Skip to main content
sharethis

ประเทศในยุโรปกำลังกังวลกับฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงว่า วิกฤตพลังงานจะส่งผลต่อชีวิตของพวกเขามากน้อยเพียงใด หลังจากที่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดวิกฤตพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นเพราะการถูกตัดปริมาณการส่งก๊าซจากรัสเซีย และกรณีการรั่วไหลของท่อก๊าซนอร์ดสตรีมล่าสุด ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาเริ่มหาวิธีอื่นๆ เช่นพลังงานทางเลือกกันบ้างแล้ว

โซลาร์ฟาร์มขนาด 19 เมกะวัตต์ ในแคว้นบาวาเรียร์ ประเทศเยอรมนี ภาพโดย OhWeh

5 ต.ค. 2565 เว็บไซต์เวิร์ลด์อิโคโนมิคฟอรัม รายงานถึงการที่พลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้ยุโรปสามารถลดปัญหาวิกฤตพลังงานลงได้ "ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน" และสามารถทำให้ยุโรปสามารถประหยัดไปได้หลายพันล้านยูโรจากการที่ไม่ต้องนำเข้าพลังงานจากภายนอก

จากรายงานขององค์กร "เอมเบอร์" (Ember) ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองในประเด็นพลังงานระบุว่าการที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป 27 ประเทศหันมาผลิตพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงฤดูร้อน จากการสำรวจระหว่างเดือน พ.ค. - ส.ค. ที่ผ่านมาพบว่าพวกเขาสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไปได้ราว 29,000 ล้านดอลลาร์

การที่รัสเซียทำการรุกรานยูเครนส่งผลให้มีการลดการส่งก๊าซให้กับยุโรปจำนวนมาก ทำให้ทั้งราคาก๊าซและค่าไฟฟ้าของยุโรปสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เรื่องนี้ยิ่งทำให้การหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือการนำเข้าเชื้อเพลิงจากรัสเซียกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้น

อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ยุโรปต้องกังวลว่าวิกฤตพลังงานจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขาในช่วงฤดูหนาวคือกรณีที่ท่อก๊าซนอร์ดสตรีมเกิดการรั่วไหลเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้หลายประเทศในยุโรปพยายามหาวิธีการอื่นๆ เพื่อที่จะจัดหาก๊าซได้เพียงพอหรือเพื่อที่จะผลิตพลังงานทางเลือกได้ เช่นกรณีพลังงานแสงอาทิตย์จากรายงานของเอมเบอร์

หน่วยงานด้านพลังงานของประเทศเยอรมนีระบุว่า การใช้ก๊าซในครัวเรือนของเยอรมนีสูงเกินไปในระดับที่ทำให้ขาดความยั่งยืน โดยที่ครัวเรือนและอุตสาหกรรมขนาดเล็กในเยอรมนีใช้ไฟฟ้า 483 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมงจากการสำรวจเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มมากขึ้นราวร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของช่วงสัปดาห์เดียวกันในปีอื่นๆ ของช่วง 4 ปีที่แล้ว ประธานของหน่วยงานพลังงานของเยอรมนีระบุว่าถ้าไม่มีการลดการใช้พลังงานลงเยอรมนีก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเผชิญกับวิกฤตฉุกเฉินด้านพลังงานในช่วงฤดูหนาวได้ ทางรัฐบาลเยอรมนีบอกว่าพวกเขาจะใข้งบประมาณ 196,000 ล้านดอลลาร์ ในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่ราคาพลังงานกำลังเพิ่มสูงขึ้น

หน่วยงานปฏิบัติการการไฟฟ้าของนอร์เวย์ก็เตือนให้มีการจำกัดการส่งออกพลังงานจากนอร์เวย์ หลังจากประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 26 ปี จนทำให้อ่างเก็บน้ำมีระดับน้ำลดลงกระทบต่อกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่มีสัดส่วนการผลิตมากถึงร้อยละ 90 ของทั้งหมดที่ใช้ในนอร์เวย์ และทำให้ต้องขึ้นค่าไฟฟ้าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

รัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศแผนการงบประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นทุนในโครงการพลังงานสะอาดและลดการพึ่งพาพลังงานถ่านหิน พวกเขาวางแผนไว้ว่าจะทำมีการใช้พลังงานสะอาดร้อยละ 70 ของประเทศภายในปี 2575 และร้อยละ 80 ภายในปี 2578 จากที่ก่อนหน้านี้เคยตั้งเป้าไว้เพียงแค่ร้อยละ 50 ภายในปี 2573

ประเทศสเปนก็กำลังพยายามหาแหล่งพลังงานทางเลือกเพื่อให้พวกเขาสามารถรอดพ้นฤดูหนาวนี้ไปได้เช่นกัน โดยหันมาใช้ทั้งเชื้อเพลิงพลังงานชีวมวลอย่างเชื้อเพลิงไม้อัดเม็ดและไม้สับ ร่วมกับเชื้อเพลิงจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย

จาเวียร์ ดิแอซ ประธานสมาคมเชื้อเพลิงพลังงานชีวมวลของสเปนกล่าวว่าชาวสเปนติดตั้งเครื่องทำความอุ่นหรือฮีตเตอร์ที่อาศัยพลังงานชีวมวลเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 นับตั้งแต่ปี 2564 ทำให้มองได้ว่าสเปนพยายามหันมาหาพลังงานชีวมวลทดแทนพลังงานจากฟอสซิลมาตั้งแต่ก่อนหน้าวิกฤตพลังงานในปัจจุบันแล้ว

กลุ่มประเทศสมาชิกอียูได้สนับสนุนมาตรการฉุกเฉินในการช่วยเหลือด้านวิกฤตพลังงาน จากการที่ราคาพลังงานสูงขึ้นส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา

ในอียูสนับสนุนการขึ้นภาษีลาภลอยจากผลกำไรของบริษัทพลังงาน มีหลายประเทศที่ผลักดันไปมากกว่านั้นด้วยการตั้งเพดานราคาเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตามประเทศเยอรมนี, เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปก็เคยกล่าวว่ามันเป็นแผนการที่ซับซ้อนในการที่จะนำมาออกเป็นกฎหมายและต้อง "ใช้ทรัพยากรทางการเงินมากอย่างมาก"

อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อเรื่องพลังงานคือการที่ องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออกและชาติพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส (OPEC+) ประกาศว่าจะพิจารณาปรับลดการผลิตน้ำมันลงมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยอ้างว่าเพื่อส่งเสริมตลาด ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น หลังจากที่เคยปรับลดการผลิตลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาก่อนหน้านี้แล้ว

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้กลายเป็นโอกาสที่ยุโรปจะหันมาพิจารณาพลังงานทางเลือกมากขึ้น เอมเบอร์ระบุว่าในช่วงระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 99.4 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง (99.4 ล้านล้านวัตต์) ซึ่งถือว่าทำได้ดีขึ้นกว่าช่วงฤดูร้อนของปีที่แล้วที่ผลิตได้ 77.7 เทราวัตต์ต่อชั่วโมง เรื่องนี้มีส่วนช่วยเหลือยุโรปได้บ้างในช่วงที่ราคาก๊าซราคาพลังงานกำลังปรับตัวสูงขึ้น

กลุ่มประเทศอียูในตอนนี้อาศัยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ร้อยละ 10 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ประเทศที่ผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีนี้มากที่สุดได้แก่ เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 22.7), เยอรมนี (ร้อยละ 19.3) และสเปน (ร้อยละ 16.7) นอกจากนี้ประเทศอย่างกรีซ, โรมาเนีย, เอสโตเนีย, โปรตุเกส และเบลเยี่ยม ก็เป็นส่วนหนึ่งของ 18 ประเทศในอียูที่มีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นด้วย

แต่รายงานของเอมเบอร์ก็ระบุว่าทางอียูต้องทำให้ได้ดีกว่านี้ถ้าหากพวกเขาต้องการบรรลุเป้าหมายเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อนและทำให้มีอุปทานด้านพลังงานเพียงพอ โดยพวกเขาต้องเสริมสมรรถนะในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 9 เท่าภายในปี 2578 เพื่อลดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net