว่าร้อยละ 50 ทำให้คนจนยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง อีกทั้งขนาดของความช่วยเหลือก็น้อยเกินกว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพชีวิตพื้นฐาน

“จำนวนเงินที่ให้สองร้อยถึงสามร้อยมันเล็กเกินไป แล้วสุดท้ายที่ผมเป็นห่วงมากกว่าคือการกระโดดเข้าไปอยู่ในกระแสของการใช้นโยบายนี้เป็นเครื่องมือหลักของระบบในภาพใหญ่ ที่บอกว่าเดี๋ยวบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะขยายไปสู่การทำนโยบาย targeting รูปแบบของคนกลุ่มอื่นด้วย ขยายไปสู่สวัสดิการเด็ก ขยายไปสู่สวัสดิการของผู้สูงอายุ การขยายแบบนี้คือส่วนที่ผมคิดว่าน่าเป็นห่วง เพราะถ้าตัว performance ปัจจุบันในการตอบเป้าหมายด้านสวัสดิการยังไม่ดีเท่าไหร่ แล้วจะด่วนกระจายวิธีแบบเดียวกันไปยังสวัสดิการอื่น มันทำให้แทนที่เราจะยังมีทางเลือกวิธีการจัดการกับสวัสดิการรูปแบบอื่นๆ ที่ได้ผลดีกว่าก็กลับไปตัดโอกาสมัน แล้วมาให้นโยบายลักษณะนี้เป็นแนวทางหลักของการพัฒนาระบบสวัสดิการ อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่ากังวล”

คนแก่ เด็ก แรงงานนอกระบบ ต้องรีบดูแลเร่งด่วน

ธรเสนอว่ารูปแบบของระบบสวัสดิการที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานได้เหมือนกัน ไม่ได้แปลว่าจะต้องให้เงินเท่ากันกับทุกคน เขาเห็นว่ากลุ่มประชากรที่รัฐต้องเข้าไปดูแลผ่านการพัฒนาระบบสวัสดิการเป็นการเร่งด่วนมีอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้สูงอายุเนื่องจากตอนนี้เกือบครึ่งหนึ่งของคนจนเป็นผู้สูงอายุ

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มเด็ก ธรกล่าวว่ามีเหตุผลมากมายที่รัฐต้องให้สวัสดิการกับเด็กอย่างทั่วถึง อย่างน้อยก็ให้เด็กทุกคนมีคุณภาพชีวิตพื้นฐาน และการจะให้คนได้รับโอกาสในชีวิตที่ดีในอนาคตก็จะโยงอยู่กับโอกาสที่จะได้รับในวัยเด็กอยู่เป็นสำคัญ การสร้างความเสมอภาคทางโอกาสในวัยเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการลดความเหลื่อมล้ำผ่านระบบสวัสดิการ

กลุ่มสุดท้ายคือแรงงานนอกระบบ กลุ่มที่ธรคิดว่าแก้ยากที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจในส่วนแรงงานนอกระบบมีขนาดใหญ่ในเศรษฐกิจไทย และที่ผ่านมายังไม่มีการออกแบบสวัสดิการที่เข้าถึงกลุ่มนี้และสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับพวกเขาได้ชัดเจน

“ส่วนวิธีการจะออกแบบสวัสดิการอย่างไรให้ตอบโจทย์การให้คนทุกคนได้รับคุณภาพชีวิตพื้นฐานเป็นอย่างน้อย ผมคิดว่ามันเป็นรายละเอียดที่เราจะบอกให้ไปในทางใดทางหนึ่งเลยไม่ได้ว่าคุณต้องใช้เฉพาะถ้วนหน้าเท่านั้นถึงจะตอบโจทย์ได้ คือในทางหนึ่งสวัสดิการแบบเจาะจงมักจะมีปัญหา error ในการเข้าถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือ  และคนก็มักจะหันไปมองถึงสวัสดิการแบบถ้วนหน้าเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่หากโจทย์สำคัญคือการหาวิธีออกแบบระบบสวัสดิการให้หลีกเลี่ยงกระบวนการใดๆ ที่ทำให้คนจำนวนมากตกหล่น ที่จริงก็ไม่ได้มีแค่การใช้สวัสดิการแบบถ้วนหน้าเป็นทางออกอยู่แบบเดียว แต่ยังสามารถออกแบบแนวทางการแก้ไขอยู่ได้หลายแนวทาง โดยเฉพาะการผสมผสานส่วนประกอบของระบบเพื่อให้คนทั้งหมดเข้าถึงสวัสดิการที่สร้างคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานได้”

ธรเสริมโดยยกตัวอย่างในส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุว่า ส่วนประกอบสำคัญของระบบบำนาญที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้กันคือระบบแบบสะสม หมายความระหว่างที่ทำงาน คนทำงานจะต้องสะสมเงินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นบำนาญไปเรื่อยๆ ในส่วนของไทยพบว่าการพัฒนาส่วนที่เป็นแบบสะสมนี้ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรเนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่อยู่นอกระบบ ส่วนที่รัฐใช้เงินภาษีมาเป็นสวัสดิการช่วยเหลือผู้สูงอายุจึงมีบทบาทสูง

“แล้ววิธีแก้คือทำให้ทุกอย่างเป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐไปเลยหรือเปล่า ส่วนตัวคิดว่ายังจะต้องมุ่งทำทั้งส่วนที่เป็นแบบสะสมและแบบเงินช่วยเหลือ และต้องคำนึงว่าการออกแบบให้ไปถึงเป้าหมายการได้คุณภาพชีวิตขั้นต่ำ ถ้าจะให้รัฐอุดหนุนทั้งระนาบ ไซส์ที่จะได้ของแต่ละคนก็ต้องหารเฉลี่ยกัน แทนที่รัฐจะอุดหนุนให้กลุ่มที่รายได้น้อยจริงๆ แล้วเติมให้มันถึงมาตรฐานคุณภาพชีวิต มันอาจจะกลายเป็นว่าส่วนนั้นถูกลดทอนไปเพื่อกระจายทั้งระบบ ผมคิดว่าควรออกระบบแบบให้ส่วนที่คนสะสมมันขยายไปด้วย แล้วสำหรับคนที่ไปไม่ถึงมาตรฐาน ก็ให้รัฐอุดหนุนให้ไปถึง อันนี้คือการตอบโจทย์เรื่องการไปให้ถึงคุณภาพชีวิตขั้นต่ำที่ทุกคนควรได้รับ”

UBI ยังไม่ใช่ความจำเป็นในเวลานี้

เมื่อไล่เรียงตามความจำเป็นที่ธรเสนอ ธรมองว่ารายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income: UBI) จึงยังไม่ใช่ความสำคัญอันดับต้นๆ ที่ต้องทำในเวลานี้ เพราะแม้แต่ประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่มีระบบสวัสดิการดีกว่าก็ยังไม่ได้ใช้ UBI

“ผมคิดว่าหลายคนใช้คำว่า UBI แล้วความหมายมันเคลื่อนนิดหนึ่ง บางคนอาจจะหมายถึง BI มากกว่าคือ Basic Income หรือรายได้พื้นฐาน คืออย่างน้อยจะทำให้คนทุกคนมีรายได้พื้นฐานได้อย่างไร ต้องคำนวณว่าพื้นฐานรายได้ที่ควรจะมีในสังคมมันเท่าไหร่ แล้วไปให้มันใกล้กับจุดนั้น ผมว่าโดยทั่วไปการออกแบบระบบการคุ้มครองทางสังคมก็คือไปให้ถึงจุดนั้นเหมือนกัน

“แต่พอเป็น UBI มันสร้างความยากมากขึ้น เพราะมีเงื่อนไขการอุดหนุนรายได้ต้องให้เป็นแบบถ้วนหน้าเข้ามาด้วย ทั้งนี้เรื่องที่คนอาจจะลืมนึกถึงคือเวลามี UBI มันต้องมีส่วนที่ทดแทนสวัสดิการเดิมด้วยถึงจะให้มันเป็นจริงได้ เราจะไม่สามารถทำ UBI ไปพร้อมกับคงสวัสดิการเดิมไว้ทั้งหมดได้ ต้องมีส่วนที่ถูกทดแทนออกไป เพราะถ้าจะให้ UBI ไปพร้อมกับระบบสวัสดิการเดิม มันจะสร้างภาระมากมายที่ไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์อย่างที่ UBI ต้องการ

“UBI ต้องมีส่วนที่เข้ามาทดแทนสวัสดิการอันเดิม รัฐจะได้ไม่ต้องมายุ่งวุ่นวายกับการบริหารจัดการสวัสดิการหลายแบบซ้อนกัน และขนาดงบประมาณก็จะอยู่ในขอบเขตที่เป็นไปได้  อย่างไรก็ดี ถ้าเราพยายามอย่างจริงจังในการพัฒนาสวัสดิการในระบบของเราให้ครบถ้วนมากขึ้น ให้มีขนาดและการครอบคลุมที่ดีมากขึ้น ก็เป็นอีกวิธีที่เข้าถึงหลักการการให้คุณภาพชีวิตพื้นฐานกับทุกคนได้ ซึ่งผมคิดว่ามันก็มีความใกล้เคียงกับการพยายามให้ทุกคนมี basic Income ได้เหมือนกัน”

เป็นความจริงที่ว่าระบบสวัสดิการที่ดีย่อมช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ถึงกระนั้น ธรชี้ประเด็นว่าไม่ใช่ว่าทันทีที่สวัสดิการเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำจะลดลงทันที เพราะการลดความเหลื่อมล้ำยังมีอีกหลายมิติที่ต้องคิดคำนึงและแก้ไข เช่น การกระจายทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ การแก้ไขผลตอบแทนระหว่างเจ้าของทุนกับแรงงานที่ต่างกันมาก เป็นต้น แต่อุปสรรคจริงๆ ธรเห็นว่าอยู่ที่ฝั่งผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายยังคิดเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำน้อยเกินไป ทำให้นโยบายที่ออกมายังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร

“ด้วยสภาพที่การเมืองไทยในระดับการกำหนดนโยบายมันถูกดึงออกจากผู้คน มันเชื่อมโยงกับประชาชนน้อยลง รัฐบาลก็อยู่ได้โดยไม่ต้องถูกกระตุ้นให้ทำนโยบายมาตอบสนองประชาชนส่วนใหญ่ เพราะมันมีโครงสร้างส่วนที่ช่วยให้เขารักษาตัวเองอยู่ในอำนาจได้ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง” ธรกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท